Skip to main content

เรื่องของคำว่า "เควียร์"

คอลัมน์/ชุมชน

บทความนี้เริ่มเขียนในกลางดึกที่ตื่นขึ้นมา   ผู้เขียนมีอาการปวดหัวตอนหัวค่ำจึงของีบ   อากาศใน กทม. ร้อน อ้าวและชื้น เพราะฝนตกหนัก (หลังจากที่น้ำท่วม กทม.ชั้นใน แต่ระบายน้ำไม่ทัน ตามคำแก้ตัวกทม.ที่ฟังแล้วตลก) ติดต่อกันสองสามวันต่อกัน  เมื่อตื่นขึ้น จึงนึกขึ้นได้ว่าต้องเขียนอะไรบางอย่างก่อนจะลืม


 


ผู้เขียนได้เดินทางมาเมืองไทยในช่วงเดือน กรกฎาคม ๒๕๔๘ ได้เข้าประชุมงาน "เควียร์ศึกษาในเอเชีย" ครั้งที่หนึ่ง ในช่วงต้นเดือน ถือเป็นการเปิดหูเปิดตาตนเอง ผู้เขียนไม่ได้มีผลงานมานำเสนอแต่ได้เรียนรู้ถึงสถานการณ์ปัจจุบันในเรื่องเกี่ยวกับ "เควียร์" (queer) ในประเทศไทย และในเอเชีย (ช ช้าง --ไม่ใช่เอเชีย-ซ โซ่) ต้องขอขอบคุณผู้จัดที่ทำให้การประชุมนี้เกิดขึ้น


 


ในงานนั้น มีการนำเสนอผลงานการศึกษา  วิจัยในแง่มุมต่างๆ โดยนักวิชาการต่างๆ ทั่วโลกที่มองมายังภูมิภาคเอเชีย คือมองตามลักษณะทางขอบเขตทางภูมิศาสตร์ มีงานน่าอ่านน่าติดตามหลายต่อหลายชิ้น นอกจากนี้ก็มีการพูดถึงบริบททางการเมืองของเควียร์ในเอเชียด้วย อันนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจเช่นกัน


 


อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนได้ไปเข้าร่วมกับเวทีนำเสนอของไทย เรียกกันง่าย ๆ ว่าไทยพาแนล (Thai Panel) ที่กลุ่มผู้จัดงานประชุมฝ่ายคนไทยได้พยายามจัดขึ้น ในเวทีไทยพาแนลนี้ มีทั้งผู้ศึกษาเรื่องเควียร์ในมุมมองของนักวิชาการ และกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคม (social movement groups) มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น


 


ผู้เขียนให้ความสนใจในไทยพาแนลมากเพราะว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ด้วยว่า ๑. ผู้เขียนเป็นคนไทย ที่น่าจะเข้าใจความหมายของคำว่าเควียร์ได้ในสายตาคนไทย  ๒. จากความเป็นไทยนั้น ผู้เขียนน่าจะเข้าใจว่าหากมีคนไทยไม่เข้าใจในเรื่องนี้ ผู้เขียนน่าจะเข้าใจมากกว่าคนอื่นที่ไม่ใช่ไทย ว่าทำไมคนไทยจึงไม่เข้าใจ แม้ว่าจะมีนักวิชาการฝรั่งหลายคนพยายามมาตอบคำถามในจุดนี้ แต่ไม่มีใครตอบได้ตรงใจผู้เขียน จึงขอมาดูเหตุการณ์จริงตรงนี้แบบจะจะดีกว่า และ ๓.  หากมีโอกาสแทรกและเสริมความรู้ที่ผู้เขียนได้มาจากสหรัฐฯ ที่อาจเป็นประโยชน์กับไทยพาแนลได้ ก็จะทำตรงนั้น เพื่อที่จะได้เป็นประโยชน์ต่อไป


 


ปัญหาขั้นต้นที่มีการหยิบยกขึ้นมาเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ การขาดองค์ความรู้พื้นฐานในเรื่องนี้ที่ชัดเจน ในหมู่นักวิชาการเองและโดยเฉพาะบุคคลทั่วไปในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเควียร์หรือไม่เควียร์  ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสนใจเป็นเรื่องแรก ดังนั้นในบทความนี้ ผู้เขียนจึงจะเน้นในการให้คำอธิบายว่า เควียร์คืออะไร 


 


ก่อนอธิบายคำว่าเควียร์นั้น มีคนใช้คำว่า เพศสภาพ (gender)  และเพศวิธี (sexuality) ซึ่งในความเห็นของผู้เขียนนั้น น่าใช้ทับศัพท์อังกฤษไปเลย จึงขอทับศัพท์ในบทความนี้  คำว่า sexuality  โดยทั่วไปคือความเป็นเพศหญิงหรือชาย ในบริบทภาษาอังกฤษ มีการเน้นนัยยะของคำว่า  male Vs. female ที่อธิบายเป็นไทยว่า เพศชายหรือหญิง มีจู๋หรือมีจิ๋ม ตามกระบวนการในกระแสหลักที่ว่ามีเพศเพียงสองเพศเท่านั้น นอกจากนั้น ที่สำคัญคือมีนัยยะถึงพฤติกรรมทางเพศได้อีก เช่น มีความสนใจในเพศใดเพศหนึ่ง เช่น ชายอาจรักชายหรือรักหญิงก็ได้ หรือการมีเพศสัมพันธ์ทั่วไป (ไม่จำเป็นต้องกับเพศตรงข้ามเท่านั้น) อันนี้ไม่ได้กำหนดว่า ต้องเป็นไปตามกระแสหลัก


 


ส่วนคำว่าเพศสภาพ (gender)  โดยทั่วไปเน้นถึงการที่บ่งบอกนัยยะทางสังคมของเพศนั้นๆ เช่น masculinity Vs. femininity ที่เน้นว่า male หรือคนที่เป็นเพศชายหรือมีจู๋ น่าจะมีmasculinityหรือลักษณะความเป็นชายที่สังคม(กระแสหลัก)กำหนดขึ้น ได้แก่ความเข้มแข็ง  ในขณะเดียวกันที่ female หรือคนที่เป็นเพศหญิงหรือมีจิ๋ม  น่าจะมี femininityหรือลักษณะความเป็นหญิงที่สังคม(กระแสหลัก)กำหนดขึ้น ได้แก่ความอ่อนโยน นุ่มนวล  ทั้งนี้หากชายใดไม่มีmasculinityหรือมีน้อย แต่กลับมี femininity  หรือ หญิงใดเป็นไปในทางกลับกัน สังคมก็จะประณามว่าผิดปกติ ทั้งที่ลืมนึกไปว่า masculinity Vs. femininity เป็นเรื่องที่กำหนดทางสังคมที่เกิดขึ้นเอง ไม่ใช่เรื่องที่เกิดตามธรรมชาติ อีกทั้งมีแนวโน้มที่จะเน้นความเป็นใหญ่ของmasculinity


 


นอกจากนี้ ยังมีอีกชุดหนึ่งคือ รักต่างเพศ heterosexual Vs. ที่ไม่ใช่รักต่างเพศ non-heterosexual ซึ่งเป็นการตีกรอบโดยสังคมกระแสหลักอีกเช่นกันว่า โลกใบนี้มีรักต่างเพศเป็นตัวตั้ง และเป็นแบบแผนที่คนทุกคนพึงปฏิบัติ จุดนี้คือเรื่องที่นำไปสู่ แนวคิดที่เรียกว่า heterosexism รักต่างเพศนิยม ที่ทำร้ายคนที่ไม่ใช่รักต่างเพศในทุกสังคม


 


ดังนั้น ผู้ชายติ๋มๆ หรือผู้หญิงห้าวๆ จึงกลายเป็นเรื่องเม้าท์ของคนที่ไม่เข้าใจ อย่างน่าทุเรศ หรือชายที่ไม่รักหญิงจึงเป็นเป้าหนึ่งทางสังคมเพราะว่าดันไปรักเพศเดียวกัน ไม่ตรงกับกรอบในสังคมที่ระบุว่าชายต้องรักหญิงเท่านั้น  ไม่ว่าใครก็ตามที่ตกในสภาพนี้จึงเป็นเหยื่อทางสังคมอย่างน่าเห็นใจที่สุด เพราะไม่มีพื้นที่ที่จะยืนในสังคมตรงนี้


 


ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เห็นว่า สังคมกระแสหลักได้พยายามสร้างพื้นที่ให้เฉพาะกับคนที่สอดคล้องกับกรอบแคบ ๆ ที่มีอยู่  ในทางกลับกันคนที่ไม่อยู่ในกรอบ หรือลงในกรอบไม่ได้ จึงกลายเป็นคนที่ผิดเพราะแตกต่างออกไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ต่อต้านและทำร้ายสิทธิมนุษยธรรมขั้นพื้นฐาน


 


ดังนั้น จากคำอธิบายที่กล่าวมาแล้ว ผู้เขียนขอกำหนดว่าคำว่า "เควียร์"  คือทุกอย่างที่ไม่ใช่ในกรอบที่กล่าวข้างต้น หมายถึง พฤติกรรมและ/หรือบุคคลที่ไม่อยู่ในกรอบหรือไม่สามารถจัดอยู่ในกรอบได้อย่างชัดเจนของคำว่า male, female, masculinity, femininity และ heterosexuality  ตามกระแสหลัก   บุคคลเหล่านี้รวมถึง (แต่ไม่ได้จำกัดอยู่ที่)  


๑. ชายรักชายหรือเกย์


๒. หญิงรักหญิงหรือเลสเบี้ยน


๓. คนที่รักชายก็ได้หญิงก็ได้หรือไบเซ็กช่วล


๔. คนข้ามเพศหรือคนไม่ตรงเพศ อันหมายความว่าเกิดมาแล้วเป็นชายแต่คิดว่าตนเป็นหญิง และอยากเป็นหญิงทางสรีระ (ส่วนจะรักหญิงหรือชายนั้นก็เป็นอีกเรื่อง) และในทางกลับกัน หญิงที่คิดว่าตนเป็นชาย และอยากเป็นชายทางสรีระ(ส่วนจะรักหญิงหรือชายนั้นก็เป็นอีกเรื่อง) หากยังไม่มีการแปลงเพศหรือให้เพศใหม่ จะเรียกว่า transgender   หากมีการแปลงเพศหรือให้เพศใหม่แล้วจะเรียกว่า transsexual


๕. บุคคลที่ยังตั้งคำถามกับตนเองว่าตนเป็นอะไรกันแน่ ไม่ลงตัว เรียกว่า questioning ซึ่งอาจอยู่แบบนี้ไปจนตลอดชีวิตก็ได้


๖. กะเทยแท้หรือเพศผสม (Intersex/Hermaphrodite) คือคนที่เกิดมาแล้วมีอวัยวะเพศทั้งชายและหญิงในคนเดียวกัน (กลุ่มนี้ต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิในการเลือกเพศ ว่าอยากเก็บจิ๋มหรือจู๋ไว้ หรือตัดจู๋หรือจิ๋มออกไปหากมีอาการฝ่อทางธรรมชาติ)


 


ทั้งนี้ คำว่า "เควียร์"  อาจมีการขยายตัวต่อไปก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะมี gender อะไรใหม่ๆ เกิดขึ้น ดังนั้น จะเห็นได้ว่า คำว่า "เควียร์"  sexuality และ gender มีความยืดหยุ่นมาก จึงทำให้คนที่ไม่เข้าใจจะงุนงง เพราะพยายามที่จะเข้าประเภทที่จำกัดในสังคมทั้งที่มีความหลากหลายเหลือเกิน บุคคลไหนไม่เข้ากลุ่มที่มีอยู่สองประเภท คือชายกับหญิง ที่เน้นความสัมพันธ์เฉพาะต่างเพศ จึงกลายเป็นของประหลาด


 


หากมองในเชิงฐานะทางเศรษฐกิจสังคม (Socio-economic status) เพื่อให้เข้าใจแล้ว พบว่ามีการแบ่งซอยที่ละเอียดมากกว่า คือ ชนชั้นล่าง ชนชั้นกลาง และชนชั้นสูง และแต่ละประเภทยังแยกออกมาได้อีก ส่วนทางด้าน sexuality และ gender นี้มีน้อยมาก เพราะสังคมเกลียดและกลัวกันเหลือเกินกับเรื่องเหล่านี้ ทั้งที่ไม่ได้มีอะไรน่าเกลียด น่าขยะแขยง ยกเว้นแต่ว่าสังคมกระแสหลักได้ไปหยิบยืมความเชื่อแบบวิคตอเรียนมาใช้กำหนดเรื่องความรัก ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ทำให้เรื่องของ "รักและเพศ" เป็นเรื่องที่ต้องห้าม ที่น่าเขลากว่านั้นคือ คนในสังคมส่วนใหญ่เอง ไม่ว่าสังคมไทยหรือไม่ไทยก็ตาม ไม่ว่าเควียร์ไม่เควียร์เอง ก็ไม่เคยตั้งคำถามย้อนกลับ ไม่เคยมองว่าโครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมมันมีที่มาที่ไปอย่างไร นับวันๆจึงฉลาดลงๆเรื่อยๆ


 


ผู้เขียนชอบใจที่มีนักวิชาการไทยเช่น ผศ. ดร. ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ ได้กล่าวถึงคำว่า "โรแมนติค ฟูลส์" Romantic fools ขึ้นมาในไทยพาแนล อันเป็นแนวคิดที่ช่วยนำไปสู่การตอบคำถามเรื่องความเป็นเควียร์ และไม่เควียร์ได้  รวมทั้งประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอื่น ๆ ในสังคมได้ และ "การยอมรับและทำให้การแต่งงานของบุคคลที่ไม่ใช่รักต่างเพศ เป็นเรื่องถูกกฎหมาย"  ได้ชัดเจน และรวมไปถึงการมองเรื่องนี้ในบุคคลที่ไม่ใช่เควียร์ด้วย


 


เรื่องของเควียร์มีอะไรให้ถกอีกมาก แต่ต้องมีการช่วยกันทั้งคนที่เป็นเควียร์เองและที่ไม่ใช่ เพื่อที่จะทำให้เกิดความเข้าใจในเรื่องที่สังคมกระแสหลักไม่ค่อยให้โอกาส  อย่างน้อยผู้เขียนคนหนึ่งที่จะพยายามในส่วนนี้ด้วยเท่าที่มีโอกาส คงมีโอกาสได้กล่าวต่อไปใน  "ประชาไท"  นี้