Skip to main content

จรรยาบรรณแฮกเกอร์สู่ภูมิปัญญาชาวเน็ต

คอลัมน์/ชุมชน

ย้อนหลังไปเมื่อกว่าสามปีที่แล้ว  กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศหรือที่เรียกกันว่ากระทรวงไอซีทีได้ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2545  โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยและสร้างความแข็งแกร่งกับภาครัฐและเอกชน[1]

 


ทันทีที่เว็บไซต์ของกระทรวงเปิดดำเนินการ  เว็บไซต์นี้ก็ถูกโจมตีโดยแฮกเกอร์นิรนามที่เจาะระบบเข้าไปเปลี่ยนแปลงเว็บไซต์ของไอซีทีจนกลายเป็นเว็บลามก มิหนำซ้ำยังได้เปลี่ยนแปลงภาพรัฐมนตรีประจำกระทรวงเป็นรูป "ควาย"  อีกด้วย [2] และกว่าทีมผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงจะสามารถแก้ไขได้ก็กินเวลาถึงหลายอาทิตย์ สร้างความอับอายให้กับทางกระทรวงเป็นอย่างยิ่ง

 


จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ทางกระทรวงไอซีทีจึงได้เร่งปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทว่ามาเมื่อเดือนพฤษภาคมศกนี้ เว็บไซต์ของไอซีทีก็ยังไม่วายถูกจู่โจมอีกจนได้



คราวนี้ แฮกเกอร์นิรนามเข้าไปแก้ไขข้อมูลเว็บกระทรวงในลักษณะล้อเลียนเสียดสี  อาทิเช่น รมว.ไอซีทีเตรียมจัดตั้งชมรมเว็บโป๊โลก , สั่งจองคอมพิวเตอร์ราคาถูกมากๆจัดส่งชาติหน้า ฯลฯ เป็นต้น  ไม่เพียงเท่านั้น แฮกเกอร์ยังได้เที่ยวแจกจ่ายรหัสผ่านให้กับผู้คนทั่วไปให้สามารถเข้ามาร่วมวงก่อกวนเว็บไอซีทีได้อีกด้วย  ยังผลให้เจ้าหน้าที่กระทรวงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโค้ดและรหัสผ่านเว็บใหม่ทั้งหมด[3]



นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รมว.กระทรวงไอซีทีกล่าวว่า เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ น่าจะเกิดจากพวกร้อนวิชา [4]  จริงหรือที่ว่า  แฮกเกอร์ที่จู่โจมเว็บกระทรวงไอซีทีเป็นแค่พวกร้อนวิชาหรือไม่ก็เป็นพวกจิตทรามเท่านั้นเอง  เป็นไปได้หรือไม่ว่า แฮกเกอร์เหล่านี้ไม่ได้ต้องการแต่ความสะใจเท่านั้น  ทว่ามีเหตุผลอันชอบธรรมในการเลือกโจมตีเว็บกระทรวงไอซีทีและพวกเขาอาจไม่ใช่มีแต่แฮกเกอร์ชาวไทยเท่านั้นแต่อาจมีแฮกเกอร์จากทั่วโลกให้ความช่วยเหลืออีกด้วย

 


เป็นไปได้หรือไม่ว่า แฮกเกอร์เหล่านี้ส่วนหนึ่งคือสมาชิกของชุมชนชาวอินเตอร์เน็ตที่ไม่พอใจกับการพยายามจัดระเบียบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่มีมากกว่าเพียงการปิดเว็บโป๊เท่านั้น  แต่ยังครอบคลุมไปถึงการเซ็นเซอร์ข้อมูลข่าวสาร  การปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน เพียงเพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับภาครัฐและเอกชนที่ต้องการผูกขาดโลกไซเบอร์เท่านั้น  แท้จริงแล้วพวกเขาเป็นใคร เหตุใดจึงเก่งกล้าสามารถถึงเพียงนี้


 

ประวัติแฮกเกอร์


 

เดิมทีคำว่าแฮกเกอร์มิได้มีความหมายในแง่ลบที่หมายถึงผู้ที่ลักลอบเจาะระบบคอมพิวเตอร์  คำคำนี้ถูกใช้ครั้งแรกเมื่อราว 30 ปีที่แล้วโดยกลุ่มวิศวกรและโปรแกรมเมอร์ที่ร่วมกันค้นคิดเครื่องคอม


พิวเตอร์ส่วนบุคคลและเครือข่ายอินเตอร์เน็ตขึ้น  พวกเขาเรียกตัวเองว่าแฮกเกอร์[5]


 

ชาวแฮกเกอร์มีหลักการชุดหนึ่งที่ยึดถือร่วมกัน คือ


1.คอมพิวเตอร์เป็นทรัพย์สินสาธารณะที่ทุกคนสามารถาใช้ได้ แก้ไข ปรับปรุงและทดลองได้


2.ข้อมูลความรู้เป็นของสาธารณะไม่ใช่ของส่วนบุคคล ไม่ควรมีราคา


3.ไม่ไว้วางใจผู้มีอำนาจ ส่งเสริมการกระจายอำนาจ


4.แฮกเกอร์ต้องถูกตัดสินจากความสามารถของเขา  ไม่ใช่ด้วยวุฒิการศึกษา วัยวุฒิ ตำแหน่งหรือเชื้อชาติ


5.ทุกคนล้วนมีสิทธิในการสร้างสรรค์สิ่งดีงามด้วยคอมพิวเตอร์


6.คอมพิวเตอร์สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้นได้


พวกเขาเรียกหลักการเหล่านี้ว่า "จรรยาบรรณของแฮกเกอร์"[6]


อินเตอร์เน็ตจากกำเนิดถึงปัจจุบัน



แฮกเกอร์สร้างระบบอินเตอร์เน็ตขึ้นเพื่อให้เป็นพื้นที่สาธารณะอย่างแท้จริงที่ทุกคนสามารถใช้สร้างสรรค์ ทดลอง และจัดการประโยชน์ส่วนรวมร่วมกันเองอย่างเสรีและเท่าเทียมโดยปลอดจากการควบคุมใดใดไม่ว่าจะเป็นจากอำนาจรัฐหรือเอกชน



ดังนั้นพวกเขาจึงออกแบบระบบอินเตอร์เน็ตด้วยโครงสร้างที่มุ่งเน้นการกระจายอำนาจ คือ เป็นระบบเปิด (open source)  ที่มอบอำนาจการจัดการทั้งหมดให้กับผู้ใช้ไม่ใช่แต่เพียงผู้เชี่ยวชาญ เชื่อมต่อกันเองได้โดยตรง (peer to peer)  พร้อมกับลดบทบาทความสำคัญของเครือข่ายที่เชื่อมต่อลง (end to end principle)



ในช่วงเริ่มต้นนั้น เครือข่ายอินเตอร์เน็ตจำกัดอยู่แต่เพียงนักออกแบบคอมพิวเตอร์มืออาชีพเท่านั้น  จวบจนในปี 2517 เมื่อ "อัลทาร์"   ชุดอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลรุ่นแรกของโลกที่ให้ผู้ใช้สามารถประกอบและดัดแปลงได้เองเริ่มออกวางขาย  ทำให้เกิดประชากรนักออกแบบคอมพิวเตอร์มือสมัครเล่นขึ้นอีกมากมาย  และพวกเขาก็ได้กลายเป็นสมาชิกส่วนสำคัญของชุมชนอินเตอร์เน็ตในเวลาต่อมา[7]



หนึ่งในสมาชิกชมรมนักออกแบบคอมพิวเตอร์มือสมัครเล่นในเวลานั้นคือ นายบิล เกทส์ วัย 21 ปี ในปีพ.ศ.2519 เขาได้ส่งจดหมายร้องเรียนถึงสมาคมมีความว่า สมาชิกของชมรมได้ใช้โปรแกรมที่บริษัทไมโครซอฟท์ของเขาได้เขียนขึ้นสำหรับคอมพิวเตอร์อัลทาร์  โดยที่ไม่จ่ายค่าลิขสิทธิ์แก่เขา  จากนั้นอีกเพียงสิบกว่าปี ชายชื่อ บิล เกทส์ก็ได้กลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดของโลกไป  และโปรแกรมวินโดวส์ของไมโครซอฟท์ก็ได้กลายเป็นโปรแกรมที่ครองตลาดมากที่สุดถึง 90 %[8]



กล่าวได้ว่านาย บิล เกทส์เป็นผู้ละเมิดจรรณยาบรรณของแฮกเกอร์เป็นคนแรก ด้วยการประกาศกับโลกว่า จากนี้ไป โปรแกรมคอมพิวเตอร์หรืออีกนัยหนึ่งข้อมูลความรู้ต้องเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลไม่ใช่ของส่วนรวมอีกต่อไป  หลังจากนั้นมา  ก็มีนักออกแบบคอมพิวเตอร์อีกมากมายที่ดำเนินตามแนวคิดนี้และเช่นกัน หลายคนก็ได้กลายเป็นมหาเศรษฐีระดับโลกไปในที่สุด[9]



จากนั้นเป็นต้นมา  สงครามแย่งชิงเครือข่ายอินเตอร์เน็ตก็ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยมา  ฝ่ายหนึ่งก็คือผู้สืบทอดเจตนารมณ์ของแฮกเกอร์ที่ต้องการปกป้องรักษาโลกไซเบอร์ไว้ให้เป็นของส่วนรวม  อีกฝั่งคือ ผู้ที่เห็นว่านี่คือโอกาสอันชอบธรรม ในการตักตวงอำนาจและผลประโยชน์สูงสุดจากพื้นที่ใหม่ในโลกไซเบอร์ที่ยังไม่มีใครเจ้าของ



สถานการณ์สงครามไซเบอร์ในปัจจุบัน



สงครามระหว่างสองค่ายความคิดนี้  ยังคงทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น  โดยไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงในอนาคตอันใกล้นี้ และมิได้จำกัดวงอยู่แต่เพียงภายในโลกไซเบอร์เท่านั้น  แต่ยังเต็มไปด้วยการต่อสู้กันภายนอกในรูปแบบอื่นๆอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทางกฎหมาย การเมือง ธุรกิจ การโฆษณาชวนเชื่อ ฯลฯ เป็นต้น



แม้ภายนอกโลกไซเบอร์ ฝ่ายที่ต้องการเข้าไปจัดสรรผลประโยชน์และรวบอำนาจเครือข่ายอินเตอร์


เน็ตจะเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบในแทบทุกทางก็ตาม  แต่ในโลกไซเบอร์ เพราะโครงสร้างแบบกระจายอำนาจที่แฮกเกอร์รุ่นบุกเบิกได้สร้างไว้ให้เป็นมรดกตกทอดมาจนปัจจุบันผู้คนทั่วโลกจึงได้อาศัยโครงข่ายอินเตอร์เน็ตในการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยน ช่วยเหลือและรวมกลุ่มกันเกิดเป็นเครือข่ายทางสังคมที่หลากหลายแพร่กระจายไปทั่วทั้งโลก  เครือข่ายทางสังคมที่จัดการตนเองได้อย่างทรงประสิทธิภาพนี้เอง คืออาวุธอันทรงพลังของชุมชนอินเตอร์เน็ตที่เหล่าผู้อีอำนาจไม่อาจยับยั้งได้



อินเตอร์เน็ตกับพลังของเครือข่ายทางสังคมที่จัดการกันเอง



วิวัฒนาการทางคอมพิวเตอร์และเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้นำไปสู่การขยายตัวของเครือข่ายทางสังคมอันเป็นคุณประโยชน์อย่างยิ่ง  ปรากฏการณ์นี้เกิดจากกฎเกณฑ์สำคัญ 3 ข้อ คือ 1.ยิ่งคอมพิวเตอร์มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ราคายิ่งถูกลง (Moore’s Law)[10]  เมื่อราคาถูกลงทำให้มีผู้สามารถใช้อินเตอร์เน็ตมากขึ้น  2.ประโยชน์ของอินเตอร์เน็ตจะเพิ่มขึ้นเท่ากับจำนวนผู้ใช้ยกกำลังสอง (Metcalfe’s Law) [11] ตัวอย่างเช่น  ถ้ามีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตคนเดียว  ประโยชน์ก็มีค่าเท่ากับศูนย์  เพราะใช้ติดต่อสื่อสารกับคนอื่นไม่ได้  แต่ถ้ามีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่มเป็น 10 คน ประโยชน์ของอินเตอร์เน็ตก็จะเพิ่มขึ้นเท่ากับ 10 x 10 หรือ 100 เท่า[12]



ยิ่งไปกว่านี้ ผู้คนทั้งโลกก็ได้อาศัยการติดต่อสื่อสารผ่านทางอินเตอร์เน็ตในการสร้างเครือข่ายทางสังคมใหม่ๆเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย  พวกเขาสามารถช่วยเหลือร่วมมือกันสร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับกันและกันได้มากขึ้นอีกเป็นทวีคูณ  3. ทุนทางสังคมหรือประโยชน์ที่เกิดจากเครือข่ายสังคมใหม่ๆเหล่านี้ เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งที่เท่ากับสองยกกำลังจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ต (Reed’s Law)   คือ  ถ้ามีผู้ใช้เพิ่มขึ้น 10 คน  ประโยชน์ที่ได้รับจากเครือข่ายทางสังคมจะเพิ่มขึ้นถึง 2 ยกกำลัง 10 หรือ 1,024  เท่าทีเดียว[13]



ปัจจุบัน คาดว่ามีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตอยู่ราว 6.4 ล้านคนทั่วโลกและเพิ่มขึ้นด้วยอัตราเฉลี่ยที่ 160% ต่อปี[14]  นั่นหมายความว่า  ไม่เพียงแต่อินเตอร์เน็ตจะได้สร้างทุนสะสมทางสังคมไว้อย่างมหาศาลแล้ว เท่านั้น( 2 ยกกำลัง6.4ล้าน)   แต่ยังเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งที่ไม่มีแนวโน้มชะลอตัวอีกด้วย



การจัดการกันเองกับภูมิปัญญาชาวเน็ต  



ดังที่กล่าวมาแล้ว  ทุนทางสังคมที่สร้างสรรค์ขึ้นอย่างมหาศาลจนมิอาจประเมินค่าได้นี้  เกิดจากอิสรภาพในการจัดการกันเองด้วยผู้คนจำนวนมหาศาลและการแบ่งปันข้อมูลความรู้กันอย่างเสรี  ในพื้นที่สาธารณะของโลกไซเบอร์ 



ตรงข้าม  การจัดการที่อาศัยผู้เชี่ยวชาญพียงไม่กี่คน ที่ต้องทำงานอย่างขาดอิสระภายใต้กรอบของการควบคุมและสั่งการและเต็มไปด้วยระเบียบกฎเกณฑ์สารพัด  มิหนำซ้ำถูกระบบลิขสิทธิ์เอกชนที่มองเห็นข้อมูลความรู้เป็นเพียงทรัพย์สินส่วนบุคคล เป็นตัวขวางกั้นจนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ที่ต้องการได้  ภายใต้การจัดการเช่นนี้  แทบไม่มีโอกาสที่จะเกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆขึ้นได้เลย



ด้วยเหตุนี้ จึงไม่เป็นที่ประหลาดใจว่า เหตุใดชาวแฮกเกอร์จึงมีความเก่งกล้าสามารถสูงกว่าทีมผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงไอซีทีหลายเท่าตัว



ภูมิปัญญาชาวบ้านสู่ภูมิปัญญาชาวเน็ต



เป็นที่น่าสลดใจที่สังคมไทยวันนี้ถูกทำให้เข้าใจว่า ภูมิปัญญาชาวบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่นนั้นเป็นเพียงความรู้และทักษะในการผลิตและการบริการ อาทิเช่น  การปลูกข้าวหอมมะลิ  นวดแผนโบราณ  ทำแชมพูสมุนไพร  และผลิตข้าวหลามรสเด็ดส่งโอทอป  เท่านั้น  ทั้งที่จริงแล้ว  ความรู้และทักษะเหล่านี้เป็นเพียงผลพวงที่เกิดจากภูมิปัญญาในการจัดการทรัพยากรร่วมกันด้วยตนเองโดยปราศจากการแทรกแซงและปิดกั้นจากอำนาจส่วนกลางต่างหาก  และความรู้ความสามารถในการจัดการตนเองนี้แหละคือภูมิปัญญาชาวบ้านที่แท้จริง



ในปี 2533 นางเอลีนอร์  ออสตรอม  นักสังคมวิทยาได้สรุปบทเรียนจากการศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของชุมชนในประเทศต่างๆ ที่สามารถจัดการทรัพยากรร่วมกันเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ  อาทิเช่น  ป่าชุมชนในญี่ปุ่น  การจัดการพื้นที่เลี้ยงสัตว์ในสวิตเซอร์แลนด์  และกลุ่มจัดการเหมืองฝายในสเปนและฟิลิปปินส์  เธอพบว่า ชุมชนเหล่านี้ล้วนมีองค์ประกอบที่สำคัญคล้ายคลึงกัน คือ 1.มีขอบเขตของชุมชนที่ชัดเจน 2. ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกฎเกณฑ์ของชุมชนในข้อใดก็สามารถมีบทบาทในการแก้ไขกฎข้อนั้นได้ 3. มีระบบการติดตามความประพฤติของสมาชิกที่ชุมชนเป็นผู้ทำ 4. มีระบบการลงโทษสมาชิกที่หนักเบาตามความผิด 5. สามารถแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างกันได้เอง[15]



นานมาแล้ว  ได้เกิดแนวคิดที่เชื่อว่ามนุษย์เป็นเพียงสัตว์ชนิดหนึ่งที่โง่เขลาและเห็นแก่ตัว  หากปล่อยให้อยู่กันเองตามลำพัง  สุดท้ายผู้คนจะฆ่าฟันกันเองเพื่อแย่งชิงทรัพยากรส่วนรวมไปจนไม่เหลือหรอ  ดังนั้นจะต้องมีผู้ที่มีอำนาจคอยปกครอง  ต่อมาแนวคิดนี้ก็ได้พัฒนากลายเป็นแนวคิดรัฐชาติที่มอบอำนาจในการกำหนดคุณค่าและจัดสรรผลประโยชน์และทรัพยากรส่วนรวมทั้งปวงให้แก่รัฐทำแทนสังคม



ถึงวันนี้ ในพื้นที่ต่างๆทั่วโลก องค์ประกอบอันสำคัญในการจัดการกันเองของชุมชนได้ถูกทำลายลงจนแทบไม่มีหลงเหลือ  ทว่าในโลกไซเบอร์  เครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้เปิดโอกาสขึ้นใหม่อีกครั้งให้กับผู้คนทั่วไปได้เรียนรู้ที่จะจัดการกันเอง  และครั้งนี้ด้วยขนาดของเครือข่ายผู้คนและข้อมูลความรู้ที่กว้างใหญ่ไพศาล ครอบคลุมทั่วทั้งโลกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์  พวกเขาก็ได้ร่วมกันพัฒนาภูมิปัญญาชาวบ้านให้กลายเป็นภูมิปัญญาชาวเน็ตไปในที่สุด



นานาตัวอย่างภูมิปัญญาชาวเน็ต



แสลชดอท (www.slashdot.org)  เป็นเว็บหนึ่งที่สามารถพัฒนาการจัดการตนเองได้อย่างดีเลิศ  เว็บนี้เป็นเว็บที่จัดทำเวทีสนทนาในหัวข้อต่างๆตั้งแต่เกมคอมพิวเตอร์ไปจนถึงการเมืองระหว่างประเทศ  ในปี 2544  เว็บนี้มีสมาชิกที่ลงทะเบียนถึงกว่า 300,000 คน[16]  สแลชดอทใช้ระบบกรรม (Karma)  ในการประเมินกันเองโดยสมาชิก  ผู้เข้าชมเว็บโดยไม่ลงทะเบียนจะมีคะแนนกรรมเท่ากับศูนย์  ถ้าลงทะเบียนสมาชิกจะเป็น + 1 ข้อความที่สมาชิกเห็นว่าดีที่สุดเจ้าของจะได้รับคะแนน +5 และเลวที่สุดจะได้ -1 สมาชิกที่มีกรรมดีสะสมมากก็สามารถมีสิทธิ์ในเว็บมากขึ้น และถ้ามีกรรมดีมากพอก็สามารถเป็นผู้จัดการเว็บได้  เมื่อได้เป็นแล้วแต่ไม่สะสมกรรมดีใหม่ สิทธิ์ในการจัดการก็จะหมดไป[17]



เว็บจีนู (www.gnu.org) เป็นเว็บที่ก่อตั้งขึ้นโดยแฮกเกอร์รุ่นบุกเบิกเพื่อสนับสนุนการพัฒนาโปรแกรมในระบบเปิด (open source)  โดยใช้วิธีจัดการกันเอง  โปรแกรมเหล่านี้จะได้รับตรา "ลิขสิทธิ์สาธารณะ" (general public license)  ซึ่งหมายความว่า  ห้ามจดลิขสิทธิ์ส่วนบุคคล  ยินดีให้คัดลอก เผยแพร่และปรับปรุงแก้ไข  โปรแกรมลีนุกซ์ (Linux) อันโด่งดังก็เป็นหนึ่งในโปรแกรมที่มีตราลิขสิทธิ์สาธารณะนี้



เว็บฟรีเน็ต (freenet.sourceforge.net )  มีเป้าหมายในการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการเข้าถึงข้อมูล  ผู้คนทั่วไปสามารถส่งความคิดเห็นหรือข่าวสารข้อมูลที่เกรงว่าจะได้รับการเซ็นเซอร์ไปยังเว็บนี้  ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปแยกเก็บในเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลของบรรดาผู้บริจาคที่มีอยู่ทั่วโลก  ด้วยวิธีนี้ผู้กุมอำนาจก็ไม่มีทางจะค้นหาแหล่งที่มาของข้อมูลเหล่านั้นเจอ เว็บนี้ได้รับความนิยมอย่างยิ่ง  ในประเทศที่มีการควบคุมข้อมูลข่าวสารอย่างหนัก อาทิเช่น จีน และประเทศในตะวันออกกลาง



นอกจากนี้ยังมีเว็บอื่นๆอีกมากมายที่อาศัยวิธีการจัดการกันเองในการบริหาร อาทิเช่น  อีเบย์ (www.ebay.com) เว็บตลาดนัดที่ได้รับความนิยมสูงสุดของโลก    อเมซอน (www.amazon.com)เว็บขายหนังสือและสินค้าอื่นๆที่ให้ตัวสมาชิกเองเป็นผู้ช่วยประเมินและแนะนำสินค้ากันเอง ฯลฯ



สรุป



ภูมิปัญญาของชาวบ้านในการจัดการกันเองที่ได้ถูกลบทิ้งออกจากความทรงจำของสังคมโลกไปแล้วนั้น  มาถึงเวลานี้ได้กลับมางอกเงยผลิดอกออกผลใหม่อีกครั้งในพื้นที่สาธารณะของโลกไซเบอร์  พื้นที่ที่แฮกเกอร์รุ่นแรกสร้างสรรค์ไว้ให้เป็นของทุกคน  และแม้กลุ่มมหาอำนาจทั้งในระดับประเทศและระดับโลกจะทุ่มเทเพื่อทำสงครามแย่งชิงพื้นที่แห่งนี้ไปเป็นของตนให้จงได้  แต่ก็ยังหาสัมฤทธิ์ผลไม่  ชุมชนชาวเน็ตที่ปกครองตนเองไม่เพียงแต่ยังดำรงอยู่ แต่ทว่ากลับวิวัฒน์และเติบโตต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง   ผลสำเร็จของพวกเขาคือข้อพิสูจน์ว่า  ทางเลือกมิได้มีแต่เพียงว่า จะเลือกใครที่เลวน้อยที่สุดมาปกครองเท่านั้น ทว่ายังมีอีกทางเลือกหนึ่งที่เหมาะสมกว่าทางเลือกเหล่านั้น  นั่นก็คือ  การจัดการกันเอง


 










[4]    เพิ่งอ้าง



[5] "Smart Mobs"โดย Howard Rheingold,พิมพ์ปี2002,หน้า47