Skip to main content

"การเดินทาง" สอนให้เข้าใจชีวิต

คอลัมน์/ชุมชน

คุณเคยไหม ที่นึกคิดเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อเปิดรับสิ่งใหม่ ละทิ้งความเคยชิน และความทรงจำอันน่าเบื่อหน่ายไว้เบื้องหลัง แล้วหันมาปลดเปลื้องพันธนาการให้กับจิตในตน ได้ลุกตื่น และโลดแล่นอย่างอิสระ หลายคนพูดเอ่ยเป็นเสียงเดียวกันว่า "ไปเที่ยวสิ"   ซึ่งความคิดนี้ข้าพเจ้าเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง แต่ยังไม่ใช่สิ่งที่ข้าพเจ้ากำลังจะบอกกล่าว


 


มันคือการเดินทางบนชะตาชีวิตของผู้หญิงคนนึง เป็นการท่องเที่ยวไปตามภาวะกาล และห้วงจังหวะของเวลา และตอนนี้เธอคนนั้น จำต้องออกเดินทางเพื่อค้นหาตัวตน มองสังคมที่เธออยู่ และทำความเข้าใจกับสิ่งเหล่านั้น พร้อมทั้งเรียนรู้ที่จะมีชีวิตอยู่ บนโลกของความจริง โลกใบเล็ก ๆ สีน้ำเงินใบนี้


           


เกริ่น


 


 "ชีวิตเมืองกรุงทำไมถึงน่าเบื่ออย่างนี้" เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับข้าพเจ้าหลังจากต้องเผชิญกับมรสุมชีวิตที่โถมเข้าใส่ นับจากย่างก้าวที่เดินออกมาจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งไม่ไกลจากเมืองหลวง นี่หรือคือชีวิตจริงที่ข้าพเจ้าต้องเจอ หรือข้าพเจ้ายังอ่อนต่อโลกและยังไม่พร้อมที่จะเผชิญกับมัน ความรู้สึกเช่นนี้อาจเกิดขึ้นกับหลาย ๆ คน ทว่ารูปแบบอาจแตกต่างกันไป แต่สำหรับข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าเลือกที่จะเก็บกระเป๋า กล่าวลาเมืองกรุง เพื่อใช้เวลาอยู่กับตัวเอง สักพักหนึ่ง ตามลำพัง และทุกอย่างก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังตัดสินใจลาออกจากงาน


 


ตอนนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกผ่อนคลายเป็นอย่างมาก อาจเป็นเพราะข้าพเจ้าไม่เคยมีช่วงเวลาดังกล่าว เรียนจบก็ทำงานเลย ทำให้ไม่รู้จักตัวเองมากพอ


 


 "เกาะลิบง" เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดตรัง และเป็นสถานที่ที่พี่ชายคนหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าเคารพแนะนำ แม้จังหวัดตรังจะไม่ใช่จังหวัดที่ข้าพเจ้าเกิด แต่ก็เป็นถิ่นใต้ ดินแดนมาตุภูมิของข้าพเจ้า แสงแดด กลิ่นอายทะเล ภาษาที่คุ้นหู อาหารถูกปาก ความจริงใจ กำลังรอข้าพเจ้าอยู่ เรื่องราวความผูกพันกับสถานที่ใหม่ ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยสัมผัส


 


ที่นี่จึงเป็นเหมือนห้องเรียนชีวิตบทใหม่ที่สอนให้ข้าพเจ้าได้เข้าใจถึงความเรียบง่าย ชีวิต ชาวเกาะ ธรรมชาติ คน และคำว่าเพื่อน และที่สำคัญคือ การที่ข้าพเจ้าได้รู้จักกับ "มะบู" บุคคลที่เปรียบเสมือนแม่คนที่สอง แม่ซึ่งต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรม ต่างวิถีการดำเนินชีวิต แต่สิ่งที่ข้าพเจ้าได้รับจากท่านคือ "ความห่วงใย" ที่ทำให้ข้าพเจ้าคิดเข้าข้างตัวเองว่า ข้าพเจ้าเป็นลูกคนหนึ่งที่ท่านต้องคอยปกป้องตลอดเวลาที่ข้าพเจ้าอยู่ที่นั่น แม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ เพียง 1 ปีเศษ แต่ข้าพเจ้าก็ซาบซึ้งในพระคุณเป็นอย่างสูง และอยากสื่อกลับไปให้มะได้รับรู้ในความรู้สึกนี้ ผ่านตัวหนังสือที่เขียนขึ้นจากบันทึกส่วนตัว ตั้งแต่เดินทางจากกรุงเทพฯ และทุกช่วงเวลาประทับใจที่เกิดขึ้นบนเกาะลิบง ส่งเป็น "จดหมายถึงมะบู"


 


บทเรียนข้อที่ 1   เข้าใจธรรมชาติ


 


24 ธันวาคม 2546


เวลา 15.30 น. โดยประมาณ


 


รู้สึกอยากถ่ายรูปเกี่ยวกับวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนบนเกาะขึ้นมา อาจเป็นเพราะต้องนำรูปไปลงในรายงานวิจัยท้องถิ่นที่บังแอน (บัง หมายถึงพี่ชาย) ทำไว้ (ขณะนี้ข้าพเจ้าเป็นอาสาสมัครช่วยงานวิจัยท้องถิ่นที่ทำโดยชาวบ้าน เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเกาะลิบง) ตอนแรกนึกอยากได้ภาพตามประเด็นที่มีอยู่ในตัวรายงาน ซึ่งกิจกรรมบางอย่างไม่สามารถกระทำได้ในขณะนั้น เนื่องจากเป็นช่วงที่น้ำลงต่ำสุดแล้ว ดังนั้นสิ่งที่พอจะทำได้คือ การถ่ายรูปกิจกรรมในช่วงน้ำลง ซึ่งกิจกรรมที่กำลังพูดถึงนี้ได้แก่ การต่อยหอยแมลงภู่ตามหินกอง หรือหินโสโครก การเก็บหอยชักตีนบริเวณแนวหญ้าทะเล และถ่ายรูปผลงานจากการออกทะเลไปตกปลาอินทรีย์ของบังสัก (บังสักเป็นเพื่อนบ้านใกล้เคียงมีอาชีพหลักคือ ประมงพื้นบ้าน)


 


จัดแจงทุกอย่างเสร็จ ทั้งนักแสดง ฉาก และอุปกรณ์ ก็ถึงเวลาเดินทาง แต่..... มะบู ตะโกนออกมาจากครัวหลังบ้านว่า อย่าลืมซื้อปลาจากเรือมาด้วย..... ตกลงค่ะมะ (มะ หมายถึง แม่) ... บ้านที่เราอาศัย อยู่ห่างจากทะเลเพียงแค่ก้าวขาออกมาจากประตู 8 ก้าวก็ถึงทะเลแล้ว แต่ที่ที่เราจะไปคือ หัวสะพาน หรือสะพานปูนที่ยื่นไปในทะเลเพื่อให้เรือเล็กเทียบท่า (เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมาสะพานแห่งนี้ยังเป็นไม้อยู่เลย) ตอนนี้น้ำลงต่ำมากจนเรือไม่สามารถเข้ามาถึงท่าได้ ทางเดียวที่จะไปซื้อปลาได้มี 2 ทางคือ หนึ่ง รออยู่ที่ท่า สอง ลงไปเอาที่เรือเอง


 


เราเลือกวิธีที่สองเพื่อให้ได้บรรยากาศและเป็นการสร้างความรู้จักกับพวกพี่ ๆ ด้วย ซึ่งระยะจากท่าเรือถึงตัวเรือที่จอดนิ่งบริเวณแนวหญ้าทะเลประมาณ 50 เมตร อุปสรรคที่ต้องฟันฝ่าเริ่มต้นตั้งแต่เท้าเปล่าเปลือยสัมผัสพื้นเลนที่ยวบลงประมาณเข่า และก้าวต่อไปที่ไม่สามารถทำนายได้ว่ามีอะไรอยู่ใต้เลนนั้น ทั้งสนุก ตื่นเต้น แม้จะกลัวนิด ๆ แต่เรามีผู้ชำนาญการพิเศษด้านเดินลุยเลนไปเป็นพี่เลี้ยงซึ่งก็คือ ภรรยาของบังสัก ในที่สุดเราก็ถึงจุดหมายโดยสวัสดิภาพในช่วงครึ่งทางแรก บังตกได้ปลาอินทรีย์ตัวใหญ่ 3 ตัว นอกนั้นก็เป็นปลาขนาดกลาง และปลาชนิดอื่นอีกหลายตัว ซื้อปลาเสร็จแทนที่จะเดินกลับเส้นทางเดิม เรากลับเลือกที่จะฝากปลานั้นกลับไปให้มะ ส่วนตัวเองถูกบางสิ่งที่อยู่เบื้องหน้าดึงดูดใจไว้นั่นคือ กลุ่มคนหลากหลายอายุทั้งเด็กเล็ก เด็กโต และผู้ใหญ่ ที่ก้ม ๆ เงย ๆ อยู่ตามแนวหญ้าทะเล


 


เป็นอันว่าเป้าหมายของเราถูกเปลี่ยนแปลงเรียบร้อยแล้ว พี่เลี้ยงยังคงทำหน้าที่ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง บอกเส้นทางเดินบุกเลนที่ปลอดภัยให้เราเพื่อเราจะได้เดินไปหากลุ่มเป้าหมายได้สำเร็จ ตอนนี้เป้าหมายของเราถูกบีบให้แคบลงไปอีกโดยมุ่งไปที่พ่อลูกคู่หนึ่งที่ง่วนอยู่กับการหาหอยชักตีน ระดับน้ำบวกกับเลนยังอยู่ในช่วงปกติคือ ระดับหน้าแข้งถึงหัวเข่า และระดับมิดฝ่าเท้าบริเวณที่หญ้าทะเลเจริญเติบโต เราเดินเข้าไปทักทายและชวนคุย ในหัวก็พยายามหามุมถ่ายภาพเพื่อไม่ให้ย้อนแสง และเห็นความน่ารักของเด็กชายตัวน้อยวัย 7 ขวบได้อย่างเต็มที่


 


ระหว่างที่เดินหาหอย มีคำถามมากมายที่เด็กน้อยเอ่ยถามป๊ะ (ป๊ะ หมายถึง พ่อ) สักพักก็มีเด็กผู้ชายคนหนึ่งวิ่งเข้ามาท่าทางดีใจ พร้อมทั้งโชว์ถุงตาข่ายที่มีทั้งหอยชักตีน ปลาหมึก ปลา และปลิงทะเล เมื่อทั้งคู่ได้พบกันก็คุยกันจ้อแจ้ เด็กทั้งสองเป็นเพื่อนกันแต่ความสูงค่อนข้างต่างกันมาก เจ้าตัวเล็กสุดคุยโม้ว่า...เมื่อกี้เราโดนหมึกสายดูดนิ้วด้วย... (หารู้ไม่ แท้จริงแล้วกลัวแทบแย่ ก็เล่นตะโกนลั่นเรียกป๊ะ พลางสะอื้นเมื่อถูกหมึกสายดูดนิ้ว)


 


เราเริ่มสานสัมพันธ์ต่อโดยการอาสาเป็นลูกมือช่วยเด็ก ๆ หาหอยชักตีน ช่วงเวลานั้นทำให้เราเข้าใจอะไรใหม่ ๆ ว่า เราไม่ได้โตไปกว่าน้อง ๆ เลย อาจจะเด็กกว่าด้วยซ้ำ เมื่อเปรียบเทียบกับความเข้าใจความผูกพันกับท้องทะเลที่พวกเขามี อีกทั้งเมื่อครู่นี้น้องเพิ่งถามอะไรต่อมิอะไรกับป๊ะ ส่วนเรากลายเป็นคนป้อนคำถามให้น้อง ๆ ช่วยคลายข้อสงสัยว่า ตัวนี้ชื่ออะไร กินได้มั๊ย ขายได้รึเปล่า มีพิษตรงไหนบ้าง และบางทีน้อง ๆ ต้องคอยบอกให้เราระวังหอยบาดบ้าง ระวังปูหนามบ้าง ระวังหินบ้าง


 


สรุปแล้ววันนี้ เรากลายเป็นเด็ก และเป็นเด็กนักเรียนที่มีครูเป็นเด็ก ป.1 และห้องเรียนในวิชานิเวศวิทยาทางทะเลก็คือ แนวหญ้าทะเลที่กว้างใหญ่ โดยมีท้องฟ้ากว้างแนบชิดขอบน้ำทะเลเป็นฉากหลัง มีเสียงลมพัดบรรเลงคลอ สูดกลิ่นอายทะเลแสนสุข  เท้านาบแนบพื้นดินเลนแสดงถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับธรรมชาติ ช่างเป็นช่วงเวลาที่แสนสุขจริง ๆ ถุงตาข่ายเริ่มหนักอึ้งด้วยปลิงทะเลที่เพิ่มขึ้นจาก 1 ตัว เป็น 7-8 ตัว


 


.......อุ๊ย..สีเขียวใส นิ่มๆ ตรงนี้เขาเรียกว่าอะไร....เราเอ่ยถามน้อง น้องๆ รีบวิ่งเข้ามาดูแล้วตอบว่า เห็ดหลุบ ...ไม่ทันขาดคำน้องก็เอานิ้วแหย่แรงๆ มันจึงมุดลงดินเลนไป ด้วยพฤติกรรมดังกล่าวทำให้เราไม่นึกสงสัยในชื่อของมันเลย น้องๆ บอกว่า เห็ดหลุบกินได้ อร่อยด้วย แต่ตอนนี้เหลือน้อยแล้ว  (กลับมาถึงบ้านมะเสริมถึงสรรพคุณของเห็ดหลุบว่า เป็นตัวยาสมุนไพรพื้นบ้านที่สำคัญและหายากแล้ว)


 


เดินไปอีกก็เจอสาหร่ายลักษณะคล้ายเห็ดขึ้นเป็นกลุ่ม คราวนี้เราถามป๊ะของน้องๆ ว่ามันชื่ออะไร บังตอบอย่างเป็นธรรมชาติว่า เห็ดหูลิง .....อื้ม..มันก็คล้ายเห็ดที่ขึ้นตามขอนไม้ในป่านะ แต่ที่เราเห็นอยู่ตรงหน้ามันมีสีขาวขุ่น นุ่ม ไหวตามน้ำ  วันนี้เราได้รู้จักเห็ดที่อยู่ในทะเลตามชื่อเรียกของชาวเกาะลิบงถึงสองชนิด บังยังเสริมต่อว่า มันจะขึ้นให้เห็นเฉพาะช่วงหน้าแล้ง คนที่นี่เขาเรียกกันแบบนี้


 


........นี่..นี่..มาดู..มาดู... จุ๊..จุ๊..เบา..เบา..เรากวักมือเรียกน้องให้มาดูกลุ่มลูกปลาเกือบร้อยตัวรวมกลุ่มกัน ตัวสีน้ำตาลแดง มีลายแถบขาวออกเหลืองพาดข้างลำตัว และมีหนวดเหมือนปลาดุก ขนาดตัวประมาณนิ้วก้อย น้อง ๆ เรียกกันว่า มิหรังกะหรัง หรือปลาดุกทะเลนั่นเอง   น้อง ๆ เสริมว่า ถ้ามันตัวโตกว่านี้มันจะแทงเจ็บมาก เราเดินเรื่อย ๆ กลับเข้าฝั่ง พร้อมทั้งจัดฉากถ่ายรูปน้อง ๆ ให้ถือโน่น นี่ ยืนตรงนั้น ตรงนี้ แต่การโพสต์ท่าไม่ต้องจัด น้อง ๆ แสดงออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ น่ารักแบบวัยซน ระหว่างทางเดินเราเจอสิ่งที่สะดุดตาก็คือ ดอกไม้ทะเล และปะการัง ปะปนอยู่กับหญ้าทะเล บ้างก็เกาะยึดติดกับใบหญ้าทะเล สีสันหลากหลาย ทั้งสีชมพู สีเขียว สีเหลือง แม้จะพบไม่มาก แต่ก็พอมากพอที่จะทำให้สงสัยได้ว่าแนวปะการังคงอยู่ไม่ไกลจากที่นี่เช่นกัน


 


…กลับมาถึงบ้านมะนั่งยิ้มแป้นให้เรา เมื่อเห็นสภาพของเด็กโตที่น่าจะเลยช่วงซนได้แล้ว เนื้อตัวเลอะโคลนมอมแมมกลับมา และถามว่า สนุกมั๊ย


 


.............วิถีชีวิต มิอาจแลกกับการท่องเที่ยวแบบฉาบฉวย ที่มุ่งหมายเพียงเพื่อกอบโกยความสุขความสบายจากธรรมชาติ........มาแล้วก็จากไป โดยไม่ได้เข้าใจเลยว่า วิถีของธรรมชาติเป็นอย่างไร และลืมคิดไปว่า มนุษย์เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่บนโลกนี้ เช่นเดียวกับมด ปลา และนก ไม่มีสิ่งมีชีวิตชนิดใดที่อยู่เหนือธรรมชาติ............การท่องเที่ยวโดยเข้าถึงธรรมชาติ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเข้าใจธรรมชาติ ปรับตัวเข้าหามัน และดำเนินตามกฎเกณฑ์ที่ธรรมชาติกำหนด...............


 


** ขอขอบคุณบุคคลที่มีการเอ่ยนามในบทความทั้งหมด