Skip to main content

หลักประกันสุขภาพ (15) ยาดีต้องใหม่ ยาใหม่ต้องแพง

สาเหตุหนึ่งที่ราคายาแพงอยู่เสมอ ๆ เพราะบริษัทยาต่างประเทศส่งยาใหม่เข้าตลาดตลอดเวลา เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดระยะเวลายี่สิบปีที่ผู้เขียนเป็นแพทย์


ยกตัวอย่าง ยา Cazorp เป็นยาชนิดหนึ่ง ใช้รักษาโรคอย่างหนึ่ง ปี พ.ศ.2538 เมื่อบริษัทยาต่างประเทศแห่งหนึ่งส่งยาตัวนี้เข้าสู่ตลาด บริษัทยาโฆษณาว่ายานี้ดีที่สุด ทำตลาดทั้งในวารสารสุขภาพและที่ประชุมวิชาการทางการแพทย์ ปีนั้นราคายาเม็ดละ 50 บาท ภายในเวลาไม่กี่ปี บริษัทยาในประเทศก็ผลิตยาตัวนี้ในชื่อสามัญเดียวกันออกจำหน่าย ราคายาลดลงมาเหลือเม็ดละ 2 บาท ผลการรักษาดีเท่ากับยาต้นแบบราคาเม็ดละ 50 บาท


บริษัทยาต่างประเทศจะไม่อยู่นิ่งโดยส่งยาต้นแบบตัวใหม่เข้าสู่ท้องตลาด สมมติว่าชื่อ Tfoloz ใช้รักษาโรคเดียวกัน สมมติว่าราคายาเม็ดละ 70 บาท สิ่งที่บริษัทยาต่างประเทศต้องทำคือต้องขายยาใหม่ที่ชื่อว่า Tfoloz ให้จงได้


วิธีทำตลาดมีได้หลายวิธี ได้แก่


1.สร้างความจำเป็นเทียม


2.ทำตลาดในวารสารสุขภาพ


3.ทำตลาดในที่ประชุมวิชาการ


4.โจมตียาตัวเดิม


5.อ้างข้อดีของยาตัวใหม่



การสร้างความจำเป็นเทียมสำคัญที่สุด เพราะในสังคมมีผู้ป่วยยังไม่มากพอ เพราะฉะนั้นต้องทำให้ผู้คนป่วยมากขึ้น การทำให้ผู้คนป่วยจริง ๆ มากขึ้นนั้นทำได้ยากและเป็นอาชญากรรม เคยมีปรากฏในนวนิยายของ โรบิน คุก และ ไมเคิล คริชตัน รวมทั้งหนังฮอลลีวู้ดหลายเรื่อง แต่ไม่ทราบว่าเรื่องจริงมีหรือยัง ส่วนการสร้างความจำเป็นเทียมที่ทำกันอยู่ คือชวนให้ผู้คนเชื่อว่าตนเองป่วย


วิธีคือให้สุขศึกษาเกี่ยวกับความรู้เรื่องโรคนั้นโรคนี้ตามสื่อต่าง ๆ ผลคือคนจำนวนมากพร้อมที่จะวิตกกังวลว่าตนเองป่วยด้วยโรคนั้นโรคนี้ ไม่ว่าจะเป็นโรคกระเพาะอาหาร ไขมันในเลือดสูง กระดูกพรุน วัยทอง โรคหัวใจ โรคไต ลำไส้อักเสบ แม้กระทั่งโรคทางจิต-ประสาทต่าง ๆ นานา รวมทั้งโรคอารมณ์เศร้า


จะเห็นว่าเมื่อบริษัทผลิตสินค้าออกมาแล้วต้อง " สร้าง" ผู้ซื้อให้จงได้ ปรากฏการณ์ที่เกิดแก่เครื่องดื่มชาเขียวบรรจุขวดเป็นอย่างไร เรื่องยารักษาโรคก็มิใช่ข้อยกเว้น สถานที่ที่บริษัทยาต่างประเทศชอบทำตลาดคือวารสารสุขภาพระดับแนวหน้า ทันสมัย พิมพ์สี่สี ทั้งด้วยการให้ความรู้เรื่องโรคภัยไข้เจ็บเพื่อกระตุ้นวิตกจริตของผู้คน และด้วยการลงโฆษณาเรื่องยา


แต่การลงโฆษณาเรื่องยามิใช่กระทำได้อย่างตรงไปตรงมา โฆษณายาต้นแบบราคาแพงจึงมักปรากฏในรูปของศูนย์ให้คำปรึกษาหรือศูนย์ข้อมูลต่าง ๆ นานา ซึ่งเมื่อผู้สนใจโทรศัพท์เข้าไปก็จะได้รับคำแนะนำให้สุขศึกษาในขั้นแรก แล้วตามด้วยคำแนะนำเรื่องยาหรือให้รายชื่อแพทย์และโรงพยาบาลที่พร้อมจะตรวจรักษาปัญหานั้น ๆ


สถานที่ที่บริษัทยาต่างประเทศชอบทำตลาดอีกแห่งหนึ่ง คือที่ประชุมวิชาการแพทย์สาขาต่าง ๆ วงการแพทย์แผนปัจจุบันควรธำรงไว้ซึ่งความเข้มแข็งทางวิชาการ และจริยธรรมในการแยกแยะว่าข้อความวิชาการข้อความใดเป็นวิชาการแท้และข้อความใดเกิดจากการทำตลาด


งานวิจัยที่บริษัทยาต่างประเทศนิยมสนับสนุนให้ทำขณะนี้ คืองานวิจัยประเภทศึกษาความคุ้มทุนของการใช้ยา ทำนองว่าให้สรุปผลการวิจัยออกมาว่าหากใช้ยาต้นแบบราคาแพงจะช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีกว่า ฤทธิ์ข้างเคียงน้อยกว่า นอนโรงพยาบาลสั้นกว่า และกลับไปทำงานเร็วกว่า ทำให้ความเสียหายทางเศรษฐกิจน้อยกว่า เพราะฉะนั้นหากใช้ยาต้นแบบจึงคุ้มทุนกว่า ดังนี้พบเห็นเป็นประจำ


ที่สนุกกว่าเพื่อนคือ เรื่องโจมตียาตัวเดิมหรือลดความสำคัญของยาตัวเดิม กลับไปที่ตัวอย่างเดิม ปี พ.ศ.2538 เอกสารจากบริษัทยาก็ตาม จากงานวิจัยก็ตาม จากที่ประชุมวิชาการก็ตาม สามัคคีเป็นเสียงเดียวว่ายา Cazorp ดีเยี่ยม ไม่มีฤทธิ์ข้างเคียง เมื่อมียาในชื่อสามัญเดียวกันในราคาถูกออกจำหน่าย และเมื่อมียา Tfoloz นำเข้ามาใหม่ เอกสารจากบริษัทยาก็ตาม จากงานวิจัยก็ตาม จากที่ประชุมวิชาการก็ตามจึงสามัคคีเป็นเสียงเดียวว่ายา Cazorp สู้ยาใหม่ไม่ได้ มีฤทธิ์ข้างเคียงมาก และไม่คุ้มทุน กล่าวคือเมื่อรวมความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากฤทธิ์ข้างเคียง การนอนโรงพยาบาลและการพักงานแล้ว ประเทศชาติสูญเสียมากกว่า ฮั่นแน่ งัดประเทศชาติมากล่าวอ้างเสียด้วย !


ตรรกะสุดท้ายจึงเป็นความผิดพลาดของบริษัทยาต่างประเทศเอง มีชาวต่างชาติที่ไหนรักประเทศชาติของเราขนาดนั้น