Skip to main content

ชีวจริยธรรมและอีกมุมหนึ่งของโคลนนิ่ง ตอนที่ 1

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติกำลังจัดประกวดบทความวิทยาศาสตร์ นิยายวิทยาศาสตร์ และการ์ตูนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นชีวจริยธรรมหรือ Bioethics ในการนี้มีการคัดเลือกผู้ผ่านการประกวดรอบแรกจำนวน 150 คนเข้ารับการอบรมเข้มข้นเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่และวิธีผลิตผลงาน ผู้เขียนพบว่า คนส่วนใหญ่รับรู้เรื่องโคลนนิ่งเพียงแง่มุมเดียวนั่นคือการโคลนนิ่งเพื่อได้ชีวิตใหม่


แท้ที่จริงแล้วการโคลนนิ่งยังมีแง่มุมอื่นให้พิจารณา เพื่อที่จะอธิบายเรื่องนี้ให้เข้าใจง่ายคงต้องเริ่มตั้งแต่เรื่อง เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์


เป้าหมายของเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ คือช่วยคู่สมรสที่มีปัญหาการมีบุตรยากให้ได้รับโอกาสที่จะมีบุตร เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์มีหลายวิธี ได้แก่ การผสมเทียม การทำเด็กหลอดแก้ว การทำกิ๊ฟท์ (GIFT) การทำอิกซี่ (ICSI) เป็นต้น


การผสมเทียม หมายถึงฉีดอสุจิเข้าไปในโพรงมดลูกของฝ่ายหญิงแล้วปล่อยให้มีการปฏิสนธิตามธรรมชาติ บางคนเรียกว่าการปฏิสนธิเทียม ซึ่งมีผู้แย้งว่ามิใช่ เพราะที่แท้แล้วการปฏิสนธิเกิดขึ้นจริง เป็นวิธีผสมเท่านั้นที่ทำเทียม


การทำเด็กหลอดแก้ว หมายถึงนำอสุจิและไข่มาผสมกันในห้องทดลอง ภาษาอังกฤษเรียกว่า In Vitro Fertilization หรือ IVF หลังจากผสมกันแล้วเรียบร้อยแล้วแพทย์จะรอให้แบ่งตัวเป็นตัวอ่อนระดับหนึ่งแล้วจึงย้ายกลับเข้าไปไว้ในมดลูก


เมื่อครั้งที่โลกมนุษย์มีเด็กหลอดแก้วคนแรกคือ หลุยส์ บราวน์ เมื่อประมาณ 25 ปีก่อน สังคมหวาดหวั่นว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับสภาพจิตของเด็กหลอดแก้ว เทะซึกะ โอซามุ บิดาแห่งการ์ตูนญี่ปุ่นก็เคยเขียนการ์ตูนให้เด็กหลอดแก้วเป็นผู้ร้ายในการ์ตูนที่ว่าด้วยชีวิต การเกิดและการตาย นั่นคือเรื่อง Hinotori หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า Phoenix วิหคเพลิง ท่านให้เด็กหลอดแก้วอธิบายความร้ายกาจของตนเองว่าเพราะไม่มีพ่อไม่มีแม่


ปัจจุบันมีเด็กหลอดแก้วมากกว่าหนึ่งล้านคนทั่วโลก ไม่มีรายงานว่าเด็กหลอดแก้วแตกต่างจากเด็กที่เกิดจากการปฏิสนธิตามธรรมชาติอย่างไร ต่างจากสัตว์ที่เกิดจากการโคลนนิ่งซึ่งล้มป่วยด้วยโรคร้ายมากมายในเวลาเพียงไม่กี่ปี


" นอกเหนือจากการผสมเทียมและเด็กหลอดแก้วแล้ว     ปัจจุบันยังมีเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์วิธีใหม่ๆ เช่น การทำกิ๊ฟ      การทำอิกซี่     เป็นต้น"


เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์เหล่านี้ช่วยให้คู่สมรสสมหวังมากมาย แต่ก็เกิดประเด็นทางจริยธรรมบางประการตามมาด้วย เช่น บางครั้งต้องใช้เชื้อบริจาค ทำให้เกิดประเด็นการรักษาความลับของผู้บริจาค บางครั้งต้องหาหญิงตั้งครรภ์แทนดังที่เรียกติดปากว่าอุ้มบุญ ทำให้เกิดประเด็นตีความว่าใครเป็นพ่อแม่เด็กตามกฎหมาย


นอกจากนี้ยังมีคำถามว่าเชื้อและตัวอ่อนที่เก็บสำรองเอาไว้นั้นควรทำลายทิ้งหรือเก็บเอาไว้ต่อไปนานเพียงใด เชื้อและตัวอ่อนเป็นทรัพย์หรือไม่ รวมทั้งเชื้อและตัวอ่อนเป็นสินสมรสหรือไม่ เหล่านี้เป็นประเด็นปัญหาที่มีมาก่อนแล้วและก่อให้เกิดข้อถกเถียงเป็นระยะๆ ปัจจุบันเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ยังให้ผลพลอยได้บางประการที่ก่อให้เกิดประเด็นจริยธรรมเพิ่มเติมอีก


ผลพลอยได้สำคัญจากเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์คือ เซลต้นตอจากตัวอ่อน ภาษาอังกฤษเรียกว่า Embryonic stem cell


 


(ติดตามต่อตอนหน้า)