เรื่องเบา ๆ ซะบ้าง
คอลัมน์/ชุมชน
ตอนนี้คนในเมืองไทยคงต้องก้มหน้าอดทนกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างไม่มีทางเลือก เพราะสังคมไทยไม่ได้มีการเตรียมล่วงหน้าในเรื่องพลังงานทางเลือก ในช่วงที่น้ำมันราคาลิตรละเกือบ ๒๖ บาท (เบนซิน ๙๕) เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนใช้ฮอนด้าแอ๊คคอร์ดที่น้องสาวกรุณาให้ยืมใช้ชั่วคราว ทราบถึงความรู้สึกอันพะอืดพะอมเรื่องนี้ เพราะเติมเต็มถังทีหนึ่งจ่ายเงินไม่น้อยกว่าหนึ่งพันสี่ร้อยบาท ผู้เขียนเลยพูดติดตลกว่า เป็นรุ่น "ซับเหงื่อ" เนื่องด้วยอาการที่เกิดขึ้นเวลาต้องเติมน้ำมันเจ้ารถคันนี้
เรื่องราคาน้ำมันจึงเป็นเรื่องที่สังคมไทยคุยกันแต่ทำอะไรไม่ได้ ไม่ใช้รถก็ไปไหนไม่ได้ ธุรกิจไม่เดิน เปรียบเหมือนกับความสัมพันธ์ของคู่รัก คู่สามีภรรยา หากตกลงที่จะใช้ชีวิตร่วมกันแล้ว คงต้องอดทนให้ชีวิตคู่ดำเนินต่อไปจนกว่าจะตายจากกันไป แต่ที่แย่คือเรื่องปัญหาความขัดแย้งนั้นกลับไม่ค่อยคุยกันเท่าไรนัก ยิ่งถ้าปรึกษาคนนอกยิ่งแล้วใหญ่ ถือเป็นเรื่องต้องห้ามเลยทีเดียว อันนี้เป็นข้อที่ต่างออกมา
เรื่องเบาๆแต่จริงๆแล้วหนักอกของวันนี้คือ เรื่องความสัมพันธ์ในด้านคู่รัก คู่สมรส หรือที่เรียกว่าเรื่องในมุ้งของคนไทยในเมืองไทย ผู้เขียนขอโอกาสฉีกแนวมาคุยเรื่องนี้สักครั้งหนึ่ง
เรื่องแรก รุ่นพี่ผู้หญิงที่นับถือกัน รู้จักกันมาสิบกว่าปี ตั้งแต่เธอยังไม่มีลูกจนวันนี้มีลูกโตเป็นหนุ่มเป็นสาว รุ่นพี่คนนี้มาบ่นให้ฟังว่า จะทำอย่างไรดีกับพฤติกรรมสามีที่น่ารัก มีความรับผิดชอบสูง มีความก้าวหน้าทางการงาน มีชื่อเสียงมากในสังคม แต่ว่าน่าเสียดายที่ขาด "human touch" ความเป็นมนุษย์ในชีวิตคู่ หลายครั้งมองอะไรเป็นเหตุผลมากเกินไป ลืมมองปัจจัยทางอารมณ์ ทำให้ความรู้สึกแย่ๆ เกิดขึ้น แต่ว่าสามีรุ่นพี่ท่านนี้ไม่รู้ตัว แม้ว่าจะมีการเปรยๆ ก็ตาม แต่ก็ไม่มีผลอะไรขึ้นมา
ผู้เขียนรับฟัง และอธิบายว่าคงต้องทำใจให้มากและพยายามสื่อสารให้ได้ นอกจากนี้ต้องให้เวลาตัดสิน ทั้งนี้ สรุปว่า เรื่องแบบนี้เราไม่สามารถที่จะให้เป็นไปอย่างที่เราต้องการ และต้องมองสิ่งที่ทดแทนเข้ามา เช่น ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ไม่มีปัญหาใด ๆ เลย
เรื่องที่สอง ความสัมพันธ์ของเกย์คู่หนึ่งอายุในช่วงยี่สิบปลายๆ ทั้งสองฝ่ายไม่เชื่อใจกันและมีเรื่องขัดแย้งกันบ่อยๆ (หมายเหตุ-การมีข้อขัดแย้งบ้างถือเป็นเรื่องปกติ แต่บ่อยมากเกินไปไม่ดี) โดยอีกฝ่ายหนึ่งพยายามที่จะ "บริหารเสน่ห์" ตลอดเวลาเพราะเป็นคนรูปร่างหน้าตาตรงตามพิมพ์นิยมในตลาดเกย์ไทย คือ ขาว ผอม เพรียว และหล่อ ส่วนอีกฝ่าย สันทัด เตี้ย คล้ำ และหล่อแบบเข้มๆ ซึ่งหล่อแบบไม่ตรงตลาดเกย์ไทยนัก ตามกระแสที่นิยมยิ่งซีดยิ่งดี เมื่อเป็นเช่นนี้ ฝ่ายแรกจึงทำให้ฝ่ายหลังต้องหวาดระแวงตลอด แต่ไม่ได้หมายความว่าทั้งสองจะหยุดในการหาคนใหม่ เพียงแต่ว่าตอนนี้สองคนคงยังไม่พร้อมที่จะมีใครใหม่อย่างแท้จริง
ประเด็นก็คือเกย์คู่นี้ ยังไม่เข้าใจว่าตนเองต้องการอะไร แต่ว่าพยายามเต็มที่ที่จะอยู่ด้วยกันในขณะนี้ จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่ทั้งคู่ไม่มีทักษะและความเข้าใจว่าชีวิตคู่ของเกย์ ควรเป็นอย่างไร
ผู้เขียนไม่พยายามตอบคำถามหรือแก้ปัญหาในความสัมพันธ์ของมนุษย์ แต่ชอบดูว่ามันจะไหลไปอย่างไร ผู้เขียนไม่เคยคิดว่าเรื่องนี้มีสูตรสำเร็จ ทฤษฎีต่างๆ ไม่ได้ช่วย "ทำนาย" หรือ "ควบคุมจัดการ"ได้ แต่ว่าอาจช่วยเราให้เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น และไม่หลงทางเท่านั้น ซึ่งเป็นจุดยืนของผู้เขียนและนักวิชาการกลุ่มหนึ่ง ดังนั้น จึงหงุดหงิดทุกครั้งที่มีคนพยายามจะทำเป็น "ศิราณี" ตอบหรือแก้ปัญหาหัวใจ ไม่ว่าคนนั้นจะมีดีกรีติดตัวมามากมายหรือแก่ประสบการณ์แค่ไหน เพราะเรื่องนี้ไม่มีใครรู้ได้เลย
สิ่งที่ขาดในสังคมไทยคือ การที่ไม่มีการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ของผู้มีชีวิตคู่ และมีภาพในฝันอย่างไร้ร่องรอยของความเป็นจริง ในทางตรงกันข้าม หลายคู่ก็มีแต่ความระแวงต่อกัน เพราะเชื่อว่าคงไม่มีความซื่อสัตย์ของอีกฝ่ายหนึ่ง โดยได้ข้อมูลมาจากสื่อมวลชนต่างๆ เช่น นิยาย ละคอน ภาพยนตร์ ทำให้คนไทยเกือบทุกผู้ทุกนามโดยล้างสมองไปกับรักโรแมนติก พวกนี้ไปหมดแล้ว ทั้งที่คนเขียน คนพิมพ์ขาย คนทำละคอนก็พยายามบอกในระดับหนึ่งว่า นี่เป็นเรื่องแต่ง แต่ก็ไม่วายที่คนดู คนอ่าน พาลจะทึกทักเป็นจริงไปหมด
อย่างไรก็ตาม ก็ต้องโทษบรรดาสื่อที่มีอิทธิพลแรงๆ คือทีวี ที่สรรหาเหลือเกินที่จะเอาเรื่องพวกนี้มาให้สังคมไทยบริโภค สมัยก่อนก็ละคอนฮ่องกง สมัยนี้ละคอนเกาหลี คนใกล้ตัวผู้เขียนถึงกับคลั่ง นอนดูไปร้องไห้ไป เพราะเอาตัวเองไปเปรียบ ทั้งที่อายุเกือบห้าสิบปีแล้ว--กรรมจริงๆ
เพราะสังคมไทยไม่ได้สอนเรื่องแบบนี้ อย่าง "เรียลลิสติค" แต่สอนให้ชะงักกับ "โรแมนติก" ที่เน้นว่า ต้องมีความรักอันบริสุทธิ์ จึงจะเป็นชีวิตคู่ ที่สมบูรณ์ ซึ่งนิยาม "ความรักอันบริสุทธิ์" คือ ต้องตายแทนกันได้ ต้องไม่เอาเซ็กส์มาปะปน ต้องมีความหวานชื่น ไม่มีความขัดแย้ง โลกใบนี้สีชมพูมากถึงมากที่สุด เป็นกันหมด ไม่ว่ารักต่างเพศ หรือรักเพศเดียวกัน จากนั้นก็ต้องมีครอบครัว ที่มีพ่อแม่ลูก มีกระบวนการสืบทอดทายาทต่างๆ
น่าเสียดายที่ไม่เคยถามเลยว่าอันนี้เป็นธรรมชาติแท้จริงของมนุษย์ หรือเพียงแค่กรอบทางสังคมแต่ละยุคที่กำหนดมาเท่านั้น
ผู้เขียนโดนเด็กอเมริกันถามว่า อัตราการหย่าร้างในเมืองไทยสูงหรือไม่ ผู้เขียนบอกว่า เริ่มสูงขึ้น แต่ไม่ชัดเจนมากเหมือนสหรัฐฯ เพราะมีกลไกทางสังคมที่ต่างกัน เช่นหน้าตา และการทนอยู่กันแบบสามีภรรยาตามหน้าที่ แต่ไม่ใช่ความรู้สึกที่แท้จริงที่ผูกพัน หรือแม้กระทั่งผลประโยชน์อื่นๆ ต่างกับสหรัฐฯที่ส่วนมากนั้น "ถ้ากูไม่เอา ก็แยกเตียงกันไปเลยดีกว่า" ชัดๆชัวร์ๆกว่าของไทยแยะ
หลายครั้งที่ผู้เขียนขำในใจที่สังคมไทยบ้าหนังฝรั่งโรแมนติค อย่าง "ไททานิค" ที่ผ่านมา เพราะสังคมไทยลืมไปว่านิยามของคำว่า "รัก"นั้น จริงๆแล้วไม่สากล มีกรอบวัฒนธรรมเข้ามาด้วย ที่เราเห็นของฝรั่งหวานจ๋อยนั้น มันก็แค่เปลือก หรือแม้กระทั่ง "แผลเก่า" เองก็ไปเอากรอบมาจากฝรั่ง ไม่ใช่ไทย แต่สังคมไทยก็คลั่งเอาๆ จนไม่โงหัวกัน ตามฝรั่งที่บ้าเรื่องนี้ไม่แพ้กัน
ตั้งใจว่า จะเขียนเรื่องเบาๆ แต่กลายเป็นเรื่องไม่เบา อย่างเลี่ยงไม่ได้ จึงขอจบแบบ (น่าจะ) ตลกน้อยๆ ว่า อยากให้มีคนเปิดโรงเรียน "สอนให้ทำรักเป็น" อุ๊บส์ ไม่ใช่ ต้องเป็น "สอนให้รู้จักรักเป็น" คงจะดี