Skip to main content

เควียร์กับทุนนิยม

คอลัมน์/ชุมชน

 


ผู้เขียนเพิ่งเดินทางกลับมายังสหรัฐฯ ได้เมื่อสามสี่วันก่อน ตอนนี้เกิดอาการปรับเวลาไม่ได้ เพราะนอนค่ำตื่นเช้าตามเวลาประเทศไทย  แต่เป็นนอนบ่ายตื่นดึกของที่นี่ ยังมึน ๆ อยู่ วันนี้เลยได้ลุกมาเขียนต่อเรื่องของเควียร์อีกสักนิด


 


วันนี้เป็นเรื่องของทุนนิยมกับเควียร์ ที่มาคู่กัน นับแต่โลกได้เปลี่ยนเป็นยุคอุตสาหกรรม  ความเป็น      เควียร์ของมนุษย์จึงค่อยมาชัดเจนขึ้นจนทุกวันนี้   ทั้งที่มันอยู่คู่โลกมาพร้อมกับที่มนุษย์เกิดขึ้น แต่มนุษย์ไม่ได้เดือดร้อนกับมัน จนเมื่อไม่กี่พันปีมานี้ ที่มีความเชื่อบางอย่างว่า เควียร์เป็นของประหลาด ทำให้เรื่องเหล่านี้เป็นของต้องห้ามไป และหายไปจากกรอบของสังคมกระแสหลัก


 


ผู้เขียนมีบทความวิชาการชิ้นหนึ่งเป็นรายงานวิจัยของผู้เขียนเองที่เกี่ยวกับความเป็นตัวตนของเกย์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำว่าเควียร์ มีชื่อว่า "Gay History: Its Problem of Identity and Rhetorical Personae" ในวารสารนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ฉบับที่ ๑ เดือนมกราคม-มีนาคม ๒๕๔๒  สรุปได้ว่า


 


๑. เกย์ไม่มีในประวัติศาสตร์ในตะวันตก (หรืออาจเป็นที่อื่นด้วย) เพราะคนที่เขียนประวัติศาสตร์ไม่ใช่เกย์ หรือไม่ใช่คนที่สนับสนุนเกย์  ทั้งที่ผู้เขียนนี้อาจจะเป็นเกย์หรือไม่เกย์ก็ได้


๒. ผู้อ่านเองก็ไม่ได้ต่างจากผู้เขียนเท่าไรนัก


๓. อย่างไรก็ตาม อาจมีคนเขียน (เป็นเกย์หรือไม่ก็ได้) ได้เขียนเรื่องเกย์ แต่เอกสารนั้น ๆ ไม่ได้ถูกเก็บไว้หรือไม่ได้เผยแพร่ หรือถูกทำลาย


๔. ผลที่เกิดขึ้นคือ เกย์ถูกลืม ถูกบดบัง และไม่ได้รับการสนใจ ทำให้ไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ จวบจนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่มีกลไกทุนนิยมสมัยใหม่มาผลักดันให้เกิดความเป็นเมืองมากขึ้น และความเป็นปัจเจกชนมากขึ้น ไม่ต้องเป็นสังคมที่ต้องพึ่งพาสมาชิกอื่น ๆ มากแบบสังคมกสิกรรม เพราะกลไกใหม่เป็นเรื่องของการทำงานแบบอุตสาหกรรม


 


ดังนั้น จากข้อสรุปดังกล่าว เกย์จึงมาอยู่ในภาคการผลิตนี้มากขึ้นและอพยพมาในเมืองใหญ่  เกย์จึงสามารถที่จะสร้าง "ตัวตน" ได้ง่ายขึ้น แต่ไม่ใช่ทันทีทันใด ค่อย ๆ ขยับขึ้นมาและเริ่มมีเอกสารเกี่ยวกับเกย์ชัดเจนขึ้น


 


คราวนี้มาถึงประเด็นว่า มันเกี่ยวอะไรกับเกย์หรือเควียร์กลุ่มอื่น ๆ ด้วยในปัจจุบัน?


 


ที่เกี่ยวก็คือว่า  เกย์นั้นเริ่มมีการสร้างตัวตนในสังคมผ่านกระบวนการบริโภคในสังคมทุนนิยม และสร้างอำนาจของตน (แบบตื้นๆ และปลอมๆ ) ผ่านตรงนี้ด้วยกระบวนการดังกล่าวคือ


 


๑. เกย์นั้นมีความต้องการบางอย่างไม่ตรงกับคนอื่น ๆ ในกระแสหลัก คือ มีความเป็นปมด้อยลึกๆ ว่าไม่เป็นที่ยอมรับ ซึ่งมาจากกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม (socialization) ของสังคมกระแสหลักที่เกย์เกิดมาและถูกเลี้ยงดูมา  ส่วนหนึ่งเกย์ก็อยากเป็น อยากได้แบบคนที่ไม่ใช่เกย์อยากเป็น อยากได้  เช่น ความร่ำรวย  การมีชีวิตคู่หรือชีวิตสมรสตามกระแสหลัก  ทำให้เกย์เองต้องพยายามทำทุกอย่างที่จะนำไปสู่การได้มาซึ่งการลบปมด้อย (ที่สังคมกระแสหลักป้อนเข้าไปและเกย์เองก็รับเอาเข้ามาด้วย) ความร่ำรวย การมีชีวิตคู่ตามกระแสหลัก ดังนั้น ที่ปรากฏขึ้นมาคือ เกย์หลายคนต้องทำงานหนักมากกว่าคนที่ไม่ใช่เกย์   เกย์เหล่านี้ต้องสู้อดทนทางอารมณ์จิตใจในการที่จะไม่เปิดเผยการเป็นเกย์ในตอนต้นๆ  และคอยจนกว่าจะมีอำนาจทางวัตถุเสียก่อน


 


๒. เมื่อกลุ่มเกย์เองได้เข้าใจและทำตามข้อแรกแล้ว  ก็เกิดเป็นแนวประพฤติปฏิบัติต่อมา จนกลายเป็นว่า เกย์เองก็แบ่งออกเป็นสองพวกคือพวกที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจมาก และพวกที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจน้อย ไม่ต่างกับคนที่ไม่ใช่เกย์ แต่ว่ามีความซับซ้อนกว่าที่ว่า  ถ้าเป็นเกย์แล้วยังจนนี่ก็ไม่ต่างกับว่าเกิดมาแล้วซวยซ้ำซวยซ้อน  ดังนั้น วัฒนธรรมเกย์ในโลกปัจจุบันคือ วัฒนธรรมเกย์กระฎุมพี ไม่ว่าในไทยหรือสหรัฐฯ เกิดเป็นภาพซ้อนว่า ในบุคคลชายขอบจุดนี้ ยังมี "ชายขอบของชายขอบ" นั่นเอง


 


๓. เมื่อเป็นเช่นนี้  ตอนนี้ใครจะเกย์ไม่เกย์   เควียร์ไม่เควียร์แล้ว ยังต้องมองดูว่ามีเงินหรือไม่มีเงินอีกด้วย จุดนี้แหละที่น่ากลัวที่สุดสำหรับคนที่จะเข้าใจตัวตนและความมีอยู่เป็นอยู่ (existence) ของเควียร์ในโลกทุนนิยมปัจจุบัน


 


ดังนั้นแล้ว ในสังคมวันนี้ การเป็นเควียร์จึงกลายมาเป็นเครื่องมือของธุรกิจได้  ในสหรัฐฯ  ตลาดของ   เควียร์กว้างขวางกว้างใหญ่กว่าเดิม  บริษัทรถยนต์หลายบริษัท (ขอไม่เอ่ยนาม) ได้ประกาศตัวว่าสนับสนุนเควียร์  พวกเควียร์ก็เป็นลูกค้าประจำ หรือหลายบริษัทบอกว่ามีนโยบายยอมรับเควียร์ให้เข้ามาทำงาน  พวกเควียร์ก็พยายามเข้าไปทำงานให้กับบริษัทเหล่านั้น พวกเควียร์ด้วยกันก็ยิ่งสนับสนุนบริษัทเหล่านี้มากขึ้น นอกจากนี้  ทุกครั้งที่มีกิจกรรมของเควียร์ บริษัทเหล่านี้ก็จะแย่งเป็นสปอนเซอร์อย่างออกนอกหน้า  คนที่รวยคือคนที่จัดงานและบริษัทพวกนี้ที่ขายของได้ มีภาพทางการตลาดที่ดีได้   ทำให้บริษัทเหล่านี้เป็นที่นิยมของบรรดาเควียร์ได้    จึงไม่ยากเลยสำหรับกลยุทธการตลาดตรงนี้


 


แต่ที่น่าเสียดายคือ เควียร์เองไม่รู้เลยว่ากำลังติดกับดักทางสังคมทุนนิยมยุคหลังสมัยใหม่นี้ไปแล้ว กลไกนี้ไม่ใช่ "น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า" แต่เป็นกลไกที่แยบยลเพราะบริษัทเหล่านี้ต้องการแค่ "เงิน" ในกระเป๋าของเควียร์  และ "ความจงรักภักดี" ที่นำไปสู่การตักตวงความสามารถที่ล้นเหลือ การยอมทำงานถวายชีวิตของพนักงานเควียร์  ดังนั้น งานเดินขบวนเรียกร้องเสรีภาพของเควียร์ในที่ต่าง ๆ ของโลกก็จะเห็นบริษัทแบบนี้เข้าเป็นสปอนเซอร์กันแบบจะฆ่ากันตาย จากที่สมัยก่อนไม่ใคร่มีใครอยากร่วม เพราะไม่คิดว่าเควียร์จะมีจำนวนมากและมีเงินมากขนาดนี้


 


นอกจากนี้ ตอนนี้ "เควียร์" ก็กำลังผ่านกระบวนการการเป็นคนธรรมดาแบบรักต่างเพศ  (hetero-normatization)  ยิ่งในสื่อใหม่ ๆ ของอเมริกัน ไม่ว่าจะเป็นรายการ "Queers as Folk"  "Will & Grace" หรือ "Queer Eye for the Straight Guy"   ยิ่งสนับสนุนว่าเกย์ที่ดี คือเกย์มีกะตังค์  มีอาชีพเริ่ด ๆ มีบ้านสวยๆ มีรถดีๆขับ ใช้ของแพงๆ   ถ้าไม่ได้ขนาดนั้น เป็นเกย์กระจอก ที่แย่คือลึกๆ ยังตอกย้ำภาพแบบทุเรศเดิมๆ ของเกย์ว่า เกย์ห่วยๆ คือเกย์แรดๆ  แล้วไม่ทำมาหากิน ดีแต่ตอแหลไปวันหนึ่งๆ  (แบบตัวละคร "แจ๊ค" ใน Will & Grace)


 


ผู้เขียนว่า ถ้าทำภาพออกมาให้เนียนๆ ไม่ได้ อย่าทำออกมาเลยจะดีกว่า   อย่านึกว่าฝรั่งจะเป็น "ควาย" ไม่ได้  (อย่างไรก็ตาม งานของไทยที่เกี่ยวกับเกย์ก็ยังไม่ค่อยไปถึงไหน จะเป็น "ควาย"แบบใดจึงตอบไม่ได้)


 


จึงเป็นไปได้ว่า เกิดมาเป็นเควียร์นั้น  เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น  ยิ่งถ้าเกิดมาแล้วโง่ คิดไม่ได้ ยิ่งซวยหนัก  เพราะพอหลุดออกมาจากโลกมืด ก็มาเจอการหลอกลวงต่างๆ ของทุนนิยมอีก แต่ก็ให้แปลกใจว่า ทำมั้ยทำไม โลกมันถึงได้โหดกับคนกลุ่มนี้เหลือเกิน


 


เกิดเป็นเควียร์จึงต้องฉลาด  ต้องขยัน และต้องเท่าทัน อาจจะต้องทำสิ่งเหล่านี้มากกว่าคนที่ไม่ใช่เควียร์ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกนัก อย่าหมดกำลังใจเสียก่อนก็แล้วกัน