Skip to main content

มรณกรรมของ "พระสุพจน์" กับความสิ้นหวังของสังคมไทย...

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


๑.


 


พระสุพจน์ สุวโจ ถูกพบว่าเสียชีวิตเมื่อเวลาประมาณ ๐๙.๓๐ น. ของวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๔๘ บริเวณพงหญ้าริมทางเดินเล็กๆ ในเขตสถานปฏิบัติธรรม "สวนเมตตธรรม" ร่างของท่านทอดยาวไปกับผืนดิน หันศีรษะไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ใกล้ๆ กอไผ่แนวเขตอาราม ซึ่งไม่ห่างจากถนนระหว่างหมู่บ้านเท่าใดนัก แต่ไกลจากกุฏิที่พักกว่า ๓๐๐ เมตรเศษ โดยมีทางน้ำไหลเล็กๆ และสระน้ำใหญ่ ตลอดจนลำห้วย และลานไผ่ที่ใช้จัดกิจกรรมต่างๆ ของสถานปฏิบัติธรรมคั่นอยู่เป็นระยะ


 


ทางเดินเล็กๆ สายนั้นมีหญ้าขึ้นรกท่วมเข่าและท่วมเอวในบางจุด ทั้งเพราะฝนชุกตามฤดูกาล และเพราะแทบไม่มีใครใช้ทางนั้น เข้า-ออก ตามปกติ


 


นางคำ เหล้าหวาน หญิงไทยใหญ่ คนงานหนึ่งในสองครอบครัวที่อาศัยอยู่ในอาณาเขต "สวนเมตตาธรรม" ผู้พบศพคนแรกเล่าว่า นางได้ลำไยมาจากสวนอื่นซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก จึงตั้งใจจะนำไปถวายพระสุพจน์ ที่ระหว่างนั้นพักอยู่ในสถานปฏิบัติธรรมเพียงรูปเดียว เนื่องจากเพื่อนภิกษุอีก ๒ รูป อยู่ระหว่างทำภารกิจในกรุงเทพมหานคร


 


วูบแรกที่นางเห็นคือปลายเท้าและและปลีน่องอันขาวซีด เท่านั้นก็ทำให้นางหยุดชะงัก ต่อเมื่อเหลือบมองขึ้นไปจนเห็นหน้าที่มีบาดแผลเหวอะหวะ ตลอดจนสบงอังสะซึ่งเปียกชุ่มไปด้วยเลือด ก็ทำให้หญิงวัยสามสิบเศษผู้นี้ถึงกับเข่าอ่อน ต้องทรุดตัวลงนั่งอย่างทันทีทันใด


 


เพราะจำได้ทันทีที่เห็น ว่านั่นคือ "อาจารย์สุพจน์" หรือ "ตุ๊เจ้าใส่แว่น" ที่นางตั้งใจนำผลไม้ไปถวายนั่นเอง...


 


เวลาจะผ่านไปเท่าใดไม่แน่ชัด กระทั่งสติสัมปชัญญะกลับคืนมา นางจึงกระหืดกระหอบออกเดินจากจุดนั้น แล้วบังเอิญพบกับอดีตสามี ซึ่งแต่เดิมเป็นคนงานในสวนเมตตาธรรม กำลังขี่รถจักรยานยนต์ผ่านมาจึงพากันไปหา นายพงค์ โถแก้ว คนงานอีกคนหนึ่ง ที่บ้านซึ่งห่างออกไปกว่า ๔๐๐ เมตร


ความตายของ "พระ" ทำให้คนเหล่านี้ตื่นตระหนกตกใจ แต่นั่นยังไม่เท่ากับความกริ่งเกรง ที่จะต้องไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ซึ่งคนเหล่านี้พบเสมอ ว่าพร้อมที่จะขู่กรรโชก หรือกระทำสิ่งใดๆ ต่อพวกเขา(และเธอ)ในนามของระเบียบและกฎหมาย ตลอดจนอำนาจรัฐ ซึ่งคนใช้แรงงานเช่นพวกเขาและเธอไม่เคยมีความรู้


 


กว่าที่จะได้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ที่บ้านของอดีตนายตำรวจระดับสูงซึ่งอยูใกล้ๆ สถานปฏิบัติธรรม เวลาจึงผ่านไปแล้วกว่า ๑ ชั่วโมง หรือมากไปกว่านั้น


 


ด้วยเหตุนี้เอง นอกเหนือจาก "ความตาย" จะพราก "พระสุพจน์ สุวโจ" ไปจากเพื่อนภิกษุ, ญาติ และมวลมิตร "ความตาย" ของพระสุพจน์ ก็ยังได้ "พราก" เอาหลายสิ่งหลายอย่างที่เคยมีอยู่และเป็นอยู่ "ตามปกติ" ไปจากชีวิตของคนสิ้นไร้ไม้ตอกเหล่านี้ด้วย...


 


๒.


พวกเขา(และเธอ)เล่าว่า หลังจากการชันสูตรศพในที่เกิดเหตุ พวกตนก็ถูกนำตัวไปสถานีตำรวจ มีการสอบปากคำ หรือซักถามโดยเจ้าหน้าที่หลายคน หลายครั้ง และหลายต่อหลายเรื่องราว ซ้ำแล้วซ้ำอีก อย่างยืดเยื้อและยาวนาน แต่คำถามนั้นค่อนข้างจำกัด และวนเวียนอยู่กับไม่กี่ประเด็นที่ตำรวจต้องการ เช่น เรื่องคนตัดไม้ เรื่องที่ว่าทำไมพวกตนจึงไม่อยู่ในสวนเมื่อวันเกิดเหตุ พวกตนมีส่วนร่วมหรือรู้เห็นใช่ไหม ตลอดจนเรื่องความเป็นอยู่ของพระภิกษุเหล่านั้น ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร


 


วันและคืนนั้นหลังพบศพและต่อเนื่องมาอีกหลายวัน นางคำและนายพงค์ถูกสอบปากคำครั้งแล้วครั้งเล่า รวมแล้วหลายสิบชั่วโมง...


 


แต่นายต่อโชคร้ายยิ่งกว่านั้น เพราะถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็น "ผู้ร้าย" ในคดีนี้เลยทีเดียว ต่อเมื่อผลพิสูจน์ร่องรอยบนเสื้อ และคราบยางไม้บนขวานออกมาได้ ว่าไม่มีคราบเลือดใดๆ อยู่เลยนั่นแหละ นายต่อจึงค่อยห่างออกมาจากวงล้อมของ "ความไม่ไว้วางใจ" ได้บ้าง


 


๓.


 


พระสุพจน์ สุวโจ ถูกทำร้ายกระทั่งถึงแก่มรณภาพด้วยของมีคมไม่ทราบชนิด เพราะเจ้าหน้าที่ไม่สามารถค้นหาอาวุธ หลักฐาน หรือวัตถุพยานใดๆ ระดับบ่งชี้บุคคล ได้ในที่เกิดเหตุ ทั้งไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ทำร้าย เพราะไม่มีประจักษ์พยาน ตลอดจนไม่สามารถประมวลข้อมูลที่มี-ที่ทราบ เพื่อนำไปสู่การค้นหาตัวผู้ต้องสงสัยใดๆ ได้แม้แต่คนเดียว


 


กระนั้นก็ใช่ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่มีข้อสังเกต ข้อสันนิษฐาน หรือสมมติฐานเอาเสียเลย...


 


กับบาดแผลและร่องรอยฉกรรจ์เกินกว่าสิบ มีทั้งที่ยาวกว่า ๑๕ เซนติเมตร ลึก ๕ เซนติเมตรเศษ ๑ ใน ๓ แผลบริเวณท้ายทอย หรือบาดแผลความยาวกว่า ๑๕ เซนติเมตร บริเวณลำคอด้านซ้ายและด้านหน้า ๑ ใน ๔ แผล ที่ตัดหลอดเลือดแดงใหญ่เกือบขาดและตัดหลอดเลือดดำใหญ่จนขาดสะบั้น ทั้งยังตัดผ่านกล่องเสียงและหลอดลม ตลอดจนกระดูกลำคอ อันเป็นร่องรอยการเชือดหรือฟันขนาดใหญ่ที่เป็นเหตุให้เสียชีวิตเกือบจะทันทีที่ถูกกระทำ ตามความเห็นของฝ่ายนิติวิทยาศาสตร์ หรือบาดแผลบนมือขวา ที่ถูกตัดฟันจนเกือบขาด หรือบาดแผลบนแก้มซ้าย บนแขนซ้าย ฯลฯ ที่พบบนร่างกายสูงใหญ่ประมาณ ๑๗๐ เซนติเมตรเศษของพระภิกษุวัย ๓๙ ปี อดีตนักกีฬาระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งบวชมาแล้ว ๑๓ พรรษา กลับทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสรุปได้เพียงสั้นๆ และง่ายๆ ว่า พระสุพจน์ ถูกคนตัดไม้ไผ่(ลำเดียว) ซึ่งบันดาลโทสะเพราะพระมาห้ามมิให้ตัดไม้ ทำร้ายจนถึงแก่ความตายไปอย่างง่ายดายและแทบไร้เหตุผลในที่สุด


 


ไม่นำพาปรารมภ์ต่อข้อสังเกตของพระร่วมสำนัก ที่พยายามอธิบายทั้งทางตรงและทางอ้อมหลายกรรมหลายวาระ ว่าน่าจะมีผู้มีอิทธิพล และกรณีการบุกรุกที่ดินซึ่งเกิดขึ้นมาอย่างสืบเนื่องและยาวนานเข้ามาเกี่ยวข้อง


 


ต่อเมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายมากๆ เข้า ตำรวจระดับสูงบางนายจึงเบี่ยงประเด็น ไปเป็นว่า อาจมีคนร้ายเข้ามาขโมยไม้จากยุ้งข้าวเก่าบริเวณใกล้เคียงที่พบศพ เมื่อสุนัขที่พระสุพจน์เลี้ยงไว้มาพบและเห่าเสียงดัง ก็ทำร้ายเอาจนสุนัขส่งเสียงร้อง พระสุพจน์ได้ยิน จึงออกเดินจากที่พักมาต่อว่าด่าทอ จึงบันดาลโทสะทำร้ายพระสุพจน์จนถึงแก่ชีวิต


 


มิไยที่ญาติมิตร พระสุพจน์ สุวโจ จะทักท้วงและโต้แย้ง ว่าอุปนิสัยของพระรูปนี้มิได้เป็นไปเช่นนั้น หรือที่หลายคนอธิบายว่า การออกมาระยะไกลในที่รกเรื้อเป็นเรื่องผิดวิสัย เมื่อประกอบกับการไม่ปิดคอมพิวเตอร์ ไม่ปิดประตูกุฏิ ทั้งยังแช่สบงอังสะทิ้งไว้ที่ริมห้วยใกล้กุฏิที่พักด้วยแล้ว คน "รู้จัก" พระสุพจน์ แม้ไม่นานนักก็ยากจะเชื่อไปได้ ว่าเหตุร้ายที่เกิดขึ้น จะมีสาเหตุเพียงเพราะไม้ไผ่ ๑ ลำ หรือไม้กระดานเก่าๆ ไม่กี่แผ่นที่ว่ามานั้นเลย


 


๔.


 


ท่ามกลางความโศกเศร้าและสลดใจของญาติผู้เกี่ยวข้อง ในระหว่างงานศพจนถึงวันทำบุญเอาอัฏฐิพระสุพจน์เข้าสถูป สังคมไทยจึงกลายเป็น "สังคมคู่ขนาน" ไปในที่สุด


 


กล่าวคือ ด้านหนึ่งมีผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคม ที่สนใจในเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องการเผยแผ่และประยุกต์ใช้ศาสนธรรม และความยุติธรรมอันพึงมีพึงได้ของคนด้อยโอกาส ได้พากันมาเคารพศพและแสดงความเสียใจกับญาติมิตรของผู้จากไปอย่างล้นหลาม


 


ขณะที่อีกด้าน เจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งระดับท้องถิ่นและส่วนกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือต้องรับผิดชอบกับชีวิต และความเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม หรือตามหน้าที่ในสายงาน ต่างก็พากันดาหน้าออกมาปฏิเสธความรับผิด ชนิดปัดภาระให้พ้นตัว บางคนบางฝ่ายที่ไร้มโนธรรมสำนึกอย่างหนักหน่วงและรุนแรง ก็ถึงกับออกปาก "ว่าร้าย" โจมตีให้พระผู้มรณภาพกับเพื่อนภิกษุกลายเป็น "คนผิด" ไปเสียเอง เพื่อบอกกล่าวในทางอ้อมต่อสังคม ว่ามี "คนผิด" ยิ่งไปกว่าตัว ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบกับชีวิตและความตายของ "คนไม่ถูกต้อง" ดังกล่าวนั้น


 


นี่ออกจะเป็นเรื่องเลวร้ายและโหดร้าย ไม่น้อยไปกว่าการลงมือเข่นฆ่า พระสุพจน์ "โดยตรง" แต่อย่างใด...


 


อีกทั้งการเพิกเฉยไม่ยินดียินร้ายของคณะสงฆ์และผู้บริหารราชการแผ่นดินอีกเล่า จะกล่าวได้หรือไม่ ว่าเป็นทารุณกรรม "ซ้ำเติม" ทั้งผู้ตายและผู้ยังอยู่หนักขึ้นไปอีก เพราะนอกจากจะไม่ป้องกันแก้ไข ไม่หาทางออกแล้ว ยังปล่อยให้ผู้ตาย ญาติผู้ตายและผู้เกี่ยวข้อง ต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ อย่างโดดเดี่ยวและสิ้นหวัง


 


๕.


 


ถึงวันนี้ นางคำ นายพงค์ นายต่อ และคนยากจนข้นแค้นอีกหลายต่อหลายคน ยังตกเป็นผู้ต้องสงสัย หรือถูกกระทำในฐานะจำเลยซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในหลายสถานที่ ต่างกรรมต่างวาระ เช่นเดียวกับคนอย่าง "พระสุพจน์" ที่วันร้ายคืนร้าย ก็ต้องตกตายไปอย่างเจ็บปวด โดยการเข่นฆ่าอย่างทารุณ ของนายทุน คนของรัฐ หรือผู้มีอิทธิพลระดับต่างๆ อย่างแทบมิอาจเรียกร้องความเป็นธรรมใดๆ ได้ ขณะที่ "ผู้กระทำ" หรือ "ผู้รับผิดชอบ" ต่อ "อาชญากรรม" ประเภทนี้ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ยังเชิดหน้าชูคออยู่ในสังคมได้อย่างสูงเกียรติ ห่มคลุมและประดับประดาตน ไว้ด้วย "ยศ" และ "ตำแหน่งหน้าที่" ระดับสูง ชนิดที่ "นางคำ" หรือ "นายพงค์" หรือ "ญาติพระสุพจน์" นับแสนนับล้านคนแทบจะต้องคุกเข่าคืบคลานเข้าไปหา เพื่อร้องขอเศษเสี้ยวแห่งความเป็นธรรม


 


มรณกรรมของ "พระสุพจน์" มิใช่รายแรก และคงมิใช่รายสุดท้าย หาก "สังคมไทย" ยังมีสภาพเช่นนี้ และ "คนไทย" ยัง "ยินดี" หรือ "ยอมรับ" การมี "วิถีชีวิต" เช่นที่ว่ามาข้างต้นนี้ โดยมิได้ประสงค์จะเปลี่ยนแปลงสิ่งใดๆ