Skip to main content

หลายคำถาม กับ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘

คอลัมน์/ชุมชน

การประกาศใช้กฎหมายโดยการผลักดันของ นายกรัฐมนตรี พ...ทักษิณ ชินวัตร และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มอำนาจให้กับตนเองและบุคคลใกล้ชิด อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดยิ่ง โดยใช้เพียงกลไกของฝ่ายบริหารผ่านคณะรัฐมนตรี ซึ่งเสมือนหนึ่งเป็นอวัยวะที่งอกออกมาจากร่างกายของ พ...ทักษิณ ชินวัตร  โดยมิยินยอมให้ฝ่ายนิติบัญญัติทั้ง ๒ สภา ได้มีโอกาสตรวจสอบหรือร่วมพิจารณาโดยตรงนั้น ถือได้ว่าเป็นการละเมิด และ/หรือ ขัดขวาง การมีส่วนร่วมในระดับพื้นฐาน ตามเนื้อหาสาระของระบอบการปกครอง "ประชาธิปไตย" ซึ่งเป็นวิถีและวิธีการที่นานาอารยประเทศถือปฏิบัติสืบต่อกันมา


 


นับได้ว่าเป็นการกระทำที่ปราศจากความรับผิดชอบ ปราศจากความเคารพต่อหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยและระบบนิติธรรม ตลอดจนเป็นการลุแก่อำนาจ และปราศจากจิตสำนึก หรือกระทั่งอาจมีเจตนาแฝงเร้น อย่างเป็นที่น่ารังเกียจยิ่ง


 


ทั้งนี้ มิพักจะต้องกล่าวถึงความเคารพต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งอาจกระทำ หรือแสดงออกได้ โดยการใช้วิธีทำประชาพิจารณ์ หรือการลงประชามติอย่างกว้างขวางของประชาชนทุกหมู่เหล่า ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาล หรือฝ่ายบริหาร มีความเคารพต่อความคิดเห็นของประชาชนเจ้าของประเทศ


 


เนื้อหาสาระของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.. ๒๕๔๘ ฉบับนี้ จะว่าไปแล้ว ก็คือ ความพยายามแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรง ของกลุ่มบุคคลผู้มิได้ประกาศตัวเป็นศัตรูของรัฐอย่างเปิดเผย ด้วยการบัญญัติความรุนแรงทางโครงสร้าง ด้วยเงื่อนไขของกฎหมายตามอำนาจของฝ่ายบริหาร ที่ปราศจากความรอบคอบรอบด้าน ปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่กลับมีผลเป็นการให้อำนาจกับนายกรัฐมนตรีและคณะ ที่จะสามารถลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ตลอดจนสื่อมวลชน และองค์กรภาคประชาชน ตลอดจนองค์กรอิสระอื่นๆ ได้อย่างกว้างขวาง ไร้ขอบเขต


 


ในขณะที่กลุ่มบุคคลซึ่งรัฐตราหน้าว่าเป็น "ผู้ก่อการร้าย" ได้ละเมิดต่อชีวิตและทรัพย์สินของ "บางคน" แต่ "รัฐ" ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พ...ทักษิณ ชินวัตร กลับออกพระราชกำหนดให้ "ตนเองและคณะ" สามารถ "ละเมิด" ต่อสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และตามวิถีปฏิบัติภายใต้ประเพณี-วัฒนธรรมอันดีงามของประชาชนในอาณัติ ได้อย่างเบ็ดเสร็จและครอบคลุมไปทั้งแผ่นดิน


 


นี่อาจกล่าวได้ว่า นอกจากจะเป็นการละเมิดต่อหลักการพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย และละเมิดต่อสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนไทยแล้ว ยังเป็นการหมิ่นแคลนต่อฝ่ายนิติบัญญัติ ตลอดจนเป็นการปฏิเสธต่อความคิดเห็น และภูมิรู้ของสมาชิกร่วมสังคมอย่างน่ารังเกียจยิ่ง


 


ทั้งยังอาจกล่าวได้ว่า นี่เป็น "ภาพสะท้อนจิตใต้สำนึก" ของผู้นำรัฐบาล และบุคคลรอบข้าง ตลอดจนคณะรัฐมนตรี ที่มาจากพรรคการเมืองซึ่งมีเสียงข้างมาก และมักกล่าวอ้างว่าตนเองมาจากการเลือกตั้ง โดยแท้


 


เป็นไปได้หรือไม่ว่า ประเทศไทย กำลังมีนายกรัฐมนตรีที่ตกอยู่ในอาการวิตกจริต และหวาดระแวงอยู่เสมอ ว่าตนจะไม่มีอำนาจมากเพียงพอ ต่อการ "จัดการ" ในทุกเรื่อง ให้ได้ตามอำเภอใจ จึงพยายามกระทำทุกอย่างให้ได้มาซึ่ง "อำนาจ" ไม่ว่าจะเป็นธรรม หรือถูกทำนองคลองธรรมหรือไม่ก็ตาม


 


เป็นไปได้หรือไม่ว่า ประเทศไทย กำลังตกอยู่ในเงื้อมมือของนายกรัฐมนตรี ที่เคยมีความสามารถในการบริหารธุรกิจ เคยมีความสามารถในการบริหารกำไร แต่ปราศจากความสามารถในการบริหารบ้านเมือง ปราศจากความสามารถในการสร้างสันติภาพและความสมานฉันท์ ซึ่งจำเป็น "ต้องมี" และ "ต้องใช้" ปัญญา สัมมาทิฏฐิ และโยนิโสมนสิการ มากไปกว่าการใช้ "อำนาจ" "ความโลภ" และ "ความหลงตน"


 


เป็นไปได้หรือไม่ ที่ประเทศไทย กำลังมีนายกรัฐมนตรี ที่ปราศจาก "คุณธรรม" แห่ง "โพธิสัตว์" ซึ่งประกอบไปด้วย "สุทธิ" ความบริสุทธิ์ "ปัญญา" ความรู้แจ้ง "เมตตา" ความต้องการให้ผู้อื่นเป็นสุข และ "ขันติ" คือ ความอดทนอดกลั้น ที่จะกระทำตนให้อยู่ในทำนองคลองธรรม


 


ในด้านหนึ่ง แม้ว่านายกรัฐมนตรีและรัฐบาล จะอ้างถึงความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่คงมิอาจปฏิเสธได้ว่าเมื่อมีการประกาศใช้ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.. ๒๕๔๘ ออกไปแล้ว "ความมั่นคงของรัฐ" และ "ความสงบเรียบร้อยของประชาชน" ซึ่งเคยอยู่ภายใต้กลไกอันรอบคอบและรัดกุมของอำนาจอธิปไตยทั้ง ๓ จะตกไปอยู่ในกำมือของ "นายกรัฐมนตรี" และบุคคลที่ได้รับมอบหมายหรือแต่งตั้งเพียงไม่กี่คนเท่านั้น


 


หากจะมีการกล่าวอ้าง ว่านายกรัฐมนตรี ตลอดจนคณะรัฐมนตรี เป็นผู้ "มาจากการเลือกตั้ง" ก็ย่อมจะต้องพึงทราบและยอมรับ ว่าการที่หลายฝ่ายออกมาคัดค้านหรือทักท้วงอย่างกว้างขวาง ก็ย่อมแสดงให้เห็นอยู่แล้วว่า บัดนี้ ท่านและคณะ หาได้มี หรือหาได้รับฉันทานุมัติอย่างเป็นเอกฉันท์อีกต่อไปไม่


 


และคำถามสำคัญที่ต้องกล่าวถึงก็คือ ถึงบัดนี้ นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลภายใต้การกำกับดูแล ยังมี "ความชอบธรรม" อยู่แค่ไหน หรือเพียงใด ในการจะมีหรือจะใช้ อำนาจของฝ่ายบริหารโดยพลการ เช่น การออก "พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.. ๒๕๔๘" ฉบับนี้


 


เมื่อใดก็ตาม ที่รัฐบาลและผู้บริหารประเทศเริ่มหรือปฏิบัติต่อประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยเยี่ยงศัตรู และมุ่งแบ่งฝักฝ่าย ทั้งที่เป็นการแบ่งแยกเพื่อปกครอง และแบ่งแยกเพื่อทำลาย หรือสยบให้จำต้องอยู่ในอำนาจของผู้นำรัฐเพียงถ่ายเดียว ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ใช่หรือไม่ว่า รัฐและผู้นำรัฐ ตลอดจนบุคคลผู้ใกล้ชิด ผู้มีส่วนร่วม หรือผู้เกี่ยวข้อง จะต้องร่วมแสดงความรับผิดชอบ โดยคืนอำนาจและคืนโอกาสทางการเมืองให้กับเจ้าของอำนาจที่แท้จริงอย่างไม่ชักช้า


 


ใช่หรือไม่ว่า ความผิดพลาดชนิด "อนันตริยกรรมทางกฎหมาย" ในการออก พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.. ๒๕๔๘ ฉบับนี้ อย่างน้อยที่สุด นายกรัฐมนตรีย่อมเป็นบุคคลแรก ที่จำเป็นจะต้องแสดงความรับผิดชอบในเบื้องต้น ด้วยการลาออกจากตำแหน่ง อย่างไม่ชักช้า...