Skip to main content

ฟื้นฝอยหาตะเข็บ เลาะฝีเย็บเรื่องเพศ

คอลัมน์/ชุมชน


ประเด็นที่ร้อนที่สุดเกี่ยวกับพฤติกรรมรักร่วมเพศเมื่อ ๔ เดือนก่อนคือ การที่รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายกล้า สมตระกูล ออกมาประกาศว่าพฤติกรรมรักร่วมเพศเป็นพฤติกรรมของบุคคลที่ ไม่ปกติ มีการแสดงความรักที่ ไม่ถูกต้อง อย่างเปิดเผยถึงขั้นทำอนาจารกันในที่โล่งแจ้ง มีการยกพวกไล่ตบตีแย่งแฟนกัน บางส่วนก็ขายบริการทางเพศ ทั้งนี้เป็นผลมาจากสื่อที่ให้การยอมรับพฤติกรรมรักร่วมเพศ จนทำให้เกิดการระบาดจนกลายเป็นแฟชั่น ขัดต่อ วัฒนธรรมไทยอันดีงาม กระทรวงวัฒนธรรมจะรณรงค์อย่างจริงจังไม่ให้มีการแพร่ ระบาด ไปมากกว่านี้ และกระทรวงวัฒนธรรมจะมีการจัดระเบียบเจ้าหน้าที่ ไม่รับผู้ที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศเข้าทำงาน และจะมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด เพื่อให้กระทรวงเป็นแบบอย่างที่ ถูกต้อง กับสังคม เนื้อหาของข่าวนี้ปรากฏในหนังสือพิมพ์สองฉบับคือหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ และ ไทยโพสต์ ฉบับประจำวันศุกร์ที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๗


เช้าวันเดียวกันรายการเรื่องเล่าเช้านี้ได้หยิบประเด็นเรื่องนี้ขึ้นมาพูด และให้ผู้ชมทางบ้านโหวตเข้ามาแสดงความคิดเห็นผ่านทาง SMS ว่าเห็นด้วยกับกระทรวงวัฒนธรรมหรือไม่ ผลโหวตปรากฏว่ามีผู้ไม่เห็นด้วยถึงเกือบร้อยละ ๗๐ และมีผู้เห็นด้วยร้อยละ ๓๐ คงจะเป็นที่ปลาบปลื้มกับกลุ่มผู้ที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศไม่น้อยว่ามีผู้ที่ เห็นใจ เกินกว่าครึ่งเช่นนี้ ผมไม่แน่ใจว่าจำนวนร้อยละ ๗๐ ที่โหวตเข้ามานี้เป็นผู้ที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศมากน้อยเพียงใด และก็น่าเสียดายที่ไม่สามารถที่จะตรวจสอบได้


ในเวลาต่อมากระทรวงวัฒนธรรมก็ออกมาแถลงข่าวว่า เป็นความผิดพลาดของสื่อเอง แต่ก็น่าแปลกใจที่หนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับมีเนื้อหาของข่าวที่แทบจะตรงกันบรรทัดต่อบรรทัด ถ้าเป็นความผิดพลาดของสื่อจริง ก็เป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์อย่างมาก ที่สำนักข่าวสองแห่งนั่งเทียนเขียนข่าวออกมาได้เหมือนกันราวกับว่าได้ฟังมาจากคน ๆ เดียวกันเช่นนี้


สำหรับผมแล้วข่าวนี้จะมาจากไหน ใครเป็นคนพูด พูดจริงรึไม่จริงไม่ใช่ประเด็น ความสำคัญอยู่ที่มันปรากฏผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ แสดงทัศนคติที่ยังมองว่าพฤติกรรมรักร่วมเพศเป็นสิ่งที่ผิดปกติ ผิดธรรมชาติ และควรจะยุติการแพร่ระบาดของพฤติกรรมนี้อย่างเร่งด่วน ในฐานะที่เป็นนักประวัติศาสตร์ศึกษาเรื่องนี้โดยตรง ข่าวนี้ไม่น่าตื่นเต้นตกใจเท่าไหร่ เพราะในอดีตก็มีข่าวทำนองนี้ปรากฏให้เห็นนับตั้งแต่ปี ๒๕๐๐ เป็นต้นมา ไม่ว่าจะกรณีข่าวการจับกุมชายขายบริการทางเพศในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ข่าวการฆาตกรรมบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกเวิลด์ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ข่าวการประกวดกะเทยปลายปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ข่าวการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ จนถึงต้นทศวรรษ ๒๕๓๐ ข่าวสถาบันราชภัฏออกมาประกาศไม่ให้ผู้ที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศเข้าศึกษา ต่อในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ข่าวตุ๋ย และข่าวการฆาตกรรมนักวิชาการที่มีชื่อเสียงในปี พ.ศ. ๒๕๔๑


 ข่าวเหล่านี้มีลักษณะร่วมหลายประการ หนึ่ง มองว่าพฤติกรรมรักร่วมเพศเป็นสิ่งที่ผิดปกติ ผิดธรรมชาติ สองพฤติกรรมรักร่วมเพศขัดต่อ วัฒนธรรมไทยอันดีงาม และสาม จะหาวิธีที่จะไม่ให้พฤติกรรมรักร่วมเพศแพร่ระบาดออกไปได้อย่างไร โดยส่วนตัวแล้วผมก็ไม่ทราบว่าไอ้ วัฒนธรรมไทยอันดีงาม นี้มันจะเริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ เท่าที่รู้ในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ คงจะยังไม่มีวัฒนธรรมไทยอันดีงาม เพราะหนังสือพิมพ์ ศรีกรุง ฉบับประจำวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๘ ได้รายงานข่าวชายผู้หนึ่งตั้งซ่องโสเภณีเด็กชาย เนื้อหาของข่าวถ้าจะเปรียบไปก็เหมือนกับการนำเสนอข่าวการจับกุมโสเภณีเด็กหญิงในปัจจุบัน คือใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ปราศจากแนวคิดเรื่องพฤติกรรมรักร่วมเพศเป็นสิ่งผิดปกติ รึขัดต่อวัฒนธรรมไทยอันดีงาม และควรจะกำจัดให้หมดไปได้อย่างไร


ถ้าในปี พ.ศ.๒๔๗๘ ยังไม่มีวิธีคิดที่ว่าพฤติกรรมรักร่วมเพศเป็นสิ่งที่ผิดปกติขัดกับวัฒนธรรมไทยอันดีงาม คำถามที่น่าสนใจคือ " แล้วไอ้วิธีคิดแบบนี้มันมาจากไหน " จากข่าวการจับกุมชายขายบริการทางเพศในช่วงปี พ.ศ.๒๕๐๐ นายแพทย์สุด แสงวิเชียร ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกายวิภาคศาสตร์ได้เข้าไปตรวจสอบความผิดปกติทางร่างกายของคนกลุ่มนี้อย่างละเอียด และพบว่าคนกลุ่มนี้ไม่มีความผิดปกติทางกาย แต่น่าจะมีความผิดปกติทางจิต แต่เนื่องจากท่านไม่เชี่ยวชาญทางด้านนี้ ท่านก็ยังบอกไม่ได้ว่าแล้วมันจิตผิดปกติยังไง จึงเป็นหน้าที่ของนายแพทย์อรุณ ภาคสุวรรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ธนบุรี จะต้องเข้ามาอธิบาย ท่านบอกว่าเป็นเพราะสามสาเหตุสำคัญ คือ เป็นความผิดปกติทางพันธุกรรม เป็นโรคต่อมไม่มีท่อ และสุดท้ายเป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตใจที่เกิดมาจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ



ทีนี้ก็คงจะทราบเลา ๆ แล้วว่าการอธิบายว่าพฤติกรรมรักร่วมเพศเป็นความผิดปกตินี้เริ่มตั้งแต่ตอนนี้นี่เอง แล้วความรู้ที่คุณหมอทั้งสองท่านนำมาอธิบายนั้นเอามาจากไหน ก็จากประเทศสหรัฐอเมริกา มหามิตรของรัฐบาลไทยในขณะนั้น เพราะอาจารย์หมอทั้งสองท่านได้ไปร่ำเรียนวิชาความรู้ทางการแพทย์ด้วยทุนสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาของเรานั่นเอง เป็นที่น่าสังเกตว่าในขณะที่เรารับคำอธิบายเรื่องพฤติกรรมรักร่วมเพศจากอเมริกา เราก็อธิบายความตกต่ำทางด้านศีลธรรมอันเป็นผลมาจากการเข้ามาของชาวอเมริกัน พร้อมวัฒนธรรม และธรรมเนียมปฏิบัติบางอย่างที่นำความเสื่อมโทรมทางด้านศีลธรรมจรรยาเข้ามาสู่สังคมไทย และในช่วงเวลานี้นี่เองที่ วัฒนธรรมไทยอันดีงาม ปรากฏตัวขึ้นมา


ตอนนี้เราก็ได้คำอธิบายสาเหตุของพฤติกรรมรักร่วมเพศจากวงการแพทย์ที่ใช้ความรู้จากอเมริกาเข้ามาอธิบาย และเราก็มี วัฒนธรรมไทยอันดีงาม ไว้เป็นบรรทัดฐาน หนังสือพิมพ์เป็นส่วนสำคัญที่เผยแพร่วิธีคิดเช่นนี้ออกไปในวงกว้าง โดยเฉพาะในกรณีข่าวการประกวดกะเทยในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ มีความเคลื่อนไหวจากจิตแพทย์ที่ นำเข้า ความรู้เกี่ยวกับคำอธิบายความผิดปกติทางจิตของผู้ที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศครั้งมโหฬารจากอเมริกา และความรู้ชุดนี้เองที่จะเป็นรากฐานที่ใช้อธิบายว่า คนเป็นเกย์ เป็นกะเทยได้อย่างไรจวบจนทุกวันนี้


นับตั้งแต่วิทยาศาสตร์การแพทย์เข้ามาจัดการอธิบายสาเหตุของพฤติกรรมรักร่วมเพศ ด้วยทฤษฎีต่าง ๆ มากมายถือได้ว่าเป็นการสถาปนา homophobia หรือที่เรียกว่าอาการเกลียดกลัวรักร่วมเพศให้ฝังรากลึกลงในความทรงจำของมนุษย์ ความพยายามที่จะเข้าใจ และรักษาคนที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศอย่าง " เห็นใจ " กลายเป็นหอกแหลมที่คอยทิ่มแทงให้ผู้ที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศอยู่ในบ่วงแห่งความผิดปกติ วิปริต ที่ต้องขอความกรุณาและเห็นใจจากหมอผู้ " ใจดี " ความพยายามที่จะศึกษาสาเหตุเป็นการยืนยันว่าการมีพฤติกรรมรักร่วมเพศนั้น " เป็นโรค " แทนที่จะมาค้นหาสาเหตุของพฤติกรรมรักร่วมเพศ พวกหมอตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ไม่เคยคิดที่จะตั้งคำถามกับตัวเองว่าการแบ่งแยกคนออกเป็นรักร่วมเพศ รักต่างเพศนั้นเกิดจากอะไร มีฐานวิธีคิดแบบไหนกัน


เห็นได้ในปัจจุบันว่า ความพยายาม " รักษา " ผู้ที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศของจิตแพทย์เหล่านั้นได้ก่อโศกนาฏกรรมอย่างใหญ่หลวงต่อมนุษยชาติอย่างไรบ้าง และความพยายามเหล่านั้นล้มเหลว และไร้สาระเพียงใด นี่เป็นประวัติศาสตร์อัปยศของวงการแพทย์ที่พยายามจะกู้คืนด้วยวลีที่ว่า " ในปัจจุบันวงการจิตแพทย์ไม่ถือว่ารักร่วมเพศเป็นโรคจิตอีกต่อไปแล้ว " ที่น่าขำไปกว่านั้น คือผู้ที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศยังกลับใช้คำขอโทษนี้มายืนยันสิทธิอันชอบธรรมของตัวเองอย่างหน้าตาเฉย แถมยังคงรู้สึกสำนึกขอบคุณในความเมตตาของจิตแพทย์ที่อุตส่าห์ออกมาประกาศว่าเป็นรักร่วมเพศนั้นปกติ


การศึกษาสมมุติฐานของการเป็นรักร่วมเพศของวงการแพทย์ที่ผ่านมาเป็นการตั้งสมมุติฐานของโรค แล้วเลือกหาตัวอย่างมาสนับสนุนสมมุติฐานนั้น ไม่มีแพทย์คนไหนที่จะศึกษาเด็กคนหนึ่งตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แล้วมีพฤติกรรมรักร่วมเพศ เพราะถ้าทำอย่างนั้นคงต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า ๓๐ ปี จึงจะสามารถตีพิมพ์งานค้นคว้าวิจัยออกมาได้ นอกจากนี้แล้วการศึกษาในห้องแล็บเกี่ยวกับพฤติกรรมรักร่วมเพศในสัตว์ ไม่เคยตระหนักถึงความแตกต่างระหว่าง เพศ (sex), บทบาททางเพศ (sex role), เพศสภาวะ (gender), และอัตลักษณ์ทางเพศ (sexual identity) ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดคือการทดสอบเรื่องพฤติกรรมรักร่วมเพศของหนู ของพื้น ๆ แค่นี้หมอยังไม่รู้แล้วจะมาทำวิจัยค้นหาสาเหตุพฤติกรรมรักร่วมเพศไปทำไมให้ป่วยการ



สิ่งที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้ถือได้ว่าเป็นปรากฏการณ์จริงที่เกิดขึ้นในโลก และในสังคมไทยที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ด้วยมีหลักฐานยืนยันสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้อย่างชัดเจน คำถามต่อไปที่น่าสนใจกว่านั้นคือระบบวิธีคิดที่ครอบงำ และเป็นอรรถาธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้คืออะไร หลายคนคงจะคุ้นชินกับคำว่ารักร่วมเพศ (Homosexual) และรักต่างเพศ (Heterosexual) ระบบคู่ต่างนี้เป็นอรรถาธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยระบบตรรกะที่บอกว่า รักร่วมเพศนั้นผิดปกติ และรักต่างเพศนั้นปกติ


ประเด็นที่จะพูดต่อไปนี้ไม่ใช่เพื่อที่จะบอกว่าอะไรปกติ อะไรผิดปกติ แต่ผมพยายามจะบอกว่า รักร่วมเพศ และรักต่างเพศ นั้นเป็นเพียง วิธีคิดแบบหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นการศึกษาถึงที่มาของรักร่วมเพศ จึงไม่สามารถที่จะตัดขาดได้จากการศึกษาที่มาของรักต่างเพศด้วยเช่นกัน ทั้งรักร่วมเพศ และรักต่างเพศ ต่างก็อยู่บน ระบบความหมาย หรือ ชุดการอธิบายเดียวกัน มีปัญหาเท่ากัน และต่างก็ต้องการการศึกษาวิเคราะห์และทำความเข้าใจไม่ต่างกันเลย การแยกกันอย่างเด็ดขาดระหว่างรักต่างเพศและรักร่วมเพศไม่ได้เป็นสิ่งที่คงที่ ไม่เปลี่ยนแปลง หรือมีลักษณะสากลพอที่จะอธิบายความต้องการทางเพศของมนุษย์ได้ รักร่วมเพศ และรักต่างเพศไม่ได้เป็นเพียงวิธีคิดแบบใหม่ที่จัดจำแนกผู้คน แต่เป็นรูปแบบความสัมพันธ์แบบใหม่ของมนุษยชาติที่พัฒนาขึ้นมาในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙


ความสัมพันธ์ทางเพศของมนุษย์นั้นมีความหลากหลายกว่านั้นมากมายมหาศาล ในชีวิตจริงของผู้หญิง ผู้ชาย เกย์ กะเทย เลสเบี้ยน ก็มีความแตกต่างหลากหลายของวิธีปฏิบัติเรื่องเพศที่ไม่ยึดติดอยู่กับกรอบรักต่างเพศ หรือรักร่วมเพศเท่านั้น ยิ่งเรารับฟังประสบการณ์ทางเพศของคนใกล้ชิดมากขึ้นเท่าใด เราก็จะพบว่าความสัมพันธ์ทางเพศนั้นมีความซับซ้อนและหลากหลายมากกว่าที่จำกัดให้อยู่แค่ในกรอบ รักร่วมเพศ หรือ รักต่างเพศ ได้


อีกประเด็นคำถามหนึ่งที่น่าสนใจ คือวิธีคิดที่ว่าการเป็นรักร่วมเพศนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือเป็นสิ่งสร้างทางสังคม การถกเถียงในประเด็นดังกล่าวอยู่ภายใต้กรอบคิดของนักคิดแบบ Essentialists และ Constructionists ฝ่ายแรกเชื่อว่าการมีพฤติกรรมรักร่วมเพศเป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติไม่ต่างไปจากกรุ๊ปเลือด หรือลักษณะทางพันธุกรรม เป็นผลมาจากฮอร์โมน ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าความแตกต่างของสถานที่ และเวลาได้ก่อให้เกิดระบบความหมายเรื่องเพศที่แตกต่างกัน


สำหรับตัวผมเองแล้วค่อนข้างที่จะเชื่อแบบพวก Constructionists มากกว่า ด้วยการศึกษาในศาสตร์แขนงมานุษยวิทยา และประวัติศาสตร์ แสดงให้เห็นว่ารูปแบบความสัมพันธ์ทางเพศของมนุษย์มีความแตกต่างกันในแต่ละวัฒนธรรม


เช่น ความสัมพันธ์แบบ paederast ของผู้ชายกรีกในยุค classic ที่แต่งงานแล้ว แต่ก็ยังคงมีความสัมพันธ์ทางเพศกับเด็กหนุ่มแรกรุ่น ก็ไม่เหมือนกับชายชาวอินเดียนแดงเผ่า berdache ที่ในวัยเด็กมีความสัมพันธ์ทางเพศกับชายที่มีอายุมากกว่าโดยเป็นฝ่ายถูกกระทำ หรือเหมือนกับชนเผ่าใน New Guinea ที่เด็กชายอายุ 8-15 ปี ใช้ปากสำเร็จความใคร่ให้กับชายที่มีอายุมากกว่าเพื่อดูดดื่มเอาความเป็นชายและความเข้มแข็งของนักรบเข้ามาไว้ในตัว ชายที่มีอายุมากกว่าก็มักจะแต่งงานกับผู้หญิงและมีลูกหลานสืบทอดเผ่าพันธุ์ต่อไป ผู้ชายในสามสังคมที่กล่าวมานี้มีอะไรที่เหมือนกันบ้างกับคนที่เป็นรักร่วมเพศในปัจจุบัน คงจะคล้าย ๆ กันนี้ถ้ากล่าวว่าชาวนาในยุโรปยุคกลางใช้มือทำงาน กับคนใช้แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่ใช้มือทำงานเช่นกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าทั้งชาวนาและคนงานเหล่านี้เป็นชนชั้นกรรมาชีพเหมือนกัน


สิ่งที่น่าสนใจคือ ถึงแม้ว่าจะมีชายที่มีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้ชายด้วยกันหลายรูปแบบแตกต่างกันไปในแต่ละสังคม และช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ แต่มีเพียงรักร่วมเพศในยุคปัจจุบันเท่านั้นที่มีตัวตน มีอัตลักษณ์ทางเพศ หรือพูดง่าย ๆ ว่าเป็นบุคคลประเภทหนึ่งที่จำแนกออกมาด้วยการมีความสัมพันธ์ทางเพศกับคนเพศเดียวกัน ถึงแม้ว่าวิธีคิดแบบ Constructionists จะไม่เป็นไปอย่างที่อวดอ้างไว้ทั้งหมดข้างต้น แต่ความสำคัญของวิธีคิดเช่นนี้อยู่ที่กระตุ้นให้เราจัดวางระยะห่างระหว่างตัวเรา และสิ่งที่เราคิดว่าเรา " รู้ " เกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศ เพื่อที่จะได้มองเห็นความซับซ้อนและหลากหลายของความเป็นเพศที่มากไปกว่า รักร่วมเพศ หรือรักต่างเพศ



ทั้งหมดทั้งสิ้นที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงเศษเสี้ยวที่ได้จากการศึกษาค้นคว้า และพยายามทำความเข้าใจวิธีคิดเรื่องเพศของมนุษย์นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การแก้ปัญหาของผมไปไกลกว่ามานั่งเถียงกันว่าอะไรปกติ อะไรผิดปกติ การทำเช่นนั้นไม่ต่างจากการพายเรือในอ่าง หรือการนับเลขที่ถ้าไม่ใช่หนึ่ง ก็ต้องเป็นสอง โดยตัดขาดปรากฏการณ์อื่น ๆ ที่อยู่นอกอ่างหรือตัวเลขที่มากกว่าสองขึ้นไป


ข้อเสนอของผมก็คือ เราควรจะหันมาให้ความสำคัญกับการศึกษาเรื่องเพศที่นอกเหนือไปจากความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ที่บอกได้แต่เพียงว่ามีเพียงสองเพศสรีระเท่านั้นที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องปฏิวัติการศึกษาวิชา เพศศึกษา ให้ขยายขอบเขตออกไปให้กว้างกว่าเดิมจากที่เคยเป็นอยู่ ถึงเวลาแล้วที่เราควรจะตั้งคำถามกับสิ่งที่เราคิดว่าเรารู้จักมันดี เช่น ระบบความหมายเรื่องเพศ ระเบียบวิธีคิดมาตรฐานต่าง ๆ ที่เรายึดมั่นถือมั่นว่าจริง ว่าเป็นธรรมชาตินั้นมันมีคุณสมบัติเหล่านั้นจริง ๆ หรือ


หากเรายังคงอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นด้วยกรอบวิธีคิดแบบเดิม ๆ ความเข้าใจเดิม ๆ คงเป็นไปได้ยากที่จะอยู่กันด้วยความเข้าใจ อย่างที่อยากจะให้เป็นกัน เพราะความเข้าใจที่ว่านี้ ไม่ใช่เข้าใจคนอื่นที่แตกต่างจากเรา แต่เข้าใจตัวเราที่คิดว่าเขาแตกต่างออกไปอย่างไรต่างหาก