Skip to main content

เสือร้องไห้ : พยัคฆ์อีสานกลางป่าปูน

คอลัมน์/ชุมชน


24 1/6



ผมคงต้องเริ่มต้นบทความนี้ด้วยประโยคเชยๆ ที่ว่า "หลายๆ คนชอบพูดว่าไม่อยากจะอุดหนุนหนังไทยเพราะหนังไทยไม่ได้เรื่อง แต่พอมีหนังไทยดีๆ มาให้ดู ก็ดันไม่ดูกันซะอย่างงั้น"


 


ที่ต้องพูดกันอย่างนี้ ก็เพราะว่ามีหนังไทยมากมายหลายเรื่องที่ "ประสบความสำเร็จอย่างย่อยยับ" ทั้งๆ ที่ตัวหนังนั้นน่าเสียสตางค์เข้าไปดูยิ่งนัก อย่างในปีนี้ที่เห็นชัดๆ ก็หนังอย่าง "มหา’ลัยเหมืองแร่" นั่นยังไง


 


แต่สำหรับ "เสือร้องไห้" – หนังที่ผมจะพูดถึงวันนี้นั้น คงเข้าข่าย "ประสบความสำเร็จอย่างอภิมหายับเยิน" เลยทีเดียว เพราะนอกจากจะเข้าโรงฉายอย่างเงียบๆ (และออกอย่างเงียบๆ) แล้ว ยังแทบไม่ได้ยินเสียงตอบกลับจากผู้ชมสักเท่าไหร่


 


ทั้งๆ ที่ตัวหนังนั้นไม่ขี้ริ้วเลย...แถมยังเข้าขั้น "ดี" ในความคิดของผมซะอีกแหนะ


 


 



 


(ภาพจาก www.pantip.com/cafe/chalermthai/newmovie/cryingtiger/tiger.html)


 


"เสือร้องไห้" เป็น Reality Film (เอ่อ...ผมขอเรียกมันว่า "สารคดี" ดีกว่านะครับ มันสะดวกปากกว่า) ผลงานของสันติ แต้พานิช – น้องชายของผู้ชายจมูกโตคนดังคนนั้นนะแหละ ที่ใช้เวลาหนึ่งปี ติดตามชีวิตของชาวอีสานที่เข้ามาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ทั้งเนตร –สตันท์แมนที่พยายามเดินตามรอยจา-พนม ยีรัมย์, แมน-พนักงานโบกรถที่เบนเข็มเข้าสู่เส้นทางสายตลกคาเฟ่ในคณะของเหลือเฟือ ม๊กจ๊ก, พี่อ้อย-คนขับรถแท็กซี่ที่มีความฝันอยากเป็นคนขับรถบรรทุก โดยมีพรศักดิ์ ส่องแสงเป็นตัวแทนของรุ่นพี่ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวกับชีวิตในเมือง ผ่านจุดสูงสุดและต่ำสุดมาแล้ว


 


หนังเล่าถึงเส้นทางการดำเนินความฝันของแต่ละคน ที่ต้องเผชิญด่านทดสอบต่างๆ นาๆ ทั้งแมนที่ต้องเริ่มต้นชีวิตตลกด้วยการเป็นเจ้าหน้าที่บอกเวลาแสดงของคณะ ก่อนจะได้โอกาสให้แต่งตัวเตรียมขึ้นเวที (แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้ขึ้นเวทีเสียที) หรือเรื่องของเนตรที่ต้องยอมแสดงฉากพุ่งชนกระจกจริงๆ (ธรรมดาการแสดงเสี่ยงตายแบบนี้จะใช้กระจกพิเศษสำหรับการแสดงเท่านั้น) เพียงเพราะเจ้าของหนังที่เขาแสดงอยู่ต้องการให้จุดนี้เป็น "จุดขาย" ของหนังเท่านั้น และความพยายามไล่ตามความฝันของพี่อ้อย (ซึ่งในส่วนนี้ผมค่อนข้างเสียดายที่เรื่องของพี่อ้อยถูกเอ่ยเพียงผิวเผินเท่านั้น ไม่ได้มีส่วนของรายละเอียดมากมายเท่าชีวิตของคนอื่นๆ เท่าไหร่นัก) สลับกับเรื่องราวจากปากคำของพรศักดิ์ที่พูดถึงชีวิตของตัวเองในคราวที่รุ่งเรืองที่สุด


 


แต่ถึงแม้ชีวิตของแต่ละคนในเรื่องจะก้าวไปอย่างไร แต่ลึกๆ แล้วทุกคนต่างคิดถึง "บ้าน" เหมือนกับที่พรศักดิ์พูดถึงกรุงเทพฯ ว่า "ให้นอนที่นี่น่ะนอนกี่คืนก็ได้ แต่ถ้าให้อยู่ละก็อยู่ไม่ได้หรอก"


 


สิ่งที่ดึงดูดให้เสืออีสานเหล่านี้เข้ามายังกรุงเทพฯ ไม่ใช่ตัวกรุงเทพฯ หรอก หากแต่เป็นโอกาสที่อยู่ภายในกรุงเทพฯ ต่างหาก ที่ทำให้หลายๆ คนเข้ามาเพื่อที่จะไขว่คว้ามันให้อยู่มือ เพื่อที่พวกเขา/เธอ จะได้กลับบ้านอย่างผู้กำชัยชนะ


 


...ถึงแม้ว่าการเข้ามาในกรุงเทพฯ จะมีราคาที่ต้องจ่ายมากกว่าค่ารถโดยสาร แต่เป็นความโดดเดี่ยว หิวโหย บาดเจ็บ และสูญเสีย ไม่ต่างจากเสือที่ท่ามกลางดงพราน


 


"เสือร้องไห้" ในความคิดของผมจึงไม่ได้เพียงแค่หนังสารคดีเรื่องหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นเหมือนสะพานเชื่อมความเข้าใจไปยังคนส่วนใหญ่ในเมืองกรุง...ที่แม้จะปริมาณจะมีมาก แต่เราก็หมางเมินไปอย่างไม่น่าให้อภัย จนถึงขั้นที่บางครั้งเราก็เหยียดหยันเพื่อนร่วมเมืองจากต่างถิ่นอย่างไม่ตั้งใจ


 


หวังว่าผู้ที่ได้ชมหนังเรื่องนี้ นอกจากจะได้ "แรง" จากการวิ่งไล่ความฝันของชีวิตในเรื่องแล้ว น่าจะทำให้หันมามองเพื่อนหลังสังคมอย่างให้เกียรติมากกว่าที่เป็น แต่สำหรับผู้ที่ไม่ได้ชม ก็หวังว่าจะได้ชมหนังเรื่องนี้ในรูปแบบวีซีดีหรือดีวีดี


 


ไหนๆ ก็พลาดในโรงแล้ว ไถ่โทษให้คนทำหนังเขามีแรงทำหนังเรื่องต่อไปเถอนะ