Skip to main content

เมื่อ "เรา" ต่างผลัดกันทำหน้าที่

คอลัมน์/ชุมชน

 


 



 


มนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมกับสถานภาพและเมื่อมีสถานภาพก็ย่อมมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามมา  เป็นต้นว่า คนที่เป็นพ่อแม่ต้องมีหน้าที่เลี้ยงดูลูก คนที่เป็นหมอมีหน้าที่ต้องรักษาคนไข้ เป็นครูต้องสอนหนังสือเด็ก ฯลฯ


 


แต่หากจะพูดในภาพกว้างถึงหน้าที่ของผู้ที่อยู่ในสถานภาพ "ผู้ใหญ่" แล้ว  โดยทั่วไปก็มักจะได้รับการคาดหวังจากสังคมว่าจะต้องปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีต่อเด็ก  และสั่งสอนอบรมให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี ยิ่งผู้ใหญ่ที่เป็นครูบาอาจารย์ก็ยิ่งได้รับการคาดหวังจากสังคมมากกว่าผู้ใหญ่ในสถานภาพอื่น


 


เรื่อง "มาทิลดา" ของโรอัล ดาห์ล จากสำนักพิมพ์ผีเสื้อ  เป็นวรรณกรรมเยาวชนอีกเรื่องที่สะท้อนให้เห็นการทำหน้าที่ของคนที่ได้ชื่อว่า "ครู" ให้เด็กๆ  (ซึ่งอาจจะรวมถึงผู้ใหญ่ที่ได้อ่านเรื่องนี้) เตรียมทำใจไว้ว่าในอนาคตหนูๆ จะต้องเจอครู 2 แบบนี้


 


แบบแรก เป็นคุณครูใจดีอย่าง "ครูฮันนี่"  ที่เข้าใจเด็ก  แต่ก็อ่อนแอไม่กล้ามีปากมีเสียงกับการกระทำที่ไม่ถูกต้องของผู้ที่มีอำนาจมากกว่า


 


แบบที่สอง เป็นคุณครูมหาโหดอย่าง "ครูเขาวัว" ที่บ้าอำนาจ ชอบพูดจาดูถูกเหยียดหยามเด็กๆ อยู่เสมอ และยังลงโทษเด็กอย่างโหดเหี้ยมเพียงแค่เด็กทำอะไรไม่ถูกใจเท่านั้น


 


น่าสงสารบรรดาเด็กตัวเล็กๆ ที่ต้องทนกับความมหาโหดของครูเขาวัว โดยที่ครูฮันนี่ได้แต่ยืนมองตาปริบๆ แม้จะคัดค้านการกระทำอันไม่สมควรของครูเขาวัวอยู่บ้าง   แต่เสียงของเธอก็มักจะลอยหายไปในอากาศ   แน่ละ ครูใหญ่อย่างครูเขาวัวย่อมไม่ฟังเสียงครูน้อยอย่างเธออยู่แล้ว


 


โชคดีที่ในชั้นเรียนมีเด็กพิเศษอย่าง "มาทิลดา"   เธอฉลาดเกินเด็กวัยเดียวกัน  เรียกว่าเป็นเด็กอัจฉริยะ แถมยังมีพลังจิตเป็นความสามารถพิเศษ  แล้วเด็กวัย 4 ขวบอย่างเธอนี่แหละที่ช่วยสั่งสอนให้ "ครูเขาวัว" ได้เข็ดหลาบ โทษฐานที่ใช้อำนาจความเป็นผู้ใหญ่เกินขอบเขต


 


ในความเป็นจริง อาจจะไม่มีเด็กพิเศษอย่างมาทิลดาอยู่โลกนี้ แล้วเด็กๆ จะทำอย่างไรเพื่อให้ผู้ใหญ่รู้ตัวว่าการกระทำบางอย่างของตัวเองนั้นเป็นเรื่องที่เด็กๆ รับไม่ได้เอาเสียเลย


 


ทำอย่างไรที่จะให้ผู้ใหญ่แบบ "ครูเขาวัว" รู้ว่ากำลังทำตัวเป็นที่น่ารังเกียจของเด็กๆ อยู่


 


สำหรับผู้เขียนแล้ว การที่จะทำให้ผู้ใหญ่แบบ "ครูเขาวัว" รู้ตัวนั้นมีอยู่ 2 วิธี   วิธีแรก  เด็กๆ ที่อยู่รอบตัวครูเขาวัวจะต้องกระทำการบางอย่างให้หล่อนรู้ว่า "ฉันไม่เอาแกแล้วนะ"   ซึ่งอาจจะทำได้ด้วยการไม่ฟัง ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผิดๆ ของหล่อน หรือเลิกทำ "สังฆกรรม" ร่วมกับหล่อนไปเลย  เชื่อว่า เด็กๆ ทุกคนสามารถทำได้โดยไม่ต้องอาศัยความสามารถพิเศษอย่างมาทิลดา  เพียงแต่อาศัยความกล้าและระลึกถึงสิ่งที่ถูกต้องไว้ในใจเสมอเท่านั้น


 


ส่วนวิธีที่สองที่จะจัดการกับครูเขาวัวนั้น อาจจะต้องไหว้วานให้ผู้ใหญ่ที่อยู่รอบข้างตักเตือนหล่อนบ้าง แต่หาก "ครูเขาวัว" ยังไม่ฟัง  คงต้องขอร้องให้ผู้ใหญ่รอบข้างเลิกทำ "สังฆกรรม" ร่วมกับหล่อนเช่นเดียวกับที่แนะนำให้เด็กๆ ทำ


 


ที่สำคัญผู้ใหญ่รอบข้าง "ครูเขาวัว" ไม่ควรเห็นแก่ความเป็นผู้ใหญ่เหมือนกันมาเป็นข้ออ้างแก้ตัว แก้ต่างในการกระทำอันไม่เหมาะสมของหล่อน


 


กรุณาอย่าอ้างว่า "ครูเขาวัวเป็นคนขี้หงุดหงิด เด็กๆ อย่าโกรธ อย่าถือสาแกนะจ๊ะ"


กรุณาอย่าบอกว่า "ในเมื่อเด็กๆ รู้ว่าครูเขาวัวเป็นคนอย่างนี้ ก็อย่าทำให้แกไม่พอใจนะคะ"


และกรุณาอย่าอ้างว่า "เห็นแก่ความเป็นผู้ใหญ่ของครูเขาวัว ให้อภัยในการกระทำอันไม่สมควรของแกเถอะนะจ๊ะ"


 


หรือผู้ใหญ่คิดว่า ผู้ใหญ่เท่านั้นที่มีสิทธิโกรธ มีสิทธิกระทำรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจต่อเด็ก ส่วนเด็กมีสิทธิ์แค่เพียงให้อภัยผู้ใหญ่และก้มหน้าทนรับกรรมต่อไป


 


เลิกคิดเสียทีว่า ผู้ใหญ่มีวุฒิภาวะมากกว่าเด็ก เพราะผู้ใหญ่บางคนมีวุฒิภาวะต่ำกว่าเด็ก


เลิกคิดเสียทีว่า เด็กต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ทุกเรื่อง เพราะบางเรื่อง เด็กก็มีความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ดีกว่าผู้ใหญ่


และเลิกคิดเสียทีว่า ผู้ใหญ่เท่านั้นที่มีสิทธิตำหนิเด็ก เพราะผู้ใหญ่บางคนทำตัวได้น่าตำหนิกว่าเด็กด้วยซ้ำ


 


ที่สำคัญควรคิดได้เสียทีว่า  ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ต่างก็มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน   ไม่มีใครทำหน้าที่สั่งสอนให้ใครทำตาม


 


ทุกคนมีสิทธิคิด มีสิทธิเลือก และมีสิทธิเรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิตจากทุกคนที่อยู่บนโลกใบนี้เท่าๆ กัน  


 


ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม