Skip to main content

หลักประกันสุขภาพ(11) คุณหมอมือใหม่ หัวใจเกินร้อย เล่ม 8



อาจารย์แพทย์ไม่เอาผิดคุณหมอไซโต้ เพราะอย่างไรหมอไซโต้ก็เป็นเพียงแพทย์ฝึกหัด คนที่ถูกคาดโทษเอาไว้คือคุณหมอโชจิซึ่งเป็นแพทย์พี่เลี้ยง


หลังจากเหตุการณ์นี้ ผู้ป่วยคือคุณสึจิโมโตะและสามีก็นำผลการตรวจค้นและรักษาในตอนแรกตระเวนขอความเห็นจากคุณหมอคนอื่นๆในโรงพยาบาลหลายแห่ง สุดท้ายทั้งสองก็ตัดสินใจกลับมารับการรักษาจากหมอโชจิเช่นเดิม


หมอโชจิตัดสินใจใช้ยา TS-1


" เดี๋ยวก่อนครับ เกิดอะไรขึ้นเหรอครับ หมายความว่ายังไงเหรอครับ" หมอไซโต้พูดขึ้น


" เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับนาย เป็นการตัดสินใจของชั้นเอง" หมอโชจิพูดกับหมอไซโต้


แล้วการรักษาคุณสึจิโมโตะ ซึ่งป่วยด้วยมะเร็งตับอ่อนระยะสุดท้ายด้วยยาต้านมะเร็ง TS-1 ซึ่งยังไม่ผ่านการรับรองก็เริ่มต้นขึ้น


" คุณสึจิโมโตะครับ ต่อไปนี้คุณจะต้องเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร" หมอโชจิพูดกับผู้ป่วย "TS-1 เป็นยารักษามะเร็งในกระเพาะอาหาร ถึงจะนำไปใช้รักษามะเร็งตับอ่อนก็ยังไม่ได้รับการประกันนะครับ ในกรณีที่ไม่ได้รับการประกัน ค่ารักษาในแต่ละเดือนจะสูงกว่าหนึ่งล้าน"


เงียบกันไปพักใหญ่ ทั้งผู้ป่วย หมอโชจิ และหมอไซโต้


" หมายความว่า คุณหมอจะเขียนเรื่องโกหกลงในใบรับรองแพทย์เหรอคะ" คุณสึจิโมโตะพูดขึ้น


" แล้วคุณจ่ายเงินเดือนละสองล้านไหวหรือเปล่าล่ะครับ" หมอโชจิพูดต่อ " คุณไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องที่จะโดนเรียกร้องให้รับผิดชอบหรอกครับ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการรักษาไม่ใช่หมออย่างพวกผม"


คุณสึจิโมโตะตั้งใจฟัง หมอไซโต้ตั้งใจฟัง


" คนที่เปลี่ยนแปลงการรักษาไม่ใช่หมออย่างพวกผม ถ้าผู้ป่วยมีความประสงค์การรักษาก็เปลี่ยนแปลงได้ครับ" นายแพทย์โชจิกล่าวในที่สุด



ทั้งหมดที่เล่ามาเป็นเรื่องราวตอนหนึ่งในการ์ตูนญี่ปุ่น แต่มิใช่ว่าอะไรที่เกิดในการ์ตูนจะไร้สาระเสมอไป ที่แท้แล้วเฉพาะ ประเด็นการใช้ยาที่ไม่ผ่านการรับรองก็เคยเกิดขึ้นในบ้านเราด้วย


โรงพยาบาลแห่งหนึ่งจ่ายยาราคาแพงตัวหนึ่งเพื่อรักษาโรคหายากโรคหนึ่งให้แก่ผู้ป่วยรายหนึ่ง เมื่อพบว่ายาตัวนั้นยังเป็นยาที่ยังไม่ผ่านการรับรองทั่วโลก อันที่จริงเป็นยาที่อยู่ในขั้นตอนการวิจัย แม้ว่าทางโรงพยาบาลจะหวังดีให้ผู้ป่วยได้รับยาฟรี คณะแพทย์ก็จะได้ทำวิจัย แต่ในกรณีเช่นนี้หลักประกันสุขภาพไม่สามารถรับรองได้


ยังไม่นับว่าผลการรักษาที่ประเมินได้ในขั้นต้นอยู่ในเกณฑ์ต่ำมาก ไม่คุ้มค่ากับรายจ่ายที่เสียไป อย่าลืมว่ารายจ่ายที่เสียไปเป็นทรัพยากรสุขภาพของส่วนรวม


จะเห็นว่าการ์ตูนมิใช่การ์ตูน แต่กลับกลายเป็นเรื่องจริง


นอกเหนือจากเรื่องนี้ยังมีประเด็นย่อย ๆ อีกบางเรื่องที่น่าสนใจ เช่น นายแพทย์โชจิต้องเขียนการวินิจฉัยเป็นเท็จเพื่อให้หลักประกันสุขภาพจ่ายค่ายา TS-1 ซึ่งไม่ผ่านการรับรองสำหรับใช้รักษามะเร็งตับอ่อน นั่นแปลว่าหลักประกันสุขภาพมี กลไกตรวจสอบสถานพยาบาลว่าจ่ายยาสมเหตุสมผลหรือไมด้วย ชวนให้คิดได้ว่าแล้วบ้านเรามีกลไกที่ว่านี้หรือไม่ เพราะเท่าที่สังเกตเห็นพบว่าบ้านเราสามารถจ่ายยาแพง ๆ ให้แก่ผู้ป่วยตามสบายโดยไม่มีการทวนสอบ บางโรงพยาบาลอาจจะเขียนเอกสารบางอย่างเอาไว้ว่ามีการทวนสอบ แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่สามารถทำตามเอกสารที่เขียนได้



ผู้ป่วยรายหนึ่งเมื่อต้องการความเห็นที่สอง ผู้ป่วยและญาติก็ต้องหอบประวัติการรักษาและฟิล์มเอกซเรย์ตระเวนไปเรื่อย ๆ ด้วยตนเองก่อนที่สุดท้ายก็กลับมาที่นายแพทย์คนเดิม เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยมะเร็งจำนวนมากในบ้านเรา บางครั้งก็กลับมาที่นายแพทย์คนเดิม บางครั้งก็ไปเริ่มต้นเจาะเลือดและเอกซเรย์ใหม่ทั้งหมด นำมาซึ่งความสูญเสียทรัพยากรของทุกฝ่ายเป็นอันมาก น่าสนใจว่า าจะสามารถสร้างระบบรองรับการขอความเห็นที่สองเพื่อประโยชน์ทั้งของผู้ป่วยและของระบบสุขภาพได้หรือไม่


" ถ้าผู้ป่วยมีความประสงค์การรักษาก็เปลี่ยนแปลงได้ครับ" คำพูดสุดท้ายของนายแพทย์โชจิสำคัญ ตัวอย่างที่เห็นชัดคือกรณีผู้ป่วยโรคเอดส์ หากมิใช่เพราะเครือข่ายผู้ป่วยโรคเอดส์ทั่วโลกรวมทั้งบ้านเราเคลื่อนไหวกันอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง ผลการรักษาผู้ป่วยเอดส์คงจะไม่ดีเท่าที่เห็นในวันนี้ ประเด็นคือ ผู้ป่วยคือผู้เปลี่ยนแปลง มิใช่แพทย์ โรงพยาบาล กระทรวง หรือระบบหลักประกัน


ผู้ป่วยต้องการอย่างไรต้องบอก เช่น ต้องการการฟอกไต ต้องการยาต้านมะเร็ง ต้องการยารักษาโรคเอดส์ เมื่อผู้ป่วยต้องการจริง ระบบย่อมเปลี่ยนแปลงได้ ต้นทุนที่สูงผิดปกติของการฟอกไต ยาต้านมะเร็ง ยารักษาโรคเอดส์ หรือยาราคาแพงใด ๆ ล้วนเกิดจากการฉ้อฉลในระบบเศรษฐกิจทั้งสิ้น หากผู้ป่วยไม่บอก ย่อมไม่มีใครคิดจะแก้ไขความฉ้อฉลเหล่านี้ หากผู้ป่วยบอก เป็นไปได้ว่าต้นทุนของการรักษาราคาแพงต่าง ๆ นานาสามารถลดลงได้


 เพราะถ้าผู้ป่วยมีความประสงค์ การรักษาก็เปลี่ยนแปลงได้ครับ