Skip to main content

ส.ว.ของประชาชน

ผมต้องแสดงความยินดีกับ ส.ว.จอน อึ๊งภากรณ์ ที่ได้รับรางวัลแมกไซไซปีนี้ นับว่าเป็นเกียรติประวัติแก่ครอบครัวและประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง


 


แมกไซไซ เป็นรางวัลที่ให้แก่ผู้ทำประโยชน์สาขาต่างๆ ทั่วโลก โดยมูลนิธิแมกไซไซ ในประเทศฟิลิปปินส์  ชื่อแมกไซไซเป็นชื่อประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ ที่ทำประโยชน์ให้แก่ประชาชน แต่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตเนื่องจากการตรวจเยี่ยมประชาชนระหว่างเกาะในฟิลิปปินส์


 


ขอเรียนว่า ส.ว.ที่ได้รับรางวัลแมกไซไซจนถึงปัจจุบันมีทั้งหมด ๕ ท่าน ได้แก่ ส.ว.มีชัย วีระไวทยะ ส.ว.โสภณ สุภาพงศ์ ส.ว.ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ส.ว.ทองใบ ทองเปาด์ และล่าสุดปีนี้ได้แก่ ส.ว.จอน อึ๊งภากรณ์   ประเทศไทยได้ทำสถิติในรางวัลแมกไซไซ มาในอดีต คือ คุณครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ได้รับรางวัลในขณะที่มีอายุเพียง ๒๕ ปี นับว่าอายุน้อยที่สุด! 


 


มาในปีนี้ท่านอาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์ ได้รับรางวัลแมกไซไซ  ซึ่งถือว่าเป็นครอบครัวแรกที่ทั้งพ่อและลูกได้รับรางวัลจากแมกไซไซ!  ก็ต้องบันทึกไว้ด้วยความยินดี และเป็นเกียรติประวัติแก่ครอบครัวและชาวไทยทั้งประเทศในชื่อเสียงนี้


 


เพราะทุกท่านที่ได้รับรางวัลแมกไซไซนี้ ต้องมีผลงานเป็นที่ประจักษ์  และทำประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง   ผมได้สังเกตจากการทำงานร่วมกับ ส.ว.ทั้ง ๕ ท่าน ก็ได้ทราบแนวความคิดในบริการประชาชน เป็นส.ว.ของประชาชนอย่างแท้จริง


 


กลับมาเรื่องที่จะเล่าในสัปดาห์นี้ในเรื่องของระบบรัฐสภาในประเทศต่าง ๆ เพื่อเปรียบเทียบในท่านได้ทราบ  ขอเรียนว่าในต่างประเทศมีทั้งรัฐสภาที่มีสองสภาและสภาเดียว


 


ที่มีสองสภาคือสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเช่น ในสหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, ฝรั่งเศส  ฯลฯ ส่วนสภาเดียวคือสภาผู้แทนราษฎรได้แก่ สิงคโปร์, มาเลเซีย ฯลฯ  วุฒิสภาในต่างประเทศก็มาจากการเลือกตั้งก็มี เช่น ในสหรัฐอเมริกา มีวุฒิสมาชิกได้รัฐละ ๒ คน มีการเลือกตั้งทุก ๖ ปี  ส่วนในประเทศอังกฤษมีวุฒิสมาชิกถึงพันคน เป็นสภาขุนนางสืบตำแหน่งมาตั้งแต่ปู่ทวด เพราะฉะนั้นจึงมีบรรดาศักดิ์เป็นแบรอนบ้าง ดรุก หรือเอริล เป็นนักบวชก็มี


 


ในฝรั่งเศส ส.ว.มาจากการเลือกโดยอ้อม คือให้ ส.ส.สมาชิกสภาเขตเป็นคนเลือก มีวาระ  ๙ ปี สมาชิก ๑ ใน ๓ ต้องออกให้มีการเลือกตั้ง ทุก ๓ ปี  จะเห็นว่าที่มาของวุฒิสภาต่างกันแล้วแต่รัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศ


 


ของประเทศไทยที่มีการเลือกตั้งวุฒิสภาเป็นครั้งแรกเมื่อ ๕ ปีที่แล้ว ปีหน้าจะมีการเลือกตั้งวุฒิสภาเป็นครั้งที่สอง  เดือนเมษายนปีหน้า เราก็จะมีการเลือกตั้งแล้ว ตอนนี้ท่านเห็นใครที่เป็นคนถูกตาถูกใจแล้วหรือยัง


 


ขอให้ศึกษาและตรวจสอบประวัติ  เพื่อเลือกคนที่จะมาเป็น ส.ว.ของประชาชนโดยแท้จริง


 


ในรัฐธรรมนูญของไทยไม่ให้ผู้สมัคร ส.ว.หาเสียง เพราะต้องการให้คนที่ทำความดีมาโดยตลอดมาเป็นผู้อาสาทำงานให้บ้านเมือง  จึงให้คนที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์มาสมัคร คือลงไปแล้วคนรู้จักโดยไม่ต้องหาเสียง ให้แค่แนะนำตัว


 


แต่ในบางครั้งคนลงสมัครใช้วิชามาร ใช้ทางลัดคือเอาพรรคการเมืองมาเป็นฐาน  ทั้ง ๆ ที่เขาไม่ให้ ส.ว.สังกัดพรรคการเมือง!  จนกระทั่งพรรคการเมืองได้โอกาสหาเงินเข้าพรรค   ใครจะมาให้พรรคส่งเข้าประกวด ต้องจ่ายเงินเข้าพรรค เพื่อให้พรรคหนุน


 


ขอภาวนาอย่าให้ได้คนพวกนั้นเข้ามาเป็น ส.ว.เลย  เพราะเราคงได้คนตามหลัง ส.ส.มาเป็น ส.ว.ของประชาชนเท่านั้น!