Skip to main content

ชีวจริยธรรมและอีกมุมหนึ่งของโคลนนิ่ง ตอนที่ 3

จะเห็นว่าการนำเซลต้นตอมาจากร่างกายของผู้อื่นเผชิญปัญหาเนื้อเยื่อไม่เข้ากัน หาผู้บริจาคได้ยาก ส่วนการนำเซลต้นตอมาจากตัวอ่อนก็ก่อปัญหาทางจริยธรรม รวมทั้งยังไม่สามารถหลีกเลี่ยงเรื่องเนื้อเยื่อไม่เข้ากันอยู่ดี ทางออกสำหรับปัญหาเหล่านี้คือกรรมวิธีที่เรียกว่า โคลนนิ่ง (Cloning)


เมื่อพูดถึงโคลนนิ่ง สาธารณชนมักคิดไปไกลถึงการโคลนนิ่งมนุษย์โดยปะติดปะต่อเรื่องราวจากความสำเร็จของการโคลนนิ่งแกะดอลลี่ ซึ่งถือกำเนิดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ค.ศ.1996 แต่ที่สาธารณชนให้ความสนใจน้อยกว่าคือ แกะดอลลี่นั้นเจ็บป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บหลายชนิด ได้แก่ ข้ออักเสบอย่างรุนแรงและโรคปอดเสื่อมสภาพ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ตัดสินใจยุติชีวิตมันด้วยความเมตตาดังที่เรียกว่าการุณยฆาต (Euthanasia)


ความจริงในปัจจุบันคือ การโคลนนิ่งสิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ยังไม่สามารถทำโดยปลอดภัยได้ เพราะกรรมวิธีนี้ก่อให้เกิดความผิดปกติของเซลร่างกายบางส่วนในเวลาต่อมาเสมอ ร้อยละ 95-97 ของตัวอ่อนที่เกิดจากการโคลนนิ่งจะตายก่อนคลอด เกือบทั้งหมดตายตอนที่คลอด ร้อยละ 30 มีขาและอวัยวะผิดปกติ เพราะเหตุผลดังนี้องค์การสหประชาชาติจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2005 ห้ามทำการทดลองโคลนนิ่งมนุษย์เพื่อการสืบพันธุ์ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Reproductive Cloning


การโคลนนิ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกคือการโคลนนิ่งเพื่อสร้างชีวิตใหม่หรือ การโคลนนิ่งเพื่อการสืบพันธุ์ ดังที่เรียกว่า Reproductive Cloning ตัวอย่างแกะดอลลี่คือการโคลนนิ่งเพื่อการสืบพันธุ์ ซึ่งน่าจะเห็นพ้องต้องกันว่าอย่างน้อยที่สุดก็มิควรกระทำในมนุษย์ ประเภทที่สองเรียกว่า Therapeutic Cloning แปลว่า การโคลนนิ่งเพื่อการรักษา


การโคลนนิ่งเพื่อการสืบพันธุ์ คือนำเอานิวเคลียสจากเซลร่างกายไปแทนที่นิวเคลียสของเซลไข่แล้วกระตุ้นให้เจริญเติบโต หากทำกระบวนการนี้ไปจนกระทั่งคลอดก็จะได้สิ่งมีชีวิตที่มีรูปกายภายนอกเหมือนกับเจ้าของนิวเคลียสจากเซลร่างกายนั้น


การโคลนนิ่งเพื่อการรักษาทำเหมือนกัน เพียงแต่ไม่ปล่อยให้กระบวนการดำเนินไปจนถึงวันคลอด แต่ทำไปเพียง 7-14 วันเพียงให้ได้ตัวอ่อนที่มีเซลต้นตอสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ด้วยวิธีนี้เซลต้นตอที่ได้จะเป็นเซลต้นตอที่มีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกับเจ้าของนิวเคลียสจากเซลร่างกายนั้นทุกประการ


ดังนั้น หากนำการโคลนนิ่งเพื่อการรักษามาใช้กับผู้ป่วย กล่าวคือนำนิวเคลียสจากเซลร่างกายของผู้ป่วยมาทำโคลนนิ่ง ก็จะได้เซลต้นตอจากตัวอ่อนที่มีลักษณะทางพันธุกรรมของผู้ป่วย เช่นนี้จึงตัดปัญหาเรื่องเนื้อเยื่อไม่เข้ากันไปได้


จะเห็นว่าการโคลนนิ่งเพื่อการรักษามีเป้าหมายเพียงต้องการตัวอ่อนที่มีอายุ 7-14 วันแล้วนำเซลต้นตอภายในไปใช้ประโยชน์ แต่ก็ยังคงหลีกเลี่ยงประเด็นสละชีวิตเพื่อชีวิตไม่ได้เว้นเสียแต่เราจะลงความเห็นว่าตัวอ่อนที่เกิดจากการโคลนนิ่งมิใช่สิ่งมีชีวิต สังคมยอมรับความเห็นเช่นนี้หรือไม่


การเลือกใช้คำศัพท์ว่า โคลนนิ่งเพื่อการรักษา หรือ Therapeutic Cloning เป็นเพียงการเลือกใช้คำศัพท์ที่ฟังดูดีมีประโยชน์เพื่อลดแรงต้านทางจริยธรรมหรือไม่ ดังที่ทราบกันว่าภาษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการครอบงำความคิดของบุคคล


ปัจจุบัน มีประเทศที่อนุญาตให้นักวิทยาศาสตร์ทำโคลนนิ่งเพื่อการรักษา แล้วนำเซลต้นตอมาวิจัยเพื่อประโยชน์ในการรักษาโรคคือ อังกฤษ สิงคโปร์ จีน และสหรัฐอเมริกา ในงานวิจัยเหล่านี้ต้องการตัวอ่อนจำนวนมากเพื่อเป็นแหล่งเซลต้นตอ ซึ่งลำพังตัวอ่อนในคลินิกผู้มีบุตรยากมีไม่มากพอ


วิธีที่จะผลิตตัวอ่อนจำนวนมากเพื่อการวิจัย จึงต้องอาศัยการทำโคลนนิ่งและเก็บตัวอ่อนที่มีลักษณะทางพันธุกรรมต่าง ๆ นานามากมายเป็นวัตถุดิบเพื่อการวิจัยดังที่เรียกว่า Cell Line ก่อนหน้าที่องค์การสหประชาชาติจะมีมติยับยั้งดังกล่าว ประธานาธิบดีจอร์จ บุชได้สั่งให้นักวิทยาศาสตร์หยุดการเก็บตัวอย่าง Cell Line ทำให้งานวิจัยเซลต้นตอเพื่อการรักษาหยุดชะงักไปด้วย


กรณีความก้าวหน้าของงานวิจัยเซลต้นตอ เพื่อการรักษาผู้ป่วยอัมพาตที่ไขสันหลังในสหรัฐอเมริกาจึงนิ่งอยู่กับที่ ดังที่ปรากฏเป็นข่าวว่า คริสโตเฟอร์ รีฟ หรือซูเปอร์แมนซึ่งป่วยด้วยอัมพาตที่ไขสันหลัง ภรรยาของเขา และพรรคเดโมแครตได้พยายามที่จะให้มีการวิจัยในลักษณะเช่นนี้ต่อไป ตามข่าวแจ้งว่าการทดลองรักษาอัมพาตที่ไขสันหลังนี้ประสบความสำเร็จในหนูทดลองแล้ว


นักวิทยาศาสตร์เจ้าของโครงการคือ ดร.ฮันส์ เคอร์สเตดได้นำเทปบันทึกภาพของหนูที่เป็นอัมพาตแล้วเดินได้อีกครั้งหนึ่งมาแสดง แต่ก็ถูกทักท้วงจากนักวิทยาศาสตร์บางส่วนว่าเป็นผลงานที่ยังมิได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการเป็นกิจจะลักษณะ


การรักษาด้วยเซลต้นตอเหล่านี้บางเรื่องเกิดขึ้นแล้ว เช่น การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวและโรคเลือดบางชนิด รวมทั้งการรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายด้วยเซลต้นตอเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ในบ้านเราแล้ว โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งก็ได้ออกข่าวว่ามีบริการแล้วด้วย แต่การรักษาโรคอัลไซเมอร์ พาร์คินสัน หรืออัมพาตที่ไขสันหลังนั้นยังอยู่ระหว่างการวิจัย


การรักษาเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยนับล้านทั่วโลก ปัญหาที่สาธารณชนควรมีส่วนช่วยกันขบคิดคือนี่เป็นกรณีสละชีวิตเพื่อชีวิตหรือไม่ สมควรให้นักวิทยาศาสตร์ทำต่อไปและสมควรให้แพทย์นำไปใช้ประโยชน์แก่ผู้ป่วยหรือไม่


คำตอบที่ได้อาจจะไม่สำคัญเท่ากับวิธีที่จะได้มาซึ่งคำตอบ ยกตัวอย่างกรณีการถอดสายอาหารจากนาง เทอรี่ เชียโว เพื่อยุติชีวิตของเธอในสหรัฐอเมริกาเมื่อเร็ว ๆ นี้ จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างทางความคิดมากมายในกรณีของนางเทอรี่ เชียโว แต่วิธีจัดการความแตกต่างนั้นอาศัยเวทีสาธารณะที่ดี มีสื่อมวลชน นักการเมือง และนักการศาสนาที่เปิดใจกว้างตามสมควรมาถกถียงและแลกเปลี่ยนความเห็นทั้งทางกฎหมายและจริยธรรม


ชีวจริยธรรมหรือ Bioethics ก็เช่นเดียวกัน เป็นการยากที่จะค้นหาคำตอบเกี่ยวกับชีวิตที่สัมบูรณ์ ลงตัว เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย แต่เป็นไปได้ที่จะพัฒนาเวทีสาธารณะเพื่อพูดคุยเรื่องเหล่านี้เช่นสังคมที่มีวุฒิภาวะทางความคิดแล้ว