Skip to main content

จาก Troy ถึง Alexander

คอลัมน์/ชุมชน


บทนำ


ดูจากชื่อเรื่อง ผู้อ่านก็คงจะพอเดา ๆ ได้แล้วว่าผมคงจะต้องพูดถึงหนังสองเรื่องนี้อย่างแน่นอน และเมื่อบทความนี้มาปรากฏในคอลัมน์ลักเพศวิพากษ์ ก็คงจะไม่ใช่เป็นการวิจารณ์หนังเรื่องนี้ในแง่ความสนุก รึการดำเนินเรื่องแต่อย่างใด ในบทความนี้จะหยิบยกเอาประเด็นเดียวที่เกี่ยวเนื่องกับหนังทั้งสองเรื่องนี้คือ ระบบความหมายเรื่องเพศ ในสมัยกรีกโบราณมาพูดกัน ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สำคัญดังจะเห็นได้จากมีการหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่า อเคลิส (Achilles) ตัวละครเอกในเรื่อง Troy เป็นเกย์รึเปล่า ความสัมพันธ์ของเขากับพาโทคลุส (Patroclus) เป็นอย่างไร เช่นเดียวกับคำถามที่ว่า อเล็กซานเดอร์ (Alexander) เป็นเกย์รึเปล่า รึเป็นไบเซ็กช่วล กันแน่


สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะให้ทุกท่านตระหนักไว้เป็นลำดับต้น ๆ เลยว่า คนในสมัยกรีกโบราณ ที่อยู่ห่างจากเราเป็นพันๆ ปีนั้นมีความแตกต่างจากเรามากมาย เอาแค่ง่ายๆ เค้าแต่งตัวไม่เหมือนเรา กินอาหารคนละแบบกับคนในปัจจุบันกิน อยู่บ้านคนละแบบกับเรา และที่สำคัญที่สุดคือ มีระบบความหมายเรื่องเพศคนละชุดกับเรา ดังนั้นการที่เราเอามาตรฐานระบบความหมายเรื่องเพศของคนในยุคปัจจุบันเข้าไปอธิบายคนในสมัยกรีก ซึ่งเค้าใช้ระบบความหมายเรื่องเพศคนละชุดกับเรา จึงเป็นอะไรที่ผิดฝาผิดตัว และเป็นการมองอดีตด้วยสายตาของปัจจุบัน จนละเลยความแตกต่าง และนัยยะสำคัญ ของสภาพสังคมที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง


ที่ผมอยากจะบอกตรงนี้ก่อนที่จะลงลึกไปในรายละเอียด ก็คงจะต้องบอกว่า ทั้งอเคลิส และอเล็กซานเดอร์ ไม่ได้เป็นเกย์อย่างแน่นอน ส่วนอะไรจะเป็นยังไงคงจะต้องให้ท่านผู้อ่านติดตามรายละเอียดจากบทความขนาดยาวหลายตอนจบนี้ต่อไป ผมรับรองว่าจะได้พบกับความมหัศจรรย์พันลึกของระบบความหมายเรื่องเพศของคนในสังคมกรีกโบราณอย่างพิศดารเลยทีเดียว


ก่อนอื่นผมคงจะต้องวาดภาพโครงเรื่องคร่าวๆ ให้ผู้อ่านเข้าใจก่อนว่าผมจะพูดถึงอะไรยังไง ในส่วนแรกผมจะพูดถึง Troy ก่อน เพราะเมื่อลองพล็อตเวลาที่เรื่อง ทรอย (Troy) และ อเล็กซานเดอร์ เกิด ลงบนเส้นกาลเวลาแล้ว จะพบว่า เหตุการณ์ในเรื่องทรอย นั้นเกิดขึ้นก่อนที่ อเล็กซานเดอร์ จะเกิดหลายร้อยปี ทรอย นั้นเป็นตำนานเล่าขานของกรีกโบราณ เป็นมหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่ และเมื่อลองเทียบเคียงเวลาที่เนื้อเรื่องดำเนินอยู่นั้นก็ตรงกับปลายยุคทองแดง คือยุคต้นๆ ที่มนุษย์เริ่มพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ขึ้นมาถึงขีดสุดในยุคโลหะทั้งหมด ก่อนที่จะเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ เรียกได้ว่าเป็นยุคต้นๆ ของอารยธรรมกรีกเลยทีเดียว ในส่วนแรกนี้ผมจะพูดถึงตำนาน Iliad อันเป็นที่มาของบทภาพยนตร์เรื่อง Troy โดยเทียบเคียง อีเลียด (Iliad) กับตำนานอีกสองเรื่องที่เกิดขึ้นในระยะเวลาใกล้ ๆ กัน คือ กิลกาเมซ (Gilgamash) และซามูเอล (Books of Samuel) เพื่อแสดงให้เห็นถึงลักษณะพื้นฐานของระบบความหมายเรื่องเพศ โดยเฉพาะในกรณีความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายสองคน ในยุคแรกเริ่มของอารยธรรมมนุษย์ในแถบนั้นว่าเป็นอย่างไร


ในส่วนที่สองจะพูดถึงระบบความหมายเรื่องเพศในสมัยกรีก ซึ่งก็คือในช่วงที่ อเล็กซานเดอร์ มีชีวิตอยู่ มาดูกันว่าคนกรีกในสมัยนั้นเค้ามีระบบความหมายเรื่องเพศอย่างไร แตกต่างไปจากปัจจุบันอย่างไรบ้าง แล้วมันพิศดารพันลึกอย่างไร ก่อนอื่นคงจะต้องขอร้องแกมบังคับให้ท่านผู้อ่านกรุณามองว่าระบบความหมายเรื่องเพศของท่านในปัจจุบันนี้เป็นเพียงชุดของความคิดเรื่องเพศที่เกิดขึ้นและพัฒนามาเมื่อไม่กี่ร้อยปีมานี้เอง ไม่ได้เป็นธรรมชาติ สถิตถาวรอย่างที่เข้าใจกัน ไม่เช่นนั้นแล้ว ท่านผู้อ่านจะสับสนงุนงงเอาของใหม่ไปปนกับของเกาสับสนปนเป ยุ่งเหยิงจนอาจจะไม่เข้าใจในสิ่งที่ผมพยายามจะบอกเลย


ประการสุดท้ายที่คงจะต้องแถลงกับท่านผู้อ่านก่อนที่จะได้ติดตามอ่านโดยพิศดารต่อไปคือ ทั้งหมดทั้งมวลของสิ่งที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้ ผมได้สกัดมาจากหนังสือเรื่อง หนึ่งร้อยปีรักร่วมเพศ (One Hundred Years of Homosexuality) ของเดวิด เอ็ม ฮัลเพริน (David M. Halperin) ที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๓ โน่น สิบกว่าปีมาแล้ว คงต้องบอกก่อนว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ได้พรรณนาในรายละเอียดว่าสภาพสังคมและระบบความหมายเรื่องเพศในสมัยกรีกนั้นเป็นอย่างไร หนังสือเล่มนี้หยิบบางประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับระบบความหมายเรื่องเพศในสังคมกรีกโบราณขึ้นมา แล้วผู้เขียนก็พยายามสืบสาวว่าใครตีความอะไรไว้อย่างไร และเค้าเห็นต่างออกไปอย่างไรบ้าง


หนังสือเล่มนี้มี ๖ บท สองบทแรกท้าวความถึงชื่อหนังสือ คือ หนึ่งร้อยปีรักร่วมเพศ นับตั้งแต่มีการสถาปนาคำว่า Homosexual ขึ้นมาใช้ในปี ค.ศ. 1869 ถึงปีที่ผู้เขียนเริ่มศึกษาวิจัยเรื่องนี้ก็ร้อยกว่าปีพอดี บทที่ ๒ "รักร่วมเพศ" : สิ่งสร้างทางสังคม (บทสนทนากับ ริชาร์ด ชไนเดอร์ ) ("Homosexuality" : A Cultural Construct (An Exchange with Richard Schneider)) เป็นบทสัมภาษณ์ของผู้เขียนเกี่ยวจุดยืนทางวิชาการของผู้เขียน ซึ่งอยู่ในแนว constructionist


ตั้งแต่บทที่ ๓ ถึง บทที่ ๖ จะเป็นการหยิบประเด็นถกเถียงทางวิชาการเรื่องระบบความหมายเรื่องเพศของสังคมกรีกโบราณขึ้นมาพูดกัน บทที่ ๓ สองมุมมองของความรักชาวกรีก : ฮาราล พาทเซอร์ และ มิเชล ฟูโก้ (Two Views of Greek Love : Harald Patzer and Michel Foucault) บทนี้ผู้เขียนศึกษาเปรียบเทียบการศึกษาเรื่องการมองเรื่องความรักของคนในสังคมกรีกโบราณของ ฮาราล พาทเซอร์ กับ มิเชล ฟูโก้ ถ้าติดตามงานเขียนของ ฮัลเพริน ก็เดาได้ไม่ยากว่าแกโปร ฟูโก้ แค่ไหนถึงขนาดกับยกให้เป็นนักบุญ (Saint) เลยทีเดียว


บทที่ ๔ วีรบุรุษและเพื่อนซี้ (Heroes and their Pals) บทนี้จะพูดถึงความสัมพันธ์ของฮีโร่ในตำนานของกรีก กับเพื่อนคู่หู ซึ่งจะเป็นเนื้อหาส่วนใหญ่ในส่วนของ Troy ที่ผมจะพูดถึงต่อไป บทที่ ๕ ร่างกายในระบบประชาธิปไตย : โสเภณี และ การเป็นประชากรในสังคมกรีกยุคคลาสสิก (The Democratic Body : Prostitution and Citizenship in Classical Athens) บทนี้ว่าด้วยร่างกาย โสเภณี และการเมืองของสังคมกรีกโบราณ สามสิ่งนี้สัมพันธ์กันอย่างไร


บทที่ ๖ ทำไมไดโอทิมาต้องเป็นผู้หญิง (Why Diotima a Woman?) บทนี้เป็นการตั้งคำถามว่าทำไม ไดโอทิมา ต้องเป็นผู้หญิง และผู้เขียนพยายามหาคำตอบ โดยทำความเข้าใจ ลักษณะของผู้หญิงในสังคมกรีกโบราณว่าเป็นอย่างไร


คงต้องขอออกตัวก่อนว่าสำหรับผมแล้วหนังสือเล่มนี้อ่านยากมากกกกก อาจจะด้วยหนึ่ง ความไม่สัดทัดภาษาอังกฤษของผมเอง สอง หนังสือเล่มนี้ผู้เขียนพาดพิงถึงงานวิจัยและบทความในวารสารต่างประเทศอย่างมากมายมหาศาล และผมไม่สามารถที่จะติดตามหาหนังสือและบทความเหล่านั้นมาอ่านได้หมด เพราะไม่มีให้บริการในห้องสมุดในประเทศไทยหนึ่ง การจะสั่งเข้ามาอ่านก็ดูจะเกินทุนทรัพย์ของตัวเองไปมากสอง ครั้นจะฝากฝังไหว้วานครูบาอาจารย์ญาติมิตรที่พำนักอยู่ต่างประเทศก็ดูเป็นการรบกวนเค้าไปเปล่า ๆ (เคยพยายามรบกวนแล้ว แต่ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จสักครั้ง) จึงจนใจด้วยเหตุผลที่ยกมา และสามเป็นวิธีคิดของผมเองที่ติดยึดกับระบบความหมายเรื่องเพศในปัจจุบัน จะไม่ให้ติดยังไงไหวละครับ ก็ผมโตมากับระบบความหมายเรื่องเพศอย่างนี้นี่


ขอบอกว่ารอบแรกที่อ่าน งงเป็นไก่ตาแตก จับต้นชนปลายอะไรไม่ถูกเลย ถึงแม้ตอนนี้จะหายงงไปบ้าง แต่ก็ต้องยังยอมรับว่าไม่กระจ่างซะทีเดียว จะว่าไปการมาอ่านหนังสือเล่มนี้ก็เป็นการกระโดดข้ามขั้น จากขั้นพื้นฐาน มาขั้นสูงเลยทีเดียว (เพราะแทนที่จะรู้จักงานเขียนชิ้นต่างๆ ที่ผู้เขียนอ้างถึงเพื่อเป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจบทวิเคราะห์ต่างๆ ที่ผู้เขียนกล่าวถึงตลอดหนังสือเล่มนี้ กลับกระโดดมาอ่านบทวิเคราะห์โดยที่ไม่มีพื้นฐานความรู้ในสิ่งที่ผู้เขียนกล่าวถึงเลย)


ที่ต้องออกตัวมายืดยาวอย่างนี้ก็เพื่อที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจในประเด็นเหล่านี้ ช่วยกันอ่าน ช่วยกันคิด มาถกเถียงกัน ไม่ใช่ว่าผมเขียนอะไรถูกทุกอย่าง อาจจะมีบางตอนที่ผมเข้าใจผิด รึท่านผู้อ่านเห็นว่าที่เคยรู้มาไม่ใช่อย่างนี้ คุยกันได้ครับ


ผมไม่อยากจะผูกขาดความรู้เรื่องนี้ไว้แต่เพียงผู้เดียว