Skip to main content

อยู่กับก๋ง

 


 


ในฐานะที่บ้านเราเป็นครอบครัวคนจีน นอกจากจะดู CCTV ทางเคเบิลทีวีเป็นบางครั้งบางคราว แบบดูแต่ภาพ แต่ไม่เข้าใจภาษาแล้ว ครอบครัวเราก็ติดตามละครไทยที่มีเรื่องราวของคนจีน ไล่มาตั้งแต่ยุค กนกลายโบตั๋น ลอดลายมังกร หงส์เหนือมังกร ฯลฯ


 


จนมาถึง ดงดอกเหมย ที่อาม่าไม่พอใจคุณผอูน จันทรศิริ ผู้กำกับละครเรื่องนี้อย่างมาก ๆ ที่ใจร้ายทำให้อาเหมย นางเอกของเรื่องตายในวันแต่งงาน เรียกว่าทำร้ายจิตใจกันแบบสุด ๆ อาเหล่าม่าถึงขั้นจะไปขอเจอหน้าคุณผอูนว่า คนอาราย...ทำไมใจร้ายใจดำอย่างนี้


 


แล้วก็มาเรื่องล่าสุด อยู่กับก๋ง เรื่องนี้ไม่เฉพาะเป็นเรื่องของคนจีน แต่เป็นเพราะดาราแม่เหล็กอย่าง พงษ์พัฒน์ วชิระบรรจง หวานใจของอาม่า ชนิดอากงแอบค้อน แสดงนำ


 


แม้ว่าจะเป็นก๋ง พงษ์พัฒน์ เวอร์ชั่นสุดโจ๋ ไม่ใช่ก๋งขรึม ๆ เย็น ๆ แบบผู้แสดงเปาบุ้นจิ้น เมื่อหลาย 10 ปีก่อนก็ไม่ได้ทำให้บ้านเราถอดใจแต่อย่างใด เรื่องแบบนี้รับกันได้ ก๋งยุคโลกาภิวัตน์ก็แบบนี้ ต้องชิล ชิลไว้


 


แต่แล้วก็มาถึงจุดหงุดหงิดจนได้...


 


 "โกวกา...ก๋ง เวอร์ชั่นพี่อ๊อฟเนี่ย รักเมืองไทยมากไปหน่อยหรือเปล่า ก๋งต้นฉบับของหยก บูรพาเป็นอย่างนี้จริง ๆ หรือ พอจำได้ไหม"  โกวนิตโพล่งขึ้นมากลางวง ระหว่างที่ในจอทีวี ก๋ง พงษ์พัฒน์กำลังแสดงอาการผิดหวังที่ไม่สามารถเปลี่ยนสัญชาติเป็นคนไทยได้ เนื่องจากนายอำเภอที่รับปากจะช่วยเหลือถูกย้ายไปที่อื่น


 


"อืม... ถ้าโกวนิตจะเอาให้ชัวร์ ๆ ก็ต้องกลับไปอ่าน อยู่กับก๋ง ของ หยก บูรพา อีกรอบ แต่ถ้าจะเอาความเห็นเดี๋ยวนี้ โกวกาก็ตะหงิด ๆ มาหลายตอนแล้วว่า งานนี้กองทัพบก "ใช้"  ก๋งมากไปหน่อยนะ อย่างตอนที่เอาความรักชาติไทยของก๋งมาเปรียบเทียบกับความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ทำไมคนพวกนั้นไม่รักชาติ ทั้งที่ก๋งเป็นคนจีนยังรักชาติไทยเลย"


 


"เท่าที่โกวนิตจำได้นะ ก๋งของหยก บูรพา รักคนไทย รักเมืองไทยก็จริง แต่ก็ไม่เคยทิ้งความเป็นคนจีน และน่าจะไม่เคยมีการกล่าวด้วยซ้ำว่า ก๋งอยากมีสัญชาติไทย"


 


อาม่าเห็นถกกันอยู่นานจนเริ่มรบกวนสมาธิการดูละคร เลยหันมาร่วมถกแบบเต็มตัว "อ้าว นึกถึงใจคนจีนที่อยากเป็นขุนนางบ้าง เขาก็ต้องดิ้นรนมีสัญชาติไทย"


 


 "นั่นก็อีกเคสนึงนะ อาม่า  เขาอยากมีสัญชาติไทย เพราะอยากมีอำนาจรัฐ" โกวกาว่า


 


อาม่ายังไม่ยอมแพ้   "อีกอย่างนะ สมัยก่อนค่าธรรมเนียมคนต่างด้าวก็แพงมาก ถ้าจำไม่ผิดจะปีละ 200 บาท ขนาดอาเหล่าม่าของอาม่านะ ยังไม่กล้าออกไปนอกบ้านเลย เพราะไม่ยอมจ่ายค่าธรรมเนียมกลัวถูกจับ"


 


 "ถ้าเป็นเหตุผลนั้นก็อาจจะพอรับฟังได้ แต่อาการที่ละครกำลังพยายามเน้นย้ำอยู่หลาย ๆ ครั้ง ไม่ได้เป็นแบบที่อาม่าว่านี่นา"


 


แม้ว่าบทสนทนาระหว่างสมาชิกในครอบครัวใหญ่จะจบไปแล้ว แต่ความค้างคาใจในการ "ใช้" ก๋งในการชวนเชื่ออะไรบางอย่างยังไม่หมดไป


 


…ละครอยู่กับก๋ง กำลังสะท้อนความคิดของรัฐไทยอย่างชัดเจนที่สุดหรือไม่


 


ประเด็นหลัก ๆ คือ ภาพพจน์ที่พยายามสร้างว่าคนไทยใจดี คนที่มาพึ่งใบบุญต้องสำนึกในจุดนี้ ในละครพยายามโยงสถานการณ์ของคนจีนที่มาพึ่งใบบุญกับประชาชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าไม่ต่างกัน ทั้ง ๆ ที่ประวัติศาสตร์และการเป็นเจ้าของแผ่นดินไม่ได้ต่างจากคนไทยในพื้นที่ต่าง ๆ


 


ละครยังสะท้อนทัศนคติของรัฐที่มองว่า การเป็นคนไทยต้องเหมือนกัน นับถือศาสนาเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน เพราะเหตุนี้ ก๋ง พงษ์พัฒน์ ต้องหัดอ่านเขียนไทยซึ่งเป็นภาษาทางการจึงจะได้รับการพิจารณาคำขอสัญชาติไทย ไม่ยอมมองความแตกต่างหลากหลายว่าเป็นความงดงาม


 


เสียงสะท้อนเล็ก ๆ ที่ว่า ข้าราชการบางส่วนมักรังแกประชาชนที่มีฐานะด้อยกว่า ซึ่งในกรณีนี้คือ คนจีนที่บ่น ถูกก๋งตำหนิติเตียนว่า เป็นเพราะคนจีนขี้บ่นเหล่านั้นกระทำผิดเอง เจ้าหน้าที่เลว ๆ ก็อาจมีบ้างแต่ไม่ทั้งหมด คนจีนขี้บ่นควรหันกลับไปประพฤติปฏิบัติตัวใหม่เสีย


 


ดูเผิน ๆ ละครกำลังแสดงความเป็นเหตุเป็นผลในสถานการณ์ความรุนแรงต่าง ๆ แต่ในความเป็นจริง ละครกลับยิ่งทำให้โครงสร้างความรุนแรงที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทย ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกเบี่ยงเบน และเพิกเฉย  ไม่ได้ช่วยให้เกิดความเข้าใจ ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง