Skip to main content

เส้นทางของ "นกพิราบ"

คอลัมน์/ชุมชน

 


"สารัตถะแห่งชีวิตของหนังสือพิมพ์อาจจะมีอยู่หลายแห่ง


แต่สิ่งที่ข้าพเจ้าคำนึงมากที่สุดคือความเปนอิสระ


เพราะว่าถ้าขาดสิ่งนี้เสียแล้ว หนังสือพิมพ์ก็จะเปนหนังสือพิมพ์ไปไม่ได้


หรืออย่างน้อยก็จะเปนหนังสือพิมพ์ที่ดีไม่ได้"


กุหลาบ  สายประดิษฐ์


 


- 1 -


 


ประโยคของกุหลาบ  สายประดิษฐ์  นักคิด นักเขียน และ "นักหนังสือพิมพ์" ผู้ได้ชื่อว่ามีคุณธรรมและซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพมากที่สุดท่านหนึ่งเท่าที่เมืองไทยเคยมี แล่นเข้ามาในหัวใจผมเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา…


 


เพราะประโยคนี้ได้ย้ำ "สามัญสำนึก" บางอย่างต่อนักหนังสือพิมพ์ และนักเขียนรุ่นหลังๆ ที่รู้จักหรือเคยอ่านงานของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เสมอมา


 


หลายวันก่อน บทความกึ่งสารคดีชิ้นหนึ่งของผมถูกติงจากกองบรรณาธิการแห่งหนึ่งด้วยข้อหา "ข้อความพาดพิงผู้มีอำนาจ" อันสามารถส่งผลต่อพวกเขาในการให้คุณให้โทษในด้านงบประมาณเป็นต้น


 


ที่เรื่องนี้สำคัญยิ่งจนผมต้องนำมาเล่าสู่กันฟังก็เพราะ "กองบรรณาธิการ" แห่งนั้น ล้วนประกอบด้วยคนหนุ่มสาว ผู้ซึ่งประเทศชาติและวงการสื่อมวลชนในอนาคตจำเป็นต้องฝากความหวังไว้ที่พวกเขา โดยเฉพาะการทำหน้าที่ "Watch Dog" หรือ "สุนัขเฝ้าบ้าน" ที่ต้องคอยเห่าหอนยามโจรและพวกนักการเมืองขี้ฉ้อขึ้นขโมยทรัพย์สินและทำร้ายคนในบ้านที่ชื่อประเทศไทย


 


บัดนี้ผมพบว่า คงหวังยากเสียแล้ว…


 


เพราะพวกเขาในขณะนี้ ถึงแม้จะทำสื่อในระดับฝึกหัดก็ยังมีการเซ็นเซอร์ตัวเอง !  การกระทำเช่นนั้นอันตรายเหลือเกิน มันสะท้อนปรากฏการณ์บางอย่างว่าคนทำสื่อที่เซ็นเซอร์ตัวเองนั้นไม่ได้มีแค่ระดับชาติเท่านั้น ระดับฝึกหัดก็ยังเกิดขึ้น


 


พวกเขากลัวว่า "การพูด คิด แสดง หรือแถลงสิ่งที่ถูกต้อง" จะนำปัญหามาสู่ตนเอง เลยเลือกที่จะไม่ทำ น่าเป็นห่วงยิ่ง เมื่อพวกเขาซึ่ง "กลัวความจริง" นี้ต้องเป็นความหวังของผู้คนนับสิบล้านท่ามกลางความ "ฉ้อฉล" ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ซึ่งในอนาคตก็คงยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น หากรัฐบาลชุดปัจจุบันยังคงเน้นอำนาจเงินในการแก้ปัญหาทั้งหลาย


 


สังคมในปัจจุบันและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอนาคต กำลังต้องการสื่อที่เป็น "กระจก" บานใหญ่ที่สะท้อนในสิ่งที่ถูกต้อง รวมถึงเป็นเทียนส่องทางให้สว่างไสวกับผู้คนที่มีทีท่าจะหลงทางมากขึ้นเรื่อยๆ


 


- 2 -


 


พ.ศ. 2474 …พระนคร


 


 "หมาน เอ็งได้อ่าน ‘มนุษยภาพ’ ใน ‘ไทยใหม่’ ไหมวะ"  ชายร่างท้วมเอ่ยกลางวงสภากาแฟ


 "อ่านแล้ว…ขนลุกว่ะ"


 "เออ แต่ตอนของเรื่องนี้ในหนังสือพิมพ์หายไปได้สักพักแล้ว"


 


หนังสือพิมพ์ยับยู่ยี่ถูกกางขึ้นอีก หมานหยิบกาแฟมาซดเฮือกใหญ่ ขณะที่ โกฉุย ชายร่างท้วมลุกไปชงเครื่องดื่มตามที่ลูกค้ารายใหม่สั่ง พลางเหม่อมองไปบนท้องถนนข้างหน้าด้วยสายตาครุ่นคิด


 


 "เขาลือว่าจะมีการปฏิวัติคงจริงว่ะ โกฉุย"  หมานส่งเสียงจากข้างหลัง และสั่งกาแฟอีกหนึ่งแก้ว


 "นี่ข้าได้ยินว่า กลุ่มสุภาพบุรุษยกคณะออกจาก ‘ไทยใหม่’ กันหมด"


 "อึมครึมไปหมด โกฉุย ข้าว่าต้องเกิดอะไรสักอย่าง แต่ตอนนี้รู้อย่างเดียวว่าเกิดมาจนปูนนี้ไอ้หมานก็เพิ่งเคยได้ยินคนเล่าถึง ‘สิทธิ’ อะไรนั่นจริงจังก็ในหนังสือพิมพ์คราวนี้เอง"


 


* * * *


 


                                                


 


                              กุหลาบ สายประดิษฐ์ นักหนังสือพิมพ์ชั้นยอดที่ปฏิบัติภารกิจด้วยหลักวิชา


"อำนาจบรรดาลความนิยม นี่เปนความจริงมาแล้วแต่บรรพกาล ยังเปนอยู่ในปัจจุบันสมัย และจะยังเปน ต่อไปอีกจนกว่าโลกจะแตก แต่ท่านผู้อ่านพึงระลึกไว้ว่า สิ่งอันปรุงแต่งอำนาจขึ้นนั้นไม่คงที่ ย่อมหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย"


 


นี่คือข้อความบางส่วนที่กระแทกความรู้สึกชนชั้นนำและคนธรรมดาทั่วไปที่อ่านออกเขียนได้ใน พ.ศ. 2474 จากบทความ "มนุษยภาพ" ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ แสดงถึงความแหลมคมแห่งหนามกุหลาบตั้งแต่เริ่มชีวิตนักหนังสือพิมพ์ไม่นาน หากเรานับปี 2466 เป็นจุดเริ่มต้น กุหลาบก็ทำงานในบรรณพิภพได้ 8 ปี แต่เพิ่งเป็นนักหนังสือพิมพ์จริงจังได้เพียงปีเศษ (เริ่มทำงานเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ "บางกอกการเมือง" เมื่อ พ.ศ. 2473 และเพียง 3 เดือนก็ลาออกมาทำหนังสือพิมพ์ "ไทยใหม่" ปลายปีนั้นก่อนจะนำบทความเรื่องนี้ลง)


 


"ข้อเขียนเรื่อง ‘มนุษยภาพ’ ชิ้นนี้คือ ‘หลักบอกเขต’ ที่พิสูจน์ว่า หนามแห่งกุหลาบนั้น คมมาตั้งแต่ครั้งเบญจเพสแล้ว และหนามแห่งความ ‘คม’ ดังกล่าวมีภาพรวมอยู่ที่ความเป็น ‘นักหนังสือพิมพ์ชั้นหนึ่ง’  ที่ประกอบภารกิจด้วยหลักวิชา และมีจริยธรรมยึดเหนี่ยวอย่างมั่นคง…"  สุชาติ  สวัสดิ์ศรี เคยกล่าวถึงกรณีนี้เอาไว้


 


กุหลาบ สายประดิษฐ์ ขณะอายุย่าง 26 ปี หนุ่ม หนุ่มมากๆ สำหรับคนๆ หนึ่งที่จะลุกขึ้นกล้าแสดงความเป็นธรรม ความถูกต้องท่ามกลางสังคมจารีตผ่านบทความ "มนุษยภาพ" ในหนังสือพิมพ์ ‘ไทยใหม่’ด้วยในใจของเขาเชื่อมั่นว่า "ความซื่อตรงคือความจริง ความจริงคือความซื่อตรง"


 


ไม่นานหลังจากนั้น นายทุนเข้ามาถือหุ้นในหนังสือพิมพ์ไทยใหม่พร้อมออกนโยบายห้ามวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กุหลาบในฐานะบรรณาธิการ พร้อมด้วยคณะนักเขียน "สุภาพบุรุษ" เพื่อนๆ ของเขา จึงมีมติ "ตบเท้า" ลาออกจากหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ทั้งคณะ ก่อเกิดความสั่นสะเทือนทั่ววงการหนังสือพิมพ์อย่างยิ่ง และการออกมาในครั้งนั้นก็ใช่ว่าจะมีทุนรอนอะไรมากมายเสียด้วย


 


สุภา ศิริมานนท์ ผู้นับถือกุหลาบ สายประดิษฐ์ ในฐานะอาจารย์เคยกล่าวไว้ว่า "คุณกุหลาบ  สายประดิษฐ์ กับคณะยกคณะออกมา ไม่ใช่ว่ามีสตางค์เต็มกระเป๋า หากเป็นการออกมาด้วยความทระนงของคนหนุ่มผู้ยึดมั่นความเป็นธรรมแห่งสังคม ชิงชังในความเอาเปรียบของฝ่ายเจ้าของทุน และรังเกียจในความจุ้นจ้านไม่เข้าเรื่องของตัวแทนฝ่ายเจ้าของทุน ปรากฏว่าคุณกุหลาบตกอยู่ในภาวะที่เรียกว่า "ถังแตก" เราดีๆ นี่เอง จะกินกันเข้าไปก็แทบจะไม่มี


 


เป็น "ครั้งแรก" สำหรับคนหนุ่มและผองเพื่อนซึ่งกล้าต่อต้านความไม่เป็นอิสระของหนังสือพิมพ์ที่ตัวเองสังกัด ที่สำคัญคือ กล้าแสดงจุดยืนโดยไม่คำนึงเรื่องปากท้อง ซึ่งวิสัยคนทั่วไปสนใจเรื่องนี้มากกว่าความเป็นธรรมที่พวกเขามักอ้างว่ารับประทานไม่ได้


 


เปรียบแล้ว หากคุณกุหลาบเป็น "นกพิราบ" ท่านก็เป็นนกพิราบหนุ่มตัวแรกในสมัยนั้นที่กล้าแสดงตัวท่ามกลางหมอกควันของความไม่รู้ในสังคมยุคเปลี่ยนผ่าน กล้าชี้ "ถูก" ชี้ "ผิด" ให้ผู้คนที่ก็ไม่แน่ว่าจะพร้อมรับความคิดที่มาก่อนกาลนี้หรือไม่


 


ขณะที่ทุกวันนี้ เรื่องความถูกผิด เรื่องของอำนาจที่ถูกต้อง ดูเหมือนจะสามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำเมื่อเทียบกับสมัยโบราณ แต่ "นกพิราบ" รุ่นใหม่บางตัวก็ "หัวหด" ทั้งที่เต็มไปด้วยกำลังหนุ่มสาวและไม่มีเหตุผลในเรื่องทุนหรืออะไรอื่นๆ มาเป็นตัวบีบ   มีแต่ "จริยธรรม" ในใจของพวกเขาเท่านั้นที่จืดจางลง


 


ความเป็นนักหนังสือพิมพ์ของกุหลาบยังไม่หมดเท่านี้ ชีวิตนักหนังสือพิมพ์ของเขากล่าวได้ว่าปะทะแรงต้านทางการเมืองหลายครั้งเพราะเขารักความเป็นธรรม จนบางครั้งต้องไปเขียนหนังสือใน "คุก"


 


กุหลาบไม่เลือกเส้นทางสบายเหมือนนักหนังสือพิมพ์ปัจจุบันบางคนที่เสวยสุขบนความมั่งมี เสวยสุขจากรายได้ซึ่งเกิดจากสิ่งไร้สาระที่ตนเอาไปมอมเมาสังคมจนบางคนหลงคิดว่านี่คือสิ่ง "ดีแท้"


 


ผมคงไม่กล่าวว่ากำลังพูดถึงสื่อประเภทไหน เพราะทุกวันนี้มันแทรกไปแทบทุกที่และคนทั่วไปก็ปวารณาจนก่อเกิดเป็น "ทฤษฎีใหม่" ว่าเรื่องนี้เป็น "ปกติ" ของสังคมอย่างหน้าตาเฉย


 


คุณกุหลาบมีอันต้องย้ายที่พำนักจากบ้านไปอยู่ในเรือนจำถึงสองครั้ง ครั้งแรก 3 เดือน ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ช่วง พ.ศ. 2485 ซึ่งได้เกิด "สงครามมหาเอเชียบูรพา" ขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกุหลาบเป็นผู้หนึ่งที่คัดค้านการที่รัฐบาลสนับสนุนญี่ปุ่น (ขณะนั้นเขาเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ) ผลงานที่วิพากษ์วิจารณ์ จอมพล ป. ตั้งแต่สมัยทำหนังสือพิมพ์ประชาชาติ จึงไม่น่าแปลกใจนักที่เขาจะโดนจับ


 


 "แม้จะมีความผูกพันฉันไมตรี นับถือกันอยู่ก็ดี แต่ตราบเท่าที่อยู่ในหน้าที่แล้ว เมื่อมีเหตุการณ์สลักสำคัญที่ต้องวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ข้าพเจ้าก็จำเป็นจะต้องกระทำต่อไป ก็มีเหลืออยู่แต่ทางหนึ่งคือ ข้าพเจ้าจะสละตำแหน่งและวางมือจากวงการหนังสือพิมพ์เสีย"


 


นี่คือประโยคของนักหนังสือพิมพ์คนหนึ่งที่ "เขียนตอบ" นายกรัฐมนตรี (ช่วง 2480 จอมพล ป. เป็นนายกฯ ที่มีอำนาจมาก) ในท่อนนำของบทความเรื่อง "เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475" ที่เขาเขียนเป็นตอนๆ ทั้งหมด 16 ตอนในหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ ซึ่งหมายถึงว่า หากคนชื่อกุหลาบยังเป็นนักหนังสือพิมพ์อยู่ การจะมาบอกให้ทำตัวไม่สนใจความเป็นไปของบ้านเมือง และให้ทำตัวสงบไม่แสดงความเห็นต่อการกระทำของรัฐบาลอันเป็นหน้าที่สำคัญของหนังสือพิมพ์แล้วนั้น ก็ให้เขาเลิกทำอาชีพนี้เสียจะดีกว่าทำไปโดยแกนๆ


 


 


                                                 


                                           25 กันยายน 2488 เข้าร่วมขบวนสวนสนามของเสรีไทย


 


                                       
อีกครั้งหนึ่งคือสมัยจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง ครั้งนี้กุหลาบโดนจับอันเนื่องจากผลงานมาวิจารณ์รัฐบาลเป็นระยะๆ  ตั้งแต่หลังสงคราม (พ.ศ.2488 – 2495) รวมกับคนอื่นซึ่งถูกเหวี่ยงแหจับมารวมกันในคดีที่เรียกว่า "กบฏสันติภาพ" โดยเขาโดนจับขณะเป็นตัวแทนสมาคมหนังสือพิมพ์ออกไปแจกของแก่ผู้ประสบความแห้งแล้งที่ภาคอีสาน


 


 


                                            


                                             ขณะถูกจับกุมในคดี "กบฏสันติภาพ" เมื่อปี 2495


 


 


ภายในคุกบางขวางรอบนี้เองที่เขาเขียนงานชิ้นสำคัญที่สุดขึ้นมาอย่าง "แลไปข้างหน้า" บทกวีอย่าง "อาชญากร ผู้ปล่อยนกพิราบ"  ซึ่งยืนยันถึงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ว่าแม้จะถูกจับ ถูกคุมขังอิสรภาพทางกายเพียงใด แต่อิสรภาพทางใจในฐานะนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ของเขาก็ไม่เคยที่จะหายไปกับการคุมขังนั้น


 


 


                                            


 


                             ขณะทำงานในห้องขังเรือนจำบางขวาง 2495-2500 (ภาพสีน้ำโดยคุณฮะ แซ่ลิ้ม)


 


 


สาส์นของเขาในเรื่องการทำหน้าที่สื่อมวลชนที่สอดแทรกในงานเหล่านี้ก็เช่น


 


"พวกหนังสือพิมพ์มีแต่ปากกา จะไปยิงกับนายทหารได้อย่างไร…เราไม่ต้องการจะยิงกับใคร ด้วยกระสุนเหล็กและด้วยการใช้อำนาจข่มขี่ผู้อื่น แต่เราจะยิงต่อไปด้วยกระสุนแห่งถ้อยคำและเหตุผลจนกว่าเราจะล้มลงและหมดกำลัง เรายิงเพื่อความถูกต้องชอบธรรม"


                                                                                    แลไปข้างหน้า  ภาคมัชฌิมวัย


 


หนังสือพิมพ์จะบำเพ็ญหน้าที่ของตนได้มากน้อยเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับความเป็นอิสระที่หนังสือพิมพ์นั้นมีอยู่ ถ้าหนังสือพิมพ์ขากความเป็นอิสระแล้ว ก็อย่าได้อวดอ้างไปเลยว่า  เราจะบำเพ็ญหน้าที่ของเราโดยเต็มที่ เว้นแต่เมื่อเราพูดเช่นนั้น เราจะหมายความเช่นเดียวกับที่คนเจ็บใกล้จะตายพูดออกมาว่า เขาจะต่อสู้กับความตายโดยเต็มที่ คืเต็มกำลังของร่างที่มีแต่โครงกระดูกและความเจ็บปวดทรมานอย่างสุดที่จะต่อสู้ได้"


                                                            เรื่องของเขาและศรีบูรพากับบทประพันธ์ในบรรณพิภพ


 


 "ถ้ารัฐบาล (หรือผู้ที่กำลังถูกวิจารณ์ไปตามความจริง-ผู้เขียน) ไม่ชอบให้ใครพูดถึงรัฐบาลในสิ่งไม่ดี รัฐบาลก็จะต้องไม่ทำในสิ่งนั้น รัฐบาลต้องแก้การกระทำของรัฐบาล ไม่ใช่มาเรียกร้องให้เราแก้การเขียนหนังสือของเราที่เขียนไปตามความเป็นจริง"


                                                                        แลไปข้างหน้า  ภาคมัชฌิมวัย


           


ปัจจุบันแม้ ศรีบูรพา - กุหลาบ สายประดิษฐ์ จากไปครบหนึ่งศตวรรษแล้ว งานและข้อคิดของเขายังคงย้อนกลับมาเตือนใจผมได้เสมอ  ซึ่งก็ไม่รู้ว่าในโอกาส 100 ปีนี้จะเข้าหูนักหนังสือพิมพ์รุ่นใหม่สักแค่ไหน


 


พึงรู้ว่า ช่วงเวลาที่กุหลาบเขียนงานเหล่านี้ เขามีชีวิตอยู่จริง และเขาทำงานท่ามสังคมไทยสมัยที่ "ปิด" เรื่องการเมืองยิ่งกว่าสมัยนี้มาก (โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร 2490 ที่ทำให้คนดีอย่างอาจารย์ปรีดีต้องออกนอกประเทศไป)


 


ข้ออ้างที่ว่านักหนังสือพิมพ์แบบเขานั้นไม่มีใครในปัจจุบันสามารถยึดแนวทางและทำตามได้ จึงไม่น่าสมเหตุสมผลในยุคที่สังคมและรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้เรามากมายเช่นนี้ แม้จะมีพลังของทุนคุกคามอยู่ก็ตาม


 


ยิ่งในระดับ "หนังสือพิมพ์ฝึกหัด" แล้ว ก็จำเป็นยิ่งที่ต้องปลูกฝังสิ่งที่กุหลาบให้แนวทางไว้มากๆ เพื่อที่เราจะได้คนทำสื่อที่มีคุณภาพในอนาคตมิใช่หรือ?


 


ผมเชื่อว่า อาจารย์สอนนิเทศศาสตร์หรือวารสารศาสตร์ซึ่งมี "วิญญาณของคนทำสื่อ" ย่อมไม่มองวิชานี้แค่วิชาเรียนธรรมดาแล้วปล่อยให้ผ่านไป แต่การทำหนังสือพิมพ์ฝึกหัดนี้แหละ จะเป็นฐานที่สำคัญในอนาคตของคนหนังสือพิมพ์รุ่นใหม่


 


เขียนมานี้ ก็เพียงอยากให้ "พิราบน้อย" บางคนและบางแห่งที่หัดทำหนังสือพิมพ์อยู่นั้น สามารถบินตามเส้นทางอันงดงามที่ "พิราบรุ่นใหญ่" อย่าง "ศรีบูรพา" ทิ้งไว้ได้อย่างถูกต้องเท่านั้น…·


 


 


เอกสารอ้างอิง



  • คณะอนุกรรมการฝ่ายจัดพิมพ์หนังสือที่ระลึก-คณะผู้จัดทำในนามบริษัทวิริยะธุรกิจ จำกัด. คืออิสสรชน คือคนดี คือศรีบูรพา. หนังสือที่ระลึกเนื่องในวันครบรอบ 100 ปี กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) กรุงเทพฯ 2548.


  • สุชาติ สวัสดิ์ศรี บก. กุหลาบ สายประดิษฐ์. มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ. คณะกรรมการอำนวยการจัดงาน 100 ปี ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์)  กรุงเทพฯ 2548.