Skip to main content

จาก Troy ถึง Alexander ตอนที่ ๑ อเคลิส และเพื่อนร่วมสมัย

คอลัมน์/ชุมชน

 



อย่างที่เกริ่นไว้ตั้งแต่บทนำแล้วว่าในตอนที่ ๑ นี้จะพูดถึง ตำนานเรื่องอีเลียด (Iliad) ซึ่งเป็นที่มาของบทภาพยนต์เรื่องทรอย เปรียบเทียบกับตำนานอีกสองเรื่องที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน คือ กิลกาเมซ (Gilgamash) และ ซามูเอล (Books of Samuel) ก่อนอื่นก็คงจะต้องพาท่านผู้อ่านไปรู้จักที่มาของตำนานแต่ละเรื่อง ก่อนที่จะเข้าไปดูในรายละเอียดของตำนานแต่ละเรื่องว่าบอกอะไรเราบ้างเกี่ยวกับระบบความหมายเรื่องเพศของคนในยุคโบราณ โดยเฉพาะในกรณีความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายสองคน ซึ่งจะเป็นประเด็นหลักที่เรากำลังพูดถึงกันในบทความนี้


อีเลียด เป็นบทกวีนิพนธ์มหากาพย์ที่เป็นตำนานมุขปาฐะ คือเป็นเรื่องที่เล่ากันปากต่อปากในช่วงเวลาระหว่างศตวรรษที่ ๑๓ ก่อนคริสตกาล และศตวรรษที่ ๖ ก่อนคริสตกาล ตลอดระยะเวลา ๕๐๐ ปีที่เล่ากันปากต่อปากนี้ ตำนานอีเลียดก็ได้รับการแต่งเติมจากกวีหลายคน คนนั้นเพิ่มนี่นิด คนโน้นเพิ่มนี่หน่อยซึ่งก็เป็นธรรมดาที่ตำนานเรื่องเล่าในยุคโบราณนั้นจะมีหลายเวอร์ชั่น หรือหลายสำนวน และสำนวนที่เรารู้จักคุ้นเคยกันดีนั้นก็เป็นของโฮเมอร์ (Homer) กวีกรีกที่มีชีวิตอยู่ในช่วงยุคมืดของอารยธรรมกรีก (๑๑๐๐-๗๕๐ ปีก่อนคริสตกาล)


ซามูเอล นั้นเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายเพราะว่าปรากฏอยู่ในคัมภีร์ไบเบิ้ล (Bible) หนังสือที่ขายดีอันดับต้นๆ ของโลกเลยทีเดียว ที่มาของซามูเอลนั้นก็มีอยู่สองสำนวน สำนวนแรกเรียกว่า Early Source ส่วนสำนวนหลังเรียกว่า Late Source สำนวนแรกนั้นแต่งขึ้นในสมัยของกษัตริย์โซโลมอน (Solomon) กลางศตวรรษที่ ๑๐ ก่อนคริสตกาล ส่วนสำนวนหลังนั้นน่าจะแต่งขึ้นในช่วง ๗๕๐-๖๕๐ ปี ก่อนคริสตกาล ซึ่งก็ร่วมสมัยกับโฮเมอร์


กิลกาเมซนั้นอาจจะไม่ค่อยคุ้นหูคนไทยเท่าไหร่ กิลกาเมซเป็นตำนานที่เล่าขานกันในอารยธรรมสุเมเรียน (Sumerian) ซึ่งก็เป็นอารยธรรมแรก ๆ ของมนุษย์เลยทีเดียว อารยธรรมสุเมเรียนนั้นมีพื้นเพอยู่แถบแม่น้ำไทกรีซ-ยูแฟรติส หรือแถบประเทศอิรักในปัจจุบันนั่นเอง กิลกาเมซนั้นก็มีอยู่หลายสำนวน น่าจะเกิดขึ้นราว ๆ ๒๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาล และได้รับการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรราว ๆ ๑๖๐๐ ปีก่อนคริสตกาล


เราจะเห็นได้ว่าช่วงเวลาที่ตำนานทั้งสามเรื่องเกิดขึ้นนั้นประมาณ ๑๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาล ถือได้ว่าตำนานทั้งสามเรื่องนี้ค่อนข้างที่จะร่วมสมัยกัน และตำนานทั้งสามเรื่องก็ยังพูดถึงตัวละครเอกสองคนที่เป็นเพศชาย ถ้ามองจากสายตาของปัจจุบันคนสองคนนี้ก็คงจะเป็นเพื่อนซี้คู่ทุกข์คู่ยากผจญภัยร่วมหัวจมท้ายมาด้วยกันเรียกได้ว่าแทบจะตายแทนกันได้เลยทีเดียว เมื่อสายตาของคนในปัจจุบันมองความสัมพันธ์ระหว่างชายสองคนนี้เป็นเช่นนี้แล้ว คนในอดีตกาลนานนับพันปีนั้นจะมองความสัมพันธ์ของชายสองคนนี้เหมือนเราหรือไม่ หรือแตกต่างออกไปอย่างไร ซึ่งก็น่าจะมีอะไรที่บอกให้เรารู้ถึงลักษณะสำคัญบางประการของความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายสองคนในช่วงเวลานั้นจากตำนานทั้งสามเรื่องนี้ได้



เอาละ ทีนี้เรามาดูกันว่าความสัมพันธ์ของทั้ง ๖ หนุ่ม ๓ คู่ในตำนานทั้งสามเรื่องนั้นเป็นอย่างไรกัน โดยผมจะเริ่มจากตำนานเรื่องกิลกาเมซ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยคุ้นหูกันเท่าไหร่ก่อน เรื่องนี้ตัวละครเอกชื่อกิลกาเมซ ชื่อเดียวกับชื่อตำนานนั่นแหละครับ กิลกาเมซนั้นเป็นกษัตริย์หนุ่มแห่งเมืองยูรูค (Uruk)



นัยว่าเป็นเมืองใหญ่ในยุคนั้น กิลกาเมซนั้นเป็นกึ่งเทพกึ่งมนุษย์ เก่งกล้าสามารถแต่ออกจะเฮี้ยวไปหน่อย ชาวเมืองเลยขอให้เทพอานู (Anu) เทพแห่งท้องฟ้า ซึ่งเป็นเทพที่ปกปักเมืองยูรูคช่วยกำราบกิลกาเมซลงมาหน่อย เทพอานูจึงสร้างคนป่า เอนคิดู (Enkidu) ซึ่งมีพลกำลังแข็งแกร่งไม่แพ้กิลกาเมซมาเป็นคู่ปรับกัน แต่เอนคิดูก็กลายมาเป็นเพื่อนซี้ของกิลกาเมซไปในท้ายที่สุด


วันดีคืนดีกิลกาเมซคงเบื่ออยากจะหาอะไรทำสนุก ๆ เลยชวนเอนคิดูบุกป่าฝ่าดงเข้าไปตัดต้นซีดาร์ (Ceadar) ในป่าศักดิ์สิทธิ์ซะเหี้ยน ป่าศักดิ์สิทธิ์นี่ก็ไม่ธรรมดามีสัตว์ประหลาดฮูวาวา (Huwawa) เฝ้าอยู่ กิลกาเมซ ก็ฆ่าสัตว์ประหลาด ฮูวาวาฐานที่มาขัดขวางการตัดต้นไม้ไปสร้างกำแพงเมืองยูรูค ตัดต้นไม้เอาไปสร้างกำแพงเมืองเสร็จก็มีชื่อเสียงโด่งดังจนทำให้เทพีอิชตาร์ (Ishtar) มาหลงรักกิลกาเมซ แต่กิลกาเมซไม่สนใจจึงทำให้เทพีอิชตาร์โกรธ จึงส่งวัวสวรรค์มาลงโทษแต่ทั้งคู่ก็ฆ่าวัวสวรรค์ได้


ระหว่างที่ทุกอย่างกำลังรุ่งโรจน์อยู่นั้นเอนคิดูคู่หูของกิลกาเมซ ก็มาด่วนจากไปซะก่อน ส่งผลให้กิลกาเมซเสียอกเสียใจไม่เป็นอันทำอะไร แล้วก็ออกเร่ร่อนผจญภัยแสวงหาความเป็นอมตะ เนื้อเรื่องก็มีอยู่ประมาณนี้ แต่ว่ายังไม่จบนะครับเนื้อเรื่องต่อจากนี้ก็จะเป็นการผจญภัยของกิลกาเมซ ไปเจออะไรต่าง ๆ มากมายจนท้ายที่สุดก็ซมซานกลับมาเมืองยูรูค กลับมาใช้ชีวิตอย่างชาวเมือง ที่ไม่เล่าเนื้อหาในช่วงนี้อย่างละเอียดก็เพราะไม่เกี่ยวกับเนื้อหาที่จะพูดต่อไป


เอาละมาเข้าเรื่องกันต่อ ทีนี้เรามาดูกันว่าเหตุใดกิลกาเมซจะต้องเศร้าโศกเสียใจมากมายขนาดนั้น มันไม่ธรรมดาอย่างนั้นสิครับท่านผู้อ่าน เพราะว่าความสัมพันธ์ระหว่างกิลกาเมซกับเอนคิดูนั้นมันไม่ใช่แค่เพื่อนอย่างที่เราคิดนะสิครับ ถึงแม้ว่าเอนคิดูจะเรียกกิลกาเมซว่าพี่ชาย แต่เนื้อเรื่องก็บอกเป็นนัย ๆ ว่ามันไม่ใช่แค่พี่ชาย ก่อนทั้งคู่จะเจอกันเป็นครั้งแรกนั้น กิลกาเมซฝันถึงการมาของเอนคิดูถึงสองครั้ง ครั้งแรกเปรียบเอนคิดูเป็นดาวตก ครั้งที่สองเปรียบเอนคิดูเป็นขวาน แล้วในฝันนั้นกิลกาเมซก็รู้สึกมีความรู้สึกพึงพอใจทางเพศกับดาวตกและขวานเช่นเดียวกับที่รู้สึกกับผู้หญิง มันไม่ธรรมดาแล้วสิครับท่านผู้อ่าน แล้วระหว่างที่คบ ๆ กันอยู่นั้นจะมีอะไรเกินเลยกันบ้างก็ไม่ทราบได้ แต่ที่แน่ๆ พอเอนคิดูตายกิลกาเมซก็ร้องไห้คร่ำครวญเหมือนผู้หญิงที่สูญเสียสามี



จบไปแล้วนะครับสำหรับคู่แรก คู่ที่สองดาวิดกับโยนาธาน ในซามูเอล หลายคนคงจะคุ้นหูกับเรื่องราวของดาวิดกับโยนาธานกันบ้างแล้ว เพราะเวลาใครจะพูดว่าคริสต์ศาสนาไม่ได้ห้ามพฤติกรรมรักร่วมเพศก็มักจะไปอ้างถึงกรณีของคู่นี้อยู่ร่ำไป เพราะเรื่องซามูเอลนี้ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ไบเบิ้ล ใครไม่เชื่อผมลองไปเปิดหาดูก็ได้เอ้า


เรื่องซามูเอลนี้เป็นตำนานในช่วงแรก ๆ ของชาวอิสราเอล เนื้อเรื่องกล่าวถึงกษัตริย์ของชาวอิสราเอลสององค์คือซาอูลและดาวิด โดยมีซามูเอลซึ่งเป็นนักบวช ที่เป็นผู้ "เผยพระวจนะของพระเจ้า" ถ้าเทียบกับสมัยนี้ซามูเอลก็เป็นเลขาส่วนตัวของพระเจ้านั่นเอง และซามูเอลนี้เองจะเป็นคนที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินเรื่อง แกนเรื่องหลักของซามูเอล เป็นเรื่องของการเปลี่ยนผู้นำของชาวอิสราเอลจากราชวงศ์หนึ่งมาสู่อีกราชวงศ์หนึ่ง ข้อใหญ่ใจความของเรื่องนี้ในบริบทของคัมภีร์ไบเบิ้ลก็คือต้องการที่จะบอกว่าใครที่ไม่เชื่อพระเจ้าก็จะฉิบหายวายวอดสูญสิ้นซึ่งอำนาจวาสนาประมาณนั้น


เนื้อเรื่องก็ประมาณว่าชาวอิสราเอลอยากได้กษัตริย์มาปกครอง จึงร้องขอผู้ที่จะมาปกครองจากพระเจ้า พระเจ้าก็บอกให้ซามูเอลจัดการตามบัญชาของพระองค์ โดยซามูเอลเป็นคนไปทำพิธีเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ให้กับซาอูล สถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองชาวอิสราเอล ต่อมาซาอูลไม่ปฏิบัติตามพระบัญชาของพระเจ้า พระเจ้าก็เลยเลือกกษัตริย์คนใหม่ซึ่งก็คือดาวิด ในระยะแรกดาวิดก็เข้ามารับใช้ในวังของซาอูลในฐานะคนดีดพิณ ได้พบกับโยนาธานซึ่งเป็นลูกของซาอูลก็ชอบพอรักใคร่กัน ดาวิดนั้นเป็นคนรูปหล่อแถมรบเก่งจนมีชื่อเสียงเลื่องลือเป็นที่รักใคร่ของทั้งคนอิสราเอลและยูดาห์ จนซาอูลเองก็อิจฉาดาวิด และคิดจะสังหารดาวิดหลายครั้ง จนดาวิดต้องหนีไปจากซาอูลแต่ในท้ายที่สุดดาวิดก็ได้กลับมาเป็นกษัตริย์ของชาวอิสราเอล


คู่สุดท้าย อะเคลิส กับพาโทรคุสในมหากาพย์อีเลียด มหากาพย์สงครามครั้งยิ่งใหญ่ระหว่างรัฐกรีก ๒ รัฐ ที่กินเวลายืดเยื้อถึง ๑๐ ปี ก่อให้เกิดวีรบุรุษมากมายซึ่งก็รวมอะเคลิสด้วย เรื่องนี้คงไม่ต้องเล่ากันมากเพราะใครที่ได้ดูหนังเรื่องทรอยก็คงพอจะคุ้นกับเรื่องราวระหว่างอะเคลิสและพาโทรคุสได้ดี ที่จะแตกต่างจากหนังไปบ้างก็ตรงที่อะเคลิสและพาโทรคุสนั้นไม่ได้เป็นญาติกัน แต่เป็นเพื่อนซี้ชนิดพิเศษเช่นเดียวกันสองคู่ก่อนหน้านี้ พิเศษยังไงบ้าง ก็อย่างที่รู้ ๆ กันว่าเนื้อเรื่องของอีเลียดส่วนใหญ่นั้นเป็นฉากสงคราม และก็อย่างที่เราเห็นในหนังว่าเต๊นท์ของนักรบแต่ละคนจะไม่อยู่ปะปนกันโดยเฉพาะคนสำคัญอย่างอะเคลิส คนที่จะอาศัยอยู่ร่วมชายคาด้วยจะเป็นใครอื่นไปไม่ได้นอกจากพาโทรคุส


หน้าที่ของพาโทรคุสที่ปฏิบัติต่ออะเคลิสนั้นไม่ต่างไปจากหน้าที่ของภรรยาพึงปฏิบัติต่อสามี เมื่อเทียบกับบทบาทของภรรยาในสังคมกรีกอันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในยุคของโฮเมอร์ เช่นพาโทรคุสมีหน้าที่เสิร์ฟอาหารเมื่อทั้งสองคนรับประทานอาหารกันตามลำพัง มีหน้าที่ส่งขนมปัง ในขณะที่อะเคลิสตัดแบ่งเนื้อให้กับแขก ความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งระหว่างสองคนนี้ก็เช่นเดียวกับสองคู่ก่อนหน้านี้คือเมื่อพาโทรคุสตาย อะเคลิสก็เศร้าโศกเสียใจมากถึงขั้นร้องห่มร้องไห้ และความสัมพันธ์แบบสามีภรรยาเราจะเห็นได้ชัดจากในพิธีศพของพาโทรคุส ที่อะเคลิสกอดศีรษะของพาโทรคุสเช่นเดียวกับอันโดรมาคี (Andromache) ทำในพิธีศพของเฮกเตอร์ (Hector)


ทีนี้เราก็พอจะรู้เรื่องคร่าว ๆ แล้วว่าอะไรยังไงที่ไหนกันแล้ว ในตอนต่อไปเรามาดูกันว่า ทั้งสามเรื่องนี้มีอะไรบ้างที่คล้ายกัน แล้วสิ่งที่คล้ายกันนั้นบอกอะไรกับเราบ้าง ในกรณีความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายสองคนในยุคแรกเริ่มของอารยธรรมมนุษย์ในแถบเมดิเตอร์เรเนียนและตะวันออกใกล้ ซึ่งลักษณะความสัมพันธ์นี้จะพัฒนาขึ้นเป็นรูปแบบความสัมพันธ์อันเป็นอุดมคติของสังคมกรีกในที่สุด