Skip to main content

คำสัญญาของ "อาจารย์ป๋วย"

คอลัมน์/ชุมชน




 


อาจารย์ป๋วยกับตึกโดม (ภาพของอาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์)


 


 


ในนามของผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเวลานี้…มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของเรายังเอาใจใส่เรื่องการเมือง…ยังเปิดประตูกว้างสำหรับประชาชน อย่างที่ผมเขียนไว้…ถ้าหากเป็นชาวไร่ชาวนา มาจากที่ไหน เขาก็เข้ามา เมื่อเขาเข้ามาเราจะไล่เขาได้อย่างไร คราวสุดท้าย ผมก็เขียนไปถึงท่านนายกฯ ถึงปลัดทบวงว่า ชาวนามาแล้วนะครับ สองพันคน จะให้ธรรมศาสตร์รับไหม…ท่านก็บอกว่าดีแล้ว (หัวเราะ) ดีแล้ว หมายความว่าอย่างไร ก็หมายความว่า เราไปเที่ยวต่างจังหวัด ทำงานในต่างจังหวัด ไป 20-30 คน เขาอุตส่าห์หาฟูก หาอาหารมาเลี้ยงเราอยู่อย่างสบาย พวกชนบทมาเพื่อประท้วงต่อรัฐบาล ประท้วงต่อสังคมอันไม่ยุติธรรมต่อเขานี่ แล้วเราให้เขามาอยู่ที่ธรรมศาสตร์ พวกเราทำอะไรให้เขาไม่ได้ ฟูกเราก็หาให้เขาไม่ได้ เขาก็บอกว่าไม่ต้องหา เขาปัดกวาดเอง ที่เตียนๆ ที่นอนได้ไม่อะไร ข้าวปลาเราช่วยนิดๆ หน่อยๆ นี่เป็นของที่เราน่าจะกระทำ"


                                                                        ป๋วย  อึ๊งภากรณ์


                                                                                    อธิการบดีธรรมศาสตร์


                                                                                    30 ม.ค.2518 – 6 ต.ค. 2519


 


1


 


28 กรกฏาคม 2542 …ลอนดอน


 


ชายชราผมสีดอกเลาหลับตาพักผ่อนตลอดกาล หลังผ่านมรสุมลูกแล้วลูกเล่าในชีวิต หลังจากนั้นไม่กี่วัน ในโทรสารจากมหานครลอนดอนถึงแผ่นดินแม่ ระบุใจความสั้นๆ ตอนหนึ่ง…


 


 "ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ถึงแก่กรรมที่บ้าน ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2542 เนื่องจากเส้นโลหิตใหญ่ในช่องท้องโป่งแตก… ดร.ป๋วย เริ่มมีปัญหาสุขภาพตั้งแต่เส้นโลหิตในสมองแตกเมื่อปี 2520 ทำให้พูดและเขียนหนังสือไม่ได้…"


 


  


 


 ภาพจากนิตยสารสารคดี ฉบับ "ป๋วย อึ๊งภากรณ์"


 


2


 


23 กรกฏาคม 2548


 


ชายชราคนหนึ่งเดินไปมาในแผงขายพระเหมือนทุกวัน เขาคือคนไม่มีบ้านซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปแถบสนามหลวงและท่าพระจันทร์


 


ผมพบชายคนนี้เย็นวันครึ้มฝน เขาเพิ่งหย่อนก้นลงนั่งบน "บ้าน" ที่มีเนื้อกว้างขวางสุดลูกหูลูกตา


 "สนามหลวง" คือบ้านของลุงหรั่ง มีฟ้าเป็นมุ้ง มียุงเป็นเพื่อน ไม่ผิดจากเพลงเพื่อชีวิตที่ขับขานเท่าใดนัก  ไม่ต่างจากอีกหลายคนที่ใช้ชีวิตแบบเดียวกันในพื้นที่ไม่กี่เอเคอร์กลางเกาะรัตนโกสินทร์


 


เป็นชีวิตคนจร ที่มี "โรงแรม" พักพิงในสนนราคาแค่ 20 บาท ต่อคืน พร้อมบริการ "เสื่อผืนหมอนใบ  เป็นที่ซึ่ง "ลุงหรั่ง" หรือลุงสมชัย อาศัยซุกหัวนอนมาตลอด 43 ปี


 



ลุงหรั่ง (ภาพโดย สุเจน กรรพฤทธิ์)


 


...นานมากพอที่แกเริ่มจะลืมเลือนบางอย่างไปแล้ว


"ลุงอยู่ที่นี่เห็นหมดละ ประท้งประท้วง"


"รู้จักจำลองไหมปี 2535"


"โอ๊ย รู้จัก เขาประท้วงกัน เราดูเหตุการณ์ทุกครั้งที่เกิดขึ้น จะไปยังไง...ลุงอยู่ที่นี่มานานแล้ว เคยเป็นทหารเกณฑ์อยู่ปีสี่ (1 ปี 4 เดือน) นี่ยังเสียดายอยู่เลย เจ้านายให้อยู่ต่อไม่เอา ไม่งั้นป่านนี้เป็นจ่าสิบเอกแล้ว เลยมาขายพระ อยู่นี่อากาศดี แต่ถ้าฝนตกก็แย่หน่อย นี่ลุงเป็นความดันอยู่นะ"


ลุงควักซองใส่ยาออกมาโชว์


 


ทำไมคน ๆ หนึ่งถึงเลือกเร่ร่อน ทำไมคนจนๆ หนึ่งถึงมีชีวิตที่แตกต่างกับคนรวยหนึ่งราวฟ้ากับเหว


"ลุงอยู่แถวนี้ไม่โดน กทม. ไล่เหรอ"


"บ่อยไป บางทีทีวีมาถ่ายแล้วก็ว่าคนจนอย่างพวกเรา กทม. ก็มาไล่ไม่ให้เรานอน จะให้เราไปนอนอยู่ที่อื่น โอยไม่เอาละ ไปนอนตรงอนุสาวรีย์หมู ยุงเยอะจะตาย นักศึกษาช่วยลุงเยอะนะสมัยก่อน พาไปกทม. พาไปโน่นไปนี่"


 


หลังจากนั้นชายชราก็เล่าเรื่องราวที่ตกตะกอนอยู่ในจิตใจออกมา...


"เคยเจอนะอาจารย์ป๋วย แกเคยอยู่แบงก์ชาติตรงนี้ (ชี้ไปที่บางขุนพรหม) เคยให้พระนางพญาแกองค์หนึ่ง"


 


มีก้อนอะไรบางอย่างขึ้นมาที่คอผม ทำให้ผมได้แต่นั่งฟังลุงหรั่งเล่าต่อไปถึงอาจารย์คนหนึ่ง ซึ่งเมื่อหลายสิบปีก่อนเดินลงมาที่โรงอาหารมหาวิทยาลัย เห็นชายหนุ่มคนหนึ่งนั่งส่องพระอยู่ที่โต๊ะ ด้วยความสนใจอะไรก็แล้วแต่ อาจารย์ใจดีคนนั้นก็เข้ามาทักลุงหรั่ง


"ขอผมดูด้วยคนสิ ผมก็ชอบดูนะ"


"แกสั่งอะไรมาเต็มโต๊ะเลย แกว่าเลี้ยง ถามเราว่ามาจากไหน บ้านอยู่ไหน"


แล้วอาจารย์คนนั้นก็ทราบความเป็นมาของชายคนนี้


ยังจำได้ไม่ลืมเลย แกบอกว่ามีใครมาไล่ คุณบอกผมนะ อยากเข้ามาใช้ห้องน้ำเข้ามาอาบน้ำ มาได้"


เป็นความทรงจำจากชายหนุ่มเร่ร่อนคนหนึ่งในวันนั้น ที่ ณ วันนี้ กลายเป็นชายชรา เขายังระลึกถึงอาจารย์ใจดี ถือไม้เท้า คาบไปป์ ผมสีดอกเลาที่ลูกศิษย์ลูกหาหลายคนมักพบในธรรมศาสตร์สมัยท่านเป็นอธิการบดีเสมอๆ"


 


ผมนึกถึงสิ่งที่อาจารย์ป๋วยเคยกล่าวไว้เมื่อนานมาแล้ว


 "...ธรรมศาสตร์ยังเปิดประตูกว้างสำหรับประชาชนอย่างที่ผมเขียนไว้ ใครจะไปจากท่าพระจันทร์ ไปถนนพระอาทิตย์ หรือจากถนนพระอาทิตย์ไปท่าพระจันทร์ ก็เดินผ่านได้สบายเสรี ใครจะ Demonstrate ใครจะอะไรที่สนามหลวง ก็มาใช้ส้วมที่ธรรมศาสตร์..."


 


เจตนารมณ์เหล่านี้ถูกส่งมาสู่ความรับรู้ของคนระดับรากหญ้าคนหนึ่งจริงๆ เช่นเดียวกับที่ท่านตั้งปณิธานเอาไว้ …


 


3


 


 "เดี๋ยวนี้ลุงนอนที่นี่ตลอดเหรอ"


 "ก็ที่นี่ บ้านของลุง หาลุงง่ายนิดเดียว นอนเอาเสื่อพับครึ่งตัว อยู่ตรงกลางๆ สนามหลวงตอนเช้าๆ" 


 "แล้วถ้าฝนตกละ"


 "ไปยืนหลบเอาตามชายคา ใต้ต้นไม้"


 "แล้วตอนนี้มีนักศึกษามาช่วยลุงบ้างไหม"


 "นานแล้ว ตอนนี้ไม่มีหรอก" แกตอบ พร้อมเหม่อไปที่อาคารหลังใหญ่ 


 "ลุงยังเข้าไปใช้ห้องน้ำได้ไหมตอนนี้"


 "อ๋อ ได้ แต่อาบน้ำไม่เอา เกรงใจเขา พื้นมันเปียก เกรงใจคนทำความสะอาด"


 "ลุง รู้ไหมอาจารย์ป๋วยท่านเสียไปนานแล้ว"


 "จริงเหรอ"


 


ลุงหรั่งไม่รู้หรอกว่า ในวันหนึ่งที่แกเห็นคนมากมายในสนามหลวงเมื่อปี 2519 คือสาเหตุที่ทำให้อาจารย์ที่เคยเลี้ยงข้าวแกคนนี้ ต้องเดินทางหลบภัยไปนอกประเทศ


 


บางอารมณ์ผมเคยตั้งคำถาม บ้านเมืองนี้ให้ผลตอบแทนกับคนดีแบบนี้หรือ ทั้งอาจารย์ปรีดี ศรีบูรพา อาจารย์ป๋วย ล้วนหวังดีต่อประเทศด้วยความบริสุทธิ์ใจ แต่ก็ถูกคน "ชั่ว" ใส่ร้ายป้ายสีจนต้องพลัดพรากจากบ้านเมือง


           


4


 


28 กรกฏาคม 2548 . . .


 


จะมีสักกี่คน จำได้ว่าวันนี้เมื่อ 6 ปีก่อน เราสูญเสียข้าราชการผู้ซื่อสัตย์ที่สุดคนหนึ่งของประเทศ เสียอาจารย์ที่ดีที่สุดของลูกศิษย์ไป...


 


เด็กธรรมศาสตร์สักกี่คนจะจำได้...เมื่อเทียบกับวันงานบอลประเพณี


 


แต่อย่างน้อยที่สุด...


วันนี้  "อาจารย์ป๋วย" และ "คำสัญญา" ของท่าน ยังดังก้องอยู่ในความทรงจำชายเร่ร่อนคนหนึ่งไม่รู้ลืม


 


 


 


เอกสารอ้างอิง


กองบก.สารคดี . ป๋วย อึ๊งภากรณ์ 2459-2542. กรุงเทพฯ , สนพ.สารคดี


ขอขอบคุณ


อ.ใจ อึ๊งภากรณ์ เอื้อเฟื้อภาพ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์