Skip to main content

เรื่องของผมกับสองวัย

คอลัมน์/ชุมชน

 


ผมเริ่มบทความชิ้นนี้ ด้วยการนั่งไทม์แมชชีน ย้อนอดีตกลับไปสมัยที่ผมเรียนชั้นสัก ป.๕ –ป. ๖ เห็นจะได้


 


ผมจำได้ว่าเมื่อตอนนั้นผมยังสามารถตื่นนอนตอนเช้าได้โดยไม่อิดออด (จนในปัจจุบันผมชักจะเริ่มสงสัยว่า "ทำไมตอนนั้นฉันตื่นนอนตอนหกโมงเช้าได้ไงวะ มันทำยากฉิบหาย...") และเจ้าการตื่นเช้านี่แหละ ทำให้ผมได้พบกับเพื่อนในวัยเด็ก ที่จะมาพบกับผมในทุกเช้า ทางหน้าจอโทรทัศน์


 


เพื่อนที่ว่าก็มีทั้งเต่า (ลุงมะตูม), หมา (หางดาบ), จระเข้ (ขอนลอย), ควาย (พี่น้องฉงน-ฉงาย ที่ทุกวันนี้ผมก็ยังใช้คำนี้เป็นคำสุภาพในการด่าเพื่อนสนิทว่า "ไอ้ควาย" อยู่ J) และนกขุนทอง พระเอกของเรื่อง


 


ผมกำลังพูดถึงรายการ "เจ้าขุนทอง" อยู่นั่นเองครับ


 


ผมจำได้ว่าแม้ผมจะเปิดทีวีดูรายการนี้ทุกวัน แต่ผมก็ไม่ได้ถึงขนาด "ติด" รายการนี้ เนื่องด้วยว่ารูปแบบรายการมันเด็กเกินไปหน่อย สำหรับเด็กที่กำลังจะขึ้นชั้นมัธยมอย่างเช่นตัวผมในตอนนั้น


 


อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังจำช่วงต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น "นิทานเริงใจ" หรือ "สนุกกับคำ" และอีกหลายๆ ช่วง แต่สิ่งที่ทำให้ผมจำรายการนี้ได้ดีอีกสิ่งหนึ่ง สิ่งนั้นก็คือเพลงประกอบรายการนั่นเอง


 


นอกจากเพลง "อรุณเบิกฟ้า นกกาโบยบิน ออกหากินร่าเริงสดใส..." ที่กลายเป็นเพลงประจำรายการแล้ว ผมยังจำเพลงๆ หนึ่งในรายการได้


 


"มองขอบฟ้า แลดูตะวัน ฟังไก่ขันบรรเลง


แดดส่องมา นกการ้องเพลง เพลงเบิกบาน


ตื่นเร็วไวในยามเช้าตรู่ อย่าคุดคู้ซึมเซา


ให้ยามนี้กระปรี้กระเปร่า เรายิ้มกับตะวัน..."


 


ตอนนั้นผมรู้สึกว่าเพลงๆ นี้เพราะจังเลย แต่เวลาและวัยที่เปลี่ยนไป รวมถึงเรื่องตื่นเต้นที่เข้ามาในชีวิตมากขึ้น ทำให้ผมหลงลืมเพลงนี้ไป...


 


เวลาผ่านไปจนถึงวัยที่ผมเริ่มเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ผมก็เหมือนกับนักศึกษาแทบทุกคนในประเทศนี้ที่ต้องผ่านพิธีกรรมรับน้อง (ซึ่งบางที่ก็เรียกพิธีกรรมนี้ว่า "งานรับเพื่อนใหม่" ซึ่งผมเดาว่าก็คงจะคล้ายๆ กันละกระมัง) และในพิธีรับน้องก็เป็นธรรมดาที่จะต้องพบกับกิจกรรมสันทนาการ ซึ่งเราเรียกมันสั้นๆว่า "การเต้นสันฯ"


 


ท่ามกลางเพลงประกอบการเต้นสันฯ ที่อยู่ในขั้นทะลึ่งธรรมดา, ทะลึ่งมาก จนถึงขั้นทะลึ่งฉิบ...นั้น ก็มีเพลงรับน้องน่ารักๆ อย่าง


 


"ในเช้าแจ่มใสวันหนึ่ง ซึ่งเป็นวันน้ำนอง


ลูกหมูก็อยากจะลอง อยากจะลองเล่นโคลน


แต่แล้วก็ต้องคันเท้า พยาธิไชเข้าเท้ามัน


ลูกหมูคิดได้โดยพลัน ต้องป้องกันทันที


จึงทำรองเท้าด้วยไม้ ใช้เชือกเป็นสายชั้นดี


เร็วๆ มาช่วยกันซี จะได้ของดีเสียงดัง


ก่อบ กิ๊บ ก่อบ ก่อบ กิ๊บ ก่อบ ก่อบ กิ๊บ ก่อบ กิ๊บ ก่อบ กิ๊บ ก่อบ กิ๊บ ก่อบ


ฟังๆ เสียงฉันเดินสิ ฟังๆ เสียงฉันเดิน


ฟังๆ เสียงฉันเดินสิ ก่อบๆๆ"


 


ซึ่งท่าประจำเพลงนี้จะเป็นการตั้งแถวตอน ให้คนข้างหลังเกาะไหล่คนข้างหน้า พอเพลงเริ่มก็ให้ทุกคนเตะขาซ้ายออกข้างตัวสองครั้ง ทำแบบเดียวกันกับขาขวาสองครั้ง หลังจากนั้นก็กระโดดไปข้างหน้าหนึ่งครั้ง ข้างหลังหนึ่งครั้ง แล้วก็กระโดดไปข้างหน้าสามครั้ง จากนั้นก็ทำเช่นนี้วนไปเรื่อยๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในขณะที่เต้นเพลงนี้ นอกจากจะได้ยินเสียงร้องเพลงแล้ว จะได้ยินคนแอบนับจังหวะค่อยๆ ว่า "ซ้าย ๆ ขวาๆ หน้า หลัง หน้าๆๆ"


 


เมื่อผมได้เข้ามาในชมรมค่ายอาสาฯ ของมหาวิทยาลัย ผมก็ได้รู้ว่าทั้งเพลงๆ นั้นที่ผมได้ยินในสมัยเด็กๆ และเพลงที่ร้องในงานรับน้องนั้นเป็นงานของวงดนตรี "สองวัย" ผมจึงลองเสาะหาเทปของพวกเขามาจนได้