Skip to main content

สามวันในเสียมเรียบ

คอลัมน์/ชุมชน

ดิฉันมีโอกาสไปเยือนนครเสียมเรียบอีกเป็นครั้งที่สองในรอบปีนี้  ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยไปประชุม AIPO (ASEAN INTER – PARLIAMENTARY ORGANIZATION) ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาเป็นเจ้าภาพ เมื่อวันที่ ๒๐ – ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๔๘ โดยมีผู้ร่วมคณะ คือ ร้อยตรีปรพล อดิเรกสาร สส.สระบุรี พรรคไทยรักไทย กับคุณนที เจียมเจริญ เลขานุการคณะผู้แทนไทย


 


สายการบินบางกอกแอร์เวย์ บินจากกรุงเทพฯ มาเสียมเรียบใช้เวลาราว ๕๕ นาที โดยมีเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินให้การดูแลเป็นอย่างดีตั้งแต่เช็คอินจนส่งถึงขึ้นเครื่อง พนักงานต้อนรับในเครื่องบินก็บริการด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดียิ่ง ถึงสนามบินเสียมเรียบ เจ้าหน้าที่มารับไปเข้าโรงแรม Ankor Palace Resort and Spa ได้รับเครื่องดื่มน้ำผลไม้ กับผ้าพันคอพิมพ์ชื่อโรงแรมสีชมพูสวยสดใส  ส.ส.เขมร ชื่อ ท่าน Khieu San (ซึ่งอยู่ในคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนและคณะกรรมาธิการกฎหมาย) จะกรุณาดูแลดิฉัน ตลอดการประชุมนี้


 


๓ วันแห่งการเข้าประชุม AIPO ครั้งนี้ ดิฉันมีความเข้าใจและซาบซึ้งในความสัมพันธ์ของไทย-กัมพูชายิ่งขึ้น ได้เห็นว่า ไทยกับกัมพูชามีประวัติศาสตร์ ศาสนา วัฒนธรรมที่ใกล้ชิดกันมาก ตั้งแต่รูปร่างหน้าตาของผู้คน ภาษาพูดที่ใช้คำคล้ายกัน แม้จะฟังกันไม่รู้เรื่องทั้งหมดเหมือนภาษาไทย-ลาวก็ตาม


 


กองเลขานุการ ได้มอบเสื้อเชิ้ตแขนยาวผ้าไหมสีทองอมน้ำตาลให้แก่ผู้เข้าประชุมทุกท่าน โดยขอให้ใส่ในงานเลี้ยงรับรองคืนแรกซึ่งประธานหน่วยประจำชาติ AIPO ของกัมพูชา คือ Dr.Cheam Yeap (เจียม เยียบ) เป็นเจ้าภาพ จัดที่สนามใกล้สระว่ายน้ำของโรงแรม


 


อากาศที่เสียมเรียบช่วงฤดูฝน ลมพัดมาเย็นสบาย ส่วนล็อบบี้ของโรงแรมเป็นพื้นที่รับลม มีโต๊ะรับแขกวางไว้ให้นั่งคุยกันอยู่ตามมุมต่าง ๆ นับว่าเป็นการออกแบบอาคารที่ใช้ประโยชน์จากสภาพลมฟ้าอากาศได้ดีเยี่ยม ทั้งเป็นการประหยัดพลังงานด้วย


 


พนักงานทั้งหญิงและชายแต่งชุดพื้นเมือง (หญิงนุ่งซิ่น ชายนุ่งโจงกระเบน) กิริยามารยาทดูเรียบร้อย พนมมือไหว้ย่อตัว หน้าตายิ้มแย้ม ชวนให้แขกอบอุ่นใจ


 


หญิงสาวนั่งตีระนาดเดี่ยวโชว์อยู่ที่ด้านหน้าล็อบบี้เป็นความงามอย่างเรียบง่าย ทั้งเสียงเพลงและการแต่งกาย ห้องพักมีระเบียงที่เปิดออกไปรับลมชมวิว ทั้งวิวส่วนที่เป็นสวนและสนามหญ้าของโรงแรมกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ ซึ่งเต็มไปด้วยต้นตาล  ราวกับว่าดงตาลคือ สัญลักษณ์ของนครเสียมเรียบ  มีโต๊ะ  เก้าอี้ ๒ ตัว วางไว้ให้นั่งพักผ่อน เสียดายที่ไม่มีมุ้งลวดให้ จะได้ไม่ต้องเปิดแอร์ในห้อง


 


                 

     

          


                                          


 


 


ต้นตาลที่อยู่ในบริเวณโรงแรม มีพะองไม้ไผ่ท่อนเดียว ซึ่งมีแขนงพาดไว้ให้คนงานขึ้นไปบนต้นตาลได้ ดิฉันนึกชมที่โรงแรมขนาด ๕ ดาว ได้แสดงภูมิปัญญาพื้นบ้านให้แขกต่างชาติได้เห็นอย่างเป็นธรรมดา ธรรมชาติ


 


ส.ส.ปรพล กับคุณนที และดิฉัน ชวนกันเดินเล่นรอบสวนของโรงแรม ซึ่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเดินตามมาคอยดูแลตลอดทุกวันของการประชุม เจ้าหน้าที่ชุดนี้มีชุดละ ๓ คน ผลัดเปลี่ยนกัน ก็จะคอยดูแลผู้แทนไทย (และผู้แทนชาติอื่น) อย่างไม่คลาดสายตา ทุกครั้งที่เปิดประตูออกจากห้อง  ก็จะเห็นเจ้าหน้าที่ ๒-๓ คนนี้คอยดูแลอยู่เสมอ


 


งานเลี้ยงรับรองคืนแรกโดยประธาน AIPO กัมพูชาเป็นเจ้าภาพ มีวงมโหรีบรรเลงอยู่ด้านข้างเวที ดิฉันชอบวงมโหรี ปี่พาทย์อยู่เป็นทุนแล้ว (คงได้สายเลือดรักศิลปวัฒนธรรมไทยมาจากคุณพ่อพลโทหม่อมหลวงขาบ กุญชร) จึงตั้งใจฟัง ตั้งใจดูเป็นพิเศษ เห็นว่าทั้งท่วงทำนองดนตรี การเอื้อนของผู้ร้องทั้งชายหญิง ซึ่งมีพลังเสียงดีเยี่ยม คล้ายกับเพลงไทยเดิมมาก ต่างกันแค่ภาษาที่ร้องเท่านั้น


                                          


                                           


 


 


การแสดงบนเวทีเป็นการบอกเรื่องราวของวิถีชีวิตและการทำมาหากินของชาวเขมรอย่างสนุกสนาน มีชีวิตชีวา เช่น ระบำชุดแรก แสดงถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเขมรนับถือ นำโดยธงทิวของชนกลุ่มเชื้อชาติต่าง ๆ ต่อด้วยระบำชุดหาปลา ระบำเกี่ยวข้าว ฝัดข้าว เป็นต้น ท่าน ส.ส.เขมรบอกว่า งานแสดงทางศิลปวัฒนธรรมให้นักท่องเที่ยวชมตามโรงแรมและภัตตาคารต่าง ๆ เฉพาะแค่ในเสียมเรียบ สร้างงานสร้างรายได้ให้นักแสดงนับพันคน


 


เสร็จจากงานเลี้ยงรับรองแล้ว อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยว ๑๒ ปี ท่าน Veng Sereyvuth  (เวียง เสเรวุธ) ได้ชวน ส.ส.ปรพล  คุณนที และดิฉันไปชมชีวิตกลางคืนของนักท่องเที่ยว ซึ่งนั่งรถออกมาจากโรงแรมแค่ ๑๕ – ๒๐ นาทีก็ถึง เห็นนักท่องเที่ยว เดิน นั่ง กินดื่ม กันอยู่ตามร้านรวง ๒ ฝั่งถนน ซึ่งมีแสงสีเสียง ค่อนข้างอึกทึก


 


ที่มุมถนนมีขอทานเด็ก อุ้มเด็กเล็ก ๆ เข้ากระเอว มีแม่อุ้มลูกเล็ก ๆ กับผู้ชายขาขาด จำนวนสัก ๓๐ กว่าคน ดูแล้วสลดสังเวชใจ ที่เห็นช่องว่างในสังคม คนกลุ่มหนึ่งได้เข้ามาเสพสุขในเสียมเรียบ ในขณะที่เจ้าของประเทศยังยากจนอนาถา แทบจะไม่มีกิน ไม่มีที่อยู่ที่ซุกหัวนอน


 


เช้าตรู่ก่อนพิธีเปิดประชุม ท่าน ส.ส.Khieu San (เขียว ซาน) ได้กรุณาพาดิฉันไปทำบุญที่วัดในวันอาสาฬหบูชา (๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๘) โดยไปที่วัดธรรมยุต ซึ่งท่านเจ้าอาวาสเป็นเจ้าคณะจังหวัดเสียมเรียบฝ่ายธรรมยุต เป็นวัดที่ไม่มีโบสถ์วิหารที่ใหญ่โต เหมือนวัดมหานิกาย (ท่านส.ส.เขียวซาน ใช้คำว่าวัดยากจน) มีเพียงโบสถ์ทำพิธีที่เรียบง่าย มีพระเณรอยู่ราว ๒๐ องค์ ซึ่งหลายองค์พูดภาษาไทยได้ เพราะเคยมาจำพรรษาอยู่ที่วัดไทยทางภาคอีสาน


 


ผู้ที่มาทำบุญส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุหญิง ซึ่งโกนผม นุ่งขาวห่มขาว บางคนนุ่งซิ่นดำ คณะสงฆ์นำสวดมนต์ สำเนียงคล้ายการสวดมนต์ของพระสงฆ์ไทย  ตอนเย็นราว ๖ โมง หลังประชุมเสร็จ ท่าน สส.เขียว ซาน ได้กรุณาพาดิฉันมาวัดอีกรอบ ซึ่งเป็นการเวียนเทียน โดยยกต้นเทียนพรรษา  ผ้าอาบน้ำฝน เวียนรอบโบสถ์  ๓ รอบ ผู้หญิงร้องโห่แสดงความคารวะด้วยเสียงที่ดังก้องกังวาน จากความศรัทธาเต็มหัวใจ ดิฉันได้เห็นว่าต้นเทียนเข้าพรรษานำเข้ามาจากไทย ด้วยราคาที่แพงนับพันบาท


 


                                          


                                      


 


ที่ร้านขายของเล็ก ๆ ที่อยู่ใกล้วัด เจ้าของเป็นหญิงวัยกลางคน อยู่กับลูกสาว ๒ คน ของในร้านส่วนใหญ่มาจากไทย ทั้งสบู่ ปลากระป๋อง และของอื่น ๆ เธอบอกว่านอกจากมีรายได้จากการขายของแค่วันละ ๔ – ๕๐ บาทแล้ว เธอต้องไปรับจ้างทำงานด้วย เพื่อจะได้เงินมาพอเลี้ยงลูก


 


เมื่อกลับจากวัดแล้ว ดิฉันรีบเปลี่ยนชุดเป็นทางการเพื่อเข้าเยี่ยมคารวะท่านประธานรัฐสภากัมพูชา คือ สมเด็จกรมพระนโรดมรณฤทธิ์ โดยหัวหน้าคณะคณะผู้แทนของแต่ละประเทศ ได้พบท่านประธานที่ห้องรับรองพิเศษของโรงแรม ด้วยบรรยากาศที่อบอุ่นน่าประทับใจ


 


สมเด็จกรมพระนโรดมรณฤทธิ์  มีอัธยาศัยไมตรีดีเยี่ยม ท่านได้ทักทายผู้แทนของทุกประเทศ และมอบของที่ระลึก เป็นถาดเงินให้แก่ทุกคน  ท่านพูดภาษาอังกฤษได้ดี ด้วยความเข้าใจสถานการณ์และจุดเด่นของทุกประเทศในอาเซียน ทุกคนที่ได้คุยกับท่านจึงรู้สึกภาคภูมิใจยิ่งนัก


 


พิธีเปิดประชุมอย่างเป็นทางการในหัวข้อ "การศึกษาแนวทางและการจัดหาทุนส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเชิงนิเวศน์ในภูมิภาคอาเซียน" โดยท่านประธานรัฐสภากัมพูชา แสดงปาฐกถาพิเศษ มีสาระสำคัญที่มาจากความห่วงใยอย่างจริงใจของสมเด็จนโรดมรณฤทธิ์ รวมทั้งสรุปผลจากการประชุมวันที่ ๒๑ – ๒๒ กรกฎาคม  ๒๕๔๘  ดิฉันจะนำเสนอต่อไปค่ะ


ขอขอบคุณท่านส.ส.ปรพล อดิเรกสาร และคุณนที เจิมเจริญ เลขานุการคณะ ที่กรุณาตรวจทาน และเพิ่มเติมข้อมูล รวมทั้งขอบคุณคุณนทีที่ทำหน้าที่ช่างภาพด้วยค่ะ