Skip to main content

หวงสารพิษกันทำไม

หนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่ง รายงานอันตรายของยาแก้ปวดพาราเซตามอลและไอบูโพรเฟน   ยาทั้งสองขนานเป็นยาแก้ปวดที่คนทั่วไปใช้กันมานาน    เพียงวันเดียวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็ออกมายืนยันความปลอดภัยของพาราเซตามอล


 


พาราเซตามอลเป็นยาแก้ปวดที่ใช้กันมานานและหาซื้อได้ทั่วไป   ระคายเคืองกระเพาะอาหารน้อยมาก   และไม่มีอันตรายหากไม่กินเกินขนาด  ส่วนไอบูโพรเฟนเป็นยาแก้ปวดที่มีประวัติน่าสนใจ


 


ยี่สิบปีก่อน  ตอนที่ไอบูโพรเฟนออกวางตลาดใหม่ๆ เป็นยาต้นแบบนำเข้า   ผมจำได้ว่ามีตัวอย่างยาวางไว้บนโต๊ะตรวจผู้ป่วยนอกเสมอๆ    เอกสารโฆษณายาและการประชุมวิชาการสมัยนั้นยืนยันว่ายาปลอดภัย ไม่กัดกระเพาะอาหาร    ตำราเภสัชวิทยาต่างประเทศที่ได้มาตรฐานเล่มหนึ่งก็ยืนยันข้อมูลนี้    แต่พอยาต้นแบบตัวใหม่ออกวางตลาด   ไอบูโพรเฟนก็กัดกระเพาะอาหารทันที


 


ปี พ.ศ.2540 เมื่อเศรษฐกิจไทยตก   เงินบำรุงโรงพยาบาลดิ่งเหวเพราะค่ายา   ไอบูโพรเฟนถูกโจมตีว่ากัดกระเพาะอาหารรุนแรงสมควรเอาออกจากโรงพยาบาล    ส่วนยาต้นแบบตัวใหม่ซึ่งอ้างว่าไม่กัดกระเพาะอาหารได้รับการเสนอเข้าโรงพยาบาลแทน   ประเด็นปัญหาคือว่า ณ เวลานั้นไอบูโพร เฟนพ้นสิทธิบัตรและผลิตในประเทศราคาเม็ดละ 1-2 บาทแล้ว    ขณะที่ยาต้นแบบตัวใหม่ราคาเม็ดละ 10 บาท


 


สถานการณ์เกี่ยวกับยาแก้ปวดเล่นเอาล่อเอาเถิดกันแบบนี้ตลอดยี่สิบปีที่ผ่านมา   เมื่อยาต้นแบบตัวใหม่มา  ยาต้นแบบตัวเก่าพ้นสิทธิบัตรสามารถผลิตในประเทศได้   เอกสารจากบริษัทยาและวารสารการแพทย์ก็จะเริ่มรายการรุมโจมตียาเก่าและเชียร์ยาใหม่    เมื่อมาถึงปี พ.ศ.2548   แนวรบก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง    เอกสารจากบริษัทยาและวารสารการแพทย์กำลังเชียร์ยาแก้ปวดตัวใหม่ที่ชื่อว่า ค็อกซ์ทูอินฮิบิเตอร์   และบ่อนทำลายสรรพคุณของยาแก้ปวดตัวเก่าอย่างไม่หยุดยั้ง   ประเด็นปัญหาคือ ค็อกซ์ทูอินฮิบิเตอร์ราคาเม็ดละหลายสิบบาท   ขณะที่ยาแก้ปวดตัวเก่าราคา 1-2 บาท    สำหรับพาราเซตามอลนั้นหาซื้อได้กระป๋องละ 150-200 บาทมี 1,000 เม็ด


 


ผู้บริโภคควรเชื่อใคร หรือเชื่ออะไร


 


สุพล ลิมวัฒนานนท์  จุฬาภรณ์  ลิมวัฒนานนท์ และศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย ได้รายงานกรณีศึกษาความไม่เสมอภาคของการใช้ยาต้านการอักเสบประเภทค็อกซ์ทูอินฮิบิเตอร์   พบว่า ค่าใช้จ่ายโดยรวมของยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (เกือบทั้งหมดก็คือยาแก้ปวด)  เท่ากับ 23.2 ล้านบาทในปี 2543    34.3 ล้านบาทในปี 2544  และ 38.0 ล้านบาทในปี 2545    ในจำนวนนี้ส่วนแบ่งของค็อกซ์ทูอินฮิบิเตอร์เติบโตจาก 6.5% เมื่อต้นปี 2543 เป็น 52.1%  เมื่อปลายปี 2545


 


เมื่อลงในรายละเอียดพบว่า ข้าราชการเป็นผู้ที่ได้ค็อกซ์ทูอินฮิบิเตอร์ไปกินมากเป็น 16-23 เท่าของผู้ป่วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า   และ 10-13 เท่าของผู้ป่วยประกันสังคม  ทั้งนี้เป็นการเปรียบเทียบในกลุ่มผู้ป่วยที่มีเพศเดียวกัน  อายุเท่ากัน  ในโรงพยาบาลเดียวกัน  และปีเดียวกัน


 


เรื่องที่ผมควรเรียนเพิ่มเติมคือ คณะกรรมการพิจารณาบัญชียาหลักแห่งชาติได้ทบทวนเอกสารทางวิชาการของค็อกซ์ทูอินฮิบิเตอร์   แล้วพบว่าไม่มีประโยชน์เหนือยาแก้ปวดที่มีอยู่เดิมและระคายกระเพาะอาหารในระดับเดียวกับยาแก้ปวดที่มีอยู่เดิมจึงมีมติไม่บรรจุยาตัวนี้ในบัญชียาหลักแห่งชาติฉบับปัจจุบัน     กรณีนี้เป็นข้อพิสูจน์ว่าจริยธรรมของคณะกรรมการพิจารณาบัญชียาหลักแห่งชาติเข้มแข็งมากพอที่จะต้านทานการรุกของบริษัทยาได้


 


จากข้อมูลข้างต้น เราจะพบว่าข้าราชการได้รับยาแพงที่เข้าใจว่าดีมากกว่ากลุ่มอื่นๆ      หากเราหลงผิดว่ายาตัวนี้ดี    เราจะพบว่าผู้ป่วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ของดีมากกว่าผู้ป่วยประกันสังคมเสียอีก     บังเอิญยาตัวนี้มิใช่ยาดีอะไรแค่แพงเสียเปล่า


 


ยังมีรายงานอีกชิ้นหนึ่งที่เปรียบเทียบการใช้ยาปฏิชีวนะ (คือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย) ในผู้ป่วยไข้หวัด(ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสและไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ  ฝืนใช้แพ้ยาทั้งตัวไม่รู้ด้วยนะเออ)  พบว่าข้าราชการได้ยาปฏิชีวนะไปมากที่สุด   ผู้ป่วยประกันสังคมได้ไปที่สอง  และผู้ป่วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้น้อยที่สุด


 


จะเห็นว่าข้าราชการได้ยากลับบ้านมากที่สุดอยู่ดีทั้งที่เป็นยาไม่จำเป็น  


 


ความไม่เสมอภาคในการใช้ยาจึงเป็นเรื่องที่ผู้ป่วยทั้ง 3 กองทุนควรใส่ใจ  ทำความเข้าใจ  ร่วมทุกข์ร่วมสุข  เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข  เพราะ ณ ปัจจุบันทุกคนกำลังเสียประโยชน์  ไม่รู้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี  ไม่รู้ว่าอะไรควรได้อะไรไม่ควรได้   หลงเชื่อว่าของแพงต้องดี แล้วก็มัวแต่พิทักษ์ของแพงของตนเองโดยหารู้ไม่ว่ากำลังพิทักษ์สารพิษอยู่ฉะนั้น