Skip to main content

ครอบครัวของเรา

เชื่อได้ว่าสิ่งหนึ่งที่ทุกคนรวมทั้งเด็กนักเรียนทุกคนเกลียดเข้าไส้คือถูกสั่งให้เขียนเรียงความเรื่อง " ครอบครัวของเรา" ครอบครัวของเรามีพ่อแม่พี่น้องกี่คน หมาแมวกี่ตัว ใครรักใคร ใครทำอะไร เสร็จแล้วก็นำไปส่งคุณครูเอาคะแนน


วันนี้ผู้เขียนจำต้องเขียนเรียงความเรื่อง " ครอบครัวของเรา" อีกครั้งหลังจากเขียนมาแล้วหลายครั้งเมื่อสมัยเป็นนักเรียน แต่ครั้งนี้ผู้เขียนมิใช่นักเรียนและไม่มีคะแนน


ลูกลิงที่ได้รับอาหารครบแต่ขาดแม่จะไม่โต ทารกและเด็กเล็กในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าก็เช่นกัน หากพี่เลี้ยงอุ้มน้อยไปนิดเล่นด้วยน้อยไปหน่อยก็จะทำให้เด็กไม่โตเช่นกัน หรือไม่ก็โตแต่ตัวแต่พัฒนาการด้านอื่นๆ ล่าช้า เช่น เดินช้า พูดช้า อ่านเขียนได้ช้า


คนเราจึงต้องมีครอบครัวแน่ ครอบครัวที่สมบูรณ์ประกอบด้วยพ่อ แม่และลูก ครอบครัวที่ดีควรประกอบด้วยปู่ย่าตายายและลุงป้าน้าอาอีกด้วย


ครอบครัวที่สมบูรณ์ควรมีทั้งพ่อและแม่โดยที่พ่อแม่รักกันมากๆ และรักลูกเท่าๆ กันแต่ไม่ต้องมากเท่าที่พ่อแม่รักกัน กล่าวคือพ่อกับแม่รักกันสักสิบคะแนน แล้วแต่ละคนรักลูกคนละห้าคะแนน ด้วยโครง สร้างสามเหลี่ยมด้านเท่าเช่นนี้ครอบครัวจึงสมดุล ความรักความสามัคคีของพ่อแม่นั้นมั่นคงและมีพลังมากพอในการอบรมสั่งสอนลูก


ในทางตรงข้าม พ่อแม่ไม่รักกันหรือรักกันน้อย หรือในอีกกรณีหนึ่งคือพ่อรักลูกแต่แม่ไม่รักลูก เช่นนี้สามเหลี่ยมครอบครัวจะเสียสมดุลเอียงกะเท่เร่ เป็นเหตุให้ลูกไม่เชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อแม่ได้โดยง่าย


หากเราเชื่อโครงสร้างครอบครัวเช่นนี้ การที่ลูกมีแค่พ่อหรือแม่หรือมีผู้เลี้ยงดูเพียงคนเดียวจึงอาจจะตัดปัญหาเรื่องสมดุลของครอบครัวไปตั้งแต่ต้น กล่าวคือถ้าเด็กมีพ่อหรือแม่หรือผู้เลี้ยงดูเพียงคนเดียว โครงสร้างครอบครัวจะกลายเป็นเส้นตรง ขอเพียงพ่อหรือแม่หรือผู้เลี้ยงดูให้ความรักความอบอุ่นมากเพียงพอ เด็กก็สามารถพัฒนาตนเองต่อไปได้ แต่อย่างน้อยก็ต้องมีคนเลี้ยงมิใช่ให้ท่อนไม้เลี้ยง


ครอบครัวที่ดีควรประกอบด้วยปู่ย่าตายายและลุงป้าน้าอา นั่นคือเป็นครอบครัวขยาย เพราะในการอบรมสั่งสอนลูกนั้นแท้จริงแล้วไม่มีใครสามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าวิธีไหนถูกหรือผิด เช่น ให้ลูกเล่นเกมวันละ ๒ ชั่วโมง ถูกหรือผิด ให้ลูกใช้มือถือตั้งแต่เล็ก ถูกหรือผิด เป็นต้น การอบรมสั่งสอนลูกจึงควรเกิดจากการพูดคุยและช่วยกันสั่งช่วยกันสอนของผู้ใหญ่หลายๆ คนซึ่งย่อมผิดบ้างถูกบ้าง เข้มงวดเกินไปบางเวลาและหย่อนยานเกินไปเป็นเวลาสลับกันไป แต่โดยรวมๆ แล้วเด็กจะได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนหลายคน ทำให้สามารถเรียนรู้และเลียนแบบข้อดีข้อด้อยของสมาชิกครอบครัวแต่ละคนอย่างหลากหลาย


พ้นจากครอบครัวจึงเป็นเรื่องของสังคม สังคมมีส่วนช่วยเลี้ยงดูเด็กแน่นอนไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม รวมทั้งไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม เช่น สังคมนี้อนุญาตให้เด็กซื้อเหล้าเบียร์ได้หรือไม่ สังคมนี้อนุญาตให้เด็กขับรถได้หรือไม่ เป็นต้น


หากเราเชื่อโครงสร้างครอบครัวเช่นนี้ การที่ลูกมีแค่พ่อหรือแม่หรือมีคนเลี้ยงดูเพียงคนเดียวจึงอาจจะมิใช่เรื่องสำคัญ เพราะวงศ์ญาติและสังคมต่างหากที่เป็นผู้เลี้ยงดู มิใช่พ่อแม่จะสำคัญอะไรนักหนาแต่เพียงผู้เดียว อย่างไรก็ตามหากสังคมนั้นไร้ระเบียบวินัยอย่างมาก พ่อแม่หรือคนเลี้ยงดูเพียงคนเดียวจะต้องทำงานหนักมากขึ้นเป็นทวีคูณ


ทั้งหมดนี้อาจจะเป็นคำอธิบายว่าเพราะอะไรเด็กที่ขาดพ่อแม่บางคน ไม่ว่าจะขาดคนเดียวหรือขาดไปทั้งคู่ก็สามารถพัฒนาตนเองเป็นผู้มีความรู้ความสามารถและมีสุขภาพจิตที่ดีได้ หากครอบครัวนั้นมีเพียงพ่อหรือแม่ แน่นอนว่าพ่อหรือแม่เพียงคนเดียวต้องทำงานหนักกว่าปกติเพราะต้องทำหน้าที่เป็น " ต้นแบบ" ทั้งชายและหญิงให้แก่ลูก แต่ที่สำคัญมากกว่าการเป็นต้นแบบคือต้องทำหน้าที่เป็น " หลักยึด" ให้ลูกยึดเกาะพัฒนาการ และเดินหน้าต่อไป


ก่อนที่พ่อหรือแม่หรือผู้เลี้ยงดูใดๆ จะเป็นหลักยึดของเด็กได้ ขั้นแรกผู้เลี้ยงดูต้องสร้าง " สายใยสัมพันธ์" ขึ้นภายในจิตใจของทารกให้สำเร็จก่อน หากไม่สำเร็จทารกจะไม่ยอมโตหรือไม่ยอมพัฒนาแม้ว่าจะได้อาหารครบดังที่กล่าวตอนต้น หลังจากสองฝ่ายมีสายใยสัมพันธ์แล้วเด็กเล็กจึงจะมี " ความมั่นคง" และเชื่อว่าพ่อหรือแม่หรือผู้เลี้ยงดูเป็นที่ " ไว้วางใจ" ได้ด้วย จนกระทั่งเมื่อเด็กอายุได้ประมาณ ๓ ขวบจึงถึงเวลาที่เขาจะ " แยกตัวตน" ออกเป็นบุคคลอิสระจากผู้เลี้ยงดูแล้วเริ่มพัฒนาอัตลักษณ์ทางเพศและอัตลักษณ์ส่วนตนต่อไปตามลำดับ


ที่เด็กต้องการมากที่สุดจึงเป็นสายใยสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและอยู่เหนือบุคคลหรือกาลเวลา กล่าวคือ แม้พ่อหรือแม่หรือผู้เลี้ยงดูจะอยู่ห่างไกลหรือถึงแก่กรรมไปแล้วก็ตาม สายใยสัมพันธ์นั้นก็ยังคงอยู่และทำหน้าที่เป็นสายเชือกให้เด็กๆ ได้ยึดเกาะแล้วเดินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ประเด็นสำคัญคือสายใยสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นนี้สามารถสร้างขึ้นได้จำเพาะเมื่อเด็กอายุไม่เกินขวบปีแรกเท่านั้น


มีหนังการ์ตูนญี่ปุ่นชั้นดีเรื่องหนึ่งชื่อเรื่อง Tokyo Godfathers ของผู้กำกับซาโตชิ คง เนื้อเรื่องเกี่ยวกับคนไร้บ้าน ๓ คน คือชายวัยกลางคนขี้เมา กะเทยวัยร่วงโรย และสาววัยรุ่นใจแตกอาศัยอยู่ด้วยกันข้างถนน สามคนไปพบทารกคนหนึ่งถูกทิ้งไว้ในกองขยะ พวกเขาจึงพาทารกนั้นออกเดินทางเพื่อตามหาแม่ที่แท้จริง


เป็นการ์ตูนที่สวยสดงดงามและคุณภาพสูงยิ่ง เนื้อหาชวนให้ตีความได้หลากหลาย โดยที่หนึ่งในการตีความเหล่านั้นคือคนทั้งสามเป็นส่วนประกอบของครอบครัวซึ่งประกอบด้วย พ่อ (คนขี้เหล้า) แม่ (กะเทยที่อยากเป็นแม่) และลูก (วัยรุ่นใจแตก) ทั้งสามทำหน้าที่ประคับประคองครอบครัว (เด็กทารก) ไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง