Skip to main content

ขึ้นค่ารถเมล์ : ทุกข์ซ้ำเติมของคนจน

คอลัมน์/ชุมชน

                                                                        


1


การปรับราคาค่าโดยสารรถเมล์ธรรมดาในกรุงเทพมหานครของรถร่วมฯ และรถไม่ร่วมฯ ขึ้นไปอีกหนึ่งบาทเป็นเรื่องเล็กน้อยมากสำหรับคนรวย  เพราะเงินเพียงหนึ่งบาทเป็นเหมือนเศษของเศษของเศษของเศษเงินที่ไม่มีค่าอะไรสำหรับคนรวย


 


แต่สำหรับคนจนแล้ว เงินหนึ่งบาทเป็นสิ่งที่มีความหมาย…


 


ยิ่งคนจนที่ต้องขึ้นรถเมล์หลายต่อด้วยแล้ว ค่ารถเมล์ก็ย่อมเพิ่มขึ้นมากกว่าหนึ่งบาท และไม่เฉพาะค่ารถเมล์เท่านั้นที่เพิ่มขึ้น มอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถสองแถว เรือด่วนเจ้าพระยา เรือโดยสารคลองแสนแสบ เรือข้ามฟาก ก็ถือโอกาสขึ้นค่าโดยสารด้วยเช่นกันด้วยข้ออ้างเดียวกันคือ ค่าน้ำมันเพิ่มขึ้น


 


อันที่จริงการขยับขึ้นค่ารถเมล์กระทำต่อเนื่องติดกันหลายครั้ง โดยไม่ได้รับการท้วงติงต่อต้านจากผู้ใช้บริการและองค์กรซึ่งเกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภคมากนัก ทั้งนี้เพราะการขึ้นค่ารถเมล์เพียงห้าสิบสตางค์หรือบาทสองบาทดูเหมือนไม่ใช่ปัญหาที่หนักหน่วงรุนแรงอะไร 


 


ก่อนหน้านี้ มีการขึ้นราคาในรถธรรมดาขาวเขียวเป็น 5 บาทอย่างเงียบ ๆ  ไปครั้งหนึ่งแล้ว ถัดมาก็ปรับขึ้นเป็น 6 บาท ล่าสุดขยับขึ้นราคาค่าโดยสารอีกหนึ่งบาท เป็น 7 บาท ส่วนรถเมล์ธรรมดาสีครีมแดงได้ปรับราคาจาก 5 บาท เป็น 6 บาท   และผู้ใช้บริการก็ก้มหน้าก้มตายอมรับมันไปทุกครั้ง  จะไปทำอะไรได้


 


การขึ้นค่าโดยสารรถเมล์เพียงบาท สองบาทนับว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยเอามาก ๆ  และยิ่งไร้ความสำคัญกันไปใหญ่ เมื่อนำไปเทียบกับการประท้วงคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เช่น การคัดค้านการแปรรูปการไฟฟ้า ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทบต่อปากท้องของคนชั้นกลางที่เคยสะดวกสบาย แต่อาจต้องสูญเสียความสะดวกสบายอันมั่นคงนี้ไปเมื่อมันถูกแปรรูปเป็นองค์กรมหาชน


 


เห็นได้ชัดเจนทีเดียวว่า ความเดือดร้อนของคนชั้นกลาง และคนที่ทำงานในองค์กรรัฐวิสาหกิจอย่างพนักงาน กฟผ. มีน้ำหนักและควรค่าแก่การใส่ใจมากกว่าการขยับขึ้นราคาค่าโดยสารรถเมล์ซึ่งคนที่เดือดร้อนเป็นคนระดับล่าง ความเดือดร้อนของคนชั้นกลางสามารถถูกยกระดับขึ้นมาจนกลายเป็นปัญหาระดับชาติได้ โดยอาศัยช่องทางต่าง ๆ  ของคนชั้นกลางเองที่มีอยู่ ในขณะที่ปัญหาเกี่ยวกับความเป็นอยู่และปากท้องของคนจนเป็นสิ่งที่สามารถถูกทำให้เงียบหายไปโดยง่ายและถูกทำให้เงียบหายมาโดยตลอด


 


                                                                      2


 


ขสมก. มักจะอ้างอยู่เสมอว่าการขึ้นค่าโดยสารรถเมล์เกิดมาจากการที่ทางองค์กรต้องแบกรับต้นทุนไว้มากจนเกินไปตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว ซึ่งก็นำไปสู่การประสบปัญหาขาดทุนมาโดยตลอด ดังนั้นทางแก้ก็คือการปรับอัตราค่าโดยสารให้มากขึ้น เพื่อช่วยลดภาระหนี้สิน 


 


แต่ประเด็นที่ควรพิจารณาก็คือ การประสบกับภาวะขาดทุนหาใช่เกิดจากการเก็บค่าโดยสารต่ำเกินจริงเท่านั้น แต่มันอาจเกิดจากการบริหารจัดการของ ขสมก. เองด้วย  เป็นไปได้หรือไม่ภาวะขาดทุนอาจจะเกิดมาจากปัญหาอื่น ๆ  อย่างเช่น ปัญหาคอรัปชั่นในองค์กร ฯลฯ หาได้เกิดมาจากการเก็บค่าโดยสารต่ำเกินจริงแต่เพียงอย่างเดียว


 


บางที ถ้าเป็นไปได้ องค์กรภาคประชาชน หรือองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคควรที่จะตรวจสอบการดำเนินงานของ ขสมก. ดูบ้างว่ามีลักษณะการบริหารที่มีประสิทธิภาพหรือไม่มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด   ว่าเท่าที่ผ่านมามีความโปร่งใส ตรวจสอบได้หรือไม่


 


ทางออกจากภาวะขาดทุนหาใช่อยู่ที่การมุ่งแต่จะขึ้นค่ารถเมล์โดยสารเสมอไป ดังที่ทำอยู่ตลอดมา ขสมก.หรือผู้เกี่ยวข้องควรค้นหามาตรการอื่น ๆ ที่จะมาใช้เพื่อแก้ปัญหานี้ควบคู่ไปกับการขึ้นค่าโดยสารเพราะลำพังการขึ้นค่าโดยสารแต่เพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอแน่ ๆ สำหรับการแก้ปัญหาการขาดทุน หากยังมีการคอรัปชั่นและการบริหารที่ไร้ประสิทธิภาพ


 


เรามักจะได้ยินอยู่เสมอไม่เฉพาะจากการดำเนินงานของ ขสมก. แต่จากหน่วยงานของรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ ด้วยเช่นกันว่า ต้องแบกรับปัญหาปัญหาหนี้สินไว้มากและคิดค่าบริการสาธารณะสำหรับคนยากคนจนในอัตราที่ต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีการขึ้นราคาค่าบริการเพื่อให้ประชาชนแบ่งเบาภาระที่รัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจไม่อาจทนแบกได้อีกต่อไป


 


การให้เหตุผลทำนองนี้เป็นเรื่องที่มีเหตุผลก็จริง แต่ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่รัฐหรือรัฐวิสาหกิจจนหรือไม่มีเงิน แต่มันอยู่ที่การกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม อยู่ที่ช่องว่างทางรายได้ซึ่งนับวันก็ยิ่งมีความห่างมากขึ้นระหว่างคนรวยกับคนไม่รวย  และเม็ดเงินจากรัฐและรัฐวิสาหกิจไปตกอยู่ที่กระเป๋าใหญ่ ๆ ของคนจำนวนไม่มากผ่านวิธีการที่ทั้งถูกและไม่ถูกกฎหมาย


 


การขึ้นค่าโดยสารหรือค่าบริการต่าง ๆ อาจเป็นมาตรการเฉพาะหน้าที่พอจะช่วยบรรเทาภาวะขาดทุนของรัฐและรัฐวิสาหกิจได้บ้าง แต่กระนั้น มันก็เป็นวิธีการที่ "ง่ายเกินไป" และเป็นสูตรสำเร็จตายตัวที่มักนำมาใช้เมื่อนึกอะไรไม่ออก


                                                                         3


 


บางคนยอมรับการขึ้นราคาค่ารถเมล์ หากแต่มีข้อแม้ว่าควรได้รับการบริการที่ดีขึ้นเป็นการตอบแทน ไม่ว่าจะเป็นการพูดจาของกระเป๋ารถเมล์ เช่น รถร่วมฯ สีเขียวบางสาย (ซึ่งข้าพเจ้าใช้บริการเป็นประจำ) หยาบคายและชอบทำอารมณ์เสียใส่ผู้ใช้บริการ กระเป๋ารถเมล์บางคนเป็นเหมือนนักเลงอันธพาลพร้อมจะมีเรื่องกับผู้ใช้บริการได้ตลอดเวลา


 


นอกจากนี้ เรื่องความปลอดภัย ก็วางใจไม่ค่อยได้ หลายวันก่อน ที่หน้าศูนย์การค้าแถวปิ่นเกล้า คนที่นั่งอยู่บนรถเมล์ และคนที่ยืนอยู่ที่ป้ายรถเมล์หลายคนต้องบาดเจ็บปางตายเมื่อรถเมล์คันหนึ่งพุ่งเข้าชนป้ายรถเมล์อย่างจัง คนที่ยืนไม่รู้อิโหน่อิเหน่ก็ซวยไป


 


บางที ต้องทำใจว่าการนั่งรถอยู่บนรถเมล์อาจจะต้องตายโดยไม่รู้ตัวเมื่อไหร่ก็ได้ (และนี่เป็นความเสี่ยงของคนชั้นล่าง เป็นราคาที่คนชั้นล่างต้องจ่ายสำหรับการมีชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่อันอุดมด้วยความเสี่ยงนานาประเภท)


 


ไม่ว่าการขึ้นค่ารถเมล์จะสมเหตุสมผลมากน้อยเพียงได้ มันก็นับได้ว่าเป็นเรื่องที่ซ้ำเติมทุกข์ของคนจนโดยแท้ คนจนซึ่งเป็นคนจำนวนมากและอาจเป็นคนส่วนใหญ่ในกรุงเทพมหานคร  


 


แต่จะทำอย่างไรได้ เสือกเกิดมาจน