Skip to main content

เปรียบเทียบโครงสร้างราคาน้ำมันและไบโอดีเซลในอังกฤษและไทย

คอลัมน์/ชุมชน

คำนำ


 


นายกฯ ทักษิณได้บอกกับประชาชนว่า "ราคาน้ำมันในประเทศไทยมีราคาถูกกว่าในประเทศลาวและกัมพูชา แต่แพงกว่าประเทศมาเลเซียเพราะทางมาเลเซียเขามีแหล่งน้ำมันของตนเอง"


 


นอกจากนี้ท่านได้บอกอีกว่า ราคาน้ำมันในประเทศอังกฤษประมาณ 60 บาทต่อลิตร  คราวนี้ท่านไม่ได้บอกเหตุผล อาจเป็นเพราะเวลาในการถ่ายทอดสดมีน้อยหรือเพราะอย่างอื่นก็ไม่อาจทราบได้  แต่ผู้ฟังทั่วไปสงสัยว่า


 


 " เอ๊ะ! ในเมื่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเกือบเท่ากันทุกที่ทุกตลาด แต่ทำไมในบ้านเราลิตรละ 25 บาท แต่ที่อังกฤษสูงถึง 60 บาท มันต่างกันมากเหลือเกิน "


 


ก่อนจะตอบคำถามนี้ เรามาฟังอีกคำถามหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น  คำถามนี้เป็นของอาจารย์ด้านการเกษตรของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในต่างประเทศ  ท่านถามว่า


 


 "ทำไม  น้ำนมซึ่งผลิตจากวัวที่กินหญ้าบนผิวดิน จึงมีราคาแพงกว่าน้ำมันที่อยู่ลึกลงไปจากผิวดินหลายพันเมตร  หญ้าที่วัวกินหมดแล้วก็งอกขึ้นใหม่ได้ ขี้วัวก็เป็นปุ๋ยให้หญ้า แต่น้ำมันหมดแล้วก็หมดเลย ของเสียที่ออกมาก็เป็นพิษ  การลงทุนในกิจการน้ำนมก็น้อยกว่าจนเทียบกันไม่ได้กับกิจการน้ำมัน "


 


ผมค้นพบคำถามที่แหลมคมนี้จากอินเตอร์เน็ต แต่ไม่มีคำเฉลยครับ  คำตอบคงหลากหลายขึ้นกับทัศนะของแต่ละคน 


 


บทความนี้จะนำโครงสร้างของราคาน้ำมันดีเซลและไบโอดีเซลของประเทศอังกฤษ  เยอรมนี  และไทย มาเปรียบเทียบกัน   เราจะได้รู้กันว่า ทำไมราคาน้ำมันอังกฤษจึงแพงกว่าบ้านเรามาก  และได้เห็นกันว่าทำไมกิจการไบโอดีเซล จึงสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วมากในสองประเทศนี้ แต่กลับช้ามากหรือแทบเป็นไปไม่ได้ในประเทศไทยเรา


 


โครงสร้างราคาน้ำมันในอังกฤษ เยอรมนี และไทย


 


โดยปกติ ราคาน้ำมันขายปลีกของทุกประเทศจะประกอบด้วยต้นทุนบวกกับภาษีและกำไรของเจ้าของกิจการน้ำมัน  ในเมื่อราคาน้ำมันดิบซึ่งเป็นตัวกำหนดต้นทุนมีราคาเกือบเท่ากันทั้งโลก  ดังนั้น ความแตกต่างของราคาจาก 25 บาทในไทย กับ 60 บาทในอังกฤษ จึงเป็นเพราะปัจจัยสองส่วนที่เหลือคือภาษีและกำไรของเจ้าของกิจการ


 


ในเยอรมนี ภาษีน้ำมันแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ภาษีสรรพสามิต  ภาษีสิ่งแวดล้อม  และภาษีมูลค่าเพิ่ม  ในขณะที่ประเทศอังกฤษไม่มีภาษีสิ่งแวดล้อม  สำหรับในประเทศไทยเราก็เหมือนกับประเทศเยอรมนีในเชิงองค์ประกอบ  แต่ในเชิงสัดส่วนหรือร้อยละแล้วต่างกันมาก


 


จากการวิเคราะห์ข้อมูลของกระทรวงพลังงานไทย  พบว่าในขณะที่ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในกรุงเทพเท่ากับ 22.99 บาท (5 กรกฎาคม 2548)  ในจำนวนนี้เป็นภาษีทุกชนิดรวมกันเป็น 2.98 บาท คิดเป็น 13.0% (รวมภาษีกองทุนอนุรักษ์พลังงาน 4 สตางค์ต่อลิตรแล้ว แต่ไม่รวมค่ากองทุนน้ำมัน 50 สตางค์ต่อลิตร)


 


แม้ราคาน้ำมันจะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แต่เมื่อคิดเป็นร้อยละของภาษีแล้ว ตัวเลขไม่เปลี่ยนแปลงครับ คือ 13.0 %          


 


ทีนี้ลองมาดูโครงสร้างภาษีในประเทศอังกฤษบ้าง คราวนี้ผมจะเปรียบเทียบให้เห็นทั้งของน้ำมันดีเซลธรรมดา (จากฟอสซิล) และไบโอดีเซล (จากพืชน้ำมัน) ข้อมูลเป็นค่าเฉลี่ยของปี 2545 ซึ่งมาจากกรมกิจการสิ่งแวดล้อมอาหารและชนบท (Department for Environment Food and Rural Affairs :DEFRA-ชื่อภาษาอังกฤษมีประโยชน์ในการสืบค้นเพิ่มเติมทางอินเตอร์เน็ต)


 


ในปีนั้นอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเป็น 64.94 บาทต่อปอนด์  แต่ผมจะแปลงข้อมูลมาเป็นบาทเพื่อความเข้าใจง่ายๆ ของคนไทยเรา


 


ในปี 2545 ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในกรุงเทพฯ เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 13 บาทต่อลิตร  แต่ที่หน้าปั๊มในอังกฤษอยู่ที่ 51.30 บาท ซึ่งก็ใกล้เคียงกับที่ท่านนายกฯ ทักษิณได้บอกเรา


 


ใน 51.30 บาทนี้เป็นภาษี 37 บาทหรือคิดเป็น 72% ของราคาขาย แต่น้ำมันไบโอดีเซลลิตรละ 52.90 บาท ในจำนวนนี้เป็นภาษี 24 บาท หรือคิดเป็น 46%


 


เราพอจะเริ่มเห็นภาพชัดเจนขึ้นนะครับ คือ (1) ภาษีน้ำมันดีเซลในอังกฤษสูงกว่าของบ้านเรามากและ (2) ภาษีไบโอดีเชลต่ำกว่าน้ำมันดีเซลจากฟอสซิลมาก


 


ในปี 2545  ต้นทุนการผลิตน้ำมันดีเซลที่อังกฤษ 6.49 แต่ไบโอดีเซลที่หน้าสถานีเติมน้ำมันเป็น 20.13 บาทต่อลิตร    แม้ราคาต้นทุนจะต่างกันมากแต่ด้วย "ระบบภาษีที่มีเป้าหมาย" ได้ทำให้ราคาขายปลีกสินค้าสองชนิดนี้เกือบเท่ากัน


 


ทีนี้มาดูในกรณีของประเทศเยอรมนีกันบ้าง จากข้อมูลของเครือข่ายข้อมูลการเกษตรโลก(Global Agriculture Information Network : GAIN)  พบว่าทั้งๆ ที่ต้นทุนการผลิตไบโอดีเซลสูงกว่าดีเซลธรรมดามาก แต่ราคาขายปลีกน้ำมันไบโอดีเซลกลับมีราคาถูกกว่าถึงประมาณ 6.50 บาท (ราคาเมื่อ 1 .. 2548)


 


ที่เป็นดังนี้ได้เพราะเยอรมนีเก็บภาษีน้ำมันดีเซลถึงลิตรละ 23.5 บาท ในขณะที่ไบโอดีเซลได้รับการยกเว้นทั้งหมด (แต่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามปกติ)


 


ตามนโยบายเดิมของรัฐบาลเยอรมนีแล้ว การยกเว้นนี้จะมีไปจนถึงปี พ.. 2552 แต่เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม 2548 ได้มีข่าวการเสนอให้ยกเลิกการยกเว้นภาษีดังกล่าว แต่ทางสมาคมเพื่อการส่งเสริมการใช้น้ำมันและโปรตีนจากพืช (Union for the Promotion of Oil Seeds Protein Plants:UFOP)  ก็ออกมาคัดค้าน  ผลการคัดค้านจะเป็นอย่างไรยังไม่ทราบครับ


 


ระบบภาษีที่มีเป้าหมายคืออะไร


 


ในเมื่อต้นทุนการผลิตของไบโอดีเซลสูงกว่าต้นทุนการผลิตดีเซลธรรมดามาก จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้สินค้าสองตัวนี้แข่งกันอย่างเสรี  ประกอบกับสินค้าตัวหนึ่งเป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม ทำให้โลกร้อนและภัยพิบัติมากมาย แต่อีกตัวหนึ่งนอกจากจะไม่เป็นพิษแล้วยังช่วยในการสร้างงานและกระจายรายได้ รัฐบาลที่ดีจึงต้องจัดการให้สินค้าทั้งสองตัวนี้สามารถอยู่ได้ทั้งคู่ ยอดจำหน่ายไบโอดีเซลในปี 2548 ในเยอรมนีจึงคาดว่าจะกระโดดไปถึง 12 % ของดีเซลธรรมดา


 


การที่รัฐบาลไทยเก็บภาษีน้ำมันดีเซลเพียง 13% ทำให้ไบโอดีเซลในประเทศไทยไม่สามารถเกิดได้ในเชิงพาณิชย์ ทั้งๆ ที่หันไปทางไหนก็มีพื้นที่รกร้างว่างเปล่าเต็มไปหมด


 


จากแหล่งข้อมูลที่ผมได้อ้างถึงแล้วรายงานว่า พื้นที่เท่ากับสนามฟุตบอลก็สามารถปลูกพืชที่ใช้ทำน้ำมันให้รถยนต์หนึ่งคันใช้ได้ทั้งปี ดังนั้น ถ้าโครงสร้างทางภาษีเอื้ออำนวยให้ นอกจากคนจำนวนมากจะได้มีงานทำแล้ว ยังช่วยให้เงินไทยไม่ไหลออกไปต่างประเทศอีกด้วย


 


นอกจากนี้ ถ้าเราจำแนกการใช้พลังงานของคนไทยทั้งประเทศพบว่า ยอดที่สูงที่สุดคือร้อยละ 37 ใช้ไปในภาคการขนส่ง ถัดมาเป็นอันดับสองคือภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 36


 


ดังนั้น การเก็บภาษีน้ำมันดีเซลต่ำๆ จึงเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมซึ่งมีคนจำนวนน้อย (ในจำนวนนี้เป็นธุรกิจของชาวต่างชาติ) แต่กลับเป็นการกีดกันผู้ปลูกพืชน้ำมันซึ่งมีจำนวนมากโดยธรรมชาติ