Skip to main content

ชาวนาคนสุดท้าย : คมเม็ดข้าว

คอลัมน์/ชุมชน


 







ชาวนาคนสุดท้าย
บันทึกเรื่องราว เรื่องเล่าของผองชาวนาชาวไร่คนสุดท้าย ยุคสุดท้ายก่อนที่พวกเขาจะถูกทำให้หายจนภายในไม่กี่ปีข้างหน้านี้
สุขทุกข์ ต่อสู้ ดิ้นรน เรียนรู้ เป็น อยู่ในหมู่บ้าน ในรัฐ ในโลก และในจินตนาการ


 


 


 


 


 


 


1


 


"คนอายุรุ่น 35 ปีลงมาไม่รู้จักหมู่บ้านตัวเองแล้ว  ทำนาก็ไม่เป็น" คำพูดของอ้ายมนตรียังติดตรึงอยู่ในใจผม ตอนนั้นเรากำลังกินข้าวงาย (อาหารมื้อเช้า) คำพูดนั้นทำเอาผมสะดุ้งเฮือก


‘ตัวกูด้วยนี่หว่า’ ผมคิดถึงตัวเอง ชายหนุ่มอายุ 32 ปี ไม่รู้เรื่องบ้านเกิดตัวเองเลย ทำนาไม่เป็นอีกต่างหาก ถูกต้องตามอ้ายมนตรีว่าทุกอย่าง แล้วยังจะมีหน้ามาทำวิจัยเรื่องชาวนาซะอีก


 


วันนี้ผมกับแอนมารี นักวิจัยชาวแคนาดา มีนัดกับอ้ายมนตรีอีกครั้งหนึ่งเพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตชาวนายุคโลกาภิวัตน์  อ้ายมนตรีบอกว่า คนรุ่นแกอายุ 45 ปีนั้นเป็นคนรุ่นสุดท้ายของบ้านโป่งที่ทำนา


 


"คนรุ่นหลังเขาไปไหนกันหมดคะ " แอนมารีถาม


"ก็ไปเรียนต่อ อยู่โรงงาน และในเมืองเชียงใหม่ไง" สรุปความได้ชัดเจน เราต้องตามเก็บข้อมูลกันว่ามีกี่คนที่เป็นอย่างอ้ายมนตรีจำแนกให้ฟังและทำไมถึงเป็นอย่างนั้น


 


"ทำไมอ้ายมนตรียังทำนาอยู่ล่ะ" ผมถามบ้าง


"ผมปลูกข้าวให้แม่กิน ความสุขของคนเฒ่าน่ะ มีข้าวใส่หลอง  มีหลัวไว้ดัง แค่นี้พอแล้วล่ะ"


อ้ายมนตรีพูดถึงความสุขของแม่ที่ขึ้นอยู่กับการมีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ เปรียบเปรยกับการมีข้าวเก็บไว้ในยุ้งข้าว (หลองข้าว) และมีฟืนเอาไว้จุดไฟ (มีหลัวไว้ดัง)


"อ้ายทำนากี่ไร่" ผมถามอีก


" 5 ไร่ กับน้องบ่าวอ้าย"  อ้ายมนตรีหมายถึงน้องชายของอ้ายมนตรีที่ช่วยกันทำนา


ผมคิดเองในตอนนั้นว่าบางทีคนเราอาจมีเหตุผลมากกว่าเรื่องเงินทองก็เป็นได้ในการตัดสินใจทำนา


 


เราหยุดเรื่องราวการพูดคุยในวงกินข้าวกันเอาไว้แค่นั้น เมื่อทุกคนกินข้าวอิ่ม อ้ายมนตรีพาผมกับแอนมารีไปดูการถอนต้นกล้าข้าวในแปลงที่อยู่ถัดจากหลังบ้านอ้ายมนตรี


 


2


 


 "อี่นิล ปีนี้นามึงลูกผสมแน่มึง มีทั้งไทย ทั้งฝรั่ง เน้อ"  ทุกคนหัวเราะกับคำแซวจากน้ำปากพี่คำ ทันทีที่เห็นฝรั่งร่างสูงเดินตามหลังผมกับอ้ายมนตรีเข้าไปยังแปลงต้นกล้า


 



 


 


พวกเราไปถึงแปลงกล้าทีหลังคนอื่น รวมถึงเมียอ้ายมนตรีที่ยกขันโตกใส่ของกินมาให้เราในมื้อเช้าก่อนจะออกนาสมทบกับหมู่พวก จากการคะเนด้วยสายตาผมและเฝ้าฟังน้ำเสียงการพูดคุย ผมรู้ได้ว่าในแปลงต้นกล้าวันนี้ไม่มีลูกหลานชาวนาบ้านโป่งซึ่งอายุต่ำกว่า 35 ปีอยู่เลย จริงอย่างที่อ้ายมนตรีว่าไว้


 


อ้ายมนตรีแนะนำให้เรารู้จักกับพี่นิลเจ้าของนาที่กำลังนั่งถอนต้นกล้าร่วมกับหมู่คนนาบ้านเดียวกันผู้มาเอามื้อเอาแรง วันนี้ถอนกล้าและปลูกนาพี่นิล ส่วนพรุ่งนี้ไปนาพี่คำแซว แปลงกล้าสีเขียวมีรอยเว้าแหว่งเผยให้เห็นเนื้อดินสีดำ คนถอนกล้ามีทั้งชายและหญิง บ้างนั่งยอง ๆ บ้างนั่งกับตั่งไม้ตัวเล็ก มือหนึ่งคว้าหมับต้นกล้ารวบส่งต่อ อีกมือเหนี่ยวดึงขนานกับพื้นดินไม่ให้ดินติดราก พอถอนได้จนเต็มมือเต็มกำก็เอารากต้นกล้าฟาดกับข้างเท้าข้างมือให้ก้อนดินหลุดร่วงออก แล้วใช้ตอกมัดให้แน่นก่อนจะโยนไปรวมกลุ่มกันข้างหลัง


 


                                    


 


ใกล้ ๆ กับกองมัดกล้านั้นมีคุณลุงคนหนึ่งคอยทำหน้าที่ตัดใบต้นกล้าออกด้วยมีดคมที่มัดตรึงกับหลักไม้ไผ่หันเอาคมขึ้นมา แกเอามัดกล้าส่วนที่อยู่เหนือตอกมัดกดเข้ากับมีดคมวาวเสียงดัง ‘ฉึก มันเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการถอนกล้าก่อนเตรียมการขนย้ายไปสู่แปลงนาชุ่มน้ำต่อไป


 


อ้ายมนตรีสอนผมกับแอนมารีถึงวิธีถอนต้นกล้า ผมพยายามทำตาม และเฝ้ามองดูคนอื่นทำ  ครั้งแรกที่ผมถอนต้นกล้าออกมารากขาดไปหลายต้นพอสมควร ต้องคัดทิ้ง ลองใหม่อีกที ทีนี้มีดินก้อนใหญ่ติดขึ้นมาด้วย อ้ายมนตรีนั่งถอนกล้าอยู่ใกล้ ๆ ยิ้ม และบอก ‘ต้นกล้าในร่องให้พี่น้องทางเมียถอน’ ชาวบ้านที่อยู่ใกล้ ๆ หัวเราะก่อนใครคนหนึ่งจะอธิบายขยายความให้ผมซึ่งทำหน้างง ๆ เข้าใจว่า ต้นกล้าที่ขึ้นอยู่ตรงกลางร่องระหว่างแปลงมันถอนยาก ต้องออกแรงเยอะ ส่วนใหญ่เขาจะแกล้งกันเล่นให้พี่น้องทางเมียเป็นคนถอน


 


"ทำไมถอนกล้าไม่เป็นล่ะ คนเชียงรายน่ะมีนาเยอะนะ"  พี่นิลถามผม


ก่อนจะทันตอบอ้ายมนตรีก็ถามเพิ่มอีก "ที่บ้านมีนากี่ไร่" 


"สิบกว่าไร่มั้ง" ผมตอบแบบไม่มั่นใจในจำนวนนาที่บ้านผมมี


"สงสัยจะไม่รู้ว่า ที่นาของตัวเองอยู่ที่ไหนแน่ ๆ"  พี่คำแซวขึ้นมาบ้างเล่นเอาผมถึงกับอึ้ง


"ก็อย่างนั้นแหละ ครอบครัวผมไม่เคยทำนา" ผมตอบตามความจริง ความจริงที่ผมรู้สึกอายที่ทำนาไม่เป็น ทั้งที่พ่อแม่ก็มาจากครอบครัวชาวนา หมู่บ้านที่ผมจากมา ผู้คนล้วนแต่ทำนาเป็นอาชีพหลัก และก็จริงที่ว่า ผมไม่รู้ว่าที่นาของพ่อแม่อยู่ตรงไหนของแผ่นดินบ้านเกิด เพราะผมไม่เคยไปทำนาเลยนั่นเอง 


"แล้วให้ใครทำ"  เมียอ้ายมนตรีต่อถ้อยสนทนา


"พี่น้องแม่น่ะครับ" ผมตอบ "ครอบครัวผมให้ญาติพี่น้องทางแม่ทำนามาตลอด แล้วแบ่งเอาข้าวส่วนหนึ่งไว้กิน ที่บ้านไม่มีคนทำนา พ่อเป็นครู แม่ขายของอยู่กับบ้าน ตอนนี้พี่น้องแยกย้ายกันอยู่ แยกย้ายทำงาน"


 


                                         


 


คุยไปถอนต้นกล้าไปเป็นความสุขใจอันเกิดจาการทำงานรวมหมู่ช่วยกัน ผมเริ่มรู้สึกคล่องมือมากขึ้น ไม่มีต้นกล้ารากขาดอีกแล้ว กระนั้นผมก็ยังทำงานได้ช้ากว่าคนอื่นมากนัก และบางครั้งต้องเพ่งจ้องอยู่ตั้งนานว่าที่มือกำไว้นั้นมันเป็นต้นกล้าข้าวหรือต้นหญ้าที่ขึ้นแซมปลอมปนกันแน่ แอนมารีเองก็แทบไม่ต่างกันเลย แดดร้อนมากขึ้น ถึงแม้ผมจะสวมหมวก ใส่เสื้อแขนยาว แถมยังได้เงาจากร่มที่พี่นิลเอามาปักกันแดดให้อีกก็ตาม


 


เหงื่อผุดซึมซาบอาบหน้าไหลหลั่งไปทั้งเนื้อตัวจนรู้สึกเหนียวเหนอะหนะ เม็ดเหงื่อหยาดหยดรดร่วงลงยังต้นกล้า แรงงาน หยาดเหงื่อ เนื้อดิน ราวกับว่าจะผสานผสมเข้าเป็นหนึ่งเดียว ผมเพลิดเพลินใจไปกับการทำงานกลางแดดแจ้ง สูดดมกลิ่นเหงื่อเคล้าหอมหวานเนื้อดินสดเขียวของต้นกล้าเข้ากลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต


 


พลันนั้น ผมรู้สึกปวดแปลบหลังมือขวา ผมหยุดถอนต้นกล้า พลิกหลังมือขึ้นมาดู เลือดแดงอาบรินออกมา


"คมเม็ดข้าวบาดน่ะ"  อ้ายมนตรีบอก ก่อนจะแนะนำให้ผมไปล้างมือที่ลำเหมืองใกล้แปลงต้นกล้า


 


3


 


ผมนั่งล้างมืออยู่ริมลำเหมืองกดบาดแผลจากคมข้าวเปลือกเอาไว้กระทั่งเลือดหยุดริน  หันไปมอง


ดูกลุ่มชาวนาที่กำลังช่วยกันถอนต้นกล้าอย่างขะมักเขม้นปนกับเสียงพูดคุย หัวเราะ หยอกเอิน ตลอดจนนินทาว่าร้ายเรื่องราวคนนั้นคนนี้ บางครั้งคร่ำเคร่งต่อการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของผู้ใหญ่บ้านเกี่ยวกับระบบน้ำประปาของหมู่บ้าน


 


แผ่นดินสีดำเผยตัวเด่นตามากขึ้น รุกคืบพื้นที่สีเขียวให้ถดถอยน้อยลงไปเรื่อย ๆ มัดกองต้นกล้าสูงเป็นทวี อีกไม่นานนักต้นกล้าสีเขียวในแปลงเพาะอันกระจ้อยร่อยนี้จักขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นท้องทุ่งเขียวขจีและเหลืองทองตามลำดับกาล อันเป็นผลจากการลงแรงโถมกายของผองชาวนา


 


‘คมเม็ดข้าว’ ผมทวนคำอ้ายมนตรีเมื่อกี้นี้ ก่อนที่จะเกิดแผลที่หลังมือ พี่นิลก็เตือนแล้วว่าระวังให้ดีเพราะเม็ดข้าวเปลือกที่หว่านแล้วงอกเป็นต้นกล้าได้ละทิ้งเปลือกนอกคมแข็งไว้เต็มพื้นดิน เวลาถอนต้นกล้าหลังมือจะถูไถไปกับเม็ดดินและเปลือกข้าวบนเนื้อดินอยู่ตลอดเวลา ชาวบ้านต่างพากันสวมถุงมือกันคมเม็ดข้าวบาดมือ ผมรับคำเตือนของพี่นิล แต่ด้วยความอ่อนด้อยประสบการณ์ผมจึงได้บาดแผลฝากไว้เป็นรอยจารึก


 


ผมมองดูแผลที่เลือดหยุดไหลแล้ว แผลจากคมเม็ดข้าวบาดไม่ลึกมากนัก ผมกวักน้ำล้างมืออีกครั้งก่อนลุกขึ้น สูดลมหายใจผสานกลิ่นหอมดินนากล้าข้าวเข้าเต็มอกเต็มใจ เดินกลับเข้าสู่แปลงต้นกล้าอีกหน


 


ก้าวเข้าไปสู่การทำงาน  ก้าวเข้าไปสู่ชีวิต  ก้าวไปเป็นต้นกล้า  ไปเรียนรู้คมเม็ดข้าว