Skip to main content

ซับน้ำตา หญิงหม้าย

คอลัมน์/ชุมชน

 


ภายในอาทิตย์สองอาทิตย์นี้ คงจะมีปฏิบัติการของภริยานายกรัฐมนตรีเดินทางลงใต้เพื่อซับน้ำตาเพื่อนผู้หญิงด้วยกันที่ขณะนี้ประสบวิกฤติสูญเสียสามีไปในเหตุการณ์รุนแรงรายวันที่เกิดขึ้นในจังหวัดใต้สุดของไทย


 


หากจะไปเยี่ยมเยียนกันจริงคงต้องไม่เฉพาะหญิงหม้ายสามีตายเท่านั้น แต่น่าจะเป็นหญิงทุกคนที่สูญเสียสามี สูญเสียลูกชาย สูญเสียพี่น้องผู้ชายไปในเหตุการณ์ใหญ่ๆ ตั้งแต่เมื่อเมษายนปีที่แล้วกรณีกรือเซะ สะบ้าย้อย มาจนถึงตากใบ และรวมถึงหญิงหม้ายภรรยาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ครู อาสาสมัคร และอื่นๆ อีกจำนวนมากที่ถูกกระทำความรุนแรงต่อชีวิต 


 


การเยี่ยมเยียนเป็นการให้กำลังใจแก่กัน แต่ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาต้นเหตุที่เกิดความรุนแรงในพื้นที่ เป็นเพียงสัญลักษณ์ของการร่วมในความทุกข์ของผู้สูญเสียเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ยังเป็นสัญลักษณ์ของการยอมรับว่าเกิดความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ที่ผู้หญิงด้วยกันเองได้รับ โดยเฉพาะหญิงที่อยู่ในสถานะภรรยาและแม่  ทำให้ย้อนคิดถึงในอดีตที่ได้ร่วมทำงานกับพี่น้องชาวบ้านทั้งที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์และคนท้องถิ่นพื้นราบ สิ่งที่ได้พบเห็นคือ หมู่บ้านหรือชุมชนใดก็ตามเมื่อมีหญิงหม้ายเกิดขึ้นในชุมชน จะต้องถือเป็นหน้าที่ของคนทั้งชุมชนที่จะให้ความช่วยเหลือเอื้ออาทรต่อหญิงเหล่านี้ ทั้งการแบ่งปันแรงงานไปช่วยทำไร่ไถนา หรือหากไม่มีที่นา ชุมชนก็จะช่วยกันออมข้าวแล้วนำไปใส่ในยุ้งฉางของบ้านที่เป็นหม้ายนั้น รวมถึงการติดตามดูแลครอบครัวนี้ไปตลอด  คอยปกป้องคุ้มครองไม่ให้ใครมารังแกได้


 


การเยี่ยมเยียนของภริยานายกฯ ครั้งนี้ก็คงเป็นสัญลักษณ์เช่นกัน แต่ไม่รู้ว่าบรรดาหญิงหม้ายและแม่ที่สูญเสียในภาคใต้จะรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันกับบรรดาคู่สมรสรัฐมนตรีที่เดินทางไปพร้อมกับภริยานายกฯ หรือไม่ เพราะมันดูจะช้าไปมากเหมือนกันกับกิจกรรมครั้งนี้   หากเป็นไปได้อยากให้คู่สมรสเหล่านี้ได้ทำการบ้านก่อนเดินทางไปสักหน่อยว่า อะไรน่าจะเป็นสาเหตุของความรุนแรงที่เกิดขึ้น ควรจะได้คุยกับรัฐมนตรีที่เป็นคู่ของท่านว่ามีข้อมูลรายละเอียดอะไรบ้างเกี่ยวกับสถานการณ์ภาคใต้ ตลอดจนถามกันให้กระจ่างว่ารัฐบาลชุดนี้มีความมุ่งมั่นแค่ไหนในการแก้ปัญหาภาคใต้


 


การส่งกำลังทหาร กำลังตำรวจจำนวนมากเข้าไปอยู่ในพื้นที่  แต่ทำไม ยังจับมือใครดมไม่ได้ว่าเป็นคนลอบยิง ลอบวางระเบิด หรือคุณภาพของตำรวจ ทหาร เหล่านี้ไม่มีน้ำยาแล้ว อย่างนี้เหตุการณ์ร้ายๆ ในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทยก็น่าจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากตำรวจไล่จับผู้ร้ายไม่ค่อยได้แล้วซึ่งน่าเป็นห่วงมาก หรือมีข้อมูลอะไรมากกว่านี้ ตำรวจ ทหาร จึงทำหน้าที่ได้ไม่สมกับบทบาทหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน


 


หวังว่าการไปเยี่ยมครั้งนี้ คงจะได้มีโอกาสสอบถามจากปากของบรรดาหญิงหม้ายและแม่ผู้สูญเสียทั้งหลายได้บ้างว่า อยากให้มีการแก้ปัญหานี้อย่างไร อยากให้รัฐ ข้าราชการ และเพื่อนพี่น้องประชาชนในประเทศเข้าใจเหตุการณ์นี้อย่างไร นี่คิดว่าเป็นสิ่งที่คาดหวังให้เกิดแต่คงจะยาก เดาว่าไม่น่าจะมีหญิงหม้ายหรือแม่ผู้สูญเสียคนไหนปริปากพูด ดังที่มีการสื่อสารกันเสมอมาว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ปิดปากเงียบ ไม่พูดทั้งในทางดีหรือทางร้าย สู้อยู่เงียบๆดีกว่าเพื่อรักษาชีวิตและครอบครัวไว้


 


เมื่อไรก็ตามที่คนในชุมชนไม่ไว้วางใจคนนอก ย่อมไม่อาจสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาได้ จึงต้องให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาในพื้นที่โดยคนในพื้นที่เองมากกว่า รัฐควรเป็นเพียงฝ่ายอำนวยความสะดวกให้กับชุมชนในการค้นหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุดในการแก้ปัญหา รวมทั้งรัฐต้องใจกว้างในการสนับสนุนทรัพยากรสำหรับชุมชนเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ การเคารพในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ความเชื่อทางศาสนา และแนวทางปฏิบัติของท้องถิ่นนั้นๆ เป็นพื้นฐานสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่วัฒนธรรมความเชื่อแบบพี่น้องมุสลิม


 


การออกแบบโครงการขนาดใหญ่ใช้ทั้งประเทศ เช่น กองทุนหมู่บ้าน การแปลงหนี้  อาจไม่เหมาะกับพี่น้องมุสลิมที่ยึดถือการไม่เอาดอกเบี้ยซึ่งกันและกัน นโยบายบางอย่างจึงควรปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับพื้นที่ได้ด้วย โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการออกแบบ วางแผน ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของแต่ละชุมชน อันที่จริงก็ควรจะเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายของทั้งประเทศ ที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและสอดรับกับการดำเนินชีวิตของชุมชน


 


ที่สุดแล้วการเยี่ยมเยียนเพื่อซับน้ำตาหญิงหม้ายคงดำเนินไปและสิ้นสุดลงโดยเร็ว แล้วทุกอย่างก็จะเลือนหายไปจากความทรงจำพร้อมกับกาลเวลา


 


เฉกเช่นที่เราลืมไปแล้วว่า เหตุการณ์รุนแรงภาคใต้มันเริ่มขึ้นเมื่อใดและอย่างไร