Skip to main content

บัณเฑาะก์ คือตัวอะไรกันแน่

คอลัมน์/ชุมชน

สวัสดีครับคุณผู้อ่านทุกท่าน ต้องขอโทษด้วยที่หายเศียรไปนานพอควร กลับมาคราวนี้ขอพักเรื่องประวัติศาสตร์โบราณของฝรั่งเอาไว้ก่อนนะครับ คราวนี้ลองมาดูประวัติศาสตร์ของเราบ้างดีกว่า มีอะไรน่าสนใจบ้าง


 


มูลเหตุของการกลับมาคิดใหม่ในเรื่องเดิมๆ อีกครั้งหนึ่งก็เนื่องมาจากใน งานประชุมระดับนานาชาติว่าด้วยเรื่องเควียร์เอเชียครั้งที่ ที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์  กรุงเทพฯ ที่เพิ่งผ่านไปนั้น ในส่วนของห้องย่อยภาษาไทยได้มีการพูดถึงเรื่องศาสนาพุทธกับ "คนรักเพศเดียวกัน"  ซึ่งก็เป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของผมมานานพอควรแล้ว นับตั้งแต่เริ่มลงมือทำวิทยานิพนธ์ประวัติศาสตร์ "เกย์" เลยทีเดียว เพราะเรื่องศาสนาพุทธเป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับความเข้าใจของคนไทยต่อผู้ที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศอย่างมาก


 


    


 


และนั่นก็สามปีผ่านมาแล้ว นับตั้งแต่ผมเริ่มค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมรักร่วมเพศที่ปรากฎในพระไตรปิฎก อ่าน และพยายามวิเคราะห์ จนออกมาเป็นบทความ ไม่มี "กะเทย" ในพระไตรปิฎก ความลักลั่นในการตีความ "บัณเฑาะก์"  ซึ่งก็ไม่ได้ตีพิมพ์ที่ไหนนอกจากจะพูดในงานสัมมนา เกย์วิชาการครั้งที่ ๑ ที่ฟ้าสีรุ้งจัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ในครั้งนั้นผมพยายามทำความเข้าใจพฤติกรรมรักร่วมเพศที่ปรากฎในพระไตรปิฎกด้วยเป้าประสงค์ทางการเมืองอะไรบางอย่าง


 


นั่นก็คือ พยายามที่จะบอกว่าในพระไตรปิฎกนั้นไม่มีกะเทยหรอก มีแต่บัณเฑาะก์ ซึ่งก็คือตัวอะไรก็ไม่รู้ ที่เมื่อมองด้วยสายตาของคนในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นอย่างช้าที่สุดก็มักจะคิดว่ามันคือกะเทย แล้วการอธิบายแบบนี้ครอบงำวิธีคิดหลักที่ว่าด้วยบัณเฑาะก์ในพระไตรปิฎกมากว่าร้อยปี


 


ในห้องย่อยภาษาไทยวันนั้น นำเสนอบทความของหลวงพี่ชาย ซึ่งก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่สนใจในประเด็นนี้มานานเหมือนกัน หลวงพี่ได้พยายามตีความ "บัณเฑาะก์" และกรณีอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกับพฤติกรรมรักร่วมเพศในคัมภีร์ที่สำคัญในพุทธศาสนาคือพระไตรปิฎก ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในส่วนขยายของพระไตรปิฎก ที่เรียกว่า อรรถกถา อีกทีนึง  สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดในบทความของหลวงพี่คือการเชื่อมโยง "ตัวตนทางเพศ" ที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบันเข้ากับ "ตัวบท" ที่ปรากฎอยู่ในคัมภีร์ทางศาสนาที่แต่งขึ้นเมื่อ ๔๐๐ ปี หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน นับมาจนถึงปัจจุบันก็กว่า ๒,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว


 


การพยายามเชื่อมโยงตัวตนทางเพศที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบันกับข้อความที่เขียนขึ้นเมื่อ ๒,๐๐๐ ปีก่อน เป็นสิ่งที่ผมพยายามทำในช่วงแรกๆ ของการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่ต่างจากคนอื่นๆ เช่น Leonard Zwilling ในบทความเรื่อง Avoidance and Exclusion : Same-Sex Sexuality in Indian Buddhism และ   Peter A. Jackson ในบทความเรื่อง Male Homosexuality and Transgenderism in the Thai Buddhist Tradition ทั้งสองบทความนี้อยู่ในหนังสือ Queer Dharma Voices of Gay Buddhists (เห็นปกหนังสือนี่เกย์ชาวพุทธทั้งหลายคงจะกรี๊ดสลบ ขอบอกว่าปกหลังร้อนกว่านี้อีกจะบอกให้)    คำถามของผมในช่วงนั้นก็หนีไม่พ้น "ตกลงจริงๆ แล้วบัณเฑาะก์นี่มันใช่กะเทยรึเปล่า"  ถ้าใช่คำถามต่อไปก็คือ "เอ แล้วมันจะเหมือนกับกะเทยในปัจจุบันมั๊ย"


 


      


 


วันนั้น (ผมหมายถึงวันที่ไปนั่งฟังหลวงพี่เสนอบทความ ผ่านคนอื่นอีกทีนึง) ก็เกิด "พุทธิปัญญา" ซึ่งน่าจะเกิดมาตั้งนานแล้วว่า เราไม่ได้ "วิพากษ์" หลักฐานที่ใช้  นี่ถ้าไปเล่าให้ครูบาอาจารย์ที่ภาคประวัติศาสตร์ฟัง ท่านคงเขกหัวให้คนละทีสองที  เพราะว่าการวิพากษ์หลักฐานนั้นเป็นหัวใจสำคัญของการศึกษาประวัติศาสตร์เลยทีเดียวเชียว สำคัญยังไงนั่นน่ะหรือท่านผู้อ่าน ผมจะชี้แจงให้ทราบ


 


การวิพากษ์หลักฐานทางประวัติศาสตร์ ก็คือการเช็คดูว่า ใครเขียนเอกสารนั้น เขียนเมื่อไหร่ เขียนทำไม เขียนเพื่ออะไร เพื่อที่จะได้รู้ความมุ่งหมายและเป้าประสงค์ทางการเมืองของผู้เขียน อันจะทำให้เราเข้าใจ "บริบท" แวดล้อมของเอกสารนั้น และเข้าใจ "สาร" ที่เอกสารนั้นต้องการจะสื่อออกมาอย่างที่ผู้เขียนต้องการ


 


เอาล่ะทีนี้ลองมาดูว่า มันจะเกี่ยวกับเรื่องที่ผมพยายามที่จะ "สื่อ" "สาร" ออกไปให้ท่านผู้อ่านทราบได้อย่างไร ก่อนอื่นผมคงจะต้องเริ่มยกตัวอย่าง เพื่อนำพาให้ท่านผู้อ่านเข้าใจ "สาร" ของผมเป็นอันดับแรก ให้บังเอิญยิ่งนักที่ในช่วงเวลาดังกล่าว (ก่อนที่จะไปฟังคนอื่นเสนอบทความของหลวงพี่) ผมได้หยิบ ไตรภูมิพระร่วงขึ้นมาอ่านเล่น ซึ่งถือกันว่าเป็นวรรณคดีเก่าแก่ของไทยทีเดียว แล้วก็เป็นวรรณคดีที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาโดยตรงเลยทีเดียวเชียว


 


ท่านผู้อ่านคิดว่า "สาร" ที่ไตรภูมิพระร่วงต้องการจะสื่อให้กับผู้อ่านนั้นคืออะไร การที่ผู้เขียนมานั่งจาระไนถึงสวรรค์มีกี่ชั้น นรก มีกี่ขุม ทำบุญแล้วได้อะไร นั้นก็เพื่อที่จะบอกกับผู้อ่านอ้อมๆ (จะว่าไปก็ไม่อ้อมนะ บางตอนนี่บอกตรงๆ เลย) ว่า อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ แล้วถ้าเอ็งนับถือพุทธศาสนา ทำบุญเย้อะๆ  แล้วจะได้อะไรตอบแทน


 


ผมจะยกตัวอย่างให้ท่านผู้อ่านฟังเรื่องนึง เป็นเรื่องของนางอสันธมิตตา อรรคมเหษีของพระญาศรีธรรมาโสกราช  ซึ่งเป็นผู้มีบุญมากหลาย  อยู่มาวันนึงนางอสันธมิตตานั่งกินอ้อยอย่างเอร็ดอร่อย พระญาศรีธรรมาโสกราช เดินผ่านมาเห็นเข้า ท่านก็คิดจะหยอกเมียรักเล่น ก็ทักออกไปว่า  "ใครน้อมานั่งกินอ้อยอยู่ตรงนี้ รึจะเป็นนางระบำที่ไหนรึเปล่าน้อ"  นางอสันธมิตตาก็ยั๊วะเป็นกำลัง ที่ผัวรักทำมาแกล้งจำตัวเองไม่ได้ ก็พูดออกไปว่า  "มาพูดอย่างนี้ดูถูกกันซัดๆ  คิดว่าพระองค์นั้นบุญหนักศักดิ์ใหญ่นักหรือ ใช่สิชั้นมันเป็นคนไม่มีบุญ ต้องค่อยพึ่งบุญบารมีของพระองค์ อ้อยที่กินนี่ก็เกิดขึ้นเองในป่าหิมพานต์ไม่ได้มีใครปลูก เทวดาก็เอามาให้ข้าด้วยบุญของข้าเอง"  พระญาศรีธรรมาโสกราชได้ฟังดังนั้นก็ของขึ้นเหมือนกันก็เลยพูดแดกไปว่า  "อ้อ ถ้าเจ้าว่าอ้อยนี้ได้มาแต่บุญของเจ้าจริง สมบัติพัสถานที่เรามีอยู่นี่ก็คงได้มาแต่บุญเจ้าละสิ ถ้ามีบุญจริงก็ลองกันดูหน่อยเป็นไร พรุ่งนี้เราจะเลี้ยงพระ ๖๐,๐๐๐ รูป แล้วก็จะถวายไตรจีวร ๖๐,๐๐๐ สำรับ ก็หาผ้าไตรจีวรเตรียมไว้ละกัน ถ้าหาได้จริงก็จะได้รู้กันว่านางนี้มีบุญจริง" นางอสันธมิตตาได้ฟังดังนั้นก็ตกใจ ซวยแล้วสิ จะไปหาผ้ามาจากไหนตั้ง ๖๐,๐๐๐ ผืน


 


วิธีแก้ปัญหาของนางก็คือ นอนถอนใจเกลือกกลิ้งแตะหมอนทองอยู่บนเตียง ตั้งแต่หัวค่ำยันเที่ยงคืน วิตกจริตย้ำคิดย้ำทำว่าจะไปหาผ้ามาจากไหนตั้งเยอะแยะ ให้บังเอิ้ญบังเอิญที่คืนนั้นเป็นคืนวันเพ็ญซึ่งเป็นวันที่พระจตุโลกบาลทั้ง ๔ ออกสอดส่องดูว่าใครทำบุญทำบาปอะไรที่ไหนอย่างไร ท้าวจตุโลกบาลตนนึง ชื่อท้าวกุเวรุราช นั่งรถสปอร์ตผ่านหน้าต่างห้องนางอสันธมิตตามาพอดี ก็ได้ยินเสียงถอนหายใจหลายเฮือกของนาง (แสดงว่าขับช้าน่าดู) ก็เลยแวะเข้าไปดูนางอสันธมิตตา  นางก็เล่ามูลเหตุที่ต้องมานอนถอนหายใจให้ท้าวกุเวรุราชฟัง ท่านก็ว่า  "โนพล็อบแพลม"  เพราะชาติก่อนนู้นนนนนน นางอสันธมิตตาได้ถวายผ้าเช็ดหน้าผืนหนึ่งแก่ พระปัเตยกโพธิเจ้าพระองค์ ๑ ได้บุญม้ากมาก มารับเอาผลบุญนั้นไปเถิด  แล้วท้าวกุเวรุราชก็เสกประอบแก้วทิพย์มาใบนึง  ยื่นให้นางอสันธมิตตา แล้วก็บอกนางว่า ถ้าอยากได้ผ้าอะไรก็ดึงออกจากประอบนี้โลด  ผ้าเครบ ผ้าชีฟอง ผ้าซีตรู ผ้าค๊อตต้อนร้อยเปอร์เซ็นต์  ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้ายก ผ้าตีนจก ผ้าปั๊กกะติกได้โม้ดดดด จะเอายาวเท่าไหร่ก็ได้ กี่ผืนก็ได้ เลิศที่สุด นางก็กระหยิ่มยิ้มย่องพรุ่งนี้เห็นดีกัน


 


เช้ามา นางก็อาบน้ำประแป้งเตรียมตัวไปแจกผ้า พอพระเจ้าศรีธรรมาโสกราชถวายจังหันพระเสร็จก็หันมาทางนางอสันธมิตตา แล้วพูดทำนองว่า "ไหนละผ้าเอามาสิ ขอดูหน่อยสิว่ามีบุญแค่ไหน"  ถ้าเป็นหนังสมัยนี้ กล้องคงจับที่ใบหน้าของนางอสันธมิตตา  นางก็คงจะยิ้มที่มุมปากอย่างผู้มีชัยแล้วพูดว่า "อ๋อ ดั๊ยค๊าาาาาาา"  แล้วจึงกรีดมือถือประอบแก้วไว้ด้วยมือซ้าย  เอามือขวาชักผ้าไตรจีวรออกมาทีละผืน ทีละผืน (ขอย้ำว่าทีละผืนท่านผู้อ่าน) ได้ผืนนึงก็ถวายผืนหนึ่งจบครบพระสงฆ์ ๖๐,๐๐๐ รูป อุแม่เจ้ามือหงิกกันพอดีกว่าจะถวายเสร็จ


 


นี่ถ้ามามองด้วยสายตาของคนปัจจุบัน มันจะเป็นไปได้ยังไงกัน ถวายผ้าตั้ง ๖๐,๐๐๐ ผืน นี่ถ้าคิดอย่างคร่าวๆ ผืนนึงใช้เวลาชักออกมาแล้วถวายใช้เวลา ๑ วินาที ก็จะถวายผ้าได้ ๖๐ ผืนต่อหนึ่งนาที ผ้า ๖๐,๐๐๐ ผืนก็ใช้เวลา ๑,๐๐๐ นาที คิดเป็นเวลา ๑๕ ชั่วโมงจึงจะถวายผ้าได้ครบ ๖๐,๐๐๐ รูป คิดง่าย ๆ ถ้าถวายหกโมงเช้าก็ไปเสร็จเอาสามทุ่มโน่นแหละ  นี่ยังไม่นับเวลาพระฉันอีกนะท่านผู้อ่าน


 


จากเคสนี้เห็นได้ชัดๆ เลยว่า ถ้าเรามานั่งคาดคั้นเอาความจริงเชิงประจักษ์จากเรื่องของนางอสันธมิตตา เราก็จะไม่เข้าใจอะไรเลย เพราะผู้เขียนไม่ได้มานั่งคิดว่าถวายผ้า ๖๐,๐๐๐  มันจะต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ บวกกับพระ ๖๐,๐๐๐ ฉันจังหันอีกมันจะใช้เวลาเท่าไหร่ เพราะจำนวน ๖๐,๐๐๐ ผู้เขียนต้องการจะบอกแค่ว่า "โคตรเยอะเลยนะตัวเองลองคิดดูสิ"  แล้วสารหลักของเรื่องนี้คือ แค่คุณถวายผ้าเช็ดหน้าเพียงผืนเดียวแด่พระพุทธองค์ ผลบุญที่คุณได้กลับมานั้นมากมายมหาศาลจริงจริ๊งนะ จะบอกให้ ก็เอวังด้วยประการฉะนี้ นอกจากนี้แล้วผู้เขียนยังได้สอดแทรกคำสอนให้กับบรรดาเมียๆ ทั้งหลายว่า เมียที่ดีนั้นต้องทำตัวอย่างไร ใครอยากรู้ก็ไปตามอ่านเอาเองผมคงไม่เอามาสาธยายที่นี่เพราะไม่เกี่ยวกับเรื่องที่จะเขียน


 


เห็นทีคงจะต้องจบตอนแรกไว้เพียงเท่านี้ก่อน ตอนหน้าเราจะมาดูว่าเรื่องของบัณเฑาะก์ และพฤติกรรมทางเพศที่เกี่ยวเนื่องกับพฤติกรรมรักร่วมเพศในพระไตรปิฎกนั้นผู้เขียนต้องการจะสื่อสารอะไรให้กับผู้อ่าน


 


แล้วเจอกันครับ