Skip to main content

ต้นไม้กับความยั่งยืนของชีวิต

คอลัมน์/ชุมชน



 


สวนผสมผสานแห่งหนึ่ง แทรกตัวอยู่ในบริเวณ สี่แยกโพธิ์งาม ตั้งอยู่เลขที่ 61 ม. 7 ต.โพธิ์งาม กิ่งอำเภอบึงนาราง  ไม่ไกลจากถนนสี่เลนระหว่างนครสวรรค์ – พิจิตร – พิษณุโลกมากนัก


 


สวนแห่งนี้มีไม้ยางนาขนาดใหญ่ ประดู่ มะค่าแต้ เลื่ยน มะกอก มะม่วง ฯลฯ ขึ้นระเกะระกะ มีแถวบอระเพ็ด ขึ้นไปพันบนยอด แล้วปล่อยรากห้อยลงมาเป็นเส้นสายระโยงระยาง  ส่วนข้างล่างเต็มไปด้วยสมุนไพรหลากหลายชนิด แซมด้วยต้นไม้เล็ก ๆ ที่ขึ้นอยู่ทั่วไป และพร้อมจะเติบโตเป็นไม้ใหญ่ในอนาคต ความร่มรื่นและความเย็นของพื้นที่แห่งนี้สัมผัสได้ทันทีเมื่อก้าวเข้ามาในสวน สวนแห่งนี้แหละ ที่หลายคนขนานนามว่า "สวนป่าโบราณ"  


 


สวนป่าดังกล่าว มีพื้นที่ 7 ไร่ 2 งาน ด้วยความพยายามร่วม 25 ปี ตั้งแต่ปี 2523  ของชายคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านหนองเค้าแมว ชายคนที่ชื่อว่า นายณรงค์  แสงจันทร์ หรือลุงย่อมของเด็ก ๆ ปัจจุบันแม้วัยจะล่วงเลยเข้าสู่วัยชรา อายุ 66 ปี แต่ลุงย่อมยังดูแข็งแรง แววตามีความสุข บ่งบอกถึงความมั่นใจในการมีชีวิตอยู่


 


ความเป็นมาของสวนป่าลุงย่อมเล่าให้ฟังว่า "แต่เดิมที่แห่งนี้ เป็นสวนป่ารกร้างมาก่อน ต่อมาลุงย่อมคิดว่ามันรกและคงไม่มีประโยชน์อะไร  สู้ปลูกกล้วยคงไม่ได้ จึงถางจนหมดแล้วนำพื้นที่ดังกล่าวมาปลูกกล้วย เมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน พื้นที่อื่น ๆ ทั้งภายในหมู่บ้าน และบริเวณหมู่บ้านใกล้เคียงถูกแผ้วถางตัดไม้จนเตียนโล่ง เพื่อเอาพื้นที่มาทำนา ตนจึงเริ่มคิดว่า อนาคตต้นไม้น่าจะมีน้อยลง  จึงคิดถึงลูกหลาน เลยเริ่มต้นปล่อยต้นไม้ที่เกิดขึ้นในสวนกล้วย เช่น ต้นยางนา  ประดู่ ตะเคียนหนู สะค้ำ เมื่อฝนตก ต้นไม้เหล่านี้ก็งอกงามขึ้นมา"


 


ขณะที่ปล่อยไม้ให้เกิดขึ้นเอง  ลุงย่อมก็ทำสวนปลูกไม้ผลควบคู่ไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น ลำไย ชมพู่ ลิ้นจี่ มะกอกน้ำ  ขนุน มะม่วง ปลูกผักสวนครัวไว้กิน เหลือก็ขาย รายได้ที่มาใช้จ่ายในครอบครัวก็มาจากกล้วยและไม้ผล ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยต่ำกว่า 100 บาท  นอกจากนั้นลุงย่อมยังมีนาข้าวที่ทำไว้ประมาณ 60 ไร่  ประกอบกับผักผลไม้ในสวนมีมากมาย ทำให้ลุงย่อมไม่ต้องควักเงินจ่ายค่ากินอยู่มากมายนักสำหรับจำนวน 6 ชีวิต ของครอบครัวแสงจันทร์


 


ในช่วงแรกนั้น แม่บ้านของลุงย่อมไม่ค่อยเห็นด้วยเพราะเห็นว่ารก  จึงไม่อยากให้ลุงย่อมปล่อยไม้ให้เกิดขึ้น แต่ลุงย่อมก็พยายามอธิบายให้ฟัง ประกอบกับรายได้ที่เริ่มเข้ามาจากสวนแห่งนี้ ทำให้ในที่สุดแม่บ้านก็ยอมรับและเปลี่ยนใจมาเป็นแรงสนับสนุน


 


สวนกล้วยเมื่อปล่อยไว้ได้ประมาณ 10 ปี ก็เริ่มขึ้นโคน ผลผลิตให้ได้น้อยลง  แต่ต้นไม้ที่ปล่อยไว้ก็เริ่มเป็นป่ามากขึ้น จากการที่มีพันธุ์ไม้หลากหลายมากขึ้น แสงแดดส่องลงมาน้อยลง ดินอุดมสมบูรณ์ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งที่ผ่านมาลุงย่อมไม่เคยใช้ปุ๋ย ยาสารเคมีใด ๆ ทั้งสิ้น รวมถึงไม่เคยเผาหญ้าในพื้นที่เลย ปลวกเป็นสัตว์ตัวเล็ก ๆ เป็นแรงสำคัญในการย่อยใบไม้ ยิ่งช่วงหน้าฝนใบไม้ตกลงมาก็ย่อยสลายได้เร็วมาก


 


ความร่มครึ้มและความเย็นจึงเริ่มมาเยือนสวนแห่งนี้ ต่อมาลุงย่อมจึงหาพันธุ์สมุนไพร ทั้งขมิ้นชัน ไพร ขมิ้นขาว รางจืด กระชาย  และอื่น ๆ อีกมากมายเข้ามาปลูกในพื้นที่ ซึ่งสมุนไพรเหล่านี้อยู่ร่วมกับสวนป่าได้ดี  


 


ผลที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ นับจำนวนพรรณไม้ได้กว่า 300 กว่าชนิด ทั้งไม้ยืนต้นและสมุนไพร เฉพาะไม้ยืนต้นที่สามารถตัดขายได้ ตีมูลค่าได้ร่วมแสนกว่าบาท  ปีที่แล้วลูกชายลุงย่อมเล่าให้ฟังว่าลูกชายต้องการสร้างบ้าน  ลุงย่อมยกต้นยางขนาดหนึ่งถึงสองคนโอบให้ 1 ต้น เพียงพอสำหรับบ้านไม้สองชั้นหนึ่งหลัง  ขณะเดียวกัน บ้านสองชั้นหลังขนาดใหญ่ที่ลุงย่อมอยู่ในปัจจุบันก็ได้ไม้จากสวนนี่แหละมาสร้าง นอกจากนี้ความอุดมสมบูรณ์ของสวนป่าผสมผสาน ยังมีเห็ดโคนให้ลุงย่อมได้ขายปีละครั้ง


 


ปัจจุบัน รายได้หลักของลุงย่อมมาจากการขายสมุนไพร และผักพื้นบ้าน เช่น ผักข้าวสาร ผักหวานป่า นับได้ว่าเป็นบำนาญชีวิตของลุงย่อมจริง ๆ เพราะลุงบอกว่า ตอนนี้ไม่ต้องทำอะไรเลย เก็บเกี่ยวผลขายอย่างเดียว บ่อยครั้งที่ลุงย่อมขี้เกียจขุดสมุนไพรขาย  ก็ไปชี้ให้คนมาซื้อสมุนไพรดูแล้วก็ตกลงราคา พอใจก็ขุดเอาไป ผลพลอยได้จากการมีสวนป่า ทำให้พ่อค้าสมุนไพรหาสมุนไพรแปลก ๆ มาฝากให้ลุงย่อมปลูก เพราะเห็นว่า ฝากลุงย่อมแล้วสมุนไพรดังกล่าวงอกงามดี แถมไม่ได้แค่เอามาฝากปลูกอย่างเดียว ยังรับซื้อผลผลิตไปด้วย 


 


ด้วยความรักและความผูกพันกับสวนป่าโบราณ การปลูกฝังคนรุ่นหลัง เป็นสิ่งหนึ่งที่ลุงย่อมได้เตรียมไว้ โดยเฉพาะรุ่นหลาน น้องสุชาดา แก้วตะครุ หลานตัวน้อยที่อยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ได้ผูกพันกับสวนป่าดังกล่าวตั้งแต่เกิด เมื่อถูกถามว่าเมื่อโตไป ถ้าต้นไม้ราคาดี ได้เงินเยอะ ๆ จะขายไหม หนูน้อยตอบอย่างชัดเจน ว่าไม่ขายเพราะมันร่มรื่น มีผลไม้ให้หนูกินได้


 


นอกจากการปลูกฝังความรักสวนป่าโบราณให้กับลูกหลานในครอบครัวแล้ว ลุงย่อมยังได้นำความรู้ในเรื่องสวนป่าสมุนไพรเผยแพร่ให้กับโรงเรียนใกล้เคียง โดยร่วมมือกับโรงเรียนในหมู่บ้านพาเด็ก ๆ สำรวจ ศึกษา และเรียนรู้เรื่องต้นไม้ และระบบนิเวศน์จากสวนป่าดังกล่าว  อนาคตลุงย่อมหวังให้เป็นหลักสูตรท้องถิ่นเพื่อให้ลูกหลานได้เรียนรู้และศึกษา


 


การรวมกลุ่มผู้สูงอายุภายในตำบลโพธิ์ไทรงามเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ลุงก่อตั้งร่วมกับผู้สูงอายุอื่น ๆ ในชุมชน ให้ชื่อว่าชมรมผู้สูงอายุตำบลโพธิ์ไทรงาม  โดยกลุ่มผู้สูงอายุทำกิจกรรมหลายอย่างที่สำคัญคือ การเล่นดนตรีพื้นบ้านร่วมกันและการจักสาน อุปกรณ์ดักปลา ตะกร้า กระบุงตะเข่ง เป็นรายได้เสริมเล็ก ๆ น้อย ๆ  แต่รายได้ไม่สำคัญ เท่ากับการได้มานั่งพูดคุยเล่าเรื่องสมัยเก่า ๆ ที่หลายคนผ่านไปมักจะอิจฉา เพราะได้ยินเสียงหัวเราะอยู่ตลอด  และลุงย่อมเป็นคนหนึ่งที่สำคัญ เห็นได้จากเมื่อลุงติดธุระไม่ได้ไปจักสานกับกลุ่ม สมาชิกจะบ่นหา เนื่องจากลุงมักมียาดี ที่ทำจากสมุนไพรในสวน คนที่ได้กินบอกกินแล้วมีกำลังดี หายปวดเมื่อย จึงทำให้ลุงย่อมเป็นที่คิดถึงของสมาชิกเสมอ


 


เมื่อถามว่า ถ้าย้อนไปได้ ลุงย่อมอยากจะทำอะไรเพิ่มกับสวนป่าดังกล่าว ลุงย่อมบอกว่า จะเพิ่มพื้นที่การปลูกไม้ให้มากกว่านี้ ต่อไปข้างหน้าไม้หายากมากขึ้น ไม่ค่อยมีคนปลูก มีแต่คนทำลาย ทำนาเดี๋ยวนี้ก็แย่ ค่าใช้จ่ายสูง ราคาขายก็ไม่สูงนัก  ปุ๋ยก็แพง แถมทำเองไม่ได้ ต้องจ้างเขาเกือบทุกอย่าง ถ้าคิดไปข้างหน้า ปลูกไม้ยืนต้นดีกว่าเยอะ  ไม่ต้องลงทุนมาก เพียงการดูแลเล็ก ๆ น้อย ๆ


 


นี่เป็นเรื่องจริงของชายคนหนึ่งที่มีความคิดแตกต่างจากคนร่วมสมัยด้วยกัน ด้วยความคิดเพียงแค่ เก็บต้นไม้ไว้ให้ลูกหลาน เท่านั้น ด้วยระยะเวลาจากวันนั้นจนถึงวันนี้ รวมเวลา 25 ปี กลับเป็นความยิ่งใหญ่ เป็นสิ่งที่ทุกคนสนใจ ทำให้ชายคนนี้ยืนอยู่ด้วยศักดิ์ศรีของเกษตรกร มีบำนาญชีวิตที่มั่นคง ใช้ชีวิตอย่างสงบ ไม่ต้องไปดิ้นรน มีมรดกทิ้งไว้ให้ลูกหลาน รวมถึงการมีเวลาให้กับความรื่นรมย์ในบั้นปลายชีวิต


 


เรื่องราวของลุงย่อมคงเป็นคนหนึ่งของสังคมที่ดำเนินชีวิตด้วยเศรษฐกิจพอเพียง  และไม่เคยประมาทกับชีวิตที่ผ่านมา  ทั้งวิถีชีวิตลุงยังยืนยันว่า  เมืองไทยยังคงเป็นถิ่นอุดมสมบูรณ์ แม้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะถูกทำลายด้วยวิถีชีวิตบริโภคนิยม การทำเกษตรเคมี และเกษตรเชิงเดี่ยวในปัจจุบันไปมากแล้วก็ตาม แต่ไม่สายที่จะปรับเปลี่ยนวิถีการผลิต เพราะธรรมชาติพร้อมที่จะเยียวยาตนเองเสมอ  เพียงเรามั่นใจ พยายามทำกิจกรรมที่เกื้อกูล และใช้ชีวิตเรียบง่ายสอดคล้องกับธรรมชาติเท่านั้น