Skip to main content

งดเหล้าเข้า (ตลาดหลักทรัพย์) พรรษา

คอลัมน์/ชุมชน




ในขณะที่สังคมไทยกำลังหวั่นวิตกกับปัญหาทั้งทางสังคมและสุขภาพ อันเนื่องจากประชากรไทยนั้นดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนติดอันดับต้นๆ ของประเทศที่มีจำนวน "คนดื่มมาก" ในโลก ปัญหาการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินและปัญหาครอบครัวอันเนื่องมาจากความเมามายเกิดขึ้นให้เห็นไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งภาครัฐและเอกชนบางส่วนก็เริ่มวิตกและได้ออกมารณรงค์การงดดื่มสุรา และออกกฎหมายต่างๆมาควบคุมการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากขึ้น


 


ทว่า ในเวลาเดียวกันทางเบียร์ช้างกำลังดำเนินการเพื่อจะเข้ามาค้าในตลาดหลักทรัพย์ อันเป็นช่องทางที่จะทำรายได้ทางธุรกิจให้มากขึ้น และก็เป็นเหตุให้กลุ่มศาสนิกชน 61 องค์กร เครือข่ายงดเหล้าอีก 172 องค์กร และอาจจะพ่วงด้วยประชาชนจำนวนนับหมื่นคน ที่หวาดหวั่นว่าธุรกิจเหล้าเบียร์ที่เรียกได้ว่าเป็นอบายมุขจะทำรายได้ได้มากเกินไป ทั้งหมดเข้ามารวมตัวกันหน้ากระทรวงการคลังเพื่อประท้วงการกระทำดังกล่าวเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา (1 สค.) ท่ามกลางเสียงบ่นระงึมของคนทำงานที่ใช้เส้นทางละแวกนั้นว่า ไม่กลัวเดือดร้อนจากเหล้าเบียร์แต่กำลังเดือดร้อนเพราะรถติด


 


การประท้วงที่เกิดขึ้น มีบางคนบอกว่า เป็นเรื่องที่เสียดแทงเข้าไปในหัวใจของผู้ที่เคร่งศาสนามาก เพราะมันช่างประจวบเหมาะอะไรเช่นนี้กับช่วงที่เขากำลังรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษากันอยู่ แต่ทางเบียร์ช้างดันจะมาเข้าตลาดหลักทรัพย์ให้ได้ แต่นั่นก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ประเด็นอยู่ที่ว่า ทางผู้ประท้วงนั้นมีความหวาดหวั่นว่า เมื่อเข้าตลาดแล้วจะเป็นเหตุให้คนมาดื่มแอลกอฮอล์กันมากขึ้น แล้วและจะส่งผลกระทบต่อสังคมมากขึ้นอีก เป็นปัญหาในเรื่องศีลธรรมบกพร่องที่ปัจจุบันสังคมไทยก็แย่มากพออยู่แล้ว และทางผู้ประท้วงก็ให้เหตุผลมากมายถึงความหายนะที่จะเกิดขึ้นแก่สังคมอันมาจากการยอมให้ธุรกิจประเภทนี้เข้าไปซื้อขายกันได้ในตลาดหลักทรัพย์


 


เรื่องนี้หากจะว่ากันด้วยเรื่องศีลธรรมแล้ว แน่นอนว่า สุรา หมายถึงเครื่องดื่มที่ประกอบด้วยแอลกอฮอล์ทั้งปวง จัดเป็นอบายมุข การบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผิดหลักศาสนาแน่นอนอยู่แล้ว ส่วนอีกประเด็นคือ เรื่องพิษภัยที่มีต่อร่างกายของผู้บริโภค ในทางวิทยาศาสตร์ก็เป็นเรื่องที่เถียงไม่ได้อีกเช่นกัน ดังนั้น บรรดาสุราและยาเสพติดทั้งปวงย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่ควรสนับสนุนไม่ว่ากรณีใดๆ เชื่อว่าผู้คนทั้งประเทศย่อมเห็นด้วยกับเรื่องนี้อย่างไม่มีปัญหา


 


ทว่า หากจะมาพูดกันด้วยประเด็นทางธุรกิจธุรกิจแล้ว เบียร์ช้างควรจะได้เข้าตลาดหลักทรัพย์หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะในประเทศไทยยอมให้ผลิตสินค้าประเภทที่มีแอลกอฮอล์ได้ และยอมรับว่าเป็นสินค้าอีกชนิดหนึ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย ยอมให้จำหน่ายได้ในท้องตลาด และไม่ได้เป็นสินค้าควบคุมแต่ประการใด ดังนั้นในเชิงธุรกิจ เบียร์ช้าง ซึ่งอยู่ภายใต้บริษัทที่ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายไทยจึงมีสิทธิ์ที่จะแข่งขันได้อย่างเสรี โดยที่ไม่ได้ทำผิดหลักการใดๆ ที่จะทำให้เข้าตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้


 


แต่เมื่อมีการประท้วงและเมื่อมีการนึกถึงเรื่องศีลธรรมอันดีอันงามหรือผลกระทบต่อคนในชาตินั่นก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องแยกออกมาพูดกัน ทั้งนี้ ในตอนดึกๆ ของวันที่ 1 หลังจากที่มีการประท้วงอย่างยืดเยื้อ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ แถลงข่าวว่า การประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ ได้หารือถึงกฎเกณฑ์ของก.ล.ต.ว่าด้วยการเสนอขายหลักทรัพย์และมีความเห็นตรงกันว่า ในการจะอนุญาตให้เสนอขายหลักทรัพย์และนำหลักทรัพย์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มิได้พิจารณารับหลักทรัพย์ของธุรกิจทุกประเภท โดยจะปฏิเสธประเภทธุรกิจที่ไม่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม หรือมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมต่ำ อาทิ ธุรกิจยาสูบ การค้าอาวุธ การพนันเสี่ยงโชค เป็นต้น


แต่การใช้คำว่า "ธุรกิจที่ไม่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม หรือมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมต่ำ" แล้วยกตัวอย่างมาเพียง 3 ประการ ส่วนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์นั้นมิได้พูดถึง ดังนั้น ในทางหลักการก็คงไม่สามารถประท้วงไม่ให้ตลาดหลักทรัพย์อนุญาต เว้นแต่เรียกร้องให้ออกกฎหมายใหม่ที่ระบุให้ชัดเจนว่าห้ามธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เข้าไปค้าในตลาดหลักทรัพย์


 


แต่ถ้ายังไม่มีกฎหมายนี้แล้วละก็ เห็นจะมีแค่ทางเดียว คือแทนที่จะประท้วงที่กระทรวงการคลังซึ่งไม่ได้ผลหากไม่มีกฎหมายใหม่ คงต้องขอร้องอ้อนวอนคุณเจริญฯ เจ้าของเบียร์ช้างว่า ท่านก็รวยมามากพอแล้ว ท่านอย่าเพิ่งคิดรวยทางนี้เพิ่มอีกเลยจะได้ไหม หากท่านจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ เอาธุรกิจแบบใสๆ กว่านี้หน่อยได้หรือไม่ เห็นแก่ลูกหลานไทย ตาดำๆ เถิด ทำอย่างนี้เผื่อว่าคุณเจริญจะใจอ่อนลงมาบ้าง (โดยหันมางดเหล้าวันเข้าพรรษา แล้วคิดตกว่าถอนตัวไปก่อนดีกว่า)


 


ปัญหาของสังคมไทยที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ในเรื่องที่ว่าเบียร์ช้างจะเข้าตลาดหลักทรัพย์นั้น จึงไม่ได้เป็นปัญหาของเบียร์ช้าง เพราะไม่ได้ทำผิดกฎหมายใดๆ แต่ปัญหาอยู่ที่ความคลุมเครือไม่ชัดเจนในการบริหารจัดการของประเทศไทยในทั้งระบบ รวมไปถึงจุดยืนทางด้านศีลธรรมของรัฐบาลที่ค่อนข้างจะคลุมเครือ รวมไปถึงการไม่มีมาตรฐานในการจัดการกับเรื่องอบายมุขของไทย ถ้าห้ามบุหรี่ไม่ให้เข้าไปค้าในตลาดหลักทรัพย์ได้ แต่ทำไมถึงไม่ห้ามสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยเพราะจัดเป็นอบายมุขเหมือนกัน ในทางกลับกัน การยินยอมให้เบียร์ช้างเข้ามาค้าในตลาดได้ในครั้งนี้ หากบุหรี่ขอมาใช้การเดียวกันด้วยได้หรือไม่


 


ข้อที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่จะต้องสรุปให้ได้ก็คือ จำเป็นหรือไม่ที่ตลาดหลักทรัพย์พึงต้องตั้งตนเป็นผู้ผดุงศีลธรรม หรือมีเฉพาะหน้าที่ที่จะช่วยส่งเสริม กระตุ้นเศรษฐกิจ และการลงทุนในประเทศ ซึ่งหากจะต้องผดุงศีลธรรมด้วยแล้วที่ปรึกษาบอร์ดตลาดหลักทรัพย์คงต้องมีตัวแทนจากฝ่ายศาสนาเข้าไปนั่งพิจารณาด้วยว่าธุรกิจใดเข้าได้หรือเข้าไม่ได้ รวมทั้งไปร่วมวางเกณฑ์ในการเลือกธุรกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์


 


ทว่า หากไม่มีหน้าที่นี้ก็คงจำเป็นจะต้องยินยอมให้เป็นไปตามกลไกตลาด และต้องไม่ลืมว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่เรียกว่าเป็น secular state  คือเป็นประเทศที่ไม่ใช้กฎศาสนานำการปกครอง  และเป็นประเทศที่เปิดโอกาสให้มีการค้าเสรีตามระบอบทุนนิยม ดังนั้น สินค้าชนิดใดๆ ก็ตามที่อนุญาตให้ผลิตและจำหน่ายในประเทศได้อย่างถูกกฎหมาย ก็มีสิทธิที่จะเข้าไปค้าในตลาดหลักทรัพย์ได้ ดังนั้น เรื่องกฎเกณฑ์ในการจดทะเบียนในตลาดจึงเป็นไปตามเกณฑ์ทางธุรกิจไม่ได้ใช้ศาสนามาเป็นหลัก  แม้มีเกณฑ์บางอย่างอิงผลประโยชน์ทางสังคมดังตัวอย่างข้างต้นที่มีธุรกิจอยู่ 3 ประเภทที่จะไม่พิจารณาให้จดทะเบียน แต่ก็ไม่ได้ถูกชี้นำด้วยหลักศาสนา


 


ดังนั้นประเด็นธุรกิจก็เป็นไปตามเงื่อนไขทางการตลาด ส่วนประเด็นศีลธรรมนั้นควรปล่อยให้เป็นเรื่องของทางศาสนา เช่น พระ หรือผู้นำศาสนาต่างๆ พึงต้องมีหน้าที่ที่อบรมสั่งสอนให้ศาสนิกมีจิตใจที่มั่นคงต่อศาสนา หรือสามารถโน้มน้าวให้มีผู้ฝักใฝ่ในศาสนาและมีแนวร่วมได้มากขึ้นเรื่อยๆเหมือนดังที่สามารถระดมกันมาร่วมประท้วงกันได้ และที่ต้องทำมากกว่านั้นคือทำให้ทุกคนรู้และเท่าทันและสามารถเข้มแข็งเพียงพอที่จะไม่ติดกับดักอบายมุขเหล่านั้น ดังนั้น เรื่องสินค้าที่จะเข้ามามอมเมาไม่ว่าจะมาในรูปแบบใดก็ตามก็ไม่สามารถสั่นคลอนศาสนิกผู้เคร่งครัดต่อหลักธรรมคำสอนของศาสนาได้


 


การออกมาแสดงจุดยืนของเหล่าผู้ประท้วง รวมทั้งการปรากฏตัวของพระสงฆ์องค์เจ้าทั้งหลายนั้น มองได้เป็นสองแบบคือ แสดงให้เห็นว่าในประเทศไทยเรานี้มีผู้ที่ยังยึดมั่น และยังศรัทธาในศาสนาและยังมีความปรารถนาดี ต่อชาติบ้านเมืองอยู่มาก เป็นผู้ที่ไม่ดูดายต่อปัญหาบ้านเมือง และคนเหล่านี้ก็คงพร้อมที่จะสร้างสรรค์สังคมไทยที่ดี


 


แต่ในอีกความหมายหนึ่งก็คือ นี่หมายถึงความล้มเหลวของศาสนิกทั้งปวงโดยเฉพาะอย่างยิ่งพุทธศาสนิกชนที่องค์ตถาคตนั้นได้สั่งสอนเอาไว้แล้วว่า อบายมุขนั้นเป็นสิ่งชั่วร้าย แต่ผู้คนอันอ้างชื่อว่าเป็นศิษย์ตถาคตนั้นก็ยังมิอาจเลี่ยงได้ เริ่มตั้งแต่ผู้ประกอบการที่หวังผลกำไรจากการค้าสิ่งที่เรียกว่าอบายมุขให้ได้มากถึงมากที่สุด ซึ่งเป็นการทำธุรกิจที่ขัดต่อมงคลชีวิตที่สุด แต่ที่มากกว่านั้นก็คือ เป็นความพ่ายแพ้ของพระสงฆ์ผู้ที่ออกมานั่งประท้วงผู้ที่ต้องทำหน้าที่เผยแผ่คำสอนขององค์ศาสดา เพราะการออกมาเท่ากับยอมรับว่า มิอาจสั่งสอนตามหน้าที่หรือชักจูงให้ผู้คนมีจิตใจหนักแน่นไม่หวั่นไหวต่อสิ่งยั่วยุ ไม่อาจทำให้คนเห็นถึงความไม่ดีไม่งามของอบายมุขเหล่านั้นได้อีกแล้ว เพราะหากเชื่อมั่นว่าจะสามารถทำให้ผู้คนฝักใฝ่ในทางศาสนาได้แล้ว ใครจะขายก็ขายไป เพราะศิษย์ตถาคตย่อมรู้อยู่แก่ใจดีว่านี่เป็นสิ่งไม่ดี เราย่อมไม่ต้องการรับหรือบริโภค ในที่สุดธุรกิจเหล่านั้นก็ต้องปิดตัวลงไปเองหากไม่มีอุปสงค์ (demand)


 


ก็ต้องยอมรับกันว่า หลายๆ อย่างที่สามารถจัดการได้ในสังคมไทยกลับไม่ใช่โดยศาสนาแต่กลับเป็นเรื่องทางการแพทย์ อย่างเช่น การมีกฎหมายที่เข้มงวดในการห้ามจำหน่ายสุรา บุหรี่ ให้แก่เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี หรือ การรณรงค์เมาไม่ขับ จนออกมามีกฎหมาย ซึ่งก็ช่วยได้มาก หรือเรื่องบุหรี่ที่ยังคงอนุญาตให้จำหน่ายแต่ก็รณรงค์จนตอนนี้คนสูบบุหรี่กลับดูเป็นคนที่แปลกแยกจากกลุ่มเพื่อนไปแล้ว เหล่านี้ล้วนแล้วเป็นผลการรณรงค์ โดยข้อมูลทางสาธารณสุขมีคนไทยจำนวนน้อยมากที่เลิกบุหรี่และสุราเพราะขัดหลักศาสนา แต่ล้วนแล้วเลิกเพราะแพทย์สั่งทั้งสิ้น


 


มันอาจถึงเวลาแล้วเช่นกันที่องค์กรศาสนาควรจะต้องทบทวนว่าได้ทำบทบาทอย่างเต็มที่หรือเหมาะสมแล้วหรือไม่ มีความแม่นยำในคำสอนขององค์ศาสดาแค่ไหนและปฎิบัติตามได้มากขนาดไหน เพราะหากตัวแทนผู้นำคำสอนขององค์ตถาคตเองยังหวั่นไหวต่อสิ่งยั่วยุได้มากขนาดนี้ แล้วประชาชนจะหันไปหาที่พึงทางใจได้จากใคร


 


หากเรื่องของธุรกิจนั้นไม่ได้เป็นไปตามแนวทางที่ศาสนาต้องการ แต่ว่าจะทำอย่างไรได้ในเมื่อกฎหมายอนุญาต และกฎหมายเท่านั้นที่มีบทลงโทษ หน้าที่สำคัญของศาสนาก็คือ เร่งให้ความสำคัญกับการขัดเกลาจิตใจ อบรมให้ผู้คนรู้ผิดชอบชั่วดี ซึ่งจะส่งผลไปถึงผู้ที่ออกกฎหมายในประเทศด้วย จะได้ไปออกกฎหมายที่ไม่ขัดกับศีลธรรมอันดีงาม หรือแม้ผู้ที่จะทำกิจการใดๆก็จะคำนึงศีลธรรมได้มากขึ้น  รวมทั้งช่วยไปทำให้ผู้คนมีจิตใจที่หนักแน่นพอที่จะไม่ตกเป็นเหยื่อของสิ่งยั่วยุ


 


แต่ ณ วันนี้เมื่อยังไม่มีอะไรชัดเจนสำหรับประเทศนี้ว่าจะเอาศาสนามาชี้นำในการปกครองและการตลาดได้หรือไม่ สิ่งที่ทำได้คือ การรณรงค์งดเหล้าพรรษากันไปก่อนก็แล้วกัน แล้วค่อยเอาเบียร์ช้างมาฉลองการได้เข้าตลาดหลักทรัพย์กันหลังออกพรรษาแล้วก็แล้วกันนะ!