Skip to main content

เราเป็นมากกว่าที่เป็นเรา

คอลัมน์/ชุมชน


 


เพื่อนเอย,


 


ทุกวันตั้งแต่เช้าจนถึงนอน ฉันมักได้ยินเรื่องราว ข่าวคราวที่เพื่อนๆ วัยรุ่นอย่างเราเผชิญเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การทะเลาะวิวาท การยกพวกตีกัน การมีเพศสัมพันธ์ไม่ปลอดภัย เที่ยวกลางคืน ติดบุหรี่ ยาเสพติด การข่มขืน  หนีเรียน เดินห้าง ติดแฟชั่น ฯลฯ  เรื่องที่กล่าวมาอาจมีอีกมาก แต่ไม่ได้เกิดขึ้นกับพวกเราทั้งหมด


 


ฉันมองว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้น เป็นปรากฎการณ์ทางสังคมอย่างหนึ่ง ที่มีลักษณะเหมือนใบของต้นไม้ สิ่งที่คนวิพากษ์วิจารณ์กันในทุกวันนี้ คือมองวัยรุ่นเพียงองศาเดียว มองเพียงปลายยอดของต้นไม้ แต่ไม่มองถึงรากของปัญหา ว่าเกิดจากอะไร เพราะรากต้นไม้เสมือนรากปัญหาที่คนมองข้าม


 


รากของปัญหาคือการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ไร้ทิศทางแห่งการพัฒนามนุษย์ กล่าวคือ สังคมไทยทุกวันนี้ถือว่าอยู่ภายใต้ระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ – การทำให้โลกเป็นหนึ่งเดียวทั้งการค้า บริการ และการแข่งขัน รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีล้ำยุค การเน้นการบริโภค และการลงทุนโดยบรรษัทข้ามชาติ 


 


ประเทศไทยท่ามกลางกระแสดังกล่าว รัฐจึงเน้นการพัฒนาประเทศโดยเน้นการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและการกระตุ้นการซื้อขายสินค้า การลงทุนจากทั้งภายในและนอกประเทศ


 


แม้แต่ในระดับชุมชน ท้องถิ่นเอง ก็ถือว่าได้รับถ่ายการเปลี่ยนแปลงไม่น้อยไปกว่าอื่นใด รัฐมุ่งเน้นให้ชุมชนลงทุนโดยการพัฒนาเศรษฐกิจระดับรากหญ้า ตั้งกลุ่ม OTOP พัฒนาผู้ประกอบการรายใหม่ กองทุน SML และรวมถึงอีกหลายนโยบายที่กระจายเงินสู่ชุมชน 


 


ความเจริญในชุมชนเป็นการทำให้วัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่นที่มีระบบการอยู่อาศัยอย่างพึ่งพิงกัน มีการสืบสานจารีต ประเพณี เน้นการพออยู่พอกิน เกิดการปะทะกับวัฒนธรรมโลกาภิวัตน์  คนไทยจำนวนมากถูกผลักเข้าสู่ตลาดแรงงาน  ผู้คนประกอบอาชีพเพื่อแข่งขันกันทางความเป็นอยู่ ระบบครอบครัวไทยจึงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม กระแสวัฒนธรรมของโลกที่หลากหลายไหลบ่าสู่สังคมไทยโดยที่คนไทยเองตั้งตัวไม่ทันหรือปรับตัวเองกับการเปลี่ยนแปลงไม่ได้


 


การเปลี่ยนแปลงของโลก และสังคมไทยในวันนี้อาจดูเหมือนว่าไม่เกี่ยวข้องกับวัยรุ่นอย่างเราโดยตรง เพราะทุกวันนี้การแก้ปัญหาต่างๆ ล้วนอยู่ในการจัดการของผู้ใหญ่ในสังคม ซึ่งผ่านทางระบบราชการ ประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน โดยที่วัยรุ่นอย่างเราไม่จำเป็นต้องทำอะไรก็ได้


 


แต่หากมองอีกด้าน  ถ้าพวกเราวันนี้ไม่เป็นผู้กำหนดอนาคตของตัวเองในวันข้างหน้า อะไรจะเกิดขึ้น สังคมที่เหมาะสมสำหรับเราจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร จะเป็นอย่างที่พวกเราต้องการหรือไม่เราจึงต้องร่วมกันกำหนดอนาคตของเราเอง


 


อนาคตที่ฝันไว้จะเป็นอย่างไร จึงต้องกลับมาดูความเป็นไปในสังคมปัจจุบันก่อนว่าเป็นอย่างไร


 


ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา วัยรุ่นถูกมองเป็นผู้สร้างปัญหาของสังคมมาโดยตลอด จนปัจจุบันพวกเขายังคงถูกมองด้านเดียว  พวกเขาต้องอยู่ภายใต้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้ใหญ่กับวัยรุ่น ต้องเชื่อฟัง เคารพคำสั่งสอนของผู้ใหญ่ ไม่ก้าวร้าว เป็นเด็กดี มีศีลธรรม นำความรู้ คู่คุณธรรม ฯลฯ


 


พวกเรา, วัยรุ่นไทยไม่ค่อยมีโอกาสมากนักที่จะแสดงความเป็นตัวเอง ทั้งศักยภาพ จินตนาการ และความคิดของตัวเองสู่สังคม รวมทั้งระบบสังคมที่ขาดกลไกในการพัฒนาเยาวชนอย่างเป็นระบบในทุกยุค ทุกสมัย  แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า พวกเราสมัยนี้จะเป็นอย่างที่ผู้คนมองว่าสร้างปัญหาเพียงอย่างเดียว


 


พวกเรา, ต้องร่วมกันเป็นขบถทางความคิด เป็นขบถอย่างมีศิลปะ หลายปีที่ผ่านมา นับแต่ตุลาคม 2516 ภายหลังขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษา แล้วเกิดการตื่นตัวของเยาวชน คนหนุ่มสาวที่จะสร้างสรรค์สังคมมากยิ่งขึ้น จนมาในปี 2535 – 2538 ได้มีการเริ่มการรวมตัวของวัยรุ่นในชุมชน ในหมู่บ้าน ทำกิจกรรมที่แตกต่างกันไป เช่น การฝึกอบรม การทำค่าย การทำสื่อ วิทยุ สิ่งพิมพ์ ละคร ทีวีผ่านเนื้อหาแต่ละปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น ยาเสพติด การละเมิดสิทธิเด็ก การป้องกันเอดส์ การบริโภค การเกษตร


 


มาถึงวันนี้ มีกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ทำกิจกรรมสร้างสรรค์สังคมมากกว่า 800 กลุ่มทั่วประเทศไทย แต่ละกลุ่มมีศักยภาพ ทักษะที่แตกต่างกันออกไป บางกลุ่มรวมตัวกันโดยความสมัครใจ  บางกลุ่มมีคนสนับสนุนให้รวมกลุ่ม ทำกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ  ทั้งที่ตอบสนองต่อปัญหาชุมชน และปัญหาสังคมโดยรวม


 


คำถามจึงมีอยู่ว่า การทำงานของวัยรุ่นอย่างเราจะพัฒนาอย่างไรให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคม  คำตอบโดยทั่วไป เชื่อว่าหลายคนคงได้ยินเสมอ เช่น ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ เช่น ร้องเพลง เล่นดนตรี กีฬา แต่นั่นอาจได้เพียงแค่การพัฒนาเพียงร่างกายและความคิดบางส่วน


 


ความจำเป็นอย่างยิ่งในการเตรียมตัวเองสำหรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมคือ "การพัฒนาระบบความคิด" – ซึ่งหมายถึงทักษะ กระบวนการคิด วิเคราะห์ ไตร่ตรอง แยกแยะ เชื่อมโยงและลงมือทำเรื่องราวต่างๆ ให้เป็นทั้งรูปธรรมและนามธรรม โดยกระบวนการมีส่วนร่วม


 


ฉันเอง, เป็นวัยรุ่นคนหนึ่งที่เติบโตมากับการพัฒนากระบวนการคิด ซึ่งยอมรับว่าทักษะนี้ เป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับเยาวชนในปัจจุบัน การพัฒนากระบวนการคิดเริ่มง่ายโดยตัวเราเอง เช่น หากเราจะทำอะไรอย่างหนึ่ง ลองคิดด้านบวก ด้านลบ ผลดี – ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากเกิดปัญหาจะทำอย่างไร จะต่อยอดความคิดนี้อย่างไร สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราคิดรอบด้านมากขึ้น


 


ตัวอย่างเช่น เมื่อเราเห็นในชุมชนมีการละเมิดสิทธิเด็กมากขึ้น เด็กถูกกระทำชำเรา เราอาจคิดว่าเกิดจากอะไร ทำไมเด็กจึงถูกละเมิดสิทธิ จะหาทางออกเรื่องนี้อย่างไร ใครจะต้องช่วยกันทำอย่างไรบ้าง หรือหากเราต้องทำกิจกรรมรณรงค์  ใครจะสนับสนุนเรา   เนื้อหาที่เราจะสื่อคืออะไร


 


นอกเหนือจากการพัฒนากระบวนการคิดแล้ว เราต้องเชื่อมั่นและศรัทธาในพลังของพวกเรา พลังในการเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งความศรัทธาจะทำให้เรามีแรงบันดาลใจ และจุดประกายการลงมือทำเรื่องดีๆ ให้กับชุมชน ในสถานศึกษาของเรา รูปธรรมเช่น การรวมกลุ่มทำกิจกรรมผ่านการจัดค่ายพัฒนาทักษะด้านต่างๆ  การจัดทำสื่อรณรงค์ป้องกันปัญหานานาประการ การสร้างคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานเพื่อสังคมให้แตกหน่อต่อยอดมากกว่าที่เป็นอยู่  การให้ความช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส การเป็นอาสาสมัครช่วยงานสาธารณะ และอื่นๆ อีกมากมาย ที่รอการเริ่มต้นและลงมือทำจากวัยรุ่น คนรุ่นใหม่อย่างพวกเรา


 


สังคมที่เปลี่ยนแปลงในวันนี้ หากเราปล่อยไปโดยไม่ทำอะไร อีก 20 ปี คงไม่มีสังคมที่เหมาะสมให้อยู่  มาร่วมเปลี่ยนแปลงสังคม เพื่ออนาคตกันเถิดเพื่อนเอย


 


เราเป็นมากกว่าที่เป็นเรา......