Skip to main content

หลักประกันสุขภาพ (14) ปราบผี co-payment

มีโอกาสร่วมประชุมกับศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร ตัวแทนศูนย์ประสานงานท่านหนึ่งเล่าว่า ชาวบ้านไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่งตามสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าพบว่า คุณหมอจ่ายยาให้เพียงตัวเดียวราคาไม่กี่บาท หากอยากได้เพิ่มต้องจ่ายเพิ่ม ชาวบ้านจึงสละสิทธิหลักประกันไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งแทน


เรื่องนี้ชวนคิดได้หลายอย่าง คุณหมอจ่ายยาให้น้อยอาจจะเป็นด้วยความหวังดีเพราะยาที่จำเป็นมีเพียงนั้น หากบีบบังคับให้คุณหมอจ่ายยามากกว่านั้นก็จะได้ยาที่ไม่จำเป็นหรือยาหลอกผสมเข้ามา เช่น วิตามิน หรือยานั่นยานี่ที่ไม่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาจริงจัง เป็นต้น


การจ่ายเพิ่มเพื่อให้ได้ยาเพิ่มคือสิ่งที่เรียกว่า การร่วมจ่าย หรือ co-payment ซึ่งตามกฎหมายปัจจุบันกำหนดให้ร่วมจ่ายอยู่ก่อนแล้วคือ 30 บาท (สามสิบบาทถ้วน) ไม่มีเหตุผลใดที่ชาวบ้านจะต้องจ่ายเพิ่มอีก หากคุณหมอเล็งเห็นว่ายาที่ต้องให้นั้นมีความจำเป็นจริงก็เป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลที่จะร่วมจ่าย มิใช่หน้าที่ของชาวบ้านอย่างใด


อย่างไรก็ตาม การร่วมจ่ายหรือ co-payment มิใช่ทางออกเดียวที่ต้องทำ ที่แท้แล้วยังมีทางออกอื่นๆที่จะช่วยให้ชาวบ้านได้รับยาราคาแพงที่จำเป็น หมายถึงจำเป็นเพราะจำเป็นจริง มิใช่จำเป็นเพราะ " ความจำเป็นเทียม" ที่บริษัทยาทำการตลาดขึ้นมา


ทางออกอื่นที่พูดกันบ่อยคือ เก็บภาษีอัตราก้าวหน้าเพื่อให้กองทุนหลักประกันฯ เพียงพอ หรือเก็บภาษีบาป (sin tax) จากเหล้า บุหรี่มาเพิ่มกองทุนหลักประกันฯ หรือบริหารจัดการกระจายงบประมาณไปสู่โรงพยาบาลต่าง ๆ ด้วยความเหมาะสมกว่าที่เป็นอยู่ เป็นต้น ทางออกเหล่านี้มุ่งเน้นไปที่เพิ่มเม็ดเงินให้แก่โรงพยาบาล


ทางออกอื่นที่พูดกันน้อยกว่าคือ ทำให้ราคายาถูกลง


การทำให้ราคายาถูกลงเป็นเรื่องที่พูดกันน้อยเพราะหลายคนคิดเอาเองว่าทำไม่ได้ ทั้งนี้โดยอ้างเหตุผลต่าง ๆ นานา เช่น ของฟรีไม่มีในโลก ของดีต้องไม่ฟรี ของดีต้องแพง รวมทั้ง มายาคติ (myth) ที่ว่ายาต้นแบบ (original name) ต้องดีกว่ายาชื่อสามัญ (generic name) หรือมายาคติที่ว่ายาที่ผลิตต่างประเทศต้องดีกว่ายาที่ผลิตในประเทศ เป็นต้น


มายาคติเหล่านี้ล้วนเกิดจากการทำตลาดของบรรษัทยาข้ามชาติทั้งสิ้น ที่แท้แล้วการทำให้ราคายาถูกลงทำได้หลายวิธี ขึ้นกับความจริงใจของรัฐเป็นสำคัญ


ในกรณียาต้นแบบหรือยาที่ผลิตต่างประเทศนั้น หากเป็นยาที่มีความจำเป็นต่อสุขภาพของผู้ป่วยและอยู่ในภาวะวิกฤต เช่น ยาเอดส์ รัฐสามารถใช้ มาตรการบังคับสิทธิ (Compulsory Lisencing,CL) และ การนำเข้าซ้อน (Parallel Import,PI)าช่วยแก้ปัญหา การบังคับใช้สิทธิจะทำให้บริษัทยาภายในประเทศสามารถผลิตยาต้นแบบที่ยังติดสิทธิบัตรได้ ส่วนการนำเข้าซ้อนทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสใช้ยาต่างประเทศจากประเทศที่มีราคาถูกกว่ายาต้นแบบได้


นอกจากการบังคับใช้สิทธิและการนำเข้าซ้อนแล้ว รัฐยังสามารถเจรจาต่อรองให้ระยะเวลาที่ยาต่างประเทศต้องติดสิทธิบัตรนั้นสั้นลง มิใช่ปล่อยให้ยาวนานมากยิ่งขึ้นตามที่ปรากฏในข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่กำลังเจรจากัน รวมทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยาในประเทศให้สามารถผลิตยาได้ตามมาตรฐานและจำหน่ายในราคาที่ยุติธรรม


การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เป็นเรื่องที่ต้องทำพร้อม ๆ กันไปกับการพัฒนาศักยภาพการผลิตในประเทศด้วย หากรัฐมุ่งคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของสินค้าต่างประเทศแต่เพียงมิติเดียวโดยไม่คำนึงถึงมิติการพัฒนาศักยภาพของคนไทยด้วยกันเองแล้ว ไม่เพียงแต่ยาที่จะแพงต่อไปเรื่อย ๆ สินค้าชนิดอื่น ๆ ก็จะตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน


ยาไม่จำเป็นต้องแพง ที่มันแพงเพราะมีคนเจตนาทำให้มันแพง ยาทำให้ราคาถูกลงและคงคุณภาพที่ดีได้ ที่ยังทำไม่ได้เพราะยังไม่ยอมทำ


ระหว่างนี้จึงมีการจับผู้ป่วยเป็นตัวประกันเพื่อเรียกร้องให้ญาติผู้ป่วยจ่ายค่าไถ่ คือร่วมจ่ายหรือ co-payment สมควรหรือไม่


อันที่จริงผู้ก่อการร้ายมีจำนวนน้อยกว่าตัวประกัน


ตัวประกันควรทำอย่างไร