Skip to main content

โอ้อนิจจา...โรงสีชุมชน

คอลัมน์/ชุมชน

 


เชื่อมั้ยว่าโรงสีชุมชน (โรงสีชุมชนนะ ไม่ใช่โรงสีเอกชน) ของจังหวัดแห่งหนึ่ง มีถึง 44 โรง แต่ดำเนินการได้ 100% จริงๆ มีเพียง 2 โรง อีก 3 โรง ดำเนินการได้ครึ่ง ๆ กลาง ๆ และมีอีก 7 โรงที่เกือบจะจอดสนิทรอวันล้ม ที่เหลือ 32 โรง เจ๊งสนิท !


 


เรียกได้ว่า 44  โรง "อยู่รอดปลอดภัย" เพียงแค่ 2 โรงเท่านั้น


           


 "ดูดีดีซิ! ไม่จริงมั้ง! ทำไมเจ๊งเยอะขนาดนี้!" นี่คือเสียงเตือนจากคนที่ได้ฟังข้อมูลจากผู้เขียน


 


"อย่าลืมนะ ว่าโรงสีชุมชนมี 2 ประเภท ประเภทหนึ่งทำการ "ค้าข้าวสาร" อีกประเภทหนึ่ง "สีข้าวเป็นสวัสดิการแก่ชาวบ้านในหมู่บ้าน" (โดยไม่ทำการค้า) ส่วนที่เจ๊งอาจจะเป็นประเภทแรกก็ได้ แต่เขาก็ยังสีข้าวให้แก่สมาชิกในหมู่บ้านได้อยู่"


 


แต่จะเป็นโรงสีประเภทไหนก็ช่างเถอะ ความจริงก็คือ "เหลือรอดปลอดภัย" แค่ 2 โรง เท่านั้น นี่เป็นข้อมูลที่มาจากการเก็บของศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งลงพื้นที่หลายครั้ง และครั้งหลังสุดได้คุยกับแกนนำเครือข่ายโรงสีของจังหวัด (แห่งนั้น) แกนนำฯ บอกว่าข้อมูลนี้มาจากการถอดบทเรียนจากสมาชิกโรงสีชุมชนที่มาประชุมร่วมกันทั้งจังหวัด


 


ฟังแล้วก็ให้นึกถึงความหลังเมื่อหลายปีก่อนโน้น... ที่ผู้เขียนมีโอกาสคุยกับชาวบ้านว่า พวกเราเป็นเบี้ยล่างพ่อค้าคนกลาง ท่าข้าว โรงสี หยง และผู้ส่งออกข้าว (ตามลำดับ) มานาน  ทำไมเราไม่รวมตัวกันซื้อรวมกันขายในรูปของสหกรณ์ เพื่อมีอำนาจต่อรองกับโรงสี/ท่าข้าว หรือไม่ก็ "ทำโรงสีของชาวนา" เสียเลย เพราะผลผลิตข้าวที่ได้ทั้งหมด เราส่งออกเพียงแค่ 30% ที่เหลืออีก 70% ขายในประเทศ  อีกทั้งมีคนในหมู่บ้านประมาณ 10 – 20% ที่ไม่ได้ทำนาปลูกข้าว เช่น รับจ้าง ต้องซื้อข้าวกิน ก็เป็นไปได้ที่ชาวนาจะทำโรงสีและขายข้าวเพราะมีตลาดข้าวเห็นๆ


 


แต่ชาวนาก็มักจะบอกว่า "จะเอาเงินทุนที่ไหนมาเล่า...อาจ้าน...น...น."  เอ้า! ไม่ว่ากัน ถ้าอยากเป็นเบี้ยล่างแบบนี้จนชั่วลูกชั่วหลาน (แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมคนเสื่อผืนหมอนใบที่มาจากเมืองจีนมีเงินติดตัวมาแค่ 5 บาท 10 บาท เอาทุนมาจากไหน...ทำไมสร้างธุรกิจใหญ่โตได้ แล้วเราก็เปิดเสรีทางการค้ามานานถึง 150 ปีแล้ว ชาวนาไทยไม่สะสมทุนเลยหรือ ...ไม่เป็นไร พักคำตอบนี้ไว้ก่อน)


 


แต่ต่อมาในภายหลัง สำนักงานกองทุนเพื่อสังคม (Social Investment Fund: SIF) และองค์กรราชการและองค์กรพัฒนาเอกชนทั้งในและต่างประเทศอีกหลายแห่งก็ลง "เงินทุน" สร้างโรงสีให้ฟรีสมใจ ถึง 44 แห่งทั้งจังหวัด แล้วไหง ! เจ๊งแบบนี้เล่าเพ่ !  ตกลงว่าเราไม่มี "เงินทุน" หรือไม่มีอะไรกันแน่


 


"โอ้ย !...ก็เรามันแค่ ป.4 ไม่มีความรู้นี่อาจ้าน...น...น" เป็นเสียงบ่นมาจากชาวบ้านผู้ประกอบการโรงสีชุมชนบางแห่งที่เจ๊ง (ฟังแล้วก็อดคิดไม่ได้ว่า แล้วคนที่มีแค่เสื่อผืน หมอนใบ มาจากเมืองจีนนี่เขาจบปริญญาตรีบริหารธุรกิจมารึไง ! ...แต่ ช่างมันเถอะ...พักคำตอบนี้ไว้ก่อนเหมือนกัน)


 


ตกลงว่าเราไม่มีทุนเงินตรา และจบแค่ ป.4 เลยทำโรงสีไม่ได้ หรือว่าเราไม่มี จุด จุด จุด กันแน่(วะ)


 


ต่อคำถามเรื่องนี้ เครือข่ายโรงสีชุมชนจังหวัดแห่งนั้นก็ได้มาประชุมเพื่อถอดบทเรียน โดยการสนับสนุนของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) แล้วได้ข้อสรุปว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้โรงสีชุมชนเจ๊ง มี 5 ประการด้วยกัน คือ


 


(1)    วัตถุดิบ เพราะโรงสีชุมชนตั้งอยู่ในที่ที่ไม่มีข้าว (เออ...จริงๆด้วย เรื่องนี้ผู้เขียนก็เห็น "คาตา" มาแล้ว อย่างน้อย 2 โรงสี น่าแปลกไหม...นี่แหละ Unseen in the village)  หรือบางที่มีแต่คนปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งเป็นข้าวที่  "คนไม่กิน" เพราะมันแข็ง หรือไม่ก็หุงแล้วแฉะมาก ข้าวแบบนี้เขาจะเอาไปทำเส้นขนมจีน หรือเส้นก๋วยเตี๋ยว มาม่า แป้ง เป็นต้น


(2)    กรรมการโรงสีที่ตั้งขึ้นมาไม่โปร่งใส


(3)    ทุนเงินตราไม่มี ที่สำคัญกว่านั้นคือ "ทุนทางปัญญา"  ไม่มีใครมีความสามารถในการบริหารจัดการ


(4)    ไม่มีตลาด


(5)    ความสามารถในการดำเนินงานของโรงสี


 


แกนนำโรงสียังเล่าต่ออีกว่า โรงสีชุมชนตายเพราะนโยบายของรัฐ เช่น เมื่อปีที่แล้ว รัฐทำให้ข้าวนาปรังมีราคาเท่ากับข้าวนาปี (ทั้งที่คุณภาพข้าวนาปรังด้อยกว่าข้าวนาปีมากเพราะเป็นข้าวที่ "คนไม่กิน" – ผู้เขียน) ทำให้ชาวนาที่ปลูกข้าวนาปีแห่กันมาปลูกข้าวนาปรังกันยกใหญ่ เพราะปริมาณผลผลิตต่อไร่ของข้าวนาปีสูงกว่าข้าวนาปรังมาก เกือบครึ่งต่อครึ่ง แกนนำคนนั้นได้วิเคราะห์เรื่องนี้ว่าเป็น "การนำระบบทุนนิยมเข้ามาตีกระจุย"


 


นอกจากนี้ เดิม ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) รับซื้อข้าวจากโรงสีชุมชน แต่ปีนี้ ธกส.ไม่รับซื้อข้าวเลย แต่กลับไปรับซื้อข้าวจากบรรษัทการเกษตรขนาดใหญ่แทน


 


อย่างไรก็ดี โรงสีใหญ่ที่อยู่รอด 1 ใน 2 โรง ก็พยายามจะพยุงโรงสีที่กำลังลูกผีลูกคนโดยการสนับสนุนด้านการบริหารธุรกิจทั้งทุน ตลาด ความรู้  และอาจจะให้เขาเป็นสาขาสำหรับการรับจำนำข้าวในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลด้วย


 


เรื่องนี้ผู้เขียนได้เคยคุยกับชาวบ้านหลายครั้งแล้วว่า การเอาผลผลิตของโรงสีกว่าร้อยละ 80 ไปผูกไว้กับตลาดเดียว(เช่น ธกส.) มันจะเสี่ยงมาก อีกอย่างถ้าเราเล่นในเกมของทุนนิยมเราจะแพ้ เพราะเราไม่มีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบในเรื่องตลาด เงินทุน และเครือข่ายธุรกิจเลยกับโรงสีเอกชน


 


นอกจากนี้ยังได้เสนอแนวคิดเรื่อง "การสร้างตลาดข้าว บนฐานความรัก" ไปแล้ว คร่าว ๆ คือ เป็นการทำธุรกิจบนฐาน "คนจนช่วยคนจน" ให้คนจนได้กินของดีราคาถูก อาศัยความสัมพันธ์ ความเชื่อถือ และความมีน้ำใจในการทำธุรกิจ ซึ่งถ้าทำธุรกิจในทิศทางนี้เราจะไม่ค่อยเดือนร้อนทั้งเรื่องตลาดและเงินทุน (ผู้อ่านสามารถอ่านแนวคิดเรื่องนี้ได้ในบทความ "ปลูกเศรษฐกิจชุมชน บนฐานความรัก" ซึ่งเป็นบทความในคอลัมน์นี้เอง)


 


แต่การจะทำอย่างนี้ได้ชุมชนต้องมีผู้นำทางจิตวิญญาณและวัฒนธรรม รวมทั้งมี "พลังอำนาจ" ของกลุ่มชาวนาด้วย แต่จะทำได้อย่างไรท่ามกลางความขาดแคลนผู้นำทางจิตวิญญาณและวัฒนธรรม ที่สำคัญเราขาดแคลนระบบการเรียนรู้เพื่อสร้างทุนทางปัญญาของตัวเองอีกด้วย


 


เรื่องยากๆ แบบนี้ใครจะลองทำ...ยกมือขึ้น แล้วเขียนมาคุยที่ achariyach@yahoo.com เพื่อมาช่วยกัน "ปลูกเศรษฐกิจชุมชน บนฐานความรัก" นะจ๊ะ


 


คราวหน้าจะมาเล่าต่อว่า ทำไมโรงสีที่ไม่ได้ทำธุรกิจค้า ๆ ขาย ๆ (ข้าวสาร) แต่สีข้าวเพื่อเป็นสวัสดิการ จึงเจ๊งได้อีก  และจะทำอย่างไรไม่ให้เจ๊ง!


 


โปรดติดตามตอนต่อไป...