Skip to main content

หมอพื้นบ้าน มีลาออกบ้างไหม

คอลัมน์/ชุมชน

 



 


ได้ยินเรื่องหมอลาออกมากขึ้น เนื่องจากถูกซื้อตัวไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชน เพราะมีค่าจ้างสูงกว่าหลายเท่า ทำงานก็สบายกว่า  ไม่ต้องเจอคนไข้ชาวบ้านที่มารักษาแบบรอคิวหน้าห้องตรวจเป็นร้อย ๆ คนต่อวัน 


 


ยิ่งตกใจมากขึ้น เมื่อรู้ว่าอาจารย์หมอจากโรงเรียนแพทย์ก็ถูกซื้อตัวเหมือนกัน ปีหนึ่ง ๆ ลาออกเกือบร้อยคน (บทความ นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ :กรุงเทพธุรกิจ 18 ก.ค.48) 


 


ทำให้ต้องกลับมาคิดว่า สังคมไทยผลิตหมอไม่เพียงพอ ผลิตไม่ทัน หรือกลายเป็นรัฐผลิตหมอเพื่อป้อนให้กับธุรกิจเอกชนโดยรัฐบาลลงทุน  น่าคิดว่า ควรมีการเก็บภาษีโรงพยาบาลเอกชนเพิ่มขึ้นเป็นอัตราส่วนก้าวหน้าตามจำนวนหมอที่โรงเรียนแพทย์ของรัฐผลิตที่ทำงานในโรงพยาบาลนั้น ๆ เพื่อนำเงินภาษีเหล่านี้ไปสนับสนุนการผลิตหมอเพิ่มขึ้นให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะประชาชนไทยในชนบทเพื่อลดปัญหาหมอไม่เพียงพอ  หรือควรเปิดเสรีให้หมอจากต่างประเทศเข้ามาทำมาหากินในบ้านเราอย่างสะดวกยิ่งขึ้น โดยรัฐบาลต้องเอื้ออำนวยให้หมอชาวต่างชาติเหล่านี้ สามารถสอบใบประกอบโรคศิลป์เป็นภาษาอังกฤษ  หรือภาษาอื่น นอกจากภาษาไทย  เพื่อประเทศไทยจะได้มีหมอมากขึ้น  


 


เหล่านี้เป็นทางออกที่เหมาะสมหรือยัง  หากมีหมอต่างชาติมาทำงานในไทยมากขึ้น มารักษาคนไทย  จะทำให้เกิดความพึงพอใจแก่ประชาชนได้มากน้อยเพียงใด  แม้จะพูดสื่อสารภาษาไทยกันได้  แต่จะเข้าใจและถึงใจคนไข้ที่เป็นชาวบ้านได้เพียงใด ทุกวันนี้แม้หมอเป็นคนไทยด้วยกันยังไม่ค่อยได้คุยสื่อสารกันสักเท่าไร หรือควรกำหนดให้หมอต่างชาติมาทำงานอยู่ได้แต่เฉพาะในโรงพยาบาลเอกชนที่เปิดให้การรักษาคนไข้ต่างชาติเพียงอย่างเดียว เพื่อจะได้แก้ปัญหาการซื้อตัวหมอจากโรงเรียนแพทย์ หรือจากระบบสาธารณสุขของไทย 


 


เท่านี้ก็จะเพียงพอช่วยแก้ปัญหาจำนวนหมอลงได้ แต่คงไม่สามารถแก้ทั้งระบบ เพราะเอาเข้าจริงจะมีหมอต่างชาติเก่ง ๆ ฝีมือดี ๆ บริการประทับใจ มาทำงานในบ้านเราเพียงใด เพราะอาชีพนี้ในต่างประเทศก็ไม่ได้มีจำนวนเหลือเฟือเจือจานให้ออกไปทำงานต่างประเทศได้มากนัก  และโรงพยาบาลเอกชนเราจะมีความสามารถจ้างในราคาแพง ๆ ซึ่งอาจแพงกว่าจ้างหมอไทยได้เพียงใด  เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่เป็นผลพวงจากการลาออกของหมอจำนวนมากไปทำงานให้โรงพยาบาลเอกชน ทำไมโรงพยาบาลเอกชนจึงมีคนไข้ต่างชาติจำนวนเพิ่มมากขึ้น ก็เพราะนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการดูแลรักษาแห่งเอเชีย  ไป ๆ มา ๆ ก็เป็นเพราะนโยบายของรัฐนั่นเองที่กำลังพ่นพิษให้กับประชาชนผู้เสียภาษีในประเทศ  นโยบายนี้ควรทบทวนอย่างยิ่ง


 


กรณีหมอลาออกเช่นนี้ ทำให้หวนกลับมาคิดถึง "หมอพื้นบ้าน" ของเราว่ามีการลาออกบ้างไหม หมอพื้นบ้านคือหมอที่ให้บริการรักษาโรคในลักษณะช่วยเหลือกันและกัน ได้ค่าตอบแทนเป็นลักษณะ "ค่ายกครู" และมักใช้สมุนไพรตำรับในการรักษา (นพ.สุรพงศ์ อำพันวงษ์ ,นสพ.เดลินิวส์ 21 มิ.ย.41) ซึ่งในปัจจุบันก็ยังมีหมอพื้นบ้านกระจายกันอยู่ในทุกชุมชนในสังคม และยังได้รับการยอมรับนับถือจากชาวบ้าน  เคยได้พูดคุยสนทนากับหมอพื้นบ้านหลายคนว่า จะหยุดการรักษาหรือไม่ ส่วนใหญ่บอกว่าต้องทำไปจนกว่าสังขารไม่อำนวย เพราะนี่เป็นการสืบทอดมาจากครู  กว่าจะได้เป็นลูกศิษย์ของครูต้องพิสูจน์ตัวเองว่า สนใจจริง เอาจริง และต้องยอมรับกฎกติกาในการปฏิบัติหน้าที่ว่าจะรักษาด้วยความเป็นธรรม ต้องมีวิถีชีวิตอยู่ในศีลในธรรมด้วย  องค์ความรู้จึงจะได้รับการถ่ายทอดจากครูสู่ศิษย์รุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่งมาอย่างยาวนาน  ค่ารักษาจึงเป็นค่า บูชาครู  ซึ่งไม่ใช่เงินจำนวนมากมายนัก บางทีไม่มีเงินก็สามารถให้เป็นข้าวสารอาหารก็ได้   ดังนั้น หมอพื้นบ้าน ไม่มีลาออก  และไม่มีเพิ่มค่า "ยกครู" เพราะเป็นสิ่งที่ครูกำหนดไว้แล้ว  นอกจากชาวบ้านที่รับการรักษาหายแล้ว จะกลับไปทำพิธีขอบคุณ ด้วยการจ่ายเงินทองเพิ่มให้หมอ  ตามความสมัครใจและกำลังทรัพย์ที่มีอยู่


 


เช่นกัน ในโรงพยาบาลชุมชนหลายแห่งมีหมอที่อยู่ประจำยาวนานมากกว่า 10 ปี  ซึ่งเคยสอบถามว่าไม่คิดจะลาออกกลับไปใช้ชีวิตในเมือง ไปเปิดคลินิกที่มีรายได้ดีงานไม่หนักด้วย ส่วนใหญ่หมอเหล่านี้จะบอกว่าได้เลือกแล้วที่จะทำตรงนี้  อยู่ที่นี่ ผูกพันกับที่นี่  ลงหลักปักฐานแถวนี้เสียแล้ว มีความผูกพันกับคนไข้  แต่ก็เริ่มท้อใจเหมือนกัน เพราะหมอคนอื่น ๆ มาแล้วก็จากไป ทำงานในเมืองหรือไปเรียนต่อกันหมดแล้ว  จำนวนหมอก็น้อยคนไข้มากขึ้น งานหนักขึ้น ไม่รู้ว่าจะแบกรับภาระเช่นนี้ไปได้เพียงใด 


 


จะทำอย่างไรให้หมอมีความรู้สึกว่าการ "ลาออก" จากระบบราชการไปอยู่เอกชน  มันคล้ายกับการลาออกจาก "ความเป็นหมอ" ไม่ใช่คิดว่าเพียงย้ายสถานที่แต่ยังทำอาชีพหมออยู่จะที่โรงพยาบาลรัฐหรือโรงพยาบาลเอกชนก็ตาม  หรือเราควรรื้อระบบการเรียนการสอนวิชาหมอ  ให้เป็นเหมือนกับหมอพื้นบ้าน ที่ต้องดูลูกศิษย์ว่ามีความพร้อมที่จะทำงานหนัก รายได้ไม่สูงมากนัก มีความรักความผูกพันกับท้องถิ่น  เพื่อหมอเหล่านี้จะได้ไม่ถูกซื้อตัวกันง่าย ๆ จากโรงพยาบาลเอกชน  หรือรัฐต้องเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องอำนาจการจัดการในการผลิตหมอ ไม่ควรอยู่ในมือของรัฐส่วนกลางเพียงที่เดียว ควรกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีสิทธิทำการผลิตหมอของท้องถิ่นเองมากขึ้น  ให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการคัดเลือกคนเข้าเรียนหมอ  มีส่วนร่วมในการสนับสนุนเงินทุนสำหรับการผลิตหมอของท้องถิ่น 


 


หมอจะได้มีความรู้สึกว่าเป็นคนของชุมชน  ชุมชนเฝ้าจับตามองอยู่  เป็นผู้สืบทอดภารกิจการรักษาของชุมชน มีชุมชนเป็นครูที่ต้องยกครูเสมอด้วย  หมอของชุมชนก็คงจะเหมือนหมอพื้นบ้านไม่ลาออกกันง่าย ๆ เช่นทุกวันนี้