Skip to main content

ชีวจริยธรรมและอีกมุมหนึ่งของโคลนนิ่ง ตอนที่ 2

ผลพลอยได้สำคัญจากเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์คือ เซลต้นตอจากตัวอ่อน ภาษาอังกฤษเรียกว่า Embryonic stem cell


เซลต้นตอเป็นเซลที่พบในตัวอ่อนอายุประมาณ 7-14 วัน ซึ่งเรียกว่าระยะบลาสโตซิสต์ (blastocyst) ในตัวอ่อนหนึ่งตัวจะมีเซลต้นตออยู่ภายในประมาณ 50-100 เซล เซลต้นตอเป็นเซลที่ยังไม่มีความจำเพาะว่าจะพัฒนาไปเป็นเซลของอวัยวะใดในร่างกาย นักวิทยาศาสตร์จึงนำเซลต้นตอเหล่านี้มาเพาะเลี้ยงแล้วเหนี่ยวนำให้พัฒนาไปเป็นเซลที่ต้องการ


ทั้งนี้ เพื่อรักษาโรคร้ายแรงหลายชนิดที่ปัจจุบันการแพทย์ยังรักษาให้ได้ผลดีไม่ได้ เช่น ทำเป็นเซลเม็ดเลือดเพื่อรักษาโรคธาสัสซีเมียและโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ทำเป็นเซลหัวใจเพื่อรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ทำเป็นเซลตับอ่อนเพื่อรักษาโรคเบาหวาน ทำเป็นเซลสมองเพื่อรักษาโรคอัลไซเมอร์และพาร์คินสัน ทำเป็นเซลไขสันหลังเพื่อรักษาโรคอัมพาตของไขสันหลัง เป็นต้น


เซลต้นตอมิได้พบในตัวอ่อนเพียงแห่งเดียว แต่ยังสามารถพบได้ในไขกระดูก ในรก ในกระแสเลือด และในอวัยวะบางส่วนด้วย แต่เซลต้นตอจากตัวอ่อนถือว่าเป็นเซลต้นตอที่บริสุทธิ์กว่าและมีศักยภาพสูงกว่าในการที่จะนำไปรักษาโรคหรือทดแทนอวัยวะที่เสียหาย


การรักษาโรคเหล่านี้ บางเรื่องทำได้แล้ว บางเรื่องอยู่ระหว่างการวิจัย ประเด็นปัญหาคือ เมื่อนักวิทยาศาสตร์นำเอาเซลต้นตอจากตัวอ่อนไปใช้ประโยชน์แล้ว ตัวอ่อนที่เคยเป็นที่อยู่ของเซลต้นตอนั้นก็จะถูกทำลายลงไป เพียงเท่านี้ก็เกิดประเด็นทางจริยธรรมว่า ถูกต้องหรือไม่ที่เราสละชีวิตหนึ่งเพื่อช่วยอีกชีวิตหนึ่ง หากมองในแง่มุมการวิจัยแล้วอาจจะพูดได้ว่าเป็นการสละชีวิตเพื่อช่วยเหลือมนุษยชาติที่เหลือ


ในกรณีนี้ นักวิทยาศาสตร์บางส่วนให้ข้อคิดเห็นว่าตัวอ่อนที่มีเซลต้นตอมีอายุไม่เกิน 7-14 วันซึ่งตามธรรมชาติแล้วเป็นระยะที่ยังอยู่ที่บริเวณปีกมดลูก ยังไม่ได้ฝังตัวที่ผนังมดลูกจึงไม่มีศักยภาพที่จะอยู่รอดด้วยตนเอง เพราะฉะนั้นตัวอ่อนในระยะเช่นนี้จึงมิอาจเรียกได้อย่างมั่นใจว่าเป็นสิ่งมีชีวิต ความเห็นเช่นนี้ก่อให้เกิดประเด็นคำถามทางศาสนาและปรัชญาขึ้นมาทันทีว่าแล้ว ชีวิตเริ่มต้นขึ้นเมื่อใด


มีคำถามอีกว่าในเมื่อมีเซลต้นตอให้ใช้อยู่แล้วในไขกระดูก ในรก และในกระแสเลือด เพราะอะไรนักวิทยาศาสตร์จึงต้องการเซลต้นตอจากตัวอ่อนอีก


ตอบว่า เซลต้นตอในไขกระดูกเรียกว่าเป็น Adult stem cell มีศักยภาพต่ำกว่าเซลต้นตอจากตัวอ่อน แต่ปัญหาที่เห็นชัดกว่าคือกรณีเนื้อเยื่อของผู้บริจาคไขกระดูกและเนื้อเยื่อของผู้ป่วยไม่เข้ากัน ทำให้ในการรักษาโรคแต่ละครั้งต้องเสียเวลาไปกับการหาผู้บริจาคที่เหมาะสม


ที่ผ่านมา หากบุตรคนโตป่วยด้วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือโรคเลือดบางชนิด และถ้าหาผู้บริจาคไขกระดูกไม่ได้แล้ว สิ่งที่ทำได้คือให้มารดาตั้งครรภ์บุตรอีกคนหนึ่งโดยคาดหวังว่าบุตรที่เกิดใหม่จะมีไขกระดูกที่สามารถบริจาคให้พี่ชายได้ เช่นนี้ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าบุตรที่เกิดมาใหม่รู้สึกนึกคิดอย่างไรกับกรณีเช่นนี้


แม้ว่าการบริจาคไขกระดูกมิได้ทำให้ผู้บริจาคเสียชีวิตหรือพิการแต่อย่างใด แต่ก็นำมาซึ่งความเจ็บปวดในบางครั้งและนำมาซึ่งสถานะการเป็นอะไหล่ให้แก่ผู้อื่น เช่นนี้หากเป็นเด็กจะคิดเห็นอย่างไร แตกต่างหรือเหมือนกรณีที่ผู้ใหญ่ขายไตเป็นอะไหล่ให้แก่ผู้อื่นหรือไม่ และถ้าน้องที่เกิดมาใหม่มีเนื้อเยื่อที่ไม่เข้ากันกับพี่และไม่สามารถเป็นผู้บริจาคได้ตามเป้าหมายของการตั้งครรภ์ เขาควรรู้สึกอย่างไร


ในบางรัฐของสหรัฐอเมริกา สามารถใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Preimplantation Genetic Diagnosis หรือ PGD ในการตรวจวินิจฉัยว่าตัวอ่อนของน้องที่ปฏิสนธิขึ้นมาใหม่จะมีเนื้อเยื่อที่เข้ากันกับพี่ที่ป่วยอยู่หรือไม่ หากพบว่าไม่เข้ากันก็ไม่จำเป็นต้องให้ตั้งครรภ์ต่อไป เช่นนี้สังคมยอมรับได้หรือไม่ และหากในอนาคตเมื่อพบว่าตัวอ่อนของน้องที่ปฏิสนธิขึ้นมาใหม่มีเนื้อเยื่อเข้ากันได้แล้ว นักวิทยาศาสตร์จะนำเอาเซลต้นตอจากตัวอ่อนออกมาใช้งานทันทีโดยไม่ต้องให้ตั้งครรภ์ต่อไป เช่นนี้สังคมยอมรับได้หรือไม่


กรณีการนำเซลต้นตอจากรกหรือกระแสเลือดมาใช้ประโยชน์ก่อให้เกิดคำถามทางจริยธรรมน้อยกว่า เว้นแต่ว่ายังมีคำถามเกี่ยวกับความเท่าเทียมซึ่งก็ถือเป็นประเด็นจริยธรรมทางการแพทย์ประการหนึ่ง คำถามง่าย ๆ แต่ตอบยากคือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะครอบคลุมการรักษาด้วยเซลต้นตอหรือไม่


ปัจจุบัน ประเทศสิงคโปร์มีบริษัทที่ให้บริการธนาคารเก็บเลือดจากรกที่เรียกว่า Cord Blood Bank ด้วยเล็งเห็นว่าเลือดจากรกเป็นแหล่งเซลต้นตอที่ยังบริสุทธิ์และอุดมสมบูรณ์ของเจ้าตัว เพราะฉะนั้น เพื่อตัดปัญหาการหาผู้บริจาคเซลต้นตอในอนาคตจึงควรเก็บเลือดจากรกของเจ้าตัวเอาไว้ตั้งแต่แรกคลอด คู่สมรสที่กำลังมีบุตรสามารถติดต่อขอใช้บริการได้โดยบริษัทจะบินมาเพื่อเก็บเลือดจากรกไปในวันที่คุณแม่คลอดบุตร เลือดจากรกและเซลต้นตอจะถูกแช่แข็งนานห้าสิบปีเผื่อว่าทารกที่เกิดใหม่นั้นจะเจ็บป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บใด ๆ ที่สามารถใช้เซลต้นตอรักษาได้ในช่วงเวลาห้าสิบปีข้างหน้า


การใช้เซลต้นตอจากกระแสเลือดซึ่งเป็น Adult stem cell และมีจำนวนน้อยก็เป็นสิ่งที่กระทำได้และไม่มีประเด็นทางจริยธรรมเพราะเป็นการใช้เลือดของตัวผู้ป่วยเอง แต่ก็ต้องผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อเพิ่มจำนวนเซลต้นตอให้มีปริมาณพอเพียงต่อการรักษาซึ่งมิได้ประสบความสำเร็จเสมอไป


จะเห็นว่าการนำเซลต้นตอมาจากร่างกายของผู้อื่นเผชิญปัญหาเนื้อเยื่อไม่เข้ากัน หาผู้บริจาคได้ยาก ส่วนการนำเซลต้นตอมาจากตัวอ่อนก็ก่อปัญหาทางจริยธรรมรวมทั้งยังไม่สามารถหลีกเลี่ยงเรื่องเนื้อเยื่อไม่เข้ากันอยู่ดี


ทางออกสำหรับปัญหาเหล่านี้ คือกรรมวิธีที่เรียกว่าโคลนนิ่ง (Cloning)


โปรดติดตามตอนต่อไป...