Skip to main content

ว่าด้วยเรื่องของความยากจน โดย ยุ้ย








 


 


ความจนคืออะไร ?


... หากยังหาคำตอบไม่ได้ ให้ลองหาคำตอบจากบทสนทนาต่อไปนี้


ณ จุดๆ หนึ่งของโลก คนสองคนได้มาพบกัน


คนหนึ่ง...รวย


คนหนึ่ง...จน


คนรวย + คนจน : สวัสดี


คนรวย : เป็นไงบ้างล่ะ ควายที่บ้านสบายดีหรือ?


คนจน : เชย เดี๋ยวนี้เค้าไม่เลี้ยงควายแล้ว เค้ามีแต่คูโบต้า


คนรวย : อ้าว! แล้วเอาควายไปไว้ในล่ะ


คนจน : พิพิธภัณฑ์ควายไทย


คนรวย : มีแบบตัวเป็นๆ เลยเหรอ


คนจน : มีทุกแบบแหละ ไม่เคยเห็นโฆษณาเหรอ


คนรวย : ไม่เคยว่ะ ถ้าเคยคงไม่ถามหรอก ว่าแต่ว่า...ไม่คิดบ้างเหรอว่าชีวิตมีอะไรขาดหายไป เรารู้สึกว่า ‘ ตัวตน’ ของนายหายไปนะ


คนจน : หายยังไงวะ นาก็ยังทำอยู่ แต่แค่ไม่ใช้ควาย แกก็ว่าตัวตนขาดหายแล้วเหรอ


คนรวย : ก็หายอะ อย่างน้อยนายก็ลบสัญลักษณ์ความจนออกไป


คนจน : เดี๋ยวอะไรคือสัญลักษณ์ ควายเหรอ?


คนรวย : ก็น่าจะเป็นอะไรที่เหมาะที่สุดนะ เพราะคนจนก็ทั้ง ‘ โง่’ ทั้ง ‘ ขี้เกียจ’ ...เหมือน


ควายไง


คนจน : บอกแล้วว่าไม่ใช่ควาย เค้าเปลี่ยนเป็นคูโบต้า


คนรวย : อะไรก็ช่างเหอะ แต่เราว่านายตามกระแสไปรึเปล่า นายลืมตัวตนของนาย แล้วไปตัดสินสิ่งต่างๆ จากสื่อภายนอก สื่อที่นายสัมผัสได้แต่เพียงกรอบของมันเท่านั้น


คนจน : (นิ่งคิด แล้วหัวเราะออกมา) ๕๕๕


คนรวย : นายขำอะไรของนาย


คนจน : เคยได้ยินประโยคนี้ไหม


" เป็นสิ่งที่แยบคายมากที่จะทำให้คนๆ หนึ่งแทนที่จะตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานชุมชนที่ตนเองอยู่ กลับตัดสินใจจากฐานที่ภายนอก"


คนรวย : ไม่เห็นยากตรงไหนเลย...การอยู่บนพื้นฐานของชุมชนที่ตนเองอยู่ เรายังอยู่ได้เลย ก็อยู่กับรถ อยู่กับบ้าน อยู่กับตัวเลขในธนาคารของตัวเอง


คนจน : แกก็พูดได้นิ แกอยู่บนความสะดวกสบาย แล้วพื้นฐานของแกก็คือฐานภายนอกของคนอื่น เป็นสื่อที่ใครๆ อยากเข้าหา


คนรวย : (ทำท่าคิด) เหรอ? แล้วฐานของแกละอยู่ที่ตรงไหน


คนจน : ‘ ควาย’


คนรวย : เฮ้ย!!! ทำไมดูถูกตัวเองอย่างงั้น


คนจน : ก็แกเป็นคนพูดเองไม่ใช่เหรอ เราเลยอยากพ้นจากปลักโคลนไง ในน้ำเน่าไม่เคยมีเงาใจหรอก...มันเป็นแค่คำปลอบใจของคนโง่เท่านั้นเอง


คนรวย : แต่ว่าไปคนจนก็ ‘ ควาย’ จริงนะ


คนจน : เออ...แล้วแต่มึง กูขี้เกียจเถียงแล้ว


คนรวย : (ทำท่าไม่เข้าใจ) แต่เราว่า...


ผ้าม่านโรยลงมา...คนสองคนที่หายไปจากสายตา พร้อมกับคำพูดที่หายไปในสายลม


 











ยุ้ย – นันทนัช ดีเมือง
เป็นผู้ที่ไม่ยักกะรู้จักความทุกข์กับเขา (ก็ชื่อ " นันทนัช" แปลว่า " ผู้มีความสุขตลอดกาล" นี่นา)

เธอมาจากคณะมนุษยศาสตร์ เอกวรรณคดีอังกฤษ จากรั้วนนทรี เธอบอกเราว่าเธอหลงใหลวรรณคดีเป็นชีวิตจิตใจ ซึ่งความสนใจนั่นเอง มากับพื้นฐานการอ่านอันแน่นปึ๊ก (แน่นมากจนทำให้ผู้รวบรวมงานชิ้นนี้ต้อง " แน่นหน้าอก" มาแล้วในยามที่ต้องสนทนาแลกเปลี่ยนเรื่องงานเขียนกะเธอ )


" ผู้มีความสุขตลอดกาล" เมื่อต้องมาเขียนเรื่องเกี่ยวกับความยากจน ซึ่งเป็น " ทุกข์" อย่างหนึ่งนั้น จะได้งานออกมาอย่างไร...อย่าถามเราเลย ไปถามตัวหนังสือของเธอเองเถอะ


ยุ้ย