Skip to main content

อาบอยี กวีเพื่อสันติภาพ

คอลัมน์/ชุมชน



 


กลุ่มรุ้งอ้วน โดยน้ำหวาน (ปิยวรรณ แก้วศรี) และเล็ก (พรศักดิ์ สุคงคารัตนกุล) เป็นกัลยาณมิตรที่ทำงานด้านสื่อเพื่อสังคมมาหลายปี ได้แจ้งข่าวดีให้ดิฉันทราบว่า สารคดีเรื่องอาบอยี ถ้อยกวีในสายลม ได้รับรางวัลชนะเลิศของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ดิฉันจึงขอแผ่นซีดีมาดูที่บ้าน เมื่อค่ำวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ด้วยความปลาบปลื้มที่ความดีงามและภูมิปัญญาที่ไร้พรมแดนของอาบอยี ผู้เฒ่าชาวอาข่า (อีก้อ) แห่งบ้านหล่อโย หมู่ที่ ๑๙ ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย ได้รับการยกย่องจากนักวิชาการผู้มีความคิดเป็นอิสระกลุ่มหนึ่ง


 


คุณจุฑามาศ  ราชประสิทธิ์  เจ้าหน้าที่รุ่นบุกเบิกของ มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.)  ผู้มีประสบการณ์การทำงานกับชุมชนชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงเกือบ ๒๐ ปี ครูจุสนิทสนมและพาอาบอยีไปร้องเพลง ร่ายบทกวีเพื่อความรักและศานติสุขของมนุษย์และสรรพสัตว์ในเวทีต่าง ๆ ได้ทราบว่า อาบอยีเริ่มมีอาการป่วยเกือบปีแล้วโดยถ่ายออกมาเป็นเลือด จึงพามาตรวจที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์  พบว่าอาบอยีเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่  แพทย์แนะนำให้ผ่าตัด แต่อาบอยีไม่ยอม  ขอกลับไปดูแลตัวเองตามประเพณีที่บ้าน 


 


กลุ่มรุ้งอ้วน จึงได้รับคำแนะนำจากคุณจุฑามาศ  คุณสยาม  พึ่งอุดม (ศิลปินอิสระชาวเชียงราย ซึ่งค้นพบความเป็นเพชรเม็ดงามของอาบอยี ได้มาเรียนรู้จากอาบอยี ด้วยความเคารพนับถือมากกว่า ๑๐ ปี แล้ว) และดิฉัน  ให้มาทำสารคดีชีวิตและความคิดของอาบอยี  ก่อนที่ผู้เฒ่าจะถูกโรครุมเร้าจนถ่ายทอดภูมิปัญญาสู่ลูกหลานและสังคมไม่ได้  


 


เย็นวันที่ ๒๓ กรกฎาคม  ๒๕๔๘ เมื่อกลับจากการประชุมสมาชิกรัฐสภาอาเซียน (AIPO –ASEAN INTER – PALIAMENTARY ORGANIZATION) ที่นครเสียมเรียบ ถึงบ้านเวลาบ่ายสามโมงเศษ  สามีและลูกชายจึงพาดิฉันไปเยี่ยมอาบอยีที่หมู่บ้านหล่อโย ด้วยความเป็นห่วงว่าอาบอยีมีสุขภาพดีอยู่หรือไม่


 



 


ท่ามกลางสายฝนที่หนักหน่วง ดิฉันและลูกชายลงแวะที่ตลาดบ้านดู่ เพื่อซื้อผลไม้คือ เงาะ  มังคุด ไปฝากอาบอยี และผู้เฒ่าคนอื่น ๆ อันเป็นน้ำใจที่ห่วงหาอาทรต่อกัน


 


สายฝนหยุดตกเมื่อเลยอำเภอแม่จันมาแล้ว  อากาศภายนอกจึงเย็นสบาย แต่เมฆฝนยังคงปกคลุมหนาทึบโดยทั่วไป  กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่าช่วงนี้จะมีฝนชุกทางภาคเหนือและทั่วประเทศอีก ๒ – ๓ วัน


 


หนึ่งชั่วโมงครึ่งรถก็มาถึงบ้านหล่อโย ทางเดินในหมู่บ้านเปียก แฉะ  ลื่น  ต้องเดินด้วยความระมัดระวัง ไปถึงบ้านอาบอยีประมาณ ๑๐ นาที


 


หน้ากระท่อมไม้ไผ่ มุงคา ของอาบอยี มีดอกทานตะวันสีเหลืองสดใสปลูกไว้ริมรั้ว อีกไม่นานก็จะได้กินเมล็ดทานตะวันสด ดิฉันคิดถึงปีแรกที่เริ่มโครงการการศึกษาเพื่อการพัฒนาชุมชนในเขตภูเขาของ พชภ. (พ.ศ.๒๕๒๙) ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกคนเป็นครู ใช้หลักสูตรของโครงการศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา (ศศช.)  กรมการศึกษานอกโรงเรียน เด็กนักเรียนชาวอาข่าจะนำเมล็ดทานตะวันมากินที่โรงเรียน แล้วปล่อยกลิ่นตดกันสนั่นห้อง ไม่รู้ว่าใครเป็นต้นเหตุ ครูแดง (ดิฉันเอง) ครูหลุยส์  ครูจุ และครูอื่น ๆ ของ พชภ. ซึ่งรุ่นแรกมี ๒๐ คน ต้องออกกติกา โดยคุยกับนักเรียนเป็นภาษาอาข่าว่า "ใครที่รู้ตัวว่าจะตด กรุณาออกไปปล่อยกลิ่นนอกห้อง เพื่อความสุขแห่งลมหายใจของทุกคน" จากนั้นห้องเรียนจึงปลอดกลิ่นตด อันเนื่องมาจากการกินเมล็ดทานตะวัน นั่นเอง !!


 


สามีของดิฉัน (ซึ่งเคยเป็นหัวหน้าหน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา ของศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา จังหวัดเชียงราย อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่จันมากว่า ๑๐ ปี) เดินเข้าไปในรั้วบ้าน แล้วร้องเรียกอาบอยีว่า "ครูแดงมาหา" อาบอยี จึงออกมารับที่หน้าชานบ้าน แล้วพาเข้าไปในกระท่อม


 


 


                                                       


 


                                                            อาบอยี ผู้เฒ่าชาวอาข่า (อีก้อ)


 


กระท่อมของอาบอยี เป็นแบบดั้งเดิมของชาวอาข่าโบราณ ด้านหน้าเป็นชานบ้านโล่ง เอาไว้ตากพืชผล ตั้งภาชนะใส่น้ำ นั่งพักผ่อน เมื่อผ่านประตูบ้านเข้าไปในห้องด้านหน้า คือ "ห้องรับแขก" มีเตาไฟสำหรับต้มน้ำชงน้ำชา เมื่อแขกมาก็จะนั่งอยู่ข้างกองไฟ ส่วนในของห้องเป็น "ห้องนอน" ของผู้ชาย ซึ่งบ้านนี้มีอาบอยีคนเดียว ลูกชายแต่งงานออกเรือนไปแล้ว


 


ห้องด้านหลัง แบ่งเป็น ๒ ส่วน ส่วนแรกมีเตาไฟสำหรับหุงต้มอาหาร เป็น "ห้องครัว" ส่วนในเป็น "ห้องนอนผู้หญิง" มีบันไดด้านหลังสำหรับผู้หญิงลงไปเอาฟืนจากกองฟืนหลังบ้าน และลงไปตำข้าว ซึ่งปัจจุบันแทบไม่มีใครใช้ครกตำข้าวแล้ว มักไปสีที่โรงสีข้าวมากกว่า


 


พื้นบ้านของอาบอยีเป็นไม้กระดาน เช็ดถูไว้สะอาดสะอ้าน ดิฉันถามอาบอยีว่า สบายดีไหม ผู้เฒ่าตอบว่า สบายดี กินข้าวได้ นอนหลับ ดิฉันจึงปอกมังคุดและเงาะให้กิน อาบอก็ก่อไฟ ชงน้ำชาร้อน ๆ มาให้


 


นั่งอยู่สักครู่แม่เฒ่าก็กลับมาจากไร่ แบกก๋วย (ตะกร้าสะพายหลัง) ใส่มะเขือยาวและข้าวโพดที่เก็บจากไร่มาด้วย


 


ลูกชายและหลานของอาบอแวะมาเยี่ยม ดิฉันจึงขอให้ไปตามลูกศิษย์ที่เคยสอนให้มาช่วยเป็นล่าม เพราะงานในวุฒิสภามีมาก ไม่ค่อยได้เข้ามาอยู่คลุกคลีในหมู่บ้าน ภาษาอาข่าที่เคยพูดได้ จึงไม่คล่องเหมือนเดิม


 


แม่เฒ่าบอกว่า อาบอยี ไม่ได้ไปไร่มาหลายเดือนแล้ว แม่เฒ่าจึงไปไร่คนเดียว


 


ปีนี้อาบอยีอายุ ๗๕ แล้ว แม่เฒ่าอายุไล่เลี่ยกัน ลูกที่ออกเรือนไป ก็ช่วยพ่อแม่บ้าง เอาข้าวสารมาให้ แต่ตัวเองก็แทบเอาตัวไม่รอด เพราะพื้นที่ทำกินบนดอยมีจำกัด ต้องใช้พื้นที่ที่มีความลาดชันสูงเพื่อปลูกข้าว มีปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดินสูง ใช้พื้นที่ซ้ำ ๆ กันหลายปี ดินก็เสื่อมเพราะไม่มีพื้นที่หมุนเวียนพอที่ธรรมชาติฟื้นตัวได้ทัน ผลผลิตข้าวและพืชอื่น ๆ จึงต่ำลง ต้องดิ้นรนไปรับจ้างทำงานในพื้นที่หรือนอกพื้นที่


 


ลูกศิษย์ ชื่อ หล่อจ่า เข้ามาหาดิฉัน หล่อจ่าอายุ ๒๗ ปีแล้ว เคยเข้าไปเรียนที่เชียงรายตั้งแต่ ป.๔ ถึง ป.๖ แล้วกลับบ้านมาช่วยพ่อแม่ทำไร่ทำสวน พ่อของหล่อจ่า ชื่อ อาเจ่อ เป็นผู้นำหมู่บ้านในช่วงที่ พชภ.เริ่มเข้ามาทำงาน เป็นผู้นำที่เริ่มทำการเกษตรแนวระดับ (Contour Farming) โดยปลูกพืชตระกูลถั่วยืนต้น ได้แก่ กระถินยักษ์ มะแฮะ กระถินอินโดนีเซีย แคฝรั่ง ตามแนวระดับ เพื่อป้องกันการชะล้างหน้าดิน รากพืชตระกูลถั่วมีปมตรึงไนโตรเจนมาเป็นปุ๋ยในดิน (Nitrogen Fixing Trees) ทั้งยังได้ใบร่วงลงเป็นปุ๋ยให้ดินอีก เป็นเทคโนโลยีการเกษตรบนที่สูง ซึ่งเผยแพร่กันมาก ในช่วง ๒๕๓๐ – ๒๕๔๐ บ้านหล่อโยจึงเป็นหมู่บ้านที่มีผู้มาศึกษาดูงานมากทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เครือเจริญโภคภัณฑ์ก็ได้สนับสนุนโครงการป่าพระราชทานที่บ้านหล่อโย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๙-๒๕๔๐ จำนวน ๔๐๐ ไร่


 


พ่อเฒ่าแม่เฒ่าในหมู่บ้าน เป็นที่ปรึกษาของ พชภ.ในเรื่องภูมิปัญญาและวัฒนธรรมในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ พึ่งพาธรรมชาติในแนวเศรษฐกิจพอเพียง โดยผลิตอาหารได้เองในไร่ข้าว ข้าวโพด มีพันธุ์พืชชนิดต่าง ๆ ปลูกคละเคล้ากันราว ๔๐-๘๐ อย่าง ทั้งข้าวจ้าว ข้าวเหนียว ซึ่งมี ๕-๑๐ สายพันธุ์ ถั่วกินฝักสด ถั่วกินเมล็ดแห้ง คือ ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ถั่วแดงหลวง ถั่วดำ เผือก มัน แตงไทย แตงกวาลูกโต มะเขือยาว มะเขือเปราะ มะเขือขม พริกแด้ พริกขี้หนู ลูกเดือย ข้าวฟ่าง กล้วย ฝรั่งขี้นก ฯลฯ ซึ่งอาบอยีเป็นผู้ที่มีพันธุ์พืชที่คนอื่นไม่มี เป็นแหล่งรวมพันธุ์พืชที่หลากหลาย รวมทั้งสมุนไพรด้วย


 


อาบอยีมีฝีมือในการทอผ้าและปักผ้า ซึ่งปกติเป็นงานของผู้หญิง แต่อาบอยีชอบทำและทำมาตั้งแต่เด็ก เพราะความเป็นลูกกำพร้า งานปักผ้าจึงเป็นศิลปะที่หล่อหลอมจิตใจของอาบอยีให้อ่อนโยน มีสีสันตลอดมา


 


 


                                                       


 


 



                                                                                ๓


 


เสียงเพลงจากบทกวีที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์ร่วมโลก จากตำนานของอาข่าว่า มนุษย์ทุกชาติพันธุ์ล้วนมาจากแม่เดียวกัน อาบอยีได้ร้องเพลงขับกล่อมในทุกที่ที่ไปเยี่ยม เช่นที่ชุมชนประมง จังหวัดตรัง (ซึ่งสมาคมหยาดฝน โดยพี่พิสิษฐ์ ชาญเสนาะ กรุณาประสานให้ผู้นำบนดอยกับผู้นำประมงพื้นบ้านภาคใต้ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ที่เวทีสันติภาพโลก สวนลุมพินี ซึ่งจัดขึ้นหลังเหตุการณ์ ๑๑ กันยายน ๒๕๔๔ และเวทีชาติพันธุ์เพื่อลุ่มน้ำโขงที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เป็นต้น


 


 


                                                       


 


 


เนื้อหาสาระในบทกวีของอาบอยี ย้ำว่า "โลกทั้งผองพี่น้องกัน" ซึ่งตรงกับอมตะวาจาของมหาตมคานธีที่คนทั่วโลกรู้จัก โดยตำนานกวีและเสียงเพลงที่โอบกอดขุนเขา แมกไม้ สายน้ำ สายลม ทุ่งนา ทะเล และทุกหนทุกแห่งที่มนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสันติ


 


อาบอยีวัย ๗๕ กับภูมิปัญญาอันเป็นนิรันดร์ แต่วันนี้อาบอยีกับแม่เฒ่า ยังต้องทำไร่ ทำสวน พึ่งตนเอง จนกว่าเรี่ยวแรงสุดท้ายจะหมดไป พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.๒๕๔๖  ครอบคลุมเฉพาะผู้เฒ่าที่มีสัญชาติไทย แต่ผู้เฒ่าที่อยู่เมืองไทยมานานหลายสิบปี โดยไม่รู้ไม่เข้าใจว่า การมีสัญชาติไทย การมีบัตรประชาชน จะมีผลต่อสิทธิ ต่อสวัสดิการในชีวิตมากขนาดนี้  พ.ร.บ.ผู้สูงอายุจะเอื้อมมือมาดูแลผู้เฒ่าไร้สัญชาติจำนวนนับหมื่นนับแสนทั่วประเทศได้หรือไม่ สังคมจะดูแลผู้เฒ่าอย่างไร ไม่ให้เป็นแค่ไม้ใกล้ฝั่ง แต่เป็นคลังสมอง คลังปัญญาที่จะถ่ายทอดความดีงาม ความศานติสุขสู่ลูกหลานยุคใหม่ ฝากชาวไทย รัฐบาล รัฐสภา ช่วยกันคิดด้วยค่ะ


 


ผองเพื่อนชาวเชียงรายจะจัดงานเล็ก ๆ เพื่อแสดงความยินดีกับอาบอยีและงานสารคดี ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวที่งดงามและเปี่ยมคุณค่าของผู้เฒ่า กระทั่งชนะการประกวดรางวัล ในวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๔๙ ที่สำนักงานมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา เลขที่ ๑๒๙/๑ หมู่ ๔ ถนนป่างิ้ว ซอย ๔ ตำบลรอบเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เบอร์ ๐๕๓-๗๕๘๖๕๘, ๗๑๕๖๙๖


                       


หมายเหตุ : ขอขอบคุณกลุ่มรุ้งอ้วน และคุณบวร ดีเทศน์ ที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบ