Skip to main content

เซ็กส์ ? ไม่ได้มีคำตอบเดียว

คอลัมน์/ชุมชน













































































































































































 


 


 
 


1


เมื่อเร็ว ๆ นี้ นที ธีระโรจนพงษ์ หัวหน้ากลุ่มเส้นสีขาวที่เคยออกมารณรงค์เรื่องโรคเอดส์ในกลุ่มเกย์เมื่อเกือบยี่สิบปีที่แล้ว กลับมาใหม่อีกครั้งหนึ่งด้วยความมุ่งหมายที่จะเป็นนักการเมือง โดยการประกาศว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาในครั้งต่อไป และพยายามที่จะก่อตั้งกลุ่มเกย์การเมืองไทย

 

นทีปรากฏตัวตามสื่อต่าง ๆ เช่นรายการโทรทัศน์ของพิธีกรชื่อดัง อย่างรายการถึงลูกถึงคน ของสรยุทธ์ สุทัศนะจินดา และล่าสุดการออกมาแสดงเป้าหมายทางการเมืองในผู้จัดการรายสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 กันยายน 2547(1) ข้อใหญ่ใจความของนทีคือต้องการสร้างความรู้ ความเข้าใจและการยอมรับเกี่ยวกับชาวเกย์ โดยนำเสนอภาพ " กุลเกย์" เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเกย์รุ่นใหม่ ( ไอเดียนี้ถูกใช้เมื่อเกือบยี่สิบปีมาแล้วเช่นกัน แต่ดูเหมือนว่าไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร และการนำกลับมาใช้ใหม่ใน พ. ศ. นี้ก็มีข้อเสนอที่ไม่แตกต่างไปจากเมื่อปรากฏตัวครั้งแรกเมื่อเกือบยี่สิบปีก่อนนั้น)

 

นทีตั้งใจจะทำ " คู่มือเกย์" กระจายไปตามห้องสมุดโรงเรียนในกรุงเทพฯ ทั้ง 433 แห่ง แถมยังมีการแบ่งระดับการเรียนรู้ระหว่างเด็กประถม เด็กมัธยม และระดับมหาวิทยาลัย ใน " คู่มือเกย์" นี้ก็จะบอกว่าเกย์คืออะไร มีกี่ประเภท จะเป็นเกย์อย่างไรให้มีความสุข

 

การมองเช่นนี้ตีความได้อย่างที่ทุกคนเข้าใจได้ว่า เกย์เป็นคนประเภทหนึ่งที่แตกต่างไปจากชายและหญิงอย่างชัดเจน และมากไปกว่านั้น การดำรงอยู่ของเกย์เป็นปัญหาหนึ่งของสังคมที่นที ผู้สถาปนา " กุลเกย์" อันเป็นเกย์ดีมีคุณภาพเสียเต็มประดา ?!! ต้องออกมาทำความเข้าใจ และอะไรที่ผิดๆ เพี้ยนๆ ไป ก็ต้องแก้ไขให้มันเป็นไปตามครรลองของมัน มันก็เหมือนกับบอกกลาย ๆ ว่า การเป็นผู้ชาย ผู้หญิง และเกย์นั้นมันเป็นโดยธรรมชาติ ถ้าไม่เป็นไปตามนี้ก็ถือว่า เข้าใจผิด จึงต้องออกมาทำความเข้าใจกัน พูดอย่างนี้คนทั่วไปก็คงจะพยักหน้าเห็นด้วยว่ามันก็ต้องเป็นธรรมชาติอย่างนั้นสิ จะเป็นอย่างอื่นไปได้ยังไง แต่ผมขอบอกว่ามันไม่ได้เป็นอะไรที่เข้าใจได้ง่าย ๆ อย่างนั้นหรอก

 


2

 

ด้วยประสบการณ์การเรียนรู้ของผมเอง ผ่านการทำวิทยานิพนธ์ทางประวัติศาสตร์เรื่อง วาทกรรมเกี่ยวกับ " เกย์" ในสังคมไทย พุทธศักราช 2508-2542 (2) มากว่าสี่ปี ผ่านการค้นคว้าทั้งเอกสารภาษาไทย และภาษาอังกฤษเป็นจำนวนมาก ทั้งพระไตรปิฎก พระราชพงศาวดาร พระราชหัตเลขา วรรณคดี บทความวิชาการ บทความในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสาร ตลอดจนบทความวิชาการทางการแพทย์ บทความวิชาการภาษาอังกฤษประเภททฤษฎีวิพากษ์ (Critical Theory) หลากหลายแนวไม่ได้บอกเลยว่าการเป็นเกย์ รึเป็นผู้หญิง เป็นผู้ชายอย่างที่เราเข้าใจกันทุกวันนี้หาได้เป็นธรรมชาติที่คงที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย

 

อย่างไรก็ตาม เฉพาะส่วนที่เป็นเอกสารภาษาไทยทำให้ผมเห็นว่า เกย์ไม่ใช่เกิดขึ้นมาตามธรรมชาติแน่นอน เพราะในอดีตสังคมไทยไม่มีเกย์ มีแต่เพียงพฤติกรรมรักร่วมเพศ (Homosexual Behavior) ของผู้ชายเท่านั้น แล้วพวกผู้ชายในสมัยโบราณของสังคมไทยก็สนิทสนมคุ้นเคยกับโฮโมอิโรติก (Homoerotic) แต่ไม่เคยคิดว่าตัวเองไม่ใช่ผู้ชาย รึเป็นอะไรอย่างอื่นที่ไม่ใช่ผู้ชาย ถ้าจะให้ยกตัวอย่าง อิเหนา เป็นตัวอย่างผู้ชายในอุดมคติที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ ถ้าจะให้ยกตัวอย่างคนเป็น ๆ ก็มีกรมหลวงรักษรณเรศร(3) ท่านมีอะไร ๆ กับพวกโขนละครที่ท่านเลี้ยงไว้ก็เท่านั้นเอง ท่านไม่เคยคิดว่าท่านไม่ใช่ผู้ชาย ท่านไม่ได้เที่ยวไปเหล่ใครแถวสีลมซอยสอง สวนลุมพินี สวนรัชวิภา รึไปใช้บริการเซาน่าอย่างบาบิลอน เอาเข้าจริง ๆ ไอ้สถานที่พบปะเฉพาะกลุ่มอย่างนี้ในสมัยโบราณมันก็ไม่มี และถึงแม้ว่าจะมีการใช้คำว่าเกย์ในช่วงปี พ. ศ. 2508(4) แต่คำว่าเกย์ที่ใช้กันตอนนั้นก็ไม่เหมือนกับเกย์ทุกวันนี้ เกย์ในตอนนั้นหมายถึงแค่ผู้ชายขายตัว เป็นงั้นไป แต่คนพาลไปเรียกชายที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศว่า " เบอริแกน" อีตาฝรั่งที่ถูกฆาตกรรมเพราะไปมีอะไรกะจิ๊กโก๋ จิ๊กกะโล่เข้า

 

หลังจากนั้นมาคำว่าเกย์ก็ใช้สลับไปมากับคำว่ากะเทย ใครไม่เชื่อลองไปพลิกอ่านหนังสือพิมพ์ไทยรัฐปลายปี พ . ศ. 2515 ดู(5)

 

จากหลักฐานภาษาไทยกลับมาในทฤษฎีวิพากษ์ในภาคภาษาอังกฤษกันบ้าง บางเล่มก็บอกว่าไม่ใช่เฉพาะเกย์หรอกที่ไม่ใช่ธรรมชาติ ผู้ชาย ผู้หญิงเองก็ไม่ได้เป็นธรรมชาติ ธรรมชาติจริงๆ มีแค่ตัวผู้ ตัวเมีย ส่วนการจัดพฤติกรรมทางเพศให้เป็นคนประเภทต่าง ๆ นั้นมันสร้างขึ้นมาทั้งนั้น อันนี้ผมค่อนข้างเห็นด้วย เพราะมองย้อนกลับไปดูสังคมในอดีตมันไม่ยักเหมือนกับที่เราเป็นในปัจจุบัน อย่างสังคมกรีก- โรมัน(6) ผู้ชายมีอะไรกับผู้ชายก็ไม่แปลก จะมีอะไรกับเด็กผู้ชายก็ไม่แปลก รึจะมีอะไรกับทาสผู้ชายในบ้านก็ไม่แปลกอีก แต่ขออย่างเดียวอย่าไปให้คนต่ำศักดิ์กว่า " ทำ" ละกัน มันจะเป็นเรื่อง

 

หรือ สังคมชนเผ่าบางแห่งส่งผ่านความเป็นชายกันด้วยการทำออรัลเซ็กส์ ถามว่าเด็กผู้ชายที่ทำออรัลเซ็กส์พวกนี้จะกลายเป็นเกย์รึเปล่า ตอบว่า ก็ไม่ เพราะโตมาอีก็แต่งงานมีลูกมีหลาน ให้เด็กผู้ชายรุ่นต่อไปมาทำออรัลเซ็กส์เพื่อถ่ายทอดความเป็นชายผ่านอสุจิไปสู่เด็กรุ่นต่อไป(7)

 

สองกรณีนี้ แค่นี้คุณผู้ชายจริง คุณผู้หญิงแท้ คุณเกย์โดยธรรมชาติ คงงงเป็นไก่ตาแตก ไม่รู้จะอธิบายยังไง

 


3

 













เราลองมาดูความคิดของนักคิดทางสตรีนิยมและลักเพศทฤษฎี (Feminism and Queer Theory) อย่างจูดิท บัตเลอร์ (Judith Butler) ที่มีคนแซวว่าเขียนหนังสือทีเหมือนโรงงานพจนานุกรมระเบิด เขียนอะไรอ่านยากอ่านเย็นนักหนา ในหนังสือที่ทรงอิทธิพลที่สุดเล่มหนึ่งในวงการที่มีชื่อว่า" ยุ่งฉิบหาย เพศสถานะ : สตรีนิยมกับการล้มล้างของอัตลักษณ์"(8) บัตเลอร์เสนอว่าไอ้ผู้ชาย ผู้หญิง เกย์ สรุปรวมว่า " เพศสถานะ" มันก็เป็นแค่การแสดง (Gender is performance.) อ้าว พังแล้วมั้ยล่ะ ท่านผู้ชม… ตัวตนไม่มี ความจริงแท้ไม่มี ความเป็นธรรมชาติไม่มี ทั้งหมดทั้งปวงที่คิดกันว่ามีจริง ๆ เนี่ย มันเป็นแค่การแสดง ( พักสักครู่ แล้วจะกลับมาพบกับบัตเลอร์อีกที)
 
เอ่ยนามบัตเลอร์ไปแล้ว จะไม่เอ่ยนามนักคิดชาวฝรั่งเศสอีกคนหนึ่ง ก็ดูจะกระไรอยู่ มิใช่ใครเลย มิแช็ล ฟูโกต์ (Michel Foucault) ผู้ล่วงลับไปยี่สิบปีแล้ว ( และบัตเลอร์ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากเขาไม่น้อย) โดยหนังสือของฟูโกต์ที่มีคนพูดถึงมากที่สุดเล่มหนึ่งของเขาเรื่อง " ประวัติศาสตร์เพศวิถี เล่ม 1 เจตจำนงในความรู้"(9) ซึ่งในคำอธิบายหนึ่งของเขาได้บอกกับเราว่า ไอ้วิธีการมองเรื่องเซ็กส์อย่างที่เราเป็น ๆ กันอยู่นี่ มันเริ่มมาตั้งแต่เมื่อไหร่ … ก็คงจะต้องมอบโล่ให้กับควีนวิกตอเรีย มหาราชินีในยุคสมัยที่อังกฤษยังมีดวงอาทิตย์ไม่ตกดินอยู่ โดยในสมัยของท่านได้ " สร้างสรรค์" สังคมดัดจริตเรื่องเพศอย่างรุนแรงไว้ให้อนุชนรุ่นหลัง โดยเฉพาะสังคมอาณานิคมทางความคิดอย่างสังคมไทยได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน นี่ถ้ามีไทม์แมทชีนย้อนเวลาไปได้ คนไทยเราคงจะคุยกับฝรั่งยุควิคตอเรียนได้อย่างถูกคอ เพราะมองเรื่องเซ็กส์เป็นของยี้น่าหยะแหยงเหมือนกัน













 





 
ทีนี้ลองมาดูกันว่า วิธีคิดของนทีที่พยายามจะบอกอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งว่า เกย์นั้นคืออะไร แล้วควรจะทำอะไรยังไงนั้น มันมีปัญหาตรงไหน(10)
 
ขอยกตัวอย่างจากขบวนการเคลื่อนไหวของผู้หญิงที่เรียกว่า เฟมินิสต์ หรือ นักสตรีนิยม (Feminist) ที่พยายามจะออกมาเรียกร้องความเท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย และการกดขี่ผู้หญิง นักสตรีนิยมก็จะต้องพูดถึงผู้หญิงที่มีอัตลักษณ์ (identity) ที่เป็นหนึ่งเดียวที่ถูกกระทำด้วยความอยุติธรรมจากผู้ชาย เป็นการพูดถึงผู้หญิงเป็นกลุ่มก้อนโดยไม่คำนึงความแตกต่างหลากหลายทางเชื้อชาติ (race) ชาติพันธุ์ (ethnic) ชนชั้น (class) และความแตกต่างอื่น ๆ
 

พูดอย่างนี้อาจจะไม่เห็นภาพ ยกตัวอย่างเช่น แนวคิดของนักสตรีนิยมผิวดำ (Black Feminist) ก็ได้ออกมาวิพากษ์แนวคิดของนักสตรีนิยม ชนชั้นกลางผิวขาวว่า เขาเหล่านั้นไม่ค่อยตระหนักถึงว่า ผู้หญิงผิวดำที่ยากจนว่าเป็นผู้หญิงเหมือนกัน แล้วเมื่อดูรวม ๆ ดูเหมือนว่าผู้หญิงยากจนผิวดำจะมีอะไรหลาย ๆ อย่างที่คล้ายกับผู้ชายผิวดำที่ยากจนมากกว่านักสตรีนิยมผิวขาวที่เป็นนักวิชาการซะอีก

 

กลับมาที่บัตเลอร์ เขาเสนอว่าการมองอัตลักษณ์ของผู้หญิงอย่างชัดเจนและแจ่มชัดเช่นนั้นเป็นความผิดพลาดตั้งแต่เริ่มต้นเลยทีเดียว ผิดพลาดยังไงมาดูกัน

 

ความต้องการพื้นฐานของสตรีนิยมคือ ให้สังคมที่ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันโดยที่ไม่มีการมาแบ่งแยกเพศ แต่พูดอย่างนี้ก็เป็นการเซ็ตขั้วต่างชาย / หญิงอยู่ดี หนำซ้ำในทางกลับกันก็เป็นการยืนยันว่าผู้หญิงเป็นสายพันธุ์หนึ่งของมวลมนุษยชาติ ซึ่งก็เท่ากับเป็นการยอมรับมาตรฐานความเป็นชายและความเป็นหญิงที่เป็นต้นกำเนิดของวิธีคิดแบบ " รักต่างเพศ" ซึ่งมองว่า " เพศ" เป็นความแตกต่างทางชีวภาพที่ธรรมชาติได้สร้างสรรค์ไว้ ทุกคนเกิดมาเป็นผู้ชาย ผู้หญิง ทุกคนมีเพศที่ตายตัว ไม่เป็นชายก็ต้องเป็นหญิง แล้วก็จะต้องมีความเป็นผู้ชาย และความเป็นผู้หญิง ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่าคุณจะมีความต้องการทางเพศกับเพศตรงข้ามเท่านั้น

 

บัตเลอร์เสนออีกแบบหนึ่งว่า ถ้าเรามีร่างกาย เราใช้ร่างกายแสดงอัตลักษณ์ แล้วเราก็มีความต้องการทางเพศจากอัตลักษณ์ที่เราแสดง เมื่อเป็นเช่นนี้ร่างกายของเราไม่ได้เป็นตัวตัดสินว่าเราจะมีเพศสถานะหรืออัตลักษณ์แบบไหน แล้วก็จะไม่มีการคาดการณ์ล่วงหน้าว่าร่างกายแบบนี้จะมีพฤติกรรมทางเพศอย่างไรด้วย เป็นแบบนี้จะดีกว่าไหม

 


4

 

วิธีคิดที่แบ่งคนออกเป็นขั้วต่างชาย / หญิง และมองว่าเป็นธรรมชาตินั้น แม้แต่ทางวิทยาศาสตร์เองก็ไม่ใช่ปรากฏการณ์จริงทั้งหมด เพราะบางคนไม่ได้เกิดมาเป็นผู้ชาย หรือผู้หญิงเท่านั้น บางคนเกิดมาเป็นทั้งผู้ชายและผู้หญิง หรือที่วงการแพทย์เรียกว่า Hermaphrodites(11) ( คนที่มีอวัยวะเพศทั้งของผู้ชายและผู้หญิง) นี่ก็แสดงให้เห็นว่าอย่างน้อยที่สุดมันมีเพศที่สามในโลกนี้ด้วย ถึงแม้ว่าจะมีคนแบบนี้ไม่มาก และวงการแพทย์ก็มองว่าเป็นความผิดปกติทางเพศ แต่การมีอยู่ของ Hermaphrodites มีคนที่เกิดมาไม่ใช่ทั้งผู้หญิงและผู้ชายก็สั่นสะเทือนวิธีคิดที่แบ่งคนออกเป็นขั้วต่าง ชาย/ หญิง และอ้างว่ามนุษยชาติมีเพียงสองเพศนี้เท่านั้น

 

การแบ่งขั้วมนุษย์ออกเป็นชาย / หญิงนั้นท้ายที่สุดก็เป็นสิ่งสร้าง (construction) เป็นวิธีการมองร่างกาย มองเพศสถานะ บนพื้นฐานของความแตกต่างทางเพศ ( ชาย/ หญิง) เมื่อเป็นดังนี้ นักสตรีนิยมก็ไม่สามารถที่จะอ้างได้ว่าคนเรามีอัตลักษณ์ทางเพศเพียงเพราะว่าเขาเป็น " หญิง" หรือ " ชาย" และมากไปกว่านั้นนักสตรีนิยมควรจะหลีกเลี่ยงการมองเรื่องเพศแบบขั้วต่างชาย/ หญิง และเปิดให้กับความเป็นไปได้อื่น ๆ อีกมากมาย จริงอยู่การตั้งคำถามของนักสตรีนิยมนั้นเป็นการเปิดพื้นที่ให้เกิดการวิพากษ์เรื่องเพศ ที่เกิดขึ้นในสังคมที่มีระบบคิดให้ชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) แต่ก็ไม่ควรที่จะลืมวิพากษ์ตัวเองด้วย (self-criticized) และก็ไม่ควรที่จะผลิตซ้ำกรอบคิดขั้วต่างชาย/ หญิง ด้วยการออกมาบอกว่าผู้หญิงเป็นเพศที่ถูกกดขี่ ผู้ชายเป็นเพศที่กดขี่แบบมองไม่เห็นความแตกต่างหลากหลายทางเพศ เพราะมันไม่ได้ทำให้เราเข้าใจถึงความเป็นผู้หญิง หรือความเป็นอื่นในสังคมได้เลย

 

บัตเลอร์ตั้งข้อสังเกตว่าวิธีการที่เราคิดและพูดเกี่ยวกับเรื่องเพศหรือเซ็กส์ นั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่ในหัวของเราภายใต้กรอบใหญ่ ๆ ที่สังคมกำหนดไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็คือคนส่วนใหญ่มองว่าเพศสถานะเป็นคุณสมบัติของแต่ละบุคคลที่ถูกนิยามโดยสังคม อย่างน้อยที่สุดก็เป็นสิ่งที่ตายตัว ถาวร และไม่เปลี่ยนแปลงและเป็นส่วนสำคัญของแต่ละคน แต่บัตเลอร์มองว่าเพศสถานะนั้นเป็นความสัมพันธ์ในสังคมที่สร้างอัตบุคคล (subject) ในบริบทที่เฉพาะ พูดง่าย ๆ ก็คือว่าแทนที่จะมองว่าเพศสถานะเป็นสิ่งที่ตายตัวของแต่ละบุคคล เพศสถานะควรจะเป็นอะไรที่เลื่อนไหล และหลากหลายที่สามารถเปลี่ยนและแปลงได้ในบริบทที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา

 

ดังนั้นเพศสถานะจึงเป็นเพียงการแสดง ไม่มีอัตลักษณ์ทางเพศของแต่ละเพศสถานะ อัตลักษณ์ทางเพศเป็นเพียงการแสดง เราไม่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่กำหนดพฤติกรรมทางเพศของเรา แต่ในทางกลับกันพฤติกรรมทางเพศต่างหากที่เป็นตัวกำหนดเพศสถานะ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เพศสถานะจึงเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นในแต่ละช่วงเวลามากกว่าที่จะเป็นสิ่งที่เราเป็นอยู่ตลอดเวลา เป็นสิ่งสร้างทางสังคมมากกว่าเป็นธรรมชาติที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อเป็นดังนี้แล้วเราก็ไม่สามารถที่จะอ้างได้ว่าอัตลักษณ์ทางเพศแบบไหนจะ " เป็นธรรมชาติ" หรือ " เป็นความจริง" มากกว่ากัน

 

สิ่งที่เป็นเสน่ห์ของวิธีคิดแบบนี้คือ ถ้าเพศสถานะเป็นการแสดง เราสามารถที่จะเป็นอะไรก็ได้ ( และมีเงื่อนไขบางอย่าง) เราไม่ต้องรอการปฏิวัติของนักสตรีนิยม ไม่ต้องรอให้สังคมใจกว้างมากขึ้น หรือเปลี่ยนมายอมรับพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ใช่มาตรฐานแบบชาย/ หญิง หรือ วิถีทางแบบรักต่างเพศ

 

มาถึงตรงนี้ลองกลับไปดูข้อเสนอของนทีตั้งแต่ตอนเริ่มต้นดูว่ามันผิดพลาดยังไงบ้าง ทั้ง " ประวัติศาสตร์เพศวิถี เล่ม 1 เจตจำนงในความรู้" ของฟูโกต์ ซึ่งฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษก็ออกวางขายตั้งแต่ปี พ. ศ. 2521 หลายปีดีดักก่อนที่นทีจะไปเรียนเมืองนอกเมืองนา หรือ " ยุ่งฉิบหาย เพศสถานะ : สตรีนิยมกับการล้มล้างของอัตลักษณ์" ของบัตเลอร์ ก็ตีพิมพ์ครั้งแรกปี พ. ศ. 2532

 

ตอนนั้นนทีก็มีชื่อเสียงโด่งดังทั้งในฐานะที่เป็นเกย์นักกิจกรรมผู้ออกมารณรงค์ให้สังคมไทยรู้ถึงพิษภัยของโรคเอดส์ นทีมีข้อเขียนในนิตยสารเกย์หลายฉบับ เดินทางไปร่วมกิจกรรมกับเกย์ในโลกตะวันตกหลายต่อหลายครั้ง ผมว่านทีคงจะเคยผ่านหูผ่านตาหนังสือทั้งสองเล่มนี้บ้าง อย่างน้อยก็ของฟูโกต์ ผมว่าถึงตอนนี้ก็ยังไม่สายที่นทีจะหยิบหนังสือทั้งสองเล่มมาอ่าน

 

นี่ผมไม่ได้แนะนำนทีคนเดียวนะครับ บรรดาเกย์ หรือใครก็ตามที่จงใจเรียกตัวเองว่า " รักเพศเดียวกัน" ทั้งหลาย หรือคิดอยากจะทำวิจัย ศึกษาเรื่องเพศใน พ. ศ. นี้ หรือนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวเรื่องเพศ ๆ ทั้งหลายในประเทศนี้ น่าจะได้อ่านหนังสือทั้งสองเล่มนี้ดูก่อน แล้วย้อนกลับมาดูว่าคุณกำลังคิด กำลังทำอะไรกันอยู่

 
-------------------------------------------------------------------------------------------
(1). ดูข่าวนี้ได้ที่ http://www.manager.co.th/asp-bin/mgrView.asp?NewsID=9470000050795
 
(2). ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน เทอดศักดิ์ ร่มจำปา. (2545) " วาทกรรมเกี่ยวกับ " เกย์" ในสังคมไทย พ. ศ. 2508–2542" วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ ( บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย).
 
(3). เจ้าพระยาทิพากรวงศ์. (2504) พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 เล่ม 2. ( กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา ), หน้า 132.
 
(4). เทอดศักดิ์ ร่มจำปา. (2545) อ้างแล้ว, หน้า 59-68. และใน เทอดศักดิ์ ร่มจำปา. (2546) " จาก
‘ กะเทย’ ถึง ‘ เกย์’ ประวัติศาสตร์ชายรักร่วมเพศในสังคมไทย," ใน วารสารอักษรศาสตร์ ( ฉบับ ความรัก ความรู้ ผู้หญิง ผู้ชาย) ปีที่ 32 ฉบับที่ 1 ( มกราคม- มิถุนายน ):303-335. ได้ ระบุว่า " คดีฆาตกรรมดาเรล เบอริแกน บรรณาธิการและเจ้าของหนังสือพิมพ์บางกอกเวิลด์ ที่ปรากฏเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ในช่วงเดือนตุลาคม พ. ศ. ๒๕๐๘ ได้ทำให้มีการหยิบยืมคำศัพท์ภาษาอังกฤษเข้ามาใช้เรียกผู้ที่เกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมเบอริแกน นั่นก็คือชายที่ขายบริการทางเพศให้กับเบอริแกน อย่างไรก็ตามคำว่าเกย์ที่หยิบยืมเข้ามานี้ก็มีความหมายที่เฉพาะ ดังจะเห็นได้ว่าในระยะแรกหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเรียกคนกลุ่มนี้ว่า " กะเทยหนุ่ม" ในเวลาต่อมาหลังจากที่ได้ไปสัมภาษณ์กะเทยขายบริการทางเพศในย่านต่าง ๆ แล้ว ไทยรัฐจึงเปลี่ยนมาเรียกคนกลุ่มนี้ว่าเกย์ คอลัมนิสต์ชื่อดังของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐในช่วงเวลานั้นได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างเผ็ดร้อน ไม่ว่าจะเป็น " สีเสียด" หรือ "999" ภาพพฤติกรรมรักร่วมเพศหรือเกย์ที่คอลัมนิสต์เหล่านี้เข้าใจคือ ชายที่ขายบริการให้กับชาวต่างชาติ และในบางครั้งก็ขายบริการทางเพศให้กับลูกค้าที่เป็นคนไทยด้วย คนกลุ่มนี้เป็นฆาตกรที่สามารถจะก่อคดีฆาตกรรมขึ้นได้ทุกเมื่อ อันเป็นปัญหาของสังคมที่ควรจะเร่งรีบแก้ไขโดยด่วน อย่างไรก็ตามข่าวคดีฆาตกรรมเบอริแกนปรากฏในหนังสือพิมพ์ในช่วงเวลาเพียงเดือนเดียว จึงน่าจะเป็นสาเหตุที่อธิบายได้ว่าการปรากฎตัวของผู้ที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศในระยะเวลาต่อมา ไม่ได้ใช้คำว่าเกย์นิยามผู้ที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศเหล่านี้ ความทรงจำที่ลางเลือนเกี่ยวกับพฤติกรรมรักร่วมเพศคือภาพลักษณ์ของฆาตกรที่อาจจะก่ออาชญากรรมได้ทุกเมื่อ"
 
(5). ดูการวิเคราะห์เรื่องนี้ได้จาก เทอดศักดิ์ ร่มจำปา. (2545) อ้างแล้ว, หน้า 68-87.
 
(6). Halperin, David M. (1990) One Hundred Years of Homosexuality And Other Essays On Greek Love. ( New York & London: Routledge).
 
(7). Herdt, Gilbert. (1981) Guardians of the Flutes. (New York: McGraw Hill).
 
(8). Butler, Judith. (1990) Gender Trouble: Feminism and the Subversion of Identity. ( New York: Routledge).
 
(9). Foucault, Michel. (1978) The History of Sexuality, Vol.1, An Introduction. ( New York: Vintage Books), 1980. ดูงานเขียนภาษาไทย ( เรียงตามปีที่พิมพ์) ส่วนหนึ่งที่กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ไว้พอสังเขป ได้แก่ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ . (2528) " แนะนำและวิจารณ์หนังสือ The History of Sexuality Vol. 1: An Introduction," ใน การเมืองมนุษย์: รัฐศาสตร์ทวนกระแส. ( กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า), หน้า 207-221. , ปิยฤดี และ ไชยันต์ไชยพร. (2541) " เซ็กส์: กิจกรรมที่คุณชอบทำ แต่ไม่ชอบพูด! เพศ และการปลุกอารมณ์เพศ ร่างกายและพระเจ้า การเล่นกับร่างกาย" ใน เผยร่าง- พรางกาย: ทดลองมองร่างกายในศาสนา ปรัชญาการเมือง ประวัติศาสตร์ ศิลปะ และมานุษยวิทยา. บรรณาธิการโดย ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล. ( กรุงเทพฯ: คบไฟ), หน้า 91-99. , นพพร ประชากุล. (2547) " คำนำเสนอ: ฟูโกต์กับการสืบสาวความเป็นมาของสมัยใหม่" ใน มิแช็ล ฟูโกต์. ร่างกายใต้บงการ : ปฐมบทแห่งอำนาจในวิถีสมัยใหม่. แปลจากภาษาฝรั่งเศสโดย ทองกร โภคธรรม. บรรณาธิการแปลโดยนพพร ประชากุล. กรุงเทพฯ: คบไฟ, หน้า (16)-(18).
 

(10). แนวคิดเหล่านี้ ขอแนะนำเพื่อการเริ่มต้นที่ดี อ่านเข้าใจง่าย ซึ่งผมนำมาใช้อธิบาย ได้แก่ Gauntlett, David. (2002 ) Media, Gender and Identity: An introduction. (London and New York : Routledge ). โดยเฉพาะบทที่ 7 "Queer Theory and Fluid Identities "

 
(11). นับตั้งแต่สมัยกรีกมีคำที่มีความหมายถึงลักษณะที่ผสมผสานระหว่างลักษณะของหญิงและชายคือคำว่า androgyny ซึ่งเป็นคำที่ได้มาจากสุนทรพจน์ของอริสโตเฟรนีส (Aristophanes) ใน Symposium ของเพลโต (Plato) ในขณะที่คำว่า hermaphrodite มีต้นกำเนิดมาจากนิทานเทพปกรนัมกรีกเรื่อง Hermaphroditus และน้ำพุ Salmacis ใน Metamorphosis ของ Ovid ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Nederman, Cary J. & True, Jacqui. (1996) "The Third Sex : The Idea of the Hermaphrodite in Twelfth-Century Europe," Journal of the History of Sexuality. Volume 6, Number 4 (April):497-517.