Skip to main content

คลื่นสีเขียว "ไบโอดีเซล" กำลังโถมสู่ประเทศเยอรมันนี

คอลัมน์/ชุมชน

ในภาวะที่ราคาน้ำมันทั่วโลกกำลังทะยานเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่รู้จักพักเหนื่อย รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ก็หาทางออกกันไปคนละทางสองทาง 


 


รัฐบาลไทยเรา นอกจากจะชักชวนให้ประชาชนช่วยกันประหยัดเชื้อเพลิงแล้ว ยังได้โฆษณาให้คนหันไปใช้ก๊าซเอ็นจีวีหรือก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ ซึ่งทั้งสองวิธีนี้ล้วนเป็นมาตรการระยะสั้นและผูกพันอยู่กับราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ดี  ที่ก๊าซเอ็นจีวียังมีราคาถูกอยู่ก็เพราะความความนิยมยังน้อยอยู่นั่นเอง


 


สิ่งที่น่าเป็นห่วงกว่าสองมาตรการดังกล่าวแล้ว คือความรู้สึกของคนไทยที่ว่าเราไม่มีทางเลือกอื่นเลยหรือ  เราจึงจำเป็นต้องอดทนเผชิญกับปัญหาดังกล่าวและคิดว่านี่เป็นชะตากรรมของประเทศเราด้วยจิตใจที่ห่อเหี่ยว          


 


บทความนี้ ผมจะนำมาตรการระยะยาวในการแก้ปัญหาพลังงานของประเทศเยอรมันนีมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อแสดงให้เห็นว่า  หากเรารู้จักใช้ปัญญา และไม่ติดกับผลประโยชน์เฉพาะของกลุ่มพ่อค้าพลังงานที่ผูกขาดจนเกินไปแล้ว  เราก็จะมีทางออกและเป็นทางออกที่ค่อนข้างยั่งยืนด้วย


 


ความจริงแล้ว ประเทศเยอรมันนีเป็นประเทศที่สามารถนำพลังงานลม (ซึ่งเป็นพลังงานที่ใช้แล้วไม่มีวันหมด) มาผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากที่สุดในโลกด้วย  แต่ด้วยพื้นที่หน้ากระดาษอันจำกัด ผมจึงจะขอกล่าวถึงเฉพาะไบโอดีเซลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น


 


 "ไบโอดีเซล"  หมายถึงน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผลิตมาจากน้ำมันพืชหรือไขมันสัตว์ โดยผ่านขบวนการที่ทำให้โมเลกุลเล็กลง ให้อยู่ในรูปของเอทิลเอสเตอร์ (Ethyl esters) หรือเมทิลเอสเตอร์ (Methyl esters) ซึ่งมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำมันดีเซลมาก  สามารถใช้ทดแทนน้ำมันดีเซลได้โดยตรง


 


ประวัติความเป็นมาและความนิยมของการใช้ไบโอดีเซลในประเทศเยอรมันนีสามารถดูได้จากเส้นกราฟและรูปที่แนบมาด้วยนี้


 


กราฟแสดงปริมาณการใช้ไบโอดีเซล โดยเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ.1991 (หรือพ.ศ. 2534-เมื่อ 14 ปีที่แล้วนี้เอง) โดยมียอดการใช้เพียง 200 ตันต่อปี (คิดคร่าว ๆ ว่าประมาณ 2 แสนลิตร) จากนั้นก็ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นทุกปี จนถึงปี ค.ศ. 1999 (พ.ศ. 2542)  ปริมาณการใช้ก็ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 1 ล้านตัน (หรือ 1 พันล้านลิตร) ในปี 2547 และคาดว่าจะเป็น  1.5 ล้านตันในสิ้นปี 2548 นี้  หรือเพิ่มขึ้นถึง 7,500 เท่าตัวภายในเวลา 15 ปี


 


เส้นกราฟที่มีลักษณะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเวลาผ่านไป  เช่นเดียวกับในรูปนี้ ให้ความรู้สึกเหมือนกับว่ามีคลื่นน้ำในทะเลกำลังโถมเข้ามาคล้ายกับคลื่นยักษ์สึนามิที่คนทั้งโลกตกตะลึงเมื่อปลายปีที่แล้ว  ผมจึงตั้งชื่อบทความนี้ว่า "คลื่นสีเขียว" เลียนแบบองค์กรที่เป็นแหล่งข้อมูลนี้ (องค์กรนี้มีชื่อย่อว่า UFOP – สมาคมเพื่อการส่งเสริมน้ำมันและโปรตีนจากพืช) สำหรับภาพเล็ก ๆ คือรถยนต์ที่แล่นผ่านทุ่งเมล็ดพืชสำหรับทำไบโอดีเซล


 


       


 


ตัวเลขที่ผมได้กล่าวมาแล้วทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นกี่แสนกี่ล้านลิตรต่อปีก็ตาม จะไม่สามารถก่อให้เกิดความเข้าใจหรือความรู้สึกเลย  ถ้าเราไม่นำไปเปรียบเทียบกับการใช้น้ำมันดีเซลธรรมดาหรือดีเซลจากฟอสซิลที่มาจากน้ำมันดิบ


 


เราพบว่าปริมาณการใช้ไบโอดีเซลในปี 2548 คิดเป็นประมาณ 12% ของน้ำมันดีเซลธรรมดาที่ชาวเยอรมันนีใช้ทั้งประเทศ  ขอย้ำอีกครั้งว่า 12%


 


ทีนี้เราลองมาเปรียบเทียบกับการใช้ไบโอดีเซลในประเทศไทยดูบ้าง พบว่าในปี 2546  คนไทยใช้น้ำมันดีเซลจำนวน 19,000 ล้านลิตร แต่มีการใช้ไบโอดีเซลเพียง 11 ล้านลิตรหรือคิดเป็นเพียง 0.06% ของดีเซลธรรมดาเท่านั้น


 


เราอาจสงสัยว่า ปัจจัยใดที่ทำให้ชาวเยอรมันนีหันมาใช้น้ำมันไบโอดีเซลสำหรับเครื่องยนต์กันมาก  (โดยที่ 60-70% ใช้กับเรือ อีก 30-40% ใช้กับรถยนต์และมีรถยนต์ได้ลงทะเบียนไว้ถึง 2.5 ล้านคัน) เท่าที่ผมศึกษาย้อนหลังไปประมาณ 30 ปีพบว่า  มี  2  ปัจจัยสำคัญครับ  คือ


 


(1) ความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมของประชาชน  จนเกิดเป็น "กระบวนการสีเขียว" ตั้งแต่ประมาณปี 2515 จนเกิด "พรรคกรีน" ในเยอรมัน รวมไปถึงการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศยูเครน  (ปี พ.ศ. 2529) ที่ทำให้ต้องอพยพผู้คนนับแสนคน รวมทั้งอดีตแชมป์หญิงเดี่ยวเทนนิสวิมเบอร์ดันด้วย


 


เมื่อคนเยอรมันนีเห็นพิษภัยของการใช้พลังงานฟอสซิลและนิวเคลียร์     เขาจึงหันไปสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนที่รวมไบโอดีเซลด้วย


 


(2) นโยบายด้านพลังงานและภาษีของรัฐบาล   จากการศึกษาต้นทุนของกลุ่มสหภาพยุโรปพบว่า  น้ำมันไบโอดีเซลจะสามารถแข่งขันกับน้ำมันดีเซลจากฟอสซิลได้อย่างอิสระหรือยืนแลกหมัดแบบตัวต่อตัวกันได้  เมื่อราคาน้ำมันดิบอยู่ที่  88 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล


 


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในปี 2545 ต้นทุนการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจะเป็นสองเท่าของน้ำมันดีเซลจากฟอสซิล  แต่กลับพบว่า ราคาไบโอดีเซลมีราคาต่ำกว่า คือต่างกันถึงประมาณ 5 บาทต่อลิตร ที่เป็นเช่นนี้ได้เพราะนโยบายภาษีของรัฐบาลครับ


 


ที่ผมได้กล่าวมาแล้วทั้งหมด  คือรูปธรรมของความแตกต่างระหว่างนโยบายพลังงานของรัฐบาลไทยที่อยู่ภายใต้การบริหารของพ่อค้าน้ำมันกับนโยบายของรัฐบาลเยอรมันนีที่เกิดมาจากการตื่นตัวของประชาชนครับ 


 


เราจึงจำเป็นต้องช่วยกันเปิดหูเปิดตาสาธารณะได้รับทราบความจริงให้มากที่สุด