Skip to main content

การตั้งกระทู้ในวุฒิสภา

ในวุฒิสภา ส.ว.มีอำนาจในการตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีในเรื่องต่าง ๆ ที่ส.ว.เห็นว่าเป็นการเดือดร้อนหรือเป็นการบริหารงานในกระทรวงใดที่เป็นปัญหา


 


ความแตกต่างของกระทู้ ส.ว.และ ส.ส.ก็คือ ในวุฒิสภาไม่มีกระทู้สด กระทู้ของ ส.ว.กว่าจะบรรจุเข้าวาระเพื่อให้รัฐมนตรีมาตอบ ก็ปรากฎว่าปัญหาที่ถามพ้นไปแล้ว


 


เคยมีคำถามความเดือดร้อนเรื่องน้ำท่วมแต่รัฐมนตรีมาตอบตอนหน้าแล้ง ซึ่งไม่ทันการ ส.ว.ก็เลยใช้วิธีหารือในวาระก่อนจะครบองค์ประชุม โดยฝากเป็นการบ้านให้รัฐมนตรีไปแก้ไขด่วน โดยรัฐมนตรีไม่ได้มาฟังในสภา แต่พอรัฐมนตรีได้รับฟังทางสื่อ ก็จะไปแก้ไขปัญหาเหล่านั้น


 


เพราะฉะนั้น กระทู้ของ ส.ว.ก็เลยไม่ดุเดือด หรือเป็นข่าว เพราะมักไม่ทันสมัย  แต่การตั้งกระทู้ของ ส.ว.ได้ผลมากทีเดียว ผมเห็นได้จากการตั้งกระทู้ของผมในสมัยประชุมที่แล้ว ได้ตั้งกระทู้ไป ก็ได้รับการแก้ไข โดยรัฐมนตรียังไม่มาตอบในสภา  คือแก้ไขปัญหาก่อนที่จะมาตอบในวุฒิสภา


 


เช่น ผมได้ตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเรื่องการเปิดสอนวิชาคาสิโนในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์   ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสงสัยว่า ถ้ามีการเปิดสอน นักศึกษาจะไปทำงานที่ไหน เพราะไม่มีคาสิโนในเมืองไทย  และที่สำคัญจะเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษาเห็นดีเห็นงามกับการเล่นการพนัน  เพราะในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา คนที่จะเข้าไปในคาสิโนต้องมีอายุ ๒๑ ปีขึ้นไป วิชาคาสิโนไม่มี  มีแต่วิชาการท่องเที่ยว และมีวิชาเลือกเพียงไม่มากนักในการบริหารงานในธุรกิจบันเทิง


 


ปรากฎว่าเมื่อมีการอภิปรายอย่างกว้างขวางในวุฒิสภา และผมก็ได้ตั้งกระทู้เพื่อขอทราบนโยบายในเรื่องของการเปิดสอนวิชาคาสิโนในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทางมหาวิทยาลัยก็เห็นว่าการทักท้วงมีเหตุผล ก็เลยยกเลิกการสอนหลักสูตรดังกล่าว  ผมก็เลยต้องถอนกระทู้ถามรัฐมนตรี เพราะไม่ต้องให้รัฐมนตรีมาตอบในวุฒิสภา เพราะปัญหาได้รับการแก้ไขแล้ว


 


กระทู้ต่อมาที่ได้รับการแก้ไขบ้าง แต่ยังไม่หมดผมก็เลยยังไม่ถอนกระทู้ถามก็คือ  กระทู้ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่องการควบคุมดอกเบี้ยของธนาคารและสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร หรือ นอนแบงค์ (non bank)


 


ที่ผมตั้งกระทู้ถามเพราะมีการคิดดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรมจากทั้งธนาคารและนอนแบงค์ ปรากฎว่าหลังจากที่ผมตั้งกระทู้ไป ประกอบกับมีการร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมากมาย  รัฐบาลก็ได้ประกาศให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าไปกำกับดูแลสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (นอนแบงค์) โดยไม่ให้คิดดอกเบี้ยเกิน ๒๘ เปอร์เซ็นต์ต่อปี


 


รวมทั้งประกาศกำหนดให้ผู้ประกอบการที่จะเข้ามาประกอบธุรกิจสินเชื่อบุคคลต้องเป็นบริษัท และต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว ๕๐ ล้านบาทขึ้นไป  ก็นับว่าได้รับการแก้ไขไปบ้างจากการที่นอนแบงค์ คิดดอกเบี้ยโหดถึงกว่า ๕๐ เปอร์เซนต์ต่อปี


 


ที่ผมยังไม่ถอนกระทู้ถาม ก็เพราะการคิดดอกเบี้ยผิดนัดนั้นคิดตั้งแต่วันแรกที่ผิดนัด จากในอดีต จะคิดดอกเบี้ยเมื่อผิดนัดเป็นเดือนเท่านั้น  ธนาคารและที่ไม่ใช่ธนาคารก็เลยสบาย คิดดอกเบี้ยผิดนัดสูงมากไม่ใช่แค่ ๒๘ เปอร์เซ็นต์


 


เราก็เลยมักเห็นการตัดทิ้งดอกเบี้ยค้างชำระเมื่อถึงขั้นตอนของศาล เพราะศาลเห็นใจที่ลูกหนี้โดนคิดดอกเบี้ยมหาโหด กฎหมายคดีความแพ่งนั้นไม่ให้คิดดอกเบี้ยเกิน ๑๕ เปอร์เซ็นต์ ผมก็เลยยังติดใจในนโยบายให้บริษัทต่าง ๆ เหล่านี้คิดดอกเบี้ยถึง ๒๘ เปอร์เซ็นต์  เท่ากับว่าไปขึ้นดอกเบี้ยให้เขาไปโดยปริยาย


 


ตัวเลขล่าสุดพบว่า ขนาดสินเชื่อเพื่อการบริโภคของไทยมีจำนวน ๘๘๒,๙๕๒ ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ๕๖๔,๖๖๗ ล้านบาท สินเชื่อบุคคล ๑๘๐,๐๐๐ ล้านบาท สินเชื่อบัตรเครดิต ๑๑๘,๕๘๑ ล้านบาท เช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ ๖,๗๖๓ ล้านบาท และสินเชื่ออื่น ๆ ๑๒,๙๔๑ ล้านบาท


 


เห็นตัวเลขของสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิตเป็นแสนล้าน เราจึงเห็นการโฆษณาให้ใช้บัตรเครดิตเยอะ ๆ ให้กู้เยอะๆ   สินเชื่อด่วนมีอยู่แม้ในห้างสรรพสินค้า 


 


แต่ขอให้ระวังดอกเบี้ยให้ดี เวลาใช้จ่ายง่ายแสนง่าย แต่เวลาคืนหนี้นั้นยากแสนยากครับ  เพราะดอกเบี้ยงอกเงยง่ายแสนง่าย ฝนตกแดดออก ดอกก็ขึ้นโดยไม่ต้องดูแล !