Skip to main content

กระบวนการสร้างความสูญเสีย

คอลัมน์/ชุมชน



1


มีน้องเป็นครูอยู่ที่ปัตตานี บอกให้ฟังว่า ทุกวันนี้ในตอนออกจากบ้านก็คิดอยู่อย่างเดียวว่า  "หวังว่าจะได้กลับบ้านอีกในตอนเย็น" ครั้นเมื่อถึงบ้านในตอนเย็นก็คิดอย่างโล่งใจว่า "เอาล่ะ ผ่านมาได้อีกวันหนึ่งแล้ว"  ส่วนเพื่อนที่เป็นสมาชิกเทศบาลบอกว่าหน้าบ้านถูกวางเรือใบมา 2 รอบแล้ว แต่ก็ไม่สามารถจะไปทำอะไรได้


 


ในขณะที่ในคืนที่มีการปิดเมืองถล่มยะลานั้น ก่อนหน้าที่ไฟจะดับเพียง 10 นาที ชายหนุ่มคนหนึ่งรู้สึกหิวจึงออกมาเพื่อหาซื้อของกิน แต่ยังไม่ทันจะได้ซื้อก็เกิดเหตุเสียก่อน ตอนช่วงชุลมุนเขาก็ถูกตำรวจจับกุมตัวไปโรงพักในฐานะผู้ต้องสงสัยและสอบสวนเสีย 1 คืนโดยยังไม่ได้กินอะไร


 


ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจ "ชั้นผู้น้อย" ก็บอกว่า ไม่รู้จะปฏิบัติงานอย่างไรถึงจะดีและมีประสิทธิภาพที่สุด ไม่รู้ใครเป็นนายมีสิทธิ์ออกคำสั่งบ้าง เปลี่ยนหัวหน้าจนจำชื่อไม่ได้ นโยบายก็เปลี่ยนแปลงถี่มาก เกือบจะวันต่อวันไปแล้ว คำสั่งก็ต้องฟัง เรื่องสิทธิมนุษยชนก็ต้องระวัง ในที่สุดก็ได้รับการสรรเสริญว่าตำรวจไม่มีน้ำยา คุ้มครองใครก็ไม่ได้


 


นี่คือสภาพเพียงส่วนหนึ่งที่คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเผชิญ มาเป็นเวลาเกือบ 2 ปี ภายใต้การบริหารของรัฐบาลทักษิณ ที่ดูเหมือนว่ายิ่งแก้ปัญหา ก็ยิ่งเกิดความสูญเสีย และยิ่งแก้ปัญหาก็ยิ่งเกิดความรุนแรง จนทำให้มีคนบางคนเริ่มคิดกันแล้วว่า อันที่จริงถ้ารัฐบาลชุดนี้จะไม่แตะต้องเรื่องนี้เลย เรื่องก็คงจะไม่บานปลายไปมากกว่านี้ หรือความรุนแรงอาจไม่มากนักก็ได้


 


หลายคนก็เริ่มเห็นความรุนแรงเป็นเรื่องปกติไปแล้ว มีคนในพื้นที่พูดแก้เซ็งด้วยตลกร้ายว่า ที่อื่นอาจจะมีเทศกาลเทกระจาด แต่ที่นี่เราเทศกาลทิ้งระเบิด ที่อื่นอาจจะมีประเพณีเผาเทียนเล่นไฟ แต่เรามีประเพณีเผาโรงเรียน เล่นระเบิดเพลิง ฟังอย่างนี้แล้วไม่รู้ว่าทางผู้บริหารบ้านเมืองจะยังขำกันออกอยู่หรือไม่


 


2


เมื่อพูดถึงเรื่องความสูญเสียที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดภาคใต้ ในตอนนี้ใครต่อใครก็ต้องคิดถึงภาพของกระบวนการก่อการร้ายที่เข้ามาบ่อนทำลายชาติ หรือกระบวนการแบ่งแยกดินแดน แต่หากมองอีกมุม เราอาจแยกออกจากกันได้ลำบากด้วยซ้ำว่าระหว่างผู้ก่อการร้ายกับรัฐบาลนั้น ใครกันแน่ที่สร้างความสูญเสียให้กับ 3 จังหวัดภาคใต้ (ตลอดไปจนถึงประเทศไทย) มากกว่ากัน


                                               


สิ่งที่รัฐบาลไม่พยายามจะพูดถึง หรืออาจจะยังไม่ทันคิด หรืออาจจะแกล้งทำเป็นไม่รู้ว่า แท้ที่จริงแล้ว กระบวนการหรือวิธีการทำงานของรัฐบาลนั่นเองที่มีส่วนสร้างความสูญเสียเป็นอย่างมากให้กับประชาชนของตนเอง


 


เริ่มตั้งแต่วิธีการทำงานตั้งแต่ต้น เดิมนั้นเป็นที่รู้กันดีอยู่ว่าสถานการณ์ภาคใต้จำเป็นจะต้องมีองค์กรพิเศษคอยเฝ้าระวังอยู่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความไม่สงบขึ้น รวมทั้งเป็นหน่วยงานที่ต้องเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนทุกภาคส่วนได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็คือ ศอ.บต. หรือศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นองค์กรที่ประกอบด้วยตัวแทนจากทุกภาคส่วน แต่หลังจากมีการยกเลิก ศอ.บต. ไปการแก้ปัญหาก็ยิ่งบานปลายออกไปเรื่อย ๆ


 


ยังจำได้ว่า เคยมีพี่น้องมุสลิมซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดา ๆ มีเรื่องเดือดร้อนหรือได้รับความไม่เป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่ พวกเขาก็เข้าไปร้องเรียนกับ ศอ.บต. เนื่องจากเขามีตัวแทนอยู่ ซึ่งปัญหาก็สามารถถูกแก้ไขจัดการไปได้โดยไม่เกิดความรุนแรง รวมทั้งพี่น้องที่ไม่ใช่มุสลิมเอง ในยามมีปัญหาไม่ได้รับความเป็นธรรมจากภาครัฐ  ศอ.บต.ก็เป็นที่พึ่งช่วยแก้ปัญหาให้ได้ เวลามีใครได้เบาะแสว่าอาจมีคนพยายามเข้ามาคิดการใด ๆ อันเป็นการทำลายชาติ มีคนแปลกปลอมเข้ามาอยู่ในชุมชน หากรู้ว่าอยู่ในหมู่บ้านที่ใด ก็สามารถประสานกับคนที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่นั้นให้ร่วมกันแก้ปัญหาได้  ในอดีตจึงไม่มีความรุนแรงเท่ากับที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน


 


ทุกวันนี้ การพยายามตั้ง กอส. หรือ คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ เพื่อเข้าไปช่วยเยียวยาปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยพยายามใช้คนในพื้นที่มากที่สุดนั้น เข้าใจว่าแนวทางอาจจะดี แต่ช้าไปแล้ว และที่สำคัญ กอส. ก็ไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้ประชาชนได้ เนื่องจากไม่มีอำนาจใด ๆ  ส่วน กอ.สสส. จชต. หรือ กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มีภาพลักษณ์ที่เป็นทหารจ๋ามาก  คงไม่มีใครรู้สึกมั่นใจว่า จะเข้าถึงหรือพูดปัญหาที่พบได้ เพราะไม่แน่ใจว่า ต่อจากนั้นชีวิตจะเป็นอย่างไร


 


หลายต่อหลายครั้งที่ผู้คนในสังคมพยายามสรุปปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เข้าใจในวัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น ถามจริง ๆ ว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ  (ไม่นับรวมพวกทหารที่นำเข้าไปในปัจจุบันนี้) เป็นใคร ถ้าไม่ใช่คนในท้องถิ่นเอง แล้วเหตุใดเขาจึงไม่เข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่นของเขาเองเล่า มีแต่คำสั่งและนโยบายจากส่วนกลางนั่นแหละที่ไม่เข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่น


 


ยังจำได้ดีว่าในโรงเรียนที่มีนักเรียนทั้งจีน ไทยพุทธ และมุสลิมอยู่รวมกัน ภาพที่เพื่อนในโรงเรียนเดียวกันไปละหมาดหลังอาหารกลางวันเป็นเรื่องชินตา หรืองานเลี้ยงน้ำชาก่อนเดินทางไปเมกกะนั้น ผู้เขียนก็เคยได้มีโอกาสร่วมทำบุญด้วยเสมอแม้มิใช่มุสลิม หรือกระทั่งช่วงมุสลิมถือศีลอด พวกเราชาวพุทธก็จะพยายามที่จะไม่ไปรับประทานอาหารต่อหน้าเพื่อยั่วให้เขาหิวโหย อีกทั้งยังสนับสนุนเสบียงให้เขาไว้ทำกินในตอนดึกด้วย ช่วงวันหยุดฮารีรายอ มีการอนุญาตให้นักเรียน นักศึกษาหรือข้าราชการที่เป็นมุสลิมหยุดงานได้ ครั้นช่วงตรุษจีน การเชิดสิงโตดังสนั่นตลาดปัตตานีก็ทำได้ ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นปกติสุขดี ท่ามกลางความแตกต่างทางวัฒนธรรม


 


ดังนั้น ประเด็นที่อ้างว่าเจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจวัฒนธรรมคนท้องถิ่น เท่าที่ผู้เขียนอยู่ที่นั่นมาครึ่งชีวิตก็ไม่เคยได้ยิน จนกระทั่งหลังจากที่รัฐบาลเริ่มจับปัญหาขึ้นมาแล้วแบ่งซอยไปทีละจุดและแยกส่วน และอาศัยใครต่อใครซึ่งไม่เคยอยู่พื้นที่ซึ่งไม่เข้าใจคนที่นั่นจริง ๆ มาศึกษาปัญหาของที่นั่น และพูดซ้ำ ย้ำจนทำให้คนในพื้นที่ก็รู้สึกไปด้วยว่า เจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งน่าจะหมายถึงหลักการอิสลามที่พี่น้องชาวไทยมุสลิมซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของที่นั่นต้องปฏิบัติตามอยู่จริง ๆ ทั้งนี้ต้องไม่ลืมเช่นกันว่า ที่นั่นมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม  เพราะถึงตอนนี้ จากการกระทำของรัฐเองก็ทำให้พี่น้องที่ไม่ใช่มุสลิมเริ่มคิดว่า แล้วภาครัฐเข้าใจหรือใส่ใจในวัฒนธรรมที่ไม่ใช่อิสลามบ้างหรือไม่ เพราะเขาก็มีวิถีปฏิบัติหลาย ๆ อย่างที่ต่างจากคนกรุงเทพฯ


 


ดังนั้น การทำงานของรัฐบาลที่สร้างความสูญเสียให้เกิดขึ้นในพื้นที่นั้น ประการแรกคือ ทำให้ประชาชนสูญเสียที่พึ่ง ที่จะสามารถจะรับฟังหรือเข้ามาช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน


 


3


ปัญหาภาคใต้ในขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นของการแย่งชิงมวลชนกัน ฝ่ายรัฐก็มองออกแล้วว่า ตอนนี้ใครบ้างเป็นฝ่ายไหน แต่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่เป็นคนส่วนใหญ่ที่ยังไม่เลือกฝ่ายไหนล่ะจะให้เขาอยู่อย่างไร ทุกคนก็อยากเห็นความสงบสุข แต่ไม่มีใครรับประกันความปลอดภัยให้เขาได้


 


เคยได้คุยกับเยาวชนบางคนว่า เขารู้หรือไม่ว่าตอนนี้มีใครบ้างที่ถูกชักจูงให้ไปร่วมกระบวนการ หลาย ๆ คนบอกว่ารู้เพราะเป็นคนในหมู่บ้านเดียวกัน แต่ถามว่ารู้แล้วทำไมถึงไม่ร่วมมือกับทางการ หรือไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ คำตอบมีอยู่คำเดียวคือ บอกไป ใครจะรับประกันความปลอดภัยให้ผมหรือให้ฉันล่ะ ในขณะที่ใบปลิวก็ออกมาตลอดเวลาว่าใครร่วมมือกับรัฐบาลจะไม่ปลอดภัย ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็ไม่ได้ทำอะไรเลยที่จะเป็นการรับประกันได้เลยว่าคนที่ร่วมมือกับรัฐบาลจะปลอดภัย


 


มิหนำซ้ำรัฐบาลยังได้ช่วยกระพือความรุนแรง และเพิ่มความไม่เชื่อมั่นให้กับประชาชนอีกว่าอยู่ในซีกรัฐบาลแล้วจะปลอดภัย นั่นคือการประกาศออกมาอย่างโครมครามว่า ให้ครูใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้พกปืนเพื่อป้องกันตนเอง หรือให้พระใส่เสื้อเกราะ  แล้วจะทำสีเหลืองให้เพื่อความเหมาะสม หรือมีการเชิญชวนให้ครูย้ายได้อย่างไม่จำกัด แปลว่าอะไรกัน ครูซึ่งมือควรจะเปื้อนชอล์ก  (หรือไวท์บอร์ด มาร์คเกอร์) กลับต้องมาถือปืน กลับต้องเป็นคนมาใช้ความรุนแรงไปแล้วหรือ


 


ที่แย่กว่านั้นก็คือ เท่ากับเป็นการประกาศยอมแพ้ของรัฐบาลว่าหมดความสามารถในการดูแลประชาชนให้ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินได้แล้ว เพราะแม้กระทั่งครูและพระก็ต้องดูแลตนเอง แล้วรัฐบาลยังจะหวังให้ประชาชนเชื่อมั่นที่จะเข้าข้างรัฐได้อย่างไร


 


ที่น่าหวั่นไปกว่านั้นก็คือ การให้ครูต้องพกอาวุธมาโรงเรียนนั้น จะมิเป็นการซื้ออาวุธเพิ่มให้กับโจรไปอีกหรือ  ครูคงไม่มีโอกาสได้ใช้ เพราะการลอบทำร้ายในแต่ละครั้งนั้นจะอยู่ระหว่างการเดินทางที่หมายความว่ากำลังขับรถอยู่ หากถูกยิงซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการลอบยิงอาจไม่มีโอกาสได้โต้ตอบด้วยซ้ำ  โจรก็สามารถมาเอาอาวุธไปใช้ต่อได้อีก


 


ที่เลวร้ายที่สุดคือ ยังไม่ลืมเรื่องประเด็นหาผลประโยชน์ใส่ตัวกันอีก มีการจัดหาแหล่งซื้อปืนให้กับครูซึ่งราคาแพงมากโดยครูต้องผ่อนเอง คนที่ติดต่อกับร้านจำหน่ายปืนนั้นก็อาจจะมีส่วนได้ส่วนเสียกับทางร้าน หรืออาจมีค่าหัวคิวกันด้วย


 


โดยสรุป กระบวนการทำงานเพื่อแก้ปัญหาของรัฐบาลดังที่กล่าวมานี้ได้สร้างความสูญเสียอย่างมากให้กับประชาชน กล่าวคือ สูญเสียความมั่นคงในชีวิต สูญเสียความเชื่อมั่นในการดำรงชีวิต และสูญเสียวิถีชีวิตบางอย่างไป รวมไปถึงสูญเสียความหวังในอนาคต เพราะต้องคิดแต่เพียงให้มีชีวิตรอดในแต่ละวันแบบวันต่อวันได้เท่านั้น


 


4


การทำงานเพื่อแก้ปัญหาในประการต่อมาก็คือ รัฐบาลเข้าใจผิดอย่างมหาศาลว่าต้องใช้เศรษฐกิจเข้าไปนำ  คือเชื่อว่าหากผู้คนมีฐานะทางเศรษฐกิจดีแล้ว สถานการณ์ที่รุนแรงจะผ่อนคลายลง รัฐบาลเริ่มจากการให้คนมีงานทำ โดยทุ่มเงินไปจ้างลูกจ้างชั่วคราวตามที่ต่าง ๆ หรือจ้างชุดคุ้มครองหมู่บ้าน (ชรบ.) โดยให้เงินเดือน ๆ ละ 4,500 บาท ทว่า ยุทธศาสตร์ที่ใช้นี้กลับไม่ช่วยแก้ปัญหา


 


ที่ผ่านมาในระยะแรก ถึงแม้จะมีสถานการณ์ร้าย ๆ เกิดขึ้น แต่ก็เกิดสิ่งดี ๆ ขึ้นพร้อมกันด้วย  คือ เมื่อมีการลอบยิงหรือการฆ่าเกิดขึ้นในระยะแรก ๆ นั้น ชาวบ้านได้ออกมาพูดคุยและแสดงความคิดเห็นกันว่า น่าจะดูแลกันเองในชุมชนของตนเอง หลายหมู่บ้านจึงมีการติดตั้งรั้วและประตูเข้าหมู่บ้าน มีการจัดเวรยามดูคนเข้าออกหมู่บ้าน แต่ละบ้านก็ส่งตัวแทนมา บางบ้านไม่มีผู้ชายมาอยู่เวร ก็ช่วยซื้อขนมหรือชงกาแฟมาให้ ใครจะเข้าออกหมู่บ้านก็จะมีคนอาสาที่จะไปส่งหรือมีคนคอยรอหากต้องกลับดึก หรือแม้กระทั่งบรรดาอาสาสมัครที่ไปเข้าทำงานแผนกต่าง ๆของสถานที่ราชการ ในอดีตนั้น เคยเข้ามาช่วยอย่างเต็มใจ ใครว่างก็มาช่วยกันด้วยใจ


 


แต่ทันทีที่โครงการเงินเดือน 4,500 บาทเข้ามาในหมู่บ้าน ผู้คนก็เลิกมาช่วยกันรักษาเวรยาม เพราะมี ชรบ.แล้วก็ให้ทำไปเอง ภาพการทำขนมหรือชงกาแฟไปให้ก็หมดไป ชาวบ้านที่เคยอาสาสมัครเข้ามาช่วยงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ในสถานที่ราชการของชุมชมก็ไม่มาช่วยกันอีกเลย


 


กล่าวโดยสรุป หลังจากที่มีการหว่านเงินเข้าไป ความสามัคคี ความเอื้ออาทรและความมีน้ำใจที่มีให้กันของคนในชุมชนก็สูญเสียไป ระบบการตรวจสอบกันเองและระบบการพึ่งพิงตนเองถูกทำลายลง ด้วยวิธีการใช้เงินแก้ปัญหา   


 


ยังไม่พอ การแก้ปัญหาของรัฐบาลที่ประกาศให้ครูย้ายออกจากพื้นที่ได้ (ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ ก็ยังไม่มีใครได้ย้ายและก็ไม่กล้าไปทำงาน)  ขณะที่การจ้างครูอัตราจ้าง ก็ทำกันแบบขอไปที  การคัดเลือกครูเข้าไปทำงานในพื้นที่ก็ทำไปโดยไม่ใส่ใจในคุณภาพของบุคลากร แล้วอนาคตของเด็ก ๆ ใน 3 จังหวัดจะเติบโตขึ้นมาด้วยการศึกษาที่ดีได้อย่างไร ดังนั้น อย่าไปเสียใจหรือโทษใครอีก หากเด็กในพื้นที่ต้องออกไปเรียนที่อื่น หรือแม้กระทั่งการเข้าไปฝักใฝ่กับกลุ่มที่แทรกซึมเข้ามาเพื่อแย่งมวลชน เพราะอยู่ทางนี้ก็คงจะเอาดีทางวิชาการไม่ได้


 


สุดท้าย รัฐบาลยังทิ้งไม้เด็ดด้วยการออกพระราชกำหนดการบริหารราชการในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มอบอำนาจล้นฟ้าให้แก่ตัวนายกรัฐมนตรี และควบคุมสิทธิเสรีภาพของประชาชนอีกหลาย ๆ ประการ ยิ่งทำให้ประชาชนในพื้นที่อยู่ในสภาวะตึงเครียดมากขึ้นไปอีก เกิดความสูญเสียอย่างสุดท้ายคือ สูญเสียอิสรภาพในชีวิต  เพราะไม่แน่ใจว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไรจึงจะไม่ผิดตาม พรก.สถานการณ์ฉุกเฉิน


 


สงสัยเหลือเหลือว่า จะมีสักวันไหมที่รัฐจะเลิกทำกระทำปู้ย่ำปู้ยีกับพื้นที่นี้เสียที