Skip to main content

มิตรภาพ กับคำว่า "เพื่อน"

คอลัมน์/ชุมชน

หากต้องจำแนกกลุ่มเพื่อนบนเกาะตามความสามารถ ข้าพเจ้าบอกได้เลยว่ามี 2 กลุ่มด้วยกันคือ กลุ่มพรานบก และกลุ่มพรานทะเล ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีความเป็นลูกครึ่งที่สามารถเป็นได้ทั้งพรานบกและพรานทะเลอยู่ในตัวกันทุกคน


 


เพื่อนกลุ่มแรกที่ข้าพเจ้ารู้จัก จัดได้ว่ามีความเด่นไปทางพรานบก แต่ใช่ว่าด้านทะเลจะไม่สันทัดเอาเสียเลย อย่างน้อยก็สามารถล่าสัตว์ตามชายเลนได้ ขับเรือเป็น แต่.....อย่าคาดหวังในปริมาณและคุณภาพ.. แบบว่า...เอามันก็พอ เลี้ยงตัวไม่ได้.. ในทางตรงกันข้ามกลุ่มนี้มีลักษณะเด่นกว่ากลุ่มอื่น นั่นคือ เกือบทุกคนมีใบปริญญารับรองการศึกษาในระดับปริญญาตรี และเป็นกลุ่มพิเศษที่อยู่บ้านได้ไม่นาน....จำต้องออกไปเผชิญโลกนอกเกาะ เหตุเพราะ...ทนต่อการถูกตั้งคำถามแบบเดิมๆ ไม่ไหว..."เรียนก็สูงกว่าคนอื่น ทำไมไม่ออกไปทำงาน จะได้มีเงิน มีหน้า มีตา"


 


เพื่อนรักสนุกและรักอิสระของข้าพเจ้า จึงทยอยกันออกจากเกาะไปทีละคนสองคน ในเวลา 4 เดือน กลุ่มเพื่อนที่เคยมี 6 คน เหลืออยู่ที่เกาะ 3 คน หนึ่งในนั้นเป็นผู้ที่ไม่สะทกสะท้านต่อคำพูดใดๆ ด้วยตั้งมั่น และตั้งใจตั้งแต่แรกแล้วว่า "จะยังไงก็จะอยู่ที่เกาะ"  ซึ่งอาชีพที่เพื่อนคนนี้ใช้หาเลี้ยงตัว ก็ตรงกับสายที่ได้ร่ำเรียนมานั่นคือ "งานช่าง" รับซ่อมเครื่องไฟฟ้าทุกประเภท...โทรศัพท์..และเดินสายไฟ ส่วนเพื่อนอีกสองคนเป็นรุ่นน้องที่รักการเดินทางเป็นชีวิตจิตใจ แม้การศึกษาจะไม่สูงแต่ก็ได้ทำงานที่ตรงกับสิ่งที่รักนั่นคือ "รับจ้างขนส่งยางพาราแผ่นจากเกาะไปขายในตัวเมืองตรัง"


 


พวกเราเรียนรู้ซึ่งกันและกันในหลายๆ เรื่องโดยไม่มีกำแพงกั้น หลายครั้งที่ข้าพเจ้าซักถามเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม ...การอ่านตัวหนังสืออาหรับ การทักทาย อาหาร เทศกาล พิธีกรรมทางศาสนา และหลายครั้งที่ข้าพเจ้าได้มีโอกาสร่วมในงานสำคัญเหล่านั้นด้วย โดยเฉพาะในเดือนรอมฎอน แม้จะมีโอกาสร่วมถือศีลอดได้ไม่ครบเดือน แต่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นสามารถอธิบายในสิ่งที่เพื่อนๆ และมะบู พูดถึงได้เป็นอย่างดี นอกจากแลกเปลี่ยนด้านศาสนาแล้ว "ความพยายามที่จะทำตัวเป็นกลุ่มนายพรานบนเกาะลิบงของพวกเรา" ได้กลายเป็นวีรกรรมที่ประทับอยู่ในความทรงจำมิลบเลือน  นั่นเพราะมันเป็นความตั้งใจของ "ดาวุด" เพื่อนคนแรกบนเกาะที่ข้าพเจ้ารู้จัก ที่ต้องการแนะนำ ข้าพเจ้าให้รู้จักกับกลุ่มเพื่อนพรานหนุ่มของตน


 


ทางเดียวที่จะรวมกลุ่มเหล่านายพรานได้รวดเร็วและเต็มใจนั่นคือ การเที่ยว เราเที่ยวกันทั่วเกาะ ไปที่เดิมๆ โดยไม่รู้จักเบื่อ ทั้งปีนเขา ยิงนก โหละกุ้ง (แทงกุ้ง) ฯลฯ จนในที่สุดข้าพเจ้าก็ได้เป็นสมาชิกหญิงคนเดียวในกลุ่มได้สำเร็จ และสิ่งที่สร้างความประทับใจแก่ข้าพเจ้ามากที่สุดคือ การ โหละกุ้งบริเวณแนวหญ้าทะเลมากิน ดังปรากฏอยู่ในสมุดบันทึกว่า


 



 28 กันยายน 2546


เวลาประมาณ 18.00 น.


 


"ประสบการณ์การโหละกุ้ง" เป็นครั้งแรกของชีวิตที่ออกทะเลหากุ้งมากิน ด้วยความอยากรู้ว่าชาวประมงทำอะไรกันบ้าง จนทำให้เกิดความโกลาหลในหลายครัวเรือนที่รู้จักกัน เป็นเพราะต้องช่วยหยิบยืมอุปกรณ์ที่ต้องใช้ให้กับเด็กซนที่อยากลองทำอะไรใหม่ๆ ดู ซึ่งผู้ประสานงานหลักก็คือ "มะบู" ไม่เคยคิดเลยว่ามันจะวุ่นวายกันขนาดนี้ ถ้ารู้สักนิดจะไม่รีบร้อน ไว้วันหลังก็ได้ แต่ก็ได้แค่คิด เพราะเมื่อคำขอร้องออกจากปากมะ ทุกอย่างก็พร้อมในเวลาอันรวดเร็ว ในใจคิดว่า จะแทงกุ้งมาฝากมะเยอะๆ แต่..จะเป็นไปได้หรือ หันไปถามดาวุดซึ่งเป็นเพื่อนที่สนิทที่สุดบนเกาะ ดาวุดตอบว่า "พวกมือใหม่มักโชคดีเสมอ"  สา....ธุ. ขอให้เป็นเช่นนั้น


 


และแล้วก็ถึงเวลาที่น้ำทะเลลดต่ำสุด ประมาณ 18.45 น. หลังจากดาวุดละหมาดเสร็จ เราทั้งคู่พร้อมในชุดกางเกงขายาว รองเท้ายาง ไม้แทงกุ้งที่ทำจากอลูมิเนียมซึ่งอดีตคือ "ก้านร่ม" ถูกมัดรวมกันประมาณ 4 ซี่ ต่อปลายให้ยาวขึ้นด้วยไม้ คลี่ปลายให้แผ่ออก สำหรับแทงตัวกุ้ง สวมไฟฉายส่องไว้ที่หน้าผาก สะพายแกนลอนน้ำมันขนาดกลางสำหรับใส่กุ้ง เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยเราก็มุ่งหน้าเดินลงทะเลเพื่อไปสมทบกับเพื่อนๆ ซึ่งลงไปก่อนแล้ว ระหว่างเดิน ดาวุดจะคอยพูดหลักการโดยสรุปในการโหละกุ้งให้ฟัง เริ่มตั้งแต่การเดินบนเลน "ต้องเดินด้วยปลายเท้าถึงจะเดินได้สะดวกไม่ติดเลน" การส่องไฟ "ต้องส่องแบบกราดบนเลน จะเห็นตาของปลาและกุ้ง เป็นสีส้มแดง ตากุ้งจะเห็นชัดกว่า แต่ไม่เห็นตัวเพราะกุ้งจะพรางตัวในทราย"  การแทง "ต้องแทงทางด้านหลังของกุ้ง และต้องเผื่อระยะเอาเองเพราะเมื่อกุ้งตกใจมันจะเคลื่อนที่ถอยหลัง"   ฟังดูง่าย ๆ แต่ไม่ง่ายเลย กุ้งแต่ละตัวลีลาต่างกัน กว่าจะเดาทางได้ก็ใช้เวลาไปไม่น้อย.........ไหน..ขอดูหน่อย..ได้เยอะมั๊ย ดาวุดถาม ใช้ได้หนิ..ครั้งแรกได้แค่นี้ก็เยอะแล้ว ..น้ำเริ่มขึ้นแล้ว กลับกันเถอะ ...ดวงไฟสีส้มนับร้อยดวงเริ่มทยอยกันเดินกลับเข้าฝั่ง


 


............มะ...มะ..กุ้งมาแล้ว แทงได้เกือบ 2 ขีดแหนะ....แล้วอาหารมื้อเย็นก็มีกุ้งเจี๋ยน (กุ้งผัด) เป็นกับข้าวเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งอย่าง...ช่างเป็นกุ้งที่อร่อยที่สุดเท่าที่ได้กินมา......


 


...หลังจากนั้นไม่กี่เดือน  ดาวุดก็ต้องออกจากเกาะไปทำงาน....รู้สึกใจหายเพราะดาวุดเป็นเพื่อนคนแรกและเป็นเพื่อนสนิทที่สุด เราเองก็เหลือเวลาไม่นานแล้ว เพราะงานยังเหลืออีกไม่มาก..


 


ก่อนที่งานอาสาสมัครจะจบลง ข้าพเจ้าได้พบเจอเพื่อนอีกกลุ่มหนึ่งในหมู่บ้านใกล้เคียง แต่คราวนี้มุมมองเดิมถูกขยายให้กว้างออก และได้รู้จักกับพรานบกที่แท้จริง หรืออาจพูดได้ว่า ไม่มีเขาลูกไหนบนเกาะลิบงที่ ซอและ กับ โหรม ไม่เคยปีนป่าย เพราะป่าเป็นเหมือนสนามวิ่งเล่นของพวกเขาตั้งแต่เด็ก


 


การค้นพบที่สำคัญจากการได้รู้จักกับเพื่อนใหม่ในครั้งนี้คือ ความจริงใจและความเหงา ด้วยภาพพจน์ที่พวกเขาเคยเป็น ทั้งเกเร ไม่สนใจเรียน ติดยา ใจนักเลง ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทั่วไปบนเกาะมองว่าเขาเป็น ทั้งที่ตอนนี้เขาโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น รักคนอื่น รู้จักให้ และอยากเป็นแบบอย่างที่ดี ความเหงาในใจเขาจึงเป็นสิ่งแรกที่ข้าพเจ้าค้นพบเมื่อรู้จักกันมากขึ้น


 


พวกเรามักเดินป่าด้วยกันเป็นกลุ่มใหญ่เมื่อรู้สึกอยากโดยไม่ต้องรอโอกาส เนื่องจากภารกิจหลักประจำวันของชาวบ้านที่ไม่ออกทะเลนั้น จะใช้เวลาอยู่กับการตัดยางตั้งแต่เช้ามืดและทำแผ่นเสร็จก็เกือบเที่ยงวัน ตลอดบ่ายจึงเป็นเวลาของการพักผ่อน เราได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันในหลายๆ เรื่อง อาจเป็นเพราะเราโตมาในครอบครัวและสังคมที่แตกต่างกัน และทุกครั้งข้าพเจ้าสามารถสัมผัสได้ถึงความจริงใจในทุกคำพูด และรับรู้ได้ว่าเขาไว้ใจเรา ทำให้ข้าพเจ้าต้องพูดความจริงกลับไปได้โดยไม่ต้องปั้นแต่ง เป็นความจริงใจที่ข้าพเจ้าไม่ได้พบเจอมานานมาก...........


 


ทิ้งท้าย


 


ก่อนที่ข้าพเจ้าจะออกจากเกาะมาเพราะความจำเป็นส่วนตัว  อีกทั้งคิดว่า "ถึงเวลาแล้ว" ข้าพเจ้าได้ให้หนังสือเล่มหนึ่งกับพวกเขา เป็นวรรณกรรมแปลสำหรับเยาวชน เรื่อง เกาะโลมาสีน้ำเงิน ด้วยคิดว่า สิ่งที่พวกเขาต้องการในตอนนี้คือ "ความมั่นใจ ในวิถีที่เขาเป็น" และเรื่องราวในหนังสือ สามารถถ่ายทอดถึงความผูกพันระหว่างชาวเกาะกับบ้านหลังใหญ่นั่นคือ ทุกวิถีของสิ่งมีชีวิตบนเกาะที่ล้วนพึ่งพาอาศัยกัน และพวกเขาคือ ผู้ยิ่งใหญ่ เมื่อเข้าใจในความต้องการ และความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง


 


สำหรับข้าพเจ้าการได้ใช้ชีวิตอยู่ที่เกาะลิบง เป็นสิ่งที่ล้ำค่า เพราะที่นี่ทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจตัวเอง สังคมรอบข้าง และครอบครัว.....และยิ่งดีใจเมื่อได้ข่าวจากเพื่อนๆ ว่า หนังสือที่ข้าพเจ้ามอบให้เป็นที่ชื่นชอบของหลาย ๆ คน ทำให้ข้าพเจ้าคิดออกว่า แม้ไม่ได้อยู่ที่เกาะแล้ว แต่เราสามารถส่งผ่านสิ่งดี ๆ ถึงกันได้ โดยเปิดโอกาสให้กลุ่มเพื่อน ๆ ที่ได้รับรู้เรื่องราวจากบทความเหล่านี้ สามารถส่งความรู้สึก และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ผ่านตัวหนังสือที่ท่านอ่านแล้ว ส่งถึงเพื่อน ๆ น้อง ๆ ที่เกาะลิบง ได้มีหนังสือดี ๆ อ่านกัน


 


ข้าพเจ้าเชื่อว่า โลกของหนังสือสามารถสร้างสรรค์จินตนาการ เพิ่มทักษะ และดึงดูดความสนใจของเด็กได้เป็นอย่างดี ซึ่งหนังสือที่ต้องการมีความหลากหลายตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงผู้ใหญ่ เนื่องจากบนเกาะไม่มีห้องสมุดของชุมชน อีกทั้งไม่มีกำลังเงินพอที่จะซื้อหนังสือดี ๆ อ่าน ข้าพเจ้าจึงอาสาเป็นตัวกลางรับบริจาคหนังสือ ซึ่งท่านสามารถจัดส่งได้ที่


 



วรรณภา สุวรรณรัตน์


ไพฑูลแมนชั่น 6/39 ห้อง 406 ซอยศรีจั่น แขวงลาดยาว เขตจตุจักร


กรุงเทพมหานคร 10900


 


ขอขอบพระคุณทุกท่านที่สนับสนุนการอ่านแก่เยาวชนบนเกาะลิบง