Skip to main content

บทเรียนข้อที่ 2 มิตรภาพต่างวัย และการสูญเสีย

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


และแล้วจดหมายฉบับที่ 1 ก็ถึงเวลาเดินทางเพื่อทำหน้าที่สื่อความหมายในเนื้อความที่ผู้ส่งสารต้องการส่งถึงมะบูตามที่ได้สัญญากันไว้ว่า "จะบอกเล่าเรื่องราวการใช้ชีวิตบนเกาะลิบงให้เกิดประโยชน์กับบุคคลที่สนใจทั่วไป" เพราะประสบการณ์ที่ได้รับอาจเป็นความรู้สึกที่ข้าพเจ้ามิสามารถพบเจอได้อีก เมื่อเวลาผ่าน ความรับผิดชอบ บทบาทหน้าที่ของแต่ละคนอาจเปลี่ยนแปลงไป  แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจะคงอยู่ เพื่อเตือนสติว่า "มิตรภาพที่แท้จริงนั้น มีอยู่ทั่วไปและเกิดขึ้นได้เมื่อความไว้วางใจสามารถสื่อถึงกัน"


           


12 กันยายน 2546


เวลาประมาณ 16.45 น. ย่างก้าวสู่เกาะลิบง


           


วันนี้คลื่นแรง ไม่ค่อยมีใครออกเรือกัน....เรือหางยาวที่วิ่งส่งผู้โดยสารจากหาดยาวไปยังเกาะลิบงค่อนข้างบางตากว่าวันปกติ......แต่ยังมีคนใจกล้าอีกหลายคนที่ไม่หวั่นกับข่าวเรือล่มเมื่อเช้าตรู่ของวันนี้ อาจเป็นเพราะความเคยชินที่ชาวเกาะอย่างพวกเขาต้องพบเจอเป็นประจำ หรือเป็นความจำใจ เพราะการเดินทางโดยเรือเป็นทางเลือกเดียวที่จะนำพาพวกเขากลับบ้านได้ และตอนนี้ก็เริ่มเย็นแล้ว


 


.......เรือแล่นตรงไปยังเกาะ แต่ละคนเปียกปอนจากน้ำทะเลสาดเทเข้ามาในตัวเรือ ท้องฟ้ามืดครึ้ม ลมแรง เสียงกระแทกที่เกิดจากท้องเรือปะทะกับสันคลื่นดัง....ตึม... และบางครั้งเรือก็เฉตามคลื่น เคลื่อนที่ขึ้นและเคลื่อนที่ลง ในใจคิดฝากชีวิตไว้กับนายท้ายเรือ ที่พยายามบังคับเรืออย่างมุ่งมั่น มั่นใจ ไม่สะทกสะท้าน โต้ลม..ฝนเพียงลำพังนอกผ้าใบที่คลุมส่วนที่นั่งผู้โดยสาร เราใช้เวลาอยู่บนเรือประมาณครึ่งชั่วโมง ในที่สุดพวกเราก็ถึงจุดหมาย


 


บังให้คนมาส่งเราที่บ้านของเพื่อนผู้หญิงชื่อ จะเสาะ รถเครื่อง หรือรถมอเตอร์ไซค์ จอดหน้าบ้านชายทะเลหลังหนึ่ง ลงจากรถยืนหมุนดูรอบตัว ที่ที่เรากำลังยืนอยู่เป็นย่านชุมชนชายทะเล มีถนนลัดเลาะตามบ้านพูดได้ว่า บริเวณบ้านคือ ถนน ไม่มีรั้ว บ้านถูกสร้างร่นออกมาจากฝั่งนับได้ประมาณสามแถวหน้ากระดาน ลักษณะของบ้านมีทั้งยกพื้น และไม่ยกพื้น .....หันกลับ....มองเข้าไปในบ้าน.....


 


.....ผู้หญิงสูงอายุวัยประมาณหกสิบใบหน้าเต็มไปด้วยรอยยิ้ม ท่าทางใจดี รูปร่างท้วม ผัดแป้งหน้าขาวผ่อง นั่งอยู่บนรถเข็น ยิ้มรับการมาของคนแปลกหน้าอย่างเรา เธอคือ มะบู มะของจะเสาะ และคือคนที่เราต้องอาศัยพักพิงอยู่ด้วย......


 


เราใช้เวลาไม่มากในการทำความคุ้นเคยกับมะบู เนื่องจากมะเป็นคนใจดี ชอบพูด ชอบคุย และเป็นนักกิจกรรมของหมู่บ้านตั้งแต่ยังสาว ชาวบ้านละแวกนั้นจึงรู้จักเราได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย ระยะเวลาเพียงสามเดือนในการทำหน้าที่อาสาสมัครช่วยรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเกาะลิบงร่วมกับชาวบ้านที่ทำวิจัยอยู่ โดยการสอบถามคนเฒ่าคนแก่ถึงความเป็นมาของเกาะและเรื่องราวในประเด็นที่ทีมวิจัยตั้งไว้ รวมถึงประเด็นที่เกิดขึ้นจากความสนใจส่วนตัว


 


   

                                                       


 


ทุกครั้งที่เราเกิดข้อสงสัย มะบู จะเป็นที่พึ่งที่ดีที่สุดในการไขข้อสงสัยทั้งหมดให้กระจ่างขึ้น ทุกครั้งที่มะเล่าเรื่องราวในอดีตที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง หรือบุคคลใกล้ชิด เรารับรู้ได้ถึงความภูมิใจ ความสุข ที่มะส่งผ่านออกมาพร้อมคำพูด รอยยิ้ม และลงท้ายด้วยเสียงหัวเราะที่ดังสนั่นทุกครั้ง จนบางครั้งเรายังนึกอิจฉาว่า ทำไมไม่เกิดให้เร็วกว่านี้สัก 30 ปี เพื่ออยู่ในเหตุการณ์ที่ตื่นเต้นนั้นด้วยตัวเอง


 


เรื่องที่ทำให้เราเศร้าใจทุกครั้งที่นึกถึงก็คือ การหายไปของปลากระเบนยาว 2 เมตร ปลาฉลาม ปะการังน้ำตื้นที่สวยงาม หอยเป๋าฮื้อที่คลานเกลื่อนหาด ควายป่า กวางป่าตกใจคนวิ่งลงทะเล นกเงือกฝูงใหญ่ กล้วยไม้ป่าแสนสวย การละเล่นรองเง็งแบบดั้งเดิม บ้านเรือนผูกตามแบบฉบับของชาวเล  แตงโมลิบงขนาดใหญ่กว่าลูกบาส  และเรือใบ


 


........เกิดอะไรขึ้นกับสิ่งดีงามเหล่านี้ อะไรเป็นสาเหตุของการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ แล้วลูกหลานบนเกาะลิบงจะทำอย่างไรต่อไป ใครจะเป็นคนตอบได้บ้าง


 


ครั้งหนึ่งได้ร่วมพูดคุยกับผู้นำชุมชนเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเกาะลิบง พวกเขายอมรับว่า "ผู้ใหญ่อย่างเราเคยทำพลาดเพราะไม่รู้เท่าทัน มีคนบอกให้ทำแบบนี้ แบบนั้น จะได้ผลตอบแทนมาก เครื่องมือล่าสารพัดรูปแบบสามารถทุ่นแรงได้เป็นอย่างดี และผลตอบแทนก็ดีอย่างที่เขาว่า แต่ถ้ารู้ว่าผลระยะยาวจะเป็นแบบนี้เราคงไม่ทำ คราวนี้คงต้องช่วยกัน พวกเด็กๆ ก็ต้องช่วยกันด้วย"


 


ในอีกมุมมองหนึ่งของผู้ใหญ่ "ที่เกาะไม่มีอะไรให้เด็กทำ งานออกเลมันลำบาก ทำงานในเมืองดีกว่า ได้เงินเดือน ส่งเงินกลับบ้านได้มากกว่า" อีกมุมหนึ่งของเด็กวัยเรียน "อยากอยู่ที่เกาะ อยากให้เหมือนกับที่ป๊ะกับมะเคยอยู่ตอนเด็กๆ อยากออกเล อยากต่อเรือเป็น"  อีกมุมหนึ่งของเด็กวัยเรียน "ที่เกาะไม่เห็นจะมีอะไรน่าสนใจ ร้านน้ำชาใหญ่ๆ ก็ไม่มี แต่งตัวก็ไม่ได้ เที่ยวก็ไม่ได้เที่ยว น่าเบื่อจะตาย"


 


อีกมุมหนึ่งของวัยรุ่นนอกรั้วโรงเรียน "อยู่บ้านสบายกว่า รายจ่ายก็น้อย ไม่นานก็แต่งงานแล้ว ออกเล ตัดยาง อยู่ที่เกาะ มีครอบครัวเล็กๆ ไม่อดตายแน่"   อีกมุมหนึ่งของวัยรุ่นนอกรั้วโรงเรียน "ออกไปทำงานในเมือง เป็นลูกจ้าง นานทีปีหนค่อยกลับบ้าน ไม่อยากอยู่เกาะ ถ้าแต่งงาน อยากใช้ชีวิตในเมือง"


 


อีกมุมหนึ่งของนักพัฒนา "พัฒนาการศึกษาให้ดีขึ้น มีสาธารณูปโภคครบถ้วน ส่งเสริมการท่องเที่ยว"   อีกมุมหนึ่งของนักพัฒนา  "สำนึกรักบ้านเกิด ฟื้นฟูภูมิปัญญา"  


 


อีกมุมหนึ่งของผู้นำศาสนา "ที่นี่เป็นดินแดนศักดิ์สิทธ์ที่พระองค์ประทานให้" ....... และอีกหลายๆ มุม


 


ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใช่ว่าจะเกิดกับเกาะลิบงเท่านั้น มีอีกหลายชุมชนทั้งชุมชนชายฝั่ง หรือชุมชนบนบก ต่างพบเจอกับปัญหาในรูปแบบที่คล้ายกัน บางชุมชนอยู่ในช่วงต้นของการเปลี่ยนแปลง บางชุมชนกำลังจะเปลี่ยนแปลง และหลายชุมชนถูกเปลี่ยนแปลงไปจนเกือบไม่เหลือร่องรอยเดิมไว้


 


........ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง  เด็กๆ กำลังเจริญเติบโต ตอนนี้เขายังเป็นผู้รับที่ดี และเมื่อวันหนึ่งที่เขามีความคิดเป็นของตัวเอง รับผิดชอบตัวเองได้ ในขณะที่ผู้ใหญ่บางคนหยุดความคิดของตนไว้กับช่วงเวลาใด เวลาหนึ่งของชีวิต แล้วอนาคตของผู้ใหญ่ในอนาคตที่กำลังเติบโตอยู่ในขณะนี้ จะเป็นอย่างไรต่อไป.........หรือจะรอให้สิ่งดีงามถูกทำลายไปมากกว่านี้ โดยการลบความทรงจำดีๆ ที่บรรพบุรุษเคยสร้างสรรค์ไว้  เดินห่างจากตัวตนที่เรามิอาจหนีพ้น แล้วสร้างสรรค์ตามแบบที่เขาอ้างว่าดีต่อไป


 


มะ.....มะ....แล้วรองเง็งเขาร้องกันยังไงคะ


 


มะ....หัวเราะ และทำท่าทางเขินอาย ตามด้วยเสียงขับร้องที่ยังคงเค้าของคนที่หลงใหลการขับร้องเพลงได้อย่างเสนาะทั้งทำนอง และเนื้อหา....