Skip to main content

ปลูกเศรษฐกิจชุมชน...บนฐานความรัก

คอลัมน์/ชุมชน

....มิใช่ฐานเงินตรา การแข่งขัน และผลประโยชน์


 


การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนด้วยระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมการค้าเสรี โลกาภิวัตน์ ได้ก่อปัญหาแก่ชุมชนขึ้นมากมาย เช่น เกษตรกรรายย่อยไม่สามารถแข่งขันได้ เพราะเราไม่ได้ส่งออกเพิ่มมากขึ้นเท่าใดนัก


 


เช่น ข้าว จากปี 2542 เท่ากับ 6,838,793 ตัน เพิ่มเป็น 7,345,971 ตัน ในปี 2546 เท่านั้น เป็นเมื่อเทียบกับการนำเข้าสินค้าอื่น ๆ จากต่างประเทศ เราเสียเปรียบมาก เช่น เมื่อมีการไหลบ่าข้าวโพดจากประเทศสมาชิก WTO ทำให้ราคาข้าวโพดของเราตกต่ำถึงร้อยละ 10.6  การนำเข้าถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองมีมากจนกระทั่งเราไม่อยู่ในฐานะที่จะผลิตแข่งขันได้ ยิ่งเมื่อมีการเปิด FTA กับจีนเพียงแค่ปีเดียวก็พบว่าเราได้นำเข้าพืชผักจากจีนเพิ่มสูงถึง 180% ในขณะที่เราส่งออกไปขายให้จีนเพิ่มขึ้นเพียง 45%


 


อีกทั้งเกษตรกรผู้ปลูกหอม กระเทียม หอมหัวใหญ่ ซึ่งมีจำนวน 120,000 ครอบครัว พื้นที่ 1.3 แสนไร่ ต้องเลิกลดพื้นที่ปลูกทันที 50,000 ไร่ หรือลดลงร้อยละ 38.46 ของพื้นที่การปลูกทั้งหมด ซึ่งชี้ให้เห็นว่าพืชผักจีนจะครองตลาดในประเทศไทยได้ในไม่ช้า ยิ่งมีกฎหมายให้ต่างชาติมาเช่าและซื้อที่ดินเพื่อทำการเกษตรขนาดใหญ่ได้ยิ่งไปกันใหญ่


 


สถานการณ์แบบนี้คงจะมีแต่บรรษัทธุรกิจขนาดใหญ่ที่แข่งขันได้ เกษตรกรรายย่อยเล่า...คงหายไป และกลับมาอีกในฐานะลูกไร่ในนาของนายทุนละมั้ง?


 


ปัญหาต่อมา ไม่ได้ทำให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น ตรงข้ามกลับลดลง และหนี้สินของเกษตรกรลดลงเลย ตรงข้ามกับเพิ่มขึ้น นับตั้งแต่ปีที่มีการเปิดตลาดสินค้าเกษตรตามข้อตกลงการเกษตร (AOA) ในฐานะที่เราเป็นสมาชิก WTO ประเทศไทยสามารถส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นจาก 412,490 ล้านบาทในปี 2538 เป็น 684,456 ล้านบาทในปี 2544  แต่การส่งออกที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ส่งผลต่อการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรแต่อย่างใด ในทางตรงข้ามรายได้ของเกษตรกรกลับลดลง และมีหนี้สินต่อครัวเรือนรวมทั้งจำนวนเกษตรกรที่เป็นหนี้มากขึ้นด้วย รายได้เฉลี่ยของเกษตรกรลดลงจาก 29,811.51 บาท ในปี 2538/2539 เป็น 27,937.86 บาทในปี 2541/2542 และเป็น 26,882.07 บาทในปี 2542/2543


 


หนี้สินของเกษตรกรต่อครัวเรือนเกษตรทั่วประเทศเพิ่มขึ้นจาก 24,672 บาทในปี 2538/2539 เป็น 37,231 บาทในปี 2542/2543 นอกจากนี้จำนวนครัวเรือนที่เป็นหนี้ระหว่างปี 2538/2539 ยังเพิ่มขึ้นจาก 2,875,993 ครัวเรือนเป็น 3,379,163 ครัวเรือน ระหว่างปี 2542/2543


 


นอกจากนี้ ทำให้เกิดการล่มสลายของฐานทรัพยากรและระบบนิเวศ รวมทั้ง วิกฤตความรุนแรงและความขัดแย้งโดยเฉพาะในการใช้ทรัพยากร และ ปัญหาเรื่องวัตถุนิยม บริโภคนิยม วิกฤตทางจิตวิญญาณ คุณค่า ความดี  ซึ่งทั้งหมดนี้วัดได้ยาก แต่เรา ๆ ท่าน ๆ ก็รู้อยู่แก่ใจ


 


ตัวอย่างการล่มสลายของเกษตรกรรายย่อย สังคมและนิเวศในชนบทแบบนี้มีให้เห็นถมถืดในแถบอาร์เจนตินาและเม็กซิโก


 


อย่างไรก็ดี มีตัวอย่างชุมชนที่ดิ้น แล้วก็ดิ้น ดิ้น ดิ้น แสวงหาทางเลือกที่อาจเป็นทางรอด แต่ก็ยังทำงานบนฐานของเงินตรา การแข่งขัน และผลประโยชน์อีกมากมาย เช่น ทำธุรกิจชุมชน (หรือคำสวยๆ เรียกว่า "วิสาหกิจชุมชน") ในเรื่อง "ข้าวปลอดสารพิษ" โดยชาวบ้านก็ขอโครงการจากทางภาครัฐหรือองค์กรพัฒนาเอกชนทำธุรกิจโรงสีชุมชนผลิตข้าวปลอดสารพิษออกมาขายในระบบเศรษฐกิจการตลาดที่มีการแข่งขันสูง ผู้บริโภคเป็นใครก็ไม่รู้...ไม่รู้จัก "อยู่นอกสายตา ขอเธอตั้งไกล" (ไม่ "รู้เขา" เราจะรบชนะยังไง...)  เฮ้อ! ตลาดก็ไม่หลากหลาย กว่าร้อยละ 80 ของยอดขายไปฝากไว้กับ ธกส. เมื่อ ธกส. เปลี่ยนลูกค้า โรงสีก็เจ๊ง  นอกจากนี้โรงสีเอกชนก็กว้านซื้อข้าวปลอดสารพิษ ค้าขายแข่งกับโรงสีชุมชน ผู้อ่านก็คงจินตนาการถูกนะว่าใครจะเจ๊ง         


 


การทำธุรกิจแบบนี้ชุมชนมีข้อได้เปรียบพ่อค้าเอกชนเรื่องเดียวคือ "มีข้าวปลอดสารฯ"  แต่โรงสีเอกชนเขาก็ควานหาข้าวปลอดสารได้เหมือนกัน(และเขาก็ทำแล้ว) ชุมชนจึงไม่เหลือข้อได้เปรียบอะไรอีกเลย


 


ปัจจุบัน (2548) โรงสีชุมชนในจังหวัดแห่งหนึ่งมีถึง 47 โรง ดำเนินธุรกิจได้ปกติ 2 โรง และดำเนินธุรกิจได้บ้างไม่ได้บ้างอีก 2 โรง ที่เหลือ 43 โรง ปิดดำเนินการสนิท(เจ๊งบ้ง!) ไม่ว่าจะสีข้าวเพื่อการค้า หรือเพื่อเป็นสวัสดิการชุมชนก็ตาม (ใครไม่เชื่อลองหาเวลามา ม.นเรศวร จะพาไปดู)


 


บอกแล้ว...ว่าอย่าเล่นในเกมของทุนนิยม ...เราจะแพ้ เพราะมันไม่ใช่เกมของเรา   


ต้อง...เล่นในเกมของ "ตัวเอง" เกมที่อยู่บนฐานวัฒนธรรมชุมชน


 


หากไม่ดูเป็นการรบกวน ก็อยากจะชวนมาลอง "ปลูก" เศรษฐกิจชุมชน บนฐาน "ความรัก" ดู (ซักตั้ง) มั้ยเล่า!


 


ตอนนี้ผู้เขียน ซึ่งอีกหมวกอีกใบหนึ่ง คือผู้ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดพิษณุโลก (สังกัดสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยสำนักงานภาค (สกว.ภาค)) กำลังทำโครงการเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชน ชุด "ปลูกเศรษฐกิจข้าว บนฐานความรัก" (เป็นชื่อใหม่ที่กำลังเปลี่ยนจากโครงการ "ตลาดข้าวในชุมชน") จะลองเล่าให้ฟังดังนี้นะจ๊ะ หากมีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมก็อีเมล์มาคุยได้ที่ achariyach@yahoo.com หรือถ้าอยู่ใน 3 จังหวัดนี้ คือ พิจิตร พิษณุโลก และสุโขทัย ก็อยากจะชวนมาร่วมงานกันค่ะ


 


เริ่มจากการเริ่มต้นกับชุมชนคนทำงาน ชื่อก็บอกแล้วว่า "บนฐานความรัก" ดังนั้น คนที่จะร่วมทำกับเราต้องเป็นคนที่ "รักคนอื่นเป็น" โดยเฉพาะรักคนจน คนทุกข์ยาก ซึ่งมีอยู่มากมายในแผ่นดิน เรียกได้ว่าต้องเป็นคนที่จะทำธุรกิจเพื่อ "ให้คนจน (หรือเกือบจน) ได้กินของดี ราคาถูก" แล้วเราก็เอากำไรนิด ๆ หน่อย ๆ พอเป็นค่าเหนื่อย


 


ยัง...ยังไม่พอ ต้องคิดถึงลูกหลานในอนาคต คิดถึงธรรมชาติ เทวดา ผี พระแม่ธรณี และสรรพสัตว์อีกด้วย ดังนั้น ธุรกิจนี้ต้องคิดถึง "ความหลากหลาย" "องค์รวม" และการเคารพธรรมชาติอีกด้วย เช่น ไม่เอาสารเคมีไม่ราดให้พระแม่ธรณีแสบร้อน เป็นต้น


 


ต่อมา ต้องทำธุรกิจโดยการพึ่งตัวเอง ใช้ต้นทุนให้น้อยที่สุด โดยผลิตข้าวที่ไม่ใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลง และใช้โรงสีชุมชนหรือโรงสีเอกชนซึ่งมีอยู่แทบทุกหมู่บ้าน/ตำบลเป็นผู้สีข้าว(โรงสีไหนๆก็สีข้าวฟรี เพราะเขาเอารำกับปลายข้าวเป็นการตอบแทน)  ที่สำคัญคือ เราไม่ต้องหาเงินทุนหมุนเวียนจำนวนมากเพื่อมาซื้อข้าวเปลือก เพราะเงินทุนหมุนเวียนค่อนข้างเป็นปัญหาหนักอกของโรงสี วิธีการคือ สมมติว่าชาวนาครอบครัวหนึ่งผลิตข้าวได้ 10 ตัน อาจจะขายให้พ่อค้า/โรงสี/ท่าข้าวไป 8 ตัน เก็บเอาไว้กินเอง 1 ตัน และเอาไปทำธุรกิจข้าวปลอดสารฯ 1 ตัน ซึ่งการแบ่งปันแบบนี้ไม่มากเกินไป ทำแค่เพียง 1 ใน 10 ก็พอ


 


ถ้ามีคนร่วมทำธุรกิจแบบนี้ 10 คน ธุรกิจชุมชนก็จะมีข้าว 10 ตัน ธุรกิจฯก็อาจจะทยอยสีข้าวขาย เมื่อได้กำไรมา ก็กันส่วนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่าย อีกส่วนหนึ่งก็แบ่งกำไรมาให้ผู้ร่วมลงทุนพอเป็นรายได้เสริม หรือจะกันกำไรส่วนหนึ่งมาเพื่อใช้ในงานสาธารณะประโยชน์ของหมู่บ้าน เช่น เป็นอาหารกลางวันแก่เด็กน้อยนักเรียน


 


เวลาขายข้าว ก็เน้นขายราคาถูกกว่าท้องตลาด เพราะแนวคิดคือ "ปลูกเศรษฐกิจชุมชน ด้วยความรัก" หรือ "ให้คนจนได้กินของดีราคาถูก" และเน้นขายให้ชุมชน เพราะคนในชุมชนมีประมาณร้อยละ 10 – 20 ที่ไม่ได้ทำนา แต่ทำอาชีพรับจ้าง แทนที่จะไปซื้อข้าวพ่อค้า ให้พ่อค้าที่รวยแล้วรวยอีก ก็ช่วยชาวบ้านด้วยกันนี่แหละซื้อข้าว ทั้งยังได้ "ของดี ราคาถูก" อีกด้วย (ถ้ายังไปซื้อคนอื่นก็แย่แล้ว) ดังนั้น คนทำตลาดก็ไม่ต้องหาตลาดให้หืดขึ้นคอ


 


ต่อไปเศรษฐกิจแบบนี้จะขยายต่อไปยังสินค้าอื่นๆอีก และขยายกว้างกว่าหมู่บ้าน ไปยังตำบล อำเภอ จังหวัด และประเทศ เป็นเศรษฐกิจชาตินิยม  "ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ"  


 


ทรัพยากรและความรักก็หมุนเวียนในชุมชน ไม่ต้องไปพึ่งพาทั้งปัจจัยการผลิตและการตลาดจากภายนอกที่ชาวบ้านเรามักตกเป็นเบี้ยล่าง ไร้อำนาจ สูญเสียการพึ่งตัวเอง เป็นหนี้สิน ยากจน เครียด บริโภคนิยม วัตถุนิยม การแย่งชิง เกิดความรุนแรง และอื่นๆอีกมากมายดังที่กล่าวไว้ในตอนต้น


 


ทำธุรกิจแบบนี้ไม่ยากเลย ถ้าผู้ประกอบการเป็นคนที่ "รักคนอื่นเป็น" "มีชีวิตเพื่อคนอื่น เท่าๆกับมีชีวิตเพื่อตัวเอง"  และ "รู้จักอิ่ม รู้จักพอ"


 


แต่มันจะยากยิ่งนัก ถ้า...ชุมชนมีแต่คนที่ "รักใครไม่เป็น"