Skip to main content

มรณกรรมของ พระสุพจน์ สุวโจ กับ "บางแง่มุม" ในสังคมไทย

คอลัมน์/ชุมชน

 



บทความเนื่องในวาระครบรอบ ๒ เดือน


แห่งการจากไป ของ พระสุพจน์ สุวโจ

 



 


ในความเป็น "ศาสนิกชน" นั้น มักเชื่อหรือรู้สึกอยู่เสมอ ว่า "นักบวช", "ผู้นำศาสนา" หรือ "อุบาสก-อุบาสิกา" (อันหมายถึง "ผู้ครองเรือน" ซึ่งปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดและเข้มข้น) เป็นบุคคลที่ควรค่าแก่การ  "เคารพ-นับถือ", "ห่วงใย" หรือควรจะต้อง "เอาใจใส่-ดูแล" ยิ่งกว่าคนทั่วๆ ไป ในฐานะที่ท่านเหล่านั้นจะมากจะน้อย ก็เป็นผู้ "ใกล้ชิด" และมีความ "เข้มแข็ง-มั่นคง" ต่อการ "ศึกษาและปฏิบัติธรรม" อันจะนำไปสู่การ "สืบทอด" กิจการพระศาสนาได้ ในที่สุด


 


ไม่ว่าคติความเชื่อใดๆ ก็มักมีกรอบคิดและวิธีปฏิบัติเช่นนี้ กระทั่งในศาสนาที่ไม่มีนักบวช หรือแม้แต่ในระบบความเชื่อขั้นพื้นฐาน เช่น ลัทธิพิธีประเภททรงเจ้าเข้าผี หรือวิถีแห่งการบูชา "ปรากฏการณ์ธรรมชาติ-ปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ" ก็ตาม


 


ด้วยว่า "ศาสนิกชน" นั้น ด้านหนึ่ง "ศรัทธาในความดีงาม" และพร้อมเสมอที่จะ "ยกย่อง-ยินดี" ต่อผู้ประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ตนเห็น ว่า "ถูกต้อง" และ "เชื่อมั่น" ว่าเป็นสิ่งที่ "ดีงาม"


 


ไม่ว่า "คุณธรรม" หรือ "ธรรมานุธรรมปฏิบัติ" นั้น จะอยู่ในระดับเท่ากับตน, น้อยกว่าตน หรือเหนือกว่าตนก็ตามที..


 



 


ต่อกรณีการมรณภาพจากการฆาตกรรมของ พระสุพจน์ สุวโจ ซึ่งบัดนี้เวลาก็ล่วงเลยมาเนิ่นนานพอสมควรแล้ว แต่คดี หรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดียังไม่มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญใดๆ เลย ยิ่งเมื่อมองในมุมของ "ศาสนิกชน" แล้ว ก็น่าสนใจว่ากลไกของรัฐ  "บางส่วน" หรือ "บางหน่วยงาน" ดูจะมิได้อยู่ในระบบความเชื่อของศาสนิกชนดังที่ว่ามาข้างต้น ในอันที่จะ ดูแล-เอาใจใส่ หรือ ให้ความเคารพในธรรม-ให้ความเป็นธรรม ต่อผู้ประพฤติธรรม อย่าง "เป็นพิเศษ" เอาเลย มิหนำซ้ำ ดูเหมือนว่าจะมี "ท่าที" หรือ "วิถีแห่งการปฏิบัติ" ที่อาจต่ำกว่ามาตรฐานทั่วๆ ไปเอาเสียอีก ทั้งนี้ มิทราบแน่ชัด ว่า "กลุ่มคน" หรือ "กลุ่มองค์กร" เหล่านั้น "ปราศจากความเป็นศาสนิก" หรือเป็นเพราะ "โครงสร้างและอำนาจรัฐ" เข้ามา "ครอบงำ", "ยึดกุม", หรือ "กระทำ" ให้ "สำนึกแห่งความดีงาม" ของพวกเขา(และเธอ)ทั้งหลาย "เปลี่ยนแปลงไป" กันแน่


 


เมื่อ พระสุพจน์ สุวโจ ถูกสังหารถึงแก่ชีวิต ภายในอาราม "สวนเมตตาธรรม" ที่ท่านพำนัก จะว่าไปแล้วก็น่าแปลกใจอย่างยิ่ง ที่ในระยะแรก แทบทุกฝ่ายของอำนาจรัฐต่างดาหน้าออกมา "แสดงความไม่รับผิดชอบ" ไปพร้อมๆ กับ "การปัดผิดให้พ้นตัว" แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการตั้งสมมติฐานการมรณภาพอย่างมักง่าย การกล่าวร้าย และการตั้งข้อสังเกตในด้านลบ หรือความพยายามนำเอาประเพณี, กรอบคิด และวิธีปฏิบัติ "บางประการ" เข้ามาเทียบเคียงหรือสันนิษฐานเอาเอง อย่างที่ไม่เคยการสอบถาม หรือสอบทานกับผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะโดยวิธีการใดๆ ก็ตามที


 


ยิ่งในระยะต่อมา วิธีปฏิบัติประเภท "มักง่าย-ขอไปที", "ยืดเวลา", "โยนกลอง" หรือ "เขี่ยลูกออก" ก็ยิ่งเด่นชัดขึ้น กระทั่งในที่สุด นอกจากการกระทำเหล่านั้นจะส่งผลให้ "รูปคดี" และ "รายละเอียดทางคดี" เปลี่ยนสภาพไปจนเกือบหมดสิ้นแล้ว ยังก่อให้เกิดความสับสน และความเสียหาย ในภาพรวมของพระเช่นท่านสุพจน์ ซึ่งเป็นนักพัฒนา หรือเป็นพระที่ทำงานด้านประยุกต์ใช้ศาสนธรรมกับชีวิตและสังคม ตลอดจนการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือการอนุรักษ์ธรรมชาติ ไปจนได้ในที่สุด


 


กล่าวคือ นอกจากการกระทำที่ดีงามจะไม่ได้รับความเข้าใจหรือยอมรับแล้ว รัฐและคนของรัฐเองนั่นแหละ ที่ใช้วิธีการทั้งทางตรงและทางอ้อมจนทำให้ทุกอย่างแทบจะกลายเป็นความชั่ว หรือความผิดบาปไปต่อหน้าต่อตา


 


หากไม่นับเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้มีอิทธิพล,  นักการเมืองระดับชาติในพื้นที่ และ/หรือ ผู้กว้างขวาง ทั้ง "ประเภท" และ "ชนิด" ต่างๆ ซึ่งพยายามสรุปประเด็นการฆาตกรรมมิให้เฉียดกราย "การทำมาหากินด้านลับ" ของ "นาย" พวกตนแล้ว


 


ในเบื้องต้น แม้แต่หน่วยงานที่ดูแลความเป็นไปของ "พระพุทธศาสนา" ทั้งระดับจังหวัด และระดับประเทศ ตลอดจนหน่วยงานด้านความมั่นคง หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม หรือหน่วยงานด้านการบริหาร-การปกครอง ก็ดูจะไร้วิธีคิด ขาดวิธีตัดสินใจ ตลอดจนไม่มีกระบวนการทำงาน ที่จะ "ดูดำดูดี" กับการที่นักบวชในร่มเงาพระพุทธศาสนา ซึ่งเรียกกันว่าพระภิกษุ "ถูกทำร้าย" เอาจนถึงแก่มรณภาพ อย่างที่ศาสนิก "ควรปฏิบัติ" หรือ "ควรกระทำ" ต่อ "ศาสนบุคคล" เอาเลย


 


ต่อเมื่อเรื่องราวของ พระสุพจน์ "เป็นข่าว" แล้วนั่นแหละ "บางหน่วยงาน" หรือ "บางคน" จึงค่อยๆ "ปรับกระบวน" เข้ามา "โหนกระแส" เพื่อ "ขอมีส่วนร่วม" กันอย่างสับสนอลหม่าน ชนิดที่อาจเรียกได้ว่าเกินงาม ก่อนจะค่อยๆ จางคลายหรือสลายหายไป เมื่อ "ข่าว" ในระยะหลังเริ่มเงียบลงไป


 


และที่น่าสังเกตหรือน่าสลดใจยิ่งไปกว่านั้น คงเป็นกรณีที่ว่า แม้ความตายของ พระสุพจน์ จะเป็นข่าวระดับชาติ มีรัฐมนตรีและคณะกรรมาธิการหลายต่อหลายคณะเข้ามาดูข้อเท็จจริงถึงที่เกิดเหตุ แต่จนถึงบัดนี้ที่เวลาผ่านมาไม่ใช่น้อยแล้ว ก็ยังไม่ปรากฏว่ามีพระสังฆาธิการระดับใดๆได้ เข้ามาสอบถาม หรือให้กำลังใจต่อเพื่อนภิกษุร่วมสำนักของพระสุพจน์ ตลอดจนโยมพ่อโยมแม่ของพระผู้ล่วงลับไปแล้วแต่อย่างใด


 


"ฝ่ายนิติบัญญัติ" ทั้งกรรมาธิการจากสภาผู้แทนและจากวุฒิสภาเสียอีก ที่กลับสนใจใคร่รู้ และกระตือรือร้น ในอันที่จะเข้ามาดูแลรูปคดีและความคืบหน้ากรณีมรณกรรมของ พระสุพจน์ ตั้งแต่ต้น แม้ว่าความสนใจนั้นจะเริ่มต้นที่คณะกรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเนื่องอยู่กับการงาน "ส่วนหนึ่ง" ของพระสุพจน์ก็ตามที


 



 


ขณะที่ "ฝ่ายศาสนา" มุ่งนำผู้คนให้ฝ่าข้าม "ด้านมืดแห่งจิตวิญญาณ" ไปสู่ "เป้าหมาย" ของแต่ละ "ความเชื่อถือ-ศรัทธา" มานานนับนานนั้น ใช่หรือไม่ว่า รัฐและอำนาจรัฐภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมบริโภคต่างหาก ที่กลับคล้ายจะขัดขวางและต่อต้าน "เป้าหมาย" เช่นนั้น ไม่ทางตรงก็ทางอ้อมอยู่เสมอ


 


กล่าวคือ นอกจากหน่วยงานและระบบราชการส่วนใหญ่จะมิได้ส่งเสริมให้คนของตนเป็น "ศาสนิกชนที่ดี" แล้ว โดยภาพรวม "รัฐ" ทั้งโดย "โครงสร้าง" และ "องคาพยพ" ยังมุ่งหน้าที่จะ "เปลี่ยนแปลงคนและสังคม" ไปสู่ "ทางต่ำ" โดยพยายามส่งเสริม "ด้านลบ" หรือปัจจัยฝ่ายตรงกันข้าม กับ ความดี ความงาม และความจริง อยู่เสมอมิได้ขาด


 



 


เมื่อปราศจากทัศนะและมุมมองเยี่ยงศาสนิกเสียแล้ว "มรณกรรม" หรือ "ความตาย" ของ "ใครสักคน" จึงคล้ายจะมี "ระดับความสำคัญ" อยู่ที่เขา(หรือเธอ) "คือใคร" มากกว่าจะ "เป็นใคร" หรือ "เป็นอะไร" อย่างที่ควรจะเป็น


 


และในที่สุดก็มักขึ้นอยู่กับว่า เขา (หรือเธอ) "เป็นที่รู้จัก" หรือ "เกี่ยวข้องกับใคร" มากเสียยิ่งกว่า "ความเป็นเขา" หรือ "สิ่งที่เขาทำ (หรือเคยทำ)" เอาด้วยซ้ำ


 


ด้วยเหตุนั้นกระมัง การที่ "กลุ่มพุทธทาสศึกษา" หรือ "พระสุพจน์ สุวโจ" มุ่งทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต, การจัดอบรม, การเสวนา-อภิปราย และการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ  โดยหลีกเร้นไปพำนัก, ผลิต และพัฒนากระบวนการทำงาน อยู่ในสถานปฏิบัติธรรมเล็กๆ เงียบๆ โดยมิได้มุ่งหวังในทางสร้างชื่อเสียงหรือเกียรติยศ จึงกลับกลายเป็นความแปลกประหลาด และขาดความคุ้นชิน ของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐ ทั้งฝ่ายคฤหัสถ์และบรรพชิตหลายๆ ฝ่าย ไปอย่างช่วยไม่ได้


 


ยิ่งในข้อที่ พระสุพจน์ ทำงานโดย "ไม่มุ่งหวังชื่อเสียง-เกียรติยศ-ตำแหน่งหน้าที่ในคณะสงฆ์" ด้วยแล้ว ดูราวกับว่า จะเป็นไปไม่ได้เอาเลย ในสายตาบรรดา "คนของรัฐ-พระของรัฐ" ทั้งหลายเหล่านั้น


 


จึงอาจจะไม่แปลกอะไรนัก ที่ระยะแรก การชันสูตรศพ พระสุพจน์ จะถูกกระทำอย่างลวกๆ เพียงเฉพาะในที่เกิดเหตุ เช่นเดียวกับวัตถุพยาน หลักฐาน หรือสภาพต่างๆ ในสถานที่ซึ่งท่านมรณภาพจะไม่ได้รับการตรวจสอบหรือดูแลใดๆ ไม่ต่างไปจากการตรวจสอบที่เกิดเหตุของคดีลักเล็กขโมยน้อย หรือคดีสัพเพเหระ-มโนสาเร่ก็ว่าได้ เพราะกระทั่งสบงและอังสะ (เครื่องนุ่งห่มนอกเหนือจากจีวรและสังฆาฏิของพระภิกษุในพุทธศาสนา) ที่พระสุพจน์นุ่งห่มในวันเกิดเหตุ ซึ่งน่าที่จะนำมาพิสูจน์คราบเลือดหรือร่องรอยการทำร้ายอย่างละเอียดถี่ถ้วน ถึงวันนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจแห่งสถานีตำรวจภูธรอำเภอฝางก็ยังไม่สามารถตอบคำถามญาติและผู้เกี่ยวข้องได้ ว่าเหตุใดจึงไม่ยอมเก็บรักษาไว้พิสูจน์ในทางนิติวิทยาศาสตร์ เช่นเดียวกับการไม่เก็บลายนิ้วมือแฝงในกุฏิที่พักของพระสุพจน์ โดยอ้างว่าไม่จำเป็น เพราะไม่มีร่องรอยการต่อสู้ใดๆ ปรากฏอยู่


 



 


อาจกล่าวได้ว่า วิธีการของเจ้าหน้าที่ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นวิธีปฏิบัติ "ตามปกติ" ของ "เจ้าหน้าที่ตำรวจส่วนใหญ่" ที่มักจะปฏิบัติต่อ "ชาวบ้านทั่วๆ ไป" ซึ่งมิใช่ผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ หรือมิใช่นายทุนเงินหนา ผู้สามารถให้คุณให้โทษกับเจ้าหน้าที่ของรัฐทางใดทางหนึ่ง


 


แต่ขณะเดียวกัน นี่ออกจะเป็น "ด้านมืด" ของรัฐ ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ และไม่น่าเชื่อว่าจะมี ในท่ามกลางพัฒนาการทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ซึ่งควบคู่มากับพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย (แบบไทยๆ) ที่ล่วงไปกว่า ๗๐ ปีเศษเข้านี่แล้ว


 



 


ในความเป็น "ศาสนิกชน" เราทั้งหลายคงไม่มีสิ่งใดที่ควรทำมากไปกว่าความเมตตาและกรุณา ตลอดจนการให้อภัยในความพลั้งผิดของรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐ ที่กระทำการต่างๆ ไปด้วยอวิชชาและอกุศลมูล ซึ่งเจือไปด้วยอคติและวิถีโลกิยะ


 


เช่นเดียวกับในความเป็น "พุทธศาสนิกชน" เราทั้งหลายคงต้องอาศัยหลักแห่งอริยสัจจ์และอิทัปปัจจยตา-ปฏิจจสมุปบาท ศึกษา, วิเคราะห์ และทำความเข้าใจ ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น อย่างรอบคอบและรอบด้าน ทั้งเพื่อระวัง และพยายาม ป้องกัน-ยับยั้ง มิให้สิ่งเหล่านี้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป โดยที่เราทั้งหลายมิได้มีส่วนร่วมในการดูแลและแก้ไข เท่าที่เราจะมีความสามารถ


 


การมี และเป็น "รัฐศาสนา" นั้น มักไม่เป็นที่พึงใจของ "กิเลสชน" และ "เสรีชน" ตลอดจน "นักรัฐศาสตร์" ผู้ผูกโยงตนเองไว้กับความเคยชินชนิดแยก "รัฐ" ออกจาก "ศาสนา" อย่างมิยอมให้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในเนื้อหาสาระ มากไปกว่าการอิงอาศัยกันในระดับจริยธรรมขั้นพื้นฐาน- -เท่าที่จำเป็น เท่านั้น


 


น่าประหลาดก็ตรงที่ว่า การแยกเอา "รัฐ" ออกจาก "ศาสนา" ที่ว่าๆ กันนั้น มักบ่อนเซาะ "การพระศาสนา" และกลับ "ช่วย" หรือ "ใช้" ให้ "ศาสนา" กลายเป็นเครื่องมือของ "รัฐ" อยู่ร่ำไป...


 



 


ภายใต้สภาวการณ์เช่นที่ว่ามาข้างต้น หลังจาก "มรณกรรม" ของ "พระสุพจน์ สุวโจ" ผ่านมาระยะหนึ่ง สิ่งที่เป็นรูปธรรม อันเกิดจากดำริของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง "โดยตรง" กับกรณีนี้ "แห่งหนึ่ง" ก็คือ การที่ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ส่งหนังสือราชการ เลขที่ พศ ๐๐๐๖/๖๒๑๒ ลงวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ลงนามโดยผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เรื่อง "ขอให้สร้างวัดที่สถานปฏิบัติธรรมสวนเมตตาธรรม อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่" มาถึงผู้เขียน ณ สถานปฏิบัติธรรมสวนเมตตาธรรม โดยอ้างถึงพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์(ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ว่า สถานปฏิบัติธรรมสวนเมตตาธรรมนั้น "มิใช่" วัดหรือสำนักสงฆ์ ตามกฎหมายดังกล่าว และอ้างถึงการที่ พระสุพจน์ สุวโจถูกฆาตกรรมในสถานที่แห่งนั้น จึงควรที่จะดำเนินการสร้างวัดให้ถูกต้อง โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่ "ยินดีช่วยเร่งรัดการดำเนินการสร้างวัดให้แล้วเสร็จต่อไป"


 


ประมาณว่า..เนื่องจากบ้านไม่มีเลขที่ และมีคนถูกฆ่าตาย ท่านจึงควรเร่งขอบ้านเลขที่เสียให้เรียบร้อยโดยเร็ว!!


 


 จะด้วยฐานะ "ศาสนิกชน" หรือความเป็น "คนของรัฐ" ก็แล้วแต่ พวกเขา(และเธอ) "ทำได้" หรือ "ยอมทำ" เพียงเท่านี้เอง...จริงๆ !!