Skip to main content

หลักประกันสุขภาพ(13) ปลุกผี co-payment

หลักประกันสุขภาพตั้งใจให้ประชากรทุกคนได้รับบริการสุขภาพที่เหมาะสมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ให้ได้รับการรักษาพยาบาลที่จำเป็นโดยไม่ต้องเสียเงิน คือเงินส่วนตัวที่คนทุกคนไม่ว่ายากดีมีจนทำงานหามาได้


มีบ้างบางคนไม่เห็นด้วย เพราะเชื่อว่าเงินที่มีอยู่ในระบบหลักประกันไม่เพียงพอที่จะให้การรักษาพยาบาลที่จำเป็น วิธีแก้ไขคือ ให้ผู้ป่วยได้ร่วมจ่าย เรียกว่า co-payment


ตามกฎหมายหลักประกันที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมจ่ายอยู่แล้ว นั่นคือจ่าย 30 บาทต่อครั้ง ตัวเลขนี้ปรับได้ แต่การร่วมจ่ายนอกเหนือจากนี้ทำไม่ได้


ถ้าการร่วมจ่ายหรือ co-payment นำมาซึ่งการรักษาพยาบาลที่จำเป็นก็สมควรได้รับการสนับสนุน แต่เรื่องที่ควรคุยกันคือ co-payment มักนำมาซึ่งบริการที่เกินจำเป็นมากกว่าบริการตามความจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็น co-payment ที่จุดบริการและขณะกำลังให้บริการ


ในอดีตที่ผ่านมา การจ่ายเงินในลักษณะนี้นำมาซึ่งเอกซเรย์พิเศษที่เกินจำเป็น ยาที่เกินจำเป็น บางครั้งจะได้มาซึ่งการผ่าตัดที่เกินจำเป็นด้วย


การตัด co-payment ออกไปจากระบบบริการสาธารณสุขช่วยให้การรักษาที่เกินจำเป็นลดน้อยลงไป แต่ถ้าจะถามว่าแล้วทำให้การรักษาที่จำเป็นหายไปด้วยหรือเปล่า อันนี้อาจจะต้องคุยกันที่ประเด็นอื่น เช่น ให้งบรายหัวไม่พอตั้งแต่ต้น กระจายงบรายหัวไม่เหมาะสม การบริหารทรัพยากรในโรงพยาบาลไม่เหมาะสม เป็นต้น


ให้งบรายหัวไม่พอตั้งแต่ต้น กระจายงบรายหัวไม่เหมาะสม การบริหารทรัพยากรในโรงพยาบาลไม่เหมาะสม เหล่านี้ควรแก้ไขที่สาเหตุ มิใช่แก้ไขด้วยการให้ผู้ป่วยร่วมจ่าย


ผู้ป่วยเป็นผู้รับบริการที่ไม่มีความรู้ทางการแพทย์และตกเป็นรองในระบบบริการ จึงไม่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเองว่าอะไรจำเป็น อะไรไม่จำเป็น อะไรควรร่วมจ่าย อะไรไม่ควรร่วมจ่าย หากมีการขู่แม้เพียงน้อยนิดว่าหากไม่รักษาพยาบาลด้วยวิธีนั้น ๆ แล้วอาจจะเกิดอันตรายได้ หรือหากมีการชวนเชื่อแม้เพียงน้อยนิดว่าหากได้รับการรักษาพยาบาลด้วยวิธีนั้น ๆ ก็จะหายได้ ผู้ป่วยทั่วไปก็พร้อมที่จะขายทรัพย์สมบัติส่วนตัวทั้งหมด เพื่อทุ่มลงไปในการรักษาพยาบาลที่เกินจำเป็น เรื่องเหล่านี้คืออดีตที่ผ่านมาของระบบสาธารณสุข


กลุ่มที่เดือดร้อนจากภาวะที่ผู้ป่วยไม่สามารถร่วมจ่ายที่จุดบริการขณะกำลังให้บริการได้คือบริษัทยาราคาแพง เพราะยาที่ทำตลาดให้บริษัทเหล่านี้คือยาราคาแพงที่ไม่จำเป็นจำนวนมาก เช่น ยาแก้ปวดราคาแพงที่อ้างว่าไม่กัดกระเพาะอาหาร ยากระเพาะอาหารราคาแพงที่ให้เพียงเพราะผู้ป่วยไม่สบายท้อง ยาที่อ้างว่าเพิ่มออกซิเจนให้สมอง ยาที่อ้างว่าขยายหลอดเลือดสมอง ยาที่อ้างว่ารักษาอัลไซเมอร์ ยาที่อ้างว่าละลายเสมหะ ยาที่อ้างว่ารักษาลำไส้อักเสบ ยาที่อ้างว่ารักษาริดสีดวงทวาร ฯลฯ รวมทั้งยาจิตเวชราคาแพงที่ไม่จำเป็น ยาหัวใจราคาแพงที่ไม่จำเป็น ยากระดูกราคาแพงที่ไม่จำเป็น ฯลฯ


บริษัทยาเหล่านี้ต้องการให้ผู้ป่วยร่วมจ่ายได้ เพราะเรื่องยาเป็นเรื่องที่สามารถทำตลาดให้เกิด " ความจำเป็นเทียม" ได้ง่าย นอกจากนี้ยังสามารถใช้ สื่อโฆษณา การประชุมวิชาการ และ ความสัมพันธ์ส่วนบุคคล หว่านล้อมให้แพทย์จ่ายยาเหล่านี้มากเกินสมควรได้อีกด้วย


การที่ผู้ป่วยต้องตกเป็นเหยื่อของความจำเป็นเทียมที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นเรื่องที่สังคมควรใส่ใจและพูดคุยค้นหาหนทางป้องกัน ยกตัวอย่าง โรคกระเพาะอาหาร หรือโรคอัลไซเมอร์ ผู้ป่วยสามารถถูกหว่านล้อมให้หลงเชื่อได้โดยง่าย ว่าตนเองกำลังเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารหรือโรคอัลไซเมอร์ เสร็จแล้วหลงเชื่อตามต่อไปอีกว่าหากได้กินยาดีราคาแพงนั้น ๆ ก็จะหาย ที่พบบ่อยอีกกรณีหนึ่งคือเรื่องอาการปวดหลัง ผู้ป่วยสามารถถูกหว่านล้อมให้หลงเชื่อได้โดยง่ายว่ายาแก้ปวดหลังราคาแพงบางชนิดไม่กัดกระเพาะอาหารทำให้กินติดต่อกันได้เป็นเวลานาน ๆ


การร่วมจ่ายตามใจชอบเป็นสิ่งที่ประชาชนหรือผู้ป่วยไม่ควรตกหลุมพรางโดยง่าย บทเรียนในอดีตที่ผ่านมาชัดเจนแล้วว่าการร่วมจ่ายตามใจชอบ ทำให้ผู้มีอันจะกินได้ยาที่ไม่จำเป็นไปจำนวนมาก ผู้มีอันจะกินที่รวยไม่จริงสามารถจนเฉียบพลันได้ในเวลาไม่นาน ส่วนผู้ป่วยยากจนยังคงขาดแคลนยาที่จำเป็นต่อไป


หากจะร่วมจ่ายต้องร่วมจ่ายก่อนที่จะเกิดการให้บริการ ที่มีผู้เสนอนานแล้วคือการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า หากคิดว่าการเก็บภาษีในปัจจุบันยังก้าวหน้าไม่พอก็เก็บให้ก้าวหน้ามากขึ้นไปอีก


ทุกครั้งที่มีข่าวว่า งบรายหัวในระบบหลักประกันสุขภาพจะเพิ่มขึ้น เช่น จะมีการเก็บภาษีบาปมาเพิ่มกองทุนหลักประกัน เป็นต้น ผี co-payment ก็จะตื่นจากหลุมมาขอมีส่วนร่วมทุกครั้งไปโดยอ้างว่าเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์หรืออ้างว่าเพื่อความสมบูรณ์ของระบบหลักประกัน บางครั้งอ้างความทุกข์ยากของผู้ป่วย ( ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่) เอาดื้อ ๆ ผีตนนี้สามารถหลอกล่อและทำให้ประชาชนและผู้ป่วยหลงเชื่อได้ว่าการร่วมจ่ายเป็นเรื่องจำเป็นของระบบ


หากเราหลงเชื่อผีตนนี้ คนรวยจะได้ยาที่ไม่จำเป็นจำนวนมาก คนรวยไม่จริงจะจนเฉียบพลันได้ในเวลาไม่นาน ส่วนผู้ป่วยยากจนยังคงขาดแคลนยาที่จำเป็นต่อไป