Skip to main content

แด่ "คนขายถั่ว" และมหาวิทยาลัยแห่งนั้น

คอลัมน์/ชุมชน

เรื่อง สุเจน  กรรพฤทธิ์


ภาพ  สุเมธ  อัศววิไลรัตน์ , อาทิตย์  นันทพรพิพัฒน์


           


"โฮ้ย.... มานี่เลยๆ"


เสียงถั่วกระทบหัวดังโป๊ก! ขณะเดินอยู่แถวท่าพระจันทร์ ปลุกผมตื่นขึ้นจากภวังค์


หันไปทางต้นเสียงก็อย่างที่คิดไว้


"อาบัง"  คนเดิมนั่งโวยวายอยู่ตรงนั้น...


 


1


มิถุนายน 2548 ...


 


 
เบอร์นาร์ด หนึ่งตำนานเล็กๆ ของธรรมศาสตร์ที่ยังคงมีลมหายใจ


 


ชายคนนี้ยังคงอยู่คู่ธรรมศาสตร์ หลังจากผ่านวิกฤติการณ์บางอย่างเมื่อสองเดือนก่อน...


 "ขายดีไหม"


 "โฮ้ย ขายไม่ได้ๆ คนไม่ค่อยมี"


เขาล้วงไปในลิ้นชัก...


"นี่ๆ เขาให้อยู่ต่อได้ 4 เดือน"  ใบเสร็จถูกหยิบมาให้ดู


 "แล้วเขาว่าไงบ้าง ขึ้นราคาค่าเช่าไหม"


 "เท่าเดิม"


 


สำหรับเด็กธรรมศาสตร์ ที่ผมอาจขอเติมวงเล็บในบางครั้งว่า "รุ่นเก่า" อาบังคนนี้เป็นที่รู้จักนานแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ.2511 ที่แกลงทุนข้ามน้ำข้ามทะเลหอบเมียและลูกเกือบโหลมาหากินในเมืองไทยโดยเลือกอาชีพยอดฮิตสำหรับแขกโพ้นทะเล คือ "ขายถั่ว"  (ที่เหลือคือขายผ้าและโรตี) สืบต่อจากพ่อที่ปักหลักขายสินค้าชนิดเดียวกันหน้าวิทยาลัยนาฏศิลป์มาก่อน


 


จนวันหนึ่งชีพจรลงเท้าพานายใบจูเดินเตร่ขายถั่วมาถึงประตูใหญ่หน้าสนามหลวง


"เข้าไม่ได้ๆ"


ยามคนหนึ่งไล่แขกท่าทางผอมๆ ที่ตั้งท่าจะเดินเข้ามหาวิทยาลัย


 


การกระทำนั้นอยู่ในสายตาของนักศึกษาคนหนึ่ง ไม่กี่วันต่อมาเด็กคนนั้นจูงมือแขกไปหาอาจารย์เพื่อขออนุญาตให้เขามาทำมาหากินในมหาวิทยาลัย


นับแต่นั้นเขาก็เดินขายถั่วอยู่ในธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์มาตลอด 37 ปี พร้อมกับชะตากรรมและความผูกพัน ...


 


2


 


ผมจำชายคนนี้ได้ เพราะสมัยที่เรียนเขาจะปรากฏตัวได้ทุกที่ของธรรมศาสตร์ สามารถตักถั่วส่งให้ผู้ซื้อก่อนจะสั่ง (รู้ใจ)  มีวิธีการขายอันน่าทึ่ง และ ฯลฯ


รวมถึงเรื่องเล่าสมัย 14 ตุลา ที่เขาแจกถั่วฟรีให้ผู้ชุมนุมขับไล่เผด็จการในธรรมศาสตร์ โดยที่แขกเองไม่รู้ตัวสักเท่าไหร่ว่ากลายเป็นองค์ประกอบตัวหนึ่งในการโค่นล้มเผด็จการไปแล้ว


แม้กระทั่ง  "6 ตุลาคม 2519"  ที่เขายุติการขายถั่ว เมื่อมหาวิทยาลัยที่เขาอาศัยทำมาหากินโดนถล่ม แล้วหลบไปเป็นยามอย่างเดียวแถวจรัญสนิทวงศ์


 


* * * *


 


หลายเดือนก่อนมหาวิทยาลัยแห่งนี้มีแผนไล่คนเดินขายของที่หากินในธรรมศาสตร์นับสิบปีออกไปให้หมด อันเนื่องมาจากเหตุผลว่า "เกะกะ"


 


"ถ้าที่นี่ไม่ให้ขายก็เลิกขาย ไปเป็นยามอย่างเดียว"


"แล้วรายได้พอเหรอ"


"ไม่พอก็ไม่พอ"


เป็นบทสนทนาระหว่างผมกับเขาเมื่อต้นปีที่ผ่านมา


 


ถึงตรงนี้หลายคนอาจบอกว่าเขาดื้อไม่ปรับตัว แต่เรื่องจริงคือ เบอร์นาร์ดเคยทดลองออกไปขายข้างนอกมาพักหนึ่ง รวมถึงเดินทางไกลไปยังธรรมศาสตร์รังสิตซึ่งอยู่ห่างออกไปอีกถึง 60 กิโลเมตร


ผลปรากฏว่าขายไม่ได้ แถมบางที...โดนขโมยไล่เตะสะบักสะบอมกลับมาอีกต่างหาก


ตอนหลังผมถึงตระหนักดีว่า...


ชายคนนี้จะขายถั่วต่อเมื่ออยู่ใน "รั้วท่าพระจันทร์" เท่านั้น


 


2


 


นักศึกษารุ่นเก่าเรียกเขาว่า "ใบนาร์ด"


นักศึกษารุ่นผม (43) เรียกเขาว่า "เบอร์นาร์ด"


ข้าราชการแถวตึกกิจกรรมเรียกแกว่า "อาบัง"


แต่อาบังบอกว่าชื่อจริงคือ "ใบจู ยัควา"


 


ปลายเมษายน 2548...


 


 "คนในตึกโน้น (ตึกโดม) บอกว่าเสียชื่อ มาว่า" บังบ่นกับผม หลังสารคดีเรื่องตัวเขาที่ผมเขียนตีพิมพ์ทางสื่อในเดือนมีนาคม ซึ่งผมเองก็ไม่นึกว่าจะก่อผลถึงกับทำให้มีการข่มขู่คนขายของธรรมดาอย่างเขาเช่นนี้


 


บังมีสีหน้าไม่สบายใจนัก...


 "..."   


ผมพูดไม่ออก...


 


นี่ไม่ใช่ครั้งแรก บังเล่าว่าโดนลักษณะนี้มาได้พักหนึ่งแล้ว และหลายครั้งที่ผมแวะไปเยี่ยมเขาช่วง เมษายน - พฤษภาคมที่มหาวิทยาลัยยังเอาแน่เอานอนไม่ได้กับประเด็นนี้ก็จะมีเรื่องประเภทไอ้โม่งมาบอก...


"เขามาย้ำอีกแล้วว่าจะไม่ให้ขาย" 


"เขามาบอกว่าได้แค่เดือนพฤษภา"


 


เรื่องเหล่านี้ลอยเข้าหูบ่อยๆ


หลายครั้ง...ผมอดคิดไม่ได้ว่า นี่ธรรมศาสตร์เป็นแดนมาเฟียไปแล้วหรือไร? เบอร์นาร์ดผิดหรือ ? ที่มีใครสักคนเอาเรื่องของเขามาเล่าให้ผู้คนในสังคมฟัง เบอร์นาร์ดผิดหรือ?  ที่เดือดร้อน


 


ถึงที่สุด...ผิดหรือ? ที่จะมีใครบางคนเรียกร้องความถูกต้องเป็นธรรมให้เขา


น่าละอายยิ่งนัก หากสิ่งที่ผมได้ยินเป็นเรื่องจริง ข้าราชการที่รับใช้ผู้บริหารธรรมศาสตร์ ผู้ที่มาข่มขู่เบอร์นาร์ดคนนั้นลงมือซะเอง เขาก็คงเป็นคนที่คิดอะไรไม่เป็น


โดยเฉพาะอย่างยิ่ง..."ไม่รู้จักผิดถูก"


 


ผมเข้าใจ...ข้าราชการต้องทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ต้องระมัดระวังชีวิตการงาน ด้วยมีคนอยู่ข้างหลังที่บ้านอีก แต่ผมอยากให้เขาคนนั้นถามตัวเองหนักๆ...


ศักดิ์ศรีของข้าราชการคืออะไร?


ยิ่งถ้าผู้บริหารธรรมศาสตร์เป็นคนสั่ง ผมไม่มีอะไรจะพูด...


 


3


มิถุนายน 2548


 


ก็ยังดี ที่ผลสุดท้ายผู้บริหารชุดนี้ก็ตัดสินใจให้บังขายของอยู่ในมหาวิทยาลัยได้ต่อไปแม้จะถูกจำกัดพื้นที่บ้างก็ตาม และต้องรอลุ้นว่าอีก 4 เดือนต่อไปชะตากรรมของเขาจะเป็นอย่างไร


นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ผมยังโดนถั่วเขวี้ยงใส่...ยามเดินผ่านประตูท่าพระจันทร์


 


ผมไม่สนใจว่าฝ่ายบริหารจะเห็นความสำคัญจริงๆ หรือละอายแก่ใจ


อย่างไรก็ตาม ผลคือดินแดนแห่งนี้ยังสามารถรักษาจิ๊กซอว์ตัวเล็กๆ ที่ทรงค่ายิ่งไว้ได้


แต่อีกนานเท่าใด ผมไม่รู้...


 


ผมอยากให้ภาพมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ตอนนี้ เป็นภาพที่นักศึกษาธรรมศาสตร์ปี 3 และปี 4 ปัจจุบันที่มีโอกาสได้กลับมาเรียนจดจำให้ขึ้นใจมากที่สุด


 


ใช่ ... หลายปีที่ผ่านมาผมเริ่มแน่ใจแล้วว่า นี่คือยุคสุดท้ายของธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ที่ยังมีนักศึกษา มีเบอร์นาร์ด มีบรรยากาศของชุมชนที่ยังไม่ถูกไล่รื้อ


 


ถึงวันนี้หากใครเดินเข้าไปในมหาวิทยาลัยจะพบว่า "สนามบอล" ด้านตึกโดมถูกตัดอีกครั้ง หลังจากหลายสิบปีก่อนมีการตัดสนามบอลฝั่งหอประชุมใหญ่ไปแล้ว


 


ทั้งหมดเพื่อทำที่จอด "รถยนต์"


 


ปีนี้...มีมติสภามหาวิทยาลัยให้ย้ายนักศึกษาปริญญาตรีทั้งหมดไปรังสิตในปี 2549 


และผู้บริหารชุดเดียวกันนี้ก็กำลังลงมือทำให้ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ไม่มีลมหายใจอย่างสนุกมือ


 


จนบางครั้งผมก็ไม่เข้าใจว่า ปัจจุบันทำไมนักศึกษาธรรมศาสตร์บางคนที่เป็นถึงผู้นำองค์การนักศึกษา ถึงออกมาปกป้องบางสิ่งที่ไม่ควรปกป้อง แต่สิ่งที่พวกเขาควรปกป้องกลับไม่ออกมาเคลื่อนไหว


 


หรืออาจจะจริงอย่างที่นักเขียนบางท่านว่าไว้


 


เรากำลังก้าวไปสู่ยุคสมัยที่ไม่มีประวัติศาสตร์


 


         


 บริเวณที่โดนตัดไปทำลานจอดรถ จากเดิมแถวเดียว ปัจจุบันมี 2 แถว โดยไม่มีการบอกกล่าวใคร


 


 
 ถ้าธรรมศาสตร์มีนาฬิกาชีวิต เรือนนี้คงเป็นตัวแทนได้ดีที่สุด

   


 


เอกสารอ้างอิง


ตำนาน  "คนขายถั่ว" แห่งรั้ว "ท่าพระจันทร์"  . ผู้จัดการรายวัน 14 มีนาคม 2548.