Skip to main content

ชาวนาคนสุดท้าย ปรากฏการณ์ในทุ่งนา

คอลัมน์/ชุมชน



1


 "แอนมารี คุณจะอธิบายภาพที่เห็นข้างหน้าว่าอย่างไร ?" ผมเอ่ยถามเพื่อนนักวิจัยชาวแคนาดา


"อะไรนะ ? อธิบายอะไร ?" เธอถามกลับอย่างงุนงงที่จู่ ๆ ผมก็ถามขึ้น


"ก็อะไรก็ได้ที่คุณเห็นอยู่ในตอนนี้" ผมว่าพลางกวาดนิ้วชี้ไปตามภาพเบื้องหน้าเราสองคน


"อืม !" เธอครุ่นคิด "ความเปลี่ยนแปลง"


"ความเปลี่ยนแปลง"  ผมทวนคำตอบ


"ใช่ สรุปเป็นคำเดียวนะ" เธอย้ำ  "แล้วคุณเห็นอะไรบ้างล่ะ"


"ผมเหรอ...ผมเห็นตัวเอง ลูกหลานชาวนาแท้ ๆ นั่งหมดแรงอยู่นี่ไง" ผมตอบแบบตลก ๆในตอนท้าย


เธอหัวเราะในสีหน้าท่าทางหมดแรงจริง ๆ ของผม


 


เราสองคนนั่งพักรออ้ายมนตรีอยู่ใต้เงาไม้ฉำฉาขนาดใหญ่ข้างทางหลวงสายเชียงใหม่ – พร้าว


อ้ายมนตรีกำลังไถนาอยู่กลางเปลวแดดร้อนแรงยามบ่าย รถไถนาแบบเดินตามส่งเสียงดัง แต๊ก ๆ แต๊ก ๆสม่ำเสมอเช่นเดียวกับจังหวะก้าวเท้าตามของอ้ายมนตรีที่เหยียบย่ำลงไปในเนื้อดินตามหลังรถไถนา


 


แอนมารีง่วนอยู่กับการเขียนบันทึกอยู่บนกระบะหลังรถปิกอัพ ผมนั่งเอนหลังพิงโคนต้นฉำฉา


ปล่อยสายตามองออกไปตามภาพความเคลื่อนไหวเบื้องหน้า ดวงใจล่องลอยติดตามกระแสธารความคิด


 


 


                             

   


 


 


 


                            


 


 


                             


 


 


 


                           


   


 


 


 


 


2


 


งานถอนต้นกล้าในแปลงเพาะของพี่นิลเสร็จเอาตอนเกือบเที่ยง พวกเขาพากันขนย้ายต้นกล้าทั้งหมดที่ถอนไปยังแปลงนาที่อยู่อีกฟากหนึ่งของน้ำปิง พวกเขาเรียกว่า ‘นาหล่ายหน้า’ แปลอีกทีก็คือนาที่อยู่ฟากตรงกันข้าม ต้องข้ามน้ำปิงไปนั่นเอง


 


ก่อนที่ผมกับแอนมารีและอ้ายมนตรีจะแยกออกจากกลุ่มใหญ่ ผมแว่วได้ยินแอนมารีถามพี่นิล


"ถอนต้นกล้าพอแล้วหรือคะ"


"พอแล้วล่ะ ไม่พอค่อยมาถอนเอาใหม่" พี่นิลอธิบาย


"ถ้าเหลือก็เอาไว้ซ่อมที่มันตาย แล้วก็แบ่งให้นาเจ้าอื่น"  พี่นิลไขความข้องใจนักวิจัยต่างแดนว่า


ถ้าต้นกล้าเหลือจะทำอย่างไร


 


ตอนนั้นผมไม่มีหัวจิตหัวใจจะคิดถึงคำถาม คำบอก คำเล่า เรื่องราวสิ่งใดอีกต่อไปซึ่งมันผิดวิสัยของการเก็บข้อมูลทำงานวิจัยที่ต้องช่างสังเกต ช่างจำ ช่างซัก ช่างถาม ผมคิดได้ คิดออกและคิดเป็นอยู่อย่างเดียว  


‘แม่ง ! ร้อนฉิบหาย’ ผมรีบเดินจ้ำอ้าวออกจากแปลงกล้า แดดร้อนเหลือหลาย  ปล่อยให้แอนมารีเดินคุยกับอ้ายมนตรีและพี่นิล ไม่ต้องแปลอะไรเพราะแอนมารีใช้ภาษาไทยแบบเอาตัวรอดได้ ผมตรงดิ่งไปยังบ้านอ้ายมนตรี ทรุดนั่งลงบนตอไม้สักใต้ต้นมะม่วงในบริเวณบ้าน ถอดเสื้อออกเอามาพัดวีให้คลายร้อน ถ้าอยู่ในบ้านตัวเองผมเป็นได้ถอดกางเกงยีนส์ออกอีกตัวเป็นแน่


 


หลังจากผมโดนคมเม็ดข้าวบาดมือแล้วตัดสินใจกลับไปร่วมแปลงถอนต้นกล้าอีกครั้ง ทำได้ไม่นานนักผมเริ่มรู้สึกปวดเมื่อยแผ่นหลังมากพอ ๆ กับบริเวณเอ็นร้อยหวาย มันตึงขึ้นจนปวดร้าวไปถึงหลังคอ ผมไม่เคยนั่งยอง ๆ อยู่กับดินกับหญ้า กลางแดดกลางลม


 


วัน ๆ เอาแต่นั่งอยู่กับโต๊ะทำงาน กองหนังสือ จอคอมพิวเตอร์ และวงประชุม ซึ่งแน่นอนว่านั่งอยู่กับเก้าอี้แสนสบาย การนั่งถอนต้นกล้าวันนี้เล่นเอาผมรู้สึกได้ถึงความเหน็ดเหนื่อยกลางท้องทุ่งได้เป็นอย่างดี ความเมื่อยขบบนเก้าอี้มันเทียบไม่ได้เลยกับความเหนื่อยแทบขาดใจในครั้งนี้ ผมถอนกล้าไปพร้อมกับยกแขนขึ้นปาดเหงื่อบนหน้าไปด้วยจนนับครั้งไม่ถ้วน ไม่นานนักใบหน้าผมก็เปื้อนโคลนดินที่ติดมากับรากต้นกล้าในกำมืออย่างไม่รู้ตัว    มันเรียกเสียงหัวเราะให้กับคนอื่น ๆ ได้ครื้นเครงกันไม่น้อย ส่วนผมแทบจะทรุดนั่งลงเสียให้ได้ เหนื่อยมากปวดร้าวไปทั้งลำตัว แต่ก็นั่นแหละมันเป็นทางเดียวที่จะเข้าใจความรู้สึกของการเป็นชาวนา      ผมพยายามบอกกับตัวเองให้อดทน อดทน และอดทน


 


3


 


"เป็นไงบ้าง" อ้ายมนตรีเอ่ยทักพร้อมกับส่งขวดน้ำเย็น ๆ มาให้ ผมดื่มน้ำจนเกือบหมดขวดพร้อมถอนหายใจแรง ๆ แทนคำตอบ อ้ายมนตรีขอตัวกลับไปเตรียมอาหารกลางวัน แอนมารีเดินมาสมทบใต้ต้นมะม่วง หน้าเธอแดงเรื่อด้วยแดดร้อนแผดเผา ดูเธอยังสดชื่นกว่าผมมากนัก เธอเพิ่งออกมาจากห้องส้วม เธอพูดกับผมเป็นภาษาอังกฤษเพราะกลัวอ้ายมนตรีจะได้ยินว่า ‘ห้องน้ำมีรูเพียบเลย’ ผมตอบกลับไปว่าไม่มีใครดูเธอหรอก เขามีมารยาทพอ เธอยังทำหน้างง ๆ อยู่ดีว่าทำไมห้องส้วมบ้านชาวบ้านหลังไหนก็ตาม ที่เธอไปใช้บริการ มันไม่ค่อยมิดชิดเอาเสียเลย ผมพยายามอธิบายว่าส้วมมันเป็นสิ่งใหม่ถึงแม้จะมีมานานก็ตามที แต่ไม่มีใครแอบดูกันหรอกน่า


 


เราตั้งวงกินข้าวตอน (มื้อเที่ยง) ที่ใต้ถุนเรือนอ้ายมนตรี มีแกงฟักเขียวใส่ไก่เหลือจากมื้อเช้าที่พี่แดงเมียอ้ายมนตรีซื้อมาจากกาด (ตลาด) ในหมู่บ้าน อ้ายมนตรีทอดไข่ให้แอนมารีซึ่งกินเผ็ดไม่ค่อยได้ อิ่มหนำกันดีแล้ว อ้ายมนตรีขอให้ผมช่วยหามกระสอบข้าวเจื้อ (ข้าวพันธุ์) ที่ใส่ไว้ในกระสอบฟางเตรียมพร้อมสำหรับการทำนาหว่านขึ้นใส่รถปิกอัพของอ้ายมนตรี เราขอตามอ้ายมนตรีไปดูการหว่านข้าว


 


"รากมันงอกยาวเกินไปหน่อย" อ้ายมนตรีพูดให้ฟังตอนที่เรานั่งรถไปทุ่งนาด้วยกัน


"ทำไมปล่อยให้ยาวคะ" แอนมารี อยากรู้


"ว่าจะหว่านเมื่อวานซืนแล้ว แต่มีงานศพที่บ้านเหนือวัด ต้องไปช่วยเขา เมื่อวานก็วันเสีย" อ้ายมนตรีตอบ


"เสียยังไงอ้าย วันไหนก็ดีหมดไม่ใช่หรือ" ผมซัก


"เดือนนี้เสียวันจันทร์ กับพุธ ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้นไม่งาม ไม่เชื่อก็ลองเอาเหอะ"


"ครับ" ผมขยับปากจะถามต่อ อ้ายมนตรีก็ขับรถออกถนนใหญ่ และพอดีกับแอนมารีถามถึงเรื่องอื่นซะแล้ว


 


"เขาปลูกข้าวโพดอะไรคะ"  เธอถามถึงแปลงข้าวโพดสีเขียวเข้มด้านขวามือ


"ข้าวโพดหวาน"  ผมสวนตอบกลับไป


"ไม่ใช่ ข้าวโพดเก็บพันธุ์"  อ้ายมนตรีปฏิเสธ


"อ้าวเหรอ เป็นไงครับ ข้าวเก็บโพดพันธุ์" สิ้นคำถามของผมอ้ายมนตรีก็หักรถเลี้ยวขวาเข้าไปจอดให้ต้นฉำฉาใหญ่ ที่นาของอ้ายมนตรีอยู่ไม่ไกลจากตัวบ้านเท่าไหร่นัก เราลงจากรถ อ้ายมนตรีอธิบายเรื่องข้าวโพดให้เราฟัง


"ชาวบ้านปลูกขายให้บริษัท เขาเอาเมล็ดพันธุ์มาให้ฟรีพร้อมยาฆ่าแมง ฆ่าหญ้าน่ะ เราเป็นคนดูแล  ไร่หนึ่งได้ 30,000 บาท ปลูกปีละ 2 ครั้ง"


"รายได้ดีนะคะ" แอนมารีร้องขึ้นด้วยความแปลกใจที่สามารถทำเงินได้ปีละ 6 หมื่นบาทเป็นอย่างน้อย


"อืม" อ้ายมนตรีพูดต่อ "ค่าเช่าที่ดิน คาไถ ค่าจ้างตอนปลูก ตอนหัก ค่าปุ๋ย เราออกเอง มันแพง หักแล้วเหลือไม่เท่าไหร่หรอก นาที่เห็นนี่ของคนบ้านเรานี่แหละแต่เจ้าของไปทำงานในเมืองปล่อยให้เขาเช่า"


"เขาเอาเมล็ดข้าวโพดไปทำอะไรครับอ้าย" ผมถาม


"บริษัทไพโอเนียร์คงเอาไปทำพันธุ์ขายต่อมั้ง  ไม่แน่ใจ" อ้ายมนตรีตอบ


"ปลูกกันเยอะมั้ยครับอ้าย"  "พี่มนตรีปลูกมั้ยคะ"  ผมกับแอนมารีถามขึ้นเกือบพร้อม ๆ กัน


 "อ้ายขี้คร้านไปเป็นลูกจ้างบริษัท"  อ้ายมนตรีตอบคำถามของแอนมารี


 


"นั่นเขากำลังก่อสร้างโรงงานอะไรครับอ้าย" ผมเปลี่ยนคำถามไปทันทีที่สายตาโดนแสงอาทิตย์สะท้อนประกายโลหะวาบมาจากหลังคาโรงงาน


"โรงงานแปรรูปผักผลไม้"  อ้ายมนตรีตอบ


"อ้ายกลัวเขาจะปล่อยน้ำเสียลงใส่นารอบ ๆ"  อ้ายมนตรีแสดงความกังวล


"แล้วชาวบ้านว่าอย่างไรอ้าย"  ผมอยากรู้ว่าชาวบ้านเจ้าของนารอบ ๆ จะโวยวายอะไรบ้างมั้ย


"มีอ้ายคนเดียว ไฟไม่ลนก้นก็ไม่ร้อนก้น เจ้าของนาบางคนก็ไม่ใช่คนบ้านเราแล้ว" อ้ายมนตรีพูดด้วยน้ำเสียงระคนความน้อยใจ


"อ้ายจะไปไถนา เปลี่ยนมือน้องบ่าวก่อนเน้อ นั่งรอที่นี่แหละ มันร้อน" อ้ายมนตรีพูดสั่งแล้วเดินจากไปปล่อยให้เราสองคนปะติดปะต่อเรื่องราวที่พบเห็นและได้ฟังต่อเอาเอง


 


"เราคงต้องถามต่อเรื่องปลูกข้าวโพดนะ"  แอนมารีบอกผม


"ได้สิ เอาไว้ตอนกลางคืนก็แล้วกันนะ รออ้ายมนตรีทำงานเสร็จก่อน"  ผมนัดแนะ แอนมารีพยักหน้ารับ


"เรื่องโรงงานที่กำลังก่อสร้างนั่น การเปลี่ยนมือที่ดิน แล้วก็วันดีวันเสียด้วยนะจำได้มั้ย ผมสนใจมากชาวนาเขาเหนียวแน่นกับประเพณีวัฒนธรรม และความเชื่อหลากหลายมากเลยนะ ซึ่งมันก็ส่งผลต่อการคิดตัดสินใจในการทำการผลิตด้วยน่ะ"  ผมร่ายยาว 


 


"ชีวิตชาวนาไม่ง่ายเลยนะ คุณยังคิดอยากจะไปเป็นชาวนาอยู่หรือเปล่า" แอนมารีถามผม


"เอาน่า ผมถึงต้องมาศึกษาอยู่นี่ไง" ผมเลี่ยงที่จะตอบคำถามเธอตรง ๆ ผมเคยบอกกับแอนมารีเอาไว้ว่าอยากกลับบ้านไปทำนา เธอคงเห็นอาการหมดแรงของผมเข้าจึงทวงถามขึ้นมา แอนมารีส่ายหน้ากับคำตอบก่อนจะหันไปเขียนบันทึก


 


4


 


จากจุดที่ผมกับแอนมารีนั่งอยู่ เราแว่วยินเสียงร้องเพลงจากร้านคาราโอเกะที่ตั้งอยู่ใกล้ทุ่งอีกฟากหนึ่งของถนน เพลงแล้วเพลงเล่าดังออกมาจากกลุ่มวัยรุ่นชายหญิง รถโดยสารสองแถวสีเขียวแล่นช้า ๆ ออกจากสถานีที่ปากทางเข้าบ้านหนองมะจับ ทุก ๆ 5 นาทีรถโดยสารจะแล่นผ่านไปพร้อมกับบีบแตรเป็นระยะ ๆ เรียกหาผู้โดยสารเข้าเมือง ผมมองไปตามลำเหมืองลำเลียงน้ำขุ่นข้นไม่ขาดสายแยกทางไปตามร่องน้ำเล็ก  ๆ เข้าสู่แปลงข้าวโพดพันธุ์ของบริษัทไพโอเนียร์ ดงข้าวโพดสีเขียวเข้มชูใบรับแสงโยกล้อกับสายลมเบา ๆ ดูราวกับมีความสุข


 


                                   


 


 


ถัดจากแปลงข้าวโพดมีคน 3 คนกำลังพ่นยาฆ่าหญ้าอยู่ใกล้ ๆ กัน ไกลออกไปอีกนิดเป็นฟาร์มไก่ไข่ของชาวบ้านเลี้ยงส่งให้กับบริษัทซีพี อ้ายมนตรีเคยบอกว่า ทั่วทั้งบ้านโป่งมีฟาร์มไก่ไข่อยู่ถึง 20 ฟาร์ม เลยฟาร์มไก่ออกไปด้านหลังมีควันไฟสีเทาลอยล่องขึ้นมาเป็นสาย ไกลสุดสายตาเป็นภูเขาทอดแนวยาวตามทิศเหนือ-ใต้


 


ผมหันสายตากลับมามองยังแปลงนาของอ้ายมนตรี เสียงรถไถนาดังแต๊ก ๆ อ้ายมนตรีเดินบังคับรถไรนากลับไปกลับมารอบแล้วรอบเล่าเหมือนไม่มีท่าทีเหน็ดเหนื่อย อ้ายน้อยหน น้องชายอ้ายมนตรีชี้ไม้ชี้มือส่งสัญญาณให้กับพี่ชาย ติดกับแปลงนาของอ้ายมนตรีเป็นซากดงข้าวโพดต้นตอเกรียมไหม้สีน้ำตาลคล้ำ ถัดจากนั้นเป็นโรงงานสีขาวตั้งเด่นตระหง่านขวางกั้นสายตาเอาไว้กลุ่มคนงานกำลังทำงานอยู่ รถบรรทุกดินวิ่งเข้าออกโรงงานถมที่ดินให้สูงขึ้นจนเกือบเท่าถนนหลวง สีขาวของโรงงานตัดกันกับสีดำคล้ำของผืนนารายรอบ มันดูโดดเด่นเย่อหยิ่งอยู่ใต้โค้งฟ้าครามกดทับรุกรานผืนนาให้ต่ำต้อยจมลงไปอยู่ใต้เงาโรงงาน ผมคิดถึงคำถามที่เคยถามแอนมารีอีกครั้งหนึ่ง


 


" .......คุณจะอธิบายภาพที่เห็นข้างหน้าอย่างไร ? "


 


 


 

 




ชาวนาคนสุดท้าย
บันทึกเรื่องราว เรื่องเล่าของผองชาวนาชาวไร่คนสุดท้าย ยุคสุดท้ายก่อนที่พวกเขาจะถูกทำให้หายจนภายในไม่กี่ปีข้างหน้านี้
สุขทุกข์ ต่อสู้ ดิ้นรน เรียนรู้ เป็น อยู่ในหมู่บ้าน ในรัฐ ในโลก และในจินตนาการ