Skip to main content

เรทติ้งที่รัก

คอลัมน์/ชุมชน

 


 


เมื่อไม่นานมานี้    "ประชาไท" เปลี่ยนรูปแบบใหม่  มีเรทติ้ง (rating) วัดจำนวนผู้เข้าชมแต่ละข่าว แต่ละคอลัมน์ ทั้งยังให้ผู้อ่านแร้งกิ้ง (ranking) จัดอันดับความดีเด่นของงานแต่ละชิ้นอีกด้วย   น่าสนใจและยังความตื่นเต้นมาให้กับผู้เขียนคนนี้ด้วยคนหนึ่ง เพราะอยากรู้เหมือนกันว่ามีคนมาอ่านมากมายเพียงไร จะชอบหรือไม่ชอบงานของเราแค่ไหน เห็นคุณค่าหรือไม่  ใจหนึ่งเห็นว่าเป็นสิ่งดี ๆ ที่มีการวัด ทำสถิติต่างๆ เป็นตัวเลขชัดเจน เหมาะที่จะทำการศึกษาหรืออ้างอิงต่อไปได้ หากมีผู้ต้องการศึกษา  


 


แต่อีกด้านหนึ่งรู้สึกไม่ค่อยสบายใจนักเพราะว่า การมาเขียนตรงนี้ ทุกคนมีใจที่มาเขียนให้ อยากช่วยขยายความต่างๆ ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อสังคม   ดังนั้น การใช้เรทติ้งและแร้งกิ้งอาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ว่า บทความที่ดีต้องมีการเข้าชมสูงคือเรทติ้ง และมีคนมาชมชอบมาก  (อย่างไรก็ตาม  ผู้เขียนเชื่อว่าผู้จัดทำ "ประชาไท" ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้เกิดความรู้สึกเหลื่อมล้ำกันอย่างแน่นอน)


 


แค่นี้ก็ทำให้เห็นกันได้แล้วว่า ไม่ว่าจะหนีไปไหน หนีไม่พ้น สังคมปัจจุบันพัวพันอยู่กับเรทติ้งและแร้งกิ้งทั้งนั้น  ถามว่าทำไม คำตอบง่ายๆ ก็คือ ต้องการวัดพฤติกรรมต่าง ๆ เพื่อเอาไปใช้ในการพิจารณาตัดสินต่อไปว่า  จะเก็บไว้ จะเปลี่ยนแปลง หรือจะหันเหอย่างไร ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์และสถานการณ์ในขณะนั้น  อย่างไรก็ตาม เราไม่เคยถามเลยว่า การเรทติ้งและแร้งกิ้งนั้นมีความเที่ยงตรงเพียงใด และเป็นตัวบ่งชี้สิ่งที่เราต้องการรู้ (ในหลายๆบริบท คือ ความมีคุณภาพ หรือ ความนิยม) ของสิ่งนั้นอย่างแท้จริง


 


ประเด็นที่ผู้เขียนจะนำเสนอในวันนี้คือ นัยยะบางด้านของเรทติ้งและแร้งกิ้งที่มีผลกระทบต่อสังคมไทย


 


ประการแรกคือ  การทำเรทติ้งและแร้งกิ้งนี้ไม่ใช่ของใหม่ในสังคมไทย  มีมานานแล้ว แต่ที่มาเป็นระบบระเบียบชัดเจนก็มาจากอิทธิพลของโลกตะวันตกในที่เน้นในการดำรงอยู่ของผู้ที่เหมาะสมที่สุด  เพราะโลกตะวันตกนั้น มีคตินิยมว่าต้องทำให้ดีที่สุด เพื่อประโยชน์อันสูงสุด  การทำเรทติ้งและแร้งกิ้งเป็นเรื่องที่เป็นวิทยาศาสตร์มาก เพราะมีใช้กระบวนการวัดอย่างน่าจะเป็นวัตถุวิสัย หรือ objective มากกว่า โดยมีการใช้คนจำนวนมากขึ้นและแตกต่างกันในมุมมอง  ทำให้น่าจะให้ค่าที่น่าเชื่อถือได้มากกว่าคนเพียงคนเดียวและ/หรือกลุ่มเดียว    


 


อย่างไรก็ตาม สังคมไทยลืมมองไปว่ากระบวนการดังกล่าวมีพื้นฐานอยู่ที่ "การแข่งขัน" เพื่อการอยู่รอดด้วย นั่นคือ แพ้คัดออก   ซึ่งในจุดนี้ คนที่แพ้คือคนที่ทำได้ไม่ดีเท่า หรือวัดออกมาแล้วไม่ดีเท่าคนอื่น แต่ไม่เคยมองประเด็นว่าทำไมจึงไม่ดีเท่า   เป็นไปได้หรือไม่ที่ว่า งานที่ออกมาไม่โดนใจกรรมการหรือผู้ที่ให้แร้งกิ้ง ซึ่งอาจเป็นใครก็ได้ที่รู้จักเรื่องนั้นดีสุดหรืออาจไม่รู้เลยก็ได้  นอกจากนี้ การให้คะแนนต่างๆ มีปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องอีกมาก เช่น อคติที่มีอยู่ในสังคม ทำให้การตีความของสิ่งนั้นๆมีปัญหา


 


ประเด็นที่สอง สืบเนื่องจากประการแรก นั่นคือ การทำเรทติ้งและแร้งกิ้งนี้มีการตรวจสอบไม่ได้แน่ชัด แม้ว่าจะมีกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อย่างไรก็แล้วแต่  เราไม่สามารถยืนยันความเที่ยงตรงของการเรทติ้งและไม่สามารถสืบค้นต้นตอและสาเหตุของการแร้งกิ้งจากแต่ละคนได้  ตัวเลขที่ได้มาเป็นเพียงตัวเลขที่บอกข้อเท็จจริงชุดหนึ่งในเวลานั้นๆ เท่านั้น


 


ดังนั้น การนำมาใช้นั้นจึงมีข้อจำกัด โดยเฉพาะเรื่องเงื่อนไขของเวลาและบริบท หลายครั้งที่เราพบว่า รายงานเรทติ้งและแร้งกิ้งใช้ไม่ได้เอาเลย และล้าสมัยได้ง่าย  เช่น  การจัดอันดับมหาวิทยาลัยต่างๆ การจัดอันดับรายการทีวียอดนิยม ที่ผลของวันนี้อาทิตย์นี้ก็จะกลายเป็นอดีตไปแล้วเมื่อถึงพรุ่งนี้หรืออาทิตย์หน้า


 


ประการที่สาม  การทำเรทติ้งและแร้งกิ้งนั้น ส่วนมากจะเป็นเครื่องมือของผู้ที่มีอำนาจหรือโอกาสมากกว่าในสังคม  จุดนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะคนบางกลุ่มที่ไม่ได้มีโอกาสในสังคมก็จะไม่มีโอกาสเข้าร่วมในจุดนี้ ทำให้ข้อมูลถูกบิดเบือนไปได้  โปรดสังเกตดูว่าเกือบทุกครั้งผู้จัดทำเรทติ้งและแร้งกิ้ง มักจะมีผลได้ผลเสียกับรายงานผลนั้นๆ ตัวอย่างเช่น โพลความนิยมต่างๆที่เกิดขึ้น ไม่ว่าในไทยหรือเทศก็ตาม สำนักใครก็สำนักมัน ผลออกมาคือชาวบ้านงง ไม่รู้จะเชื่อใครดี


 


ดังนั้น จุดนี้ผู้ที่บริโภคข้อมูลข่าวสารต้องเป็นผู้ที่ชาญฉลาดในการที่จะขอดูกระบวนการในการสร้างโพล และ/หรือการจัดแร้งกิ้งเรทติ้งพวกนี้  และนักวิชาการเองควรต้องออกมาช่วยอธิบายที่มาที่ไปของกระบวนการทำเหล่านี้ ให้ง่ายพอที่ชาวบ้านจะรู้เรื่อง และสำนักโพลต่างๆ ต้องชี้แจงกระบวนการที่มาที่ไปของทำโพลแต่ละชุดอย่างชัดเจน


 


ผู้เขียนได้รับผลกระทบจากกระบวนการพวกนี้ มาตั้งแต่เล็กจนวันนี้  เบื่อแสนเบื่อ  ทั้งที่มักจะได้ประโยชน์มากกว่าที่จะเสียประโยชน์  แต่ก็ไม่สุขใจเอาเสียเลย เพราะว่าเมื่อเปรียบกับคนที่แพ้  เราได้เปรียบกว่า เช่น ฐานะทางบ้านดีกว่า ทำให้เรามีเวลาทุ่มเทกับการเรียนได้มากกว่า ผลสอบจึงดีกว่า ไม่ใช่เพราะเราฉลาดกว่า คนเก่งๆ กว่ามีอีกมาก แต่เขาไร้โอกาส และเพราะกระบวนการคัดคนแบบนี้นี่เอง  จึงทำให้คนที่มีโอกาสหลายคนเสียนิสัย มองว่าตนเองเก่งกว่า แล้วมักจะฉกฉวยโอกาสเพื่อตนเองอย่างไร้ยางอาย 


 


ที่ผู้เขียนเห็นตอนเป็นนักศึกษาในสหรัฐฯ เมื่อสิบปียี่สิบปีที่แล้ว  คือพวกที่เป็นนักเรียนไทยที่เรียนเก่งๆหลายคน (แต่เน้นว่าไม่ทุกคน) ชอบอ้างว่าตนเองเรียนเก่ง และ/หรือ สอบชิงทุนมาได้บ้างล่ะ มักจะต้องการเป็นผู้ชนะในทุกเรื่อง จนกระทั่งมาทะเลาะกันจนเละที่เมืองนอก ไปตรงไหนเจอตรงนั้น แต่พอกับฝรั่งกลับไม่ค่อยไปกล้าต่อล้อต่อเถียง  ประจบอาจารย์ฝรั่งอย่างกับอะไรดี  แบบที่เรียกว่าไปตัดหญ้าหน้าบ้านให้อาจารย์ได้ทุกหน้าร้อน


 


ขอกลับมาที่ตัวอย่างชัดเจนในสังคมไทย คือ การสอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐ หรือแม้กระทั่งโรงเรียนมัธยมของรัฐดังๆ คนที่เข้าได้ส่วนมากคือคนมีฐานะ พูดง่ายๆ คือมีโอกาสมากกว่าในสังคม


 


ในระดับมัธยม คนจนที่ตะกายมาจน ป. ๖ ก็คงสอบเข้า ม. ๑ ไม่ได้ ถ้าต้องทำงานช่วยที่บ้าน หรือไม่สามารถไปเรียนกวดวิชาได้  การที่พยายามกันพื้นที่ให้โรงเรียนเหล่านั้น พยายามรับเด็กในพื้นที่ โดยไม่ต้องสอบเข้าก็เป็นทางออกที่ดี  แต่ไม่วายว่าคนมีโอกาสก็พยายามวางแผนย้ายสำมะโนครัวไปอยู่กับเพื่อนฝูงพี่น้องที่มีบ้านช่องในเขตท้องที่นั้นๆ  ตรงนี้คนจนๆ ย้ายไม่ทัน แค่บ้านก็อาจไม่มีด้วยซ้ำ


 


ที่น่าสังเกตคือ มีหลายคนที่ทนไม่ได้ที่จะให้เด็กที่ด้อยโอกาสเข้าโรงเรียนพวกนี้ อ้างว่าจะทำให้โรงเรียนนั้นๆ ด้อยลงไปที่มีนักเรียนไม่เก่ง (ส่วนจะรวยหรือจนเป็นอีกเรื่อง) ทำให้โรงเรียนเหล่านี้เสื่อมถอยลง  หากลืมมองไปว่า โรงเรียนรัฐบาลนั้นสร้างและดำเนินการจากภาษีของสังคม ทุกคนมีสิทธิที่จะสมัครหรือเข้าเรียน ภายใต้กรอบที่กำหนด


 


ส่วนในระดับมหาวิทยาลัย ใครๆ ก็อยากเข้าที่ดีๆ ดังๆ ที่เป็นของรัฐ อีกทั้งราคาถูกกว่า น่าสงสารคือคนจนอีกนั่นแหละ ไม่ค่อยได้เข้า เพราะเรียนไปทำงานไป หรือเพราะที่บ้านไม่ได้สนับสนุนเท่าที่ควร หรือไม่เข้าใจว่าการเรียนระดับมหาวิทยาลัยเป็นอย่างไร จึงไม่สามารถชี้นำเด็กๆ ได้ คนมีโอกาสอีกนั่นแหละ ที่มีโอกาสเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ดังๆ จากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่งได้ง่ายกว่า และเมื่อจบออกมาก็อีก คนจบมหาวิทยาลัยดีๆ ก็หางานดีๆ ได้ง่ายกว่า  เพราะเครือข่ายที่ได้มามีกว้างกว่าและมีอิทธิพลเหนือกว่า


 


ผู้เขียนสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยเล็ก ที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบมหาวิทยาลัยของรัฐที่ใหญ่มากแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ ได้เห็นฝรั่งบ้าการจัดอันดับมหาวิทยาลัยแล้วก็ปลงเหมือนกัน สมัยเด็กๆ ผู้เขียนก็คลั่งไปกับเขาด้วย เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่รู้ว่าโชคดีหรือร้ายที่เรียนมหาวิทยาลัยสองแห่งในสหรัฐฯ ที่พอติดอันดับประเทศกับเขาด้วย  กลางๆ แห่งหนึ่ง ต้นๆ แห่งหนึ่ง และมาทำงานในมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับต้นๆ ในประเภทเฉพาะลงมา   ผู้เขียนมองไปที่ไหนของระบบก็ไม่สามารถรู้สึกว่าน่าชื่นชมจริงๆ  เพราะว่าเห็นผู้คนมัวแต่วุ่นวายกับการรักษาชื่อเสียงเหล่านี้และผลประโยชน์ต่างๆ  (แต่เอาเถอะ ตอนนี้เป็นลูกจ้างตำแหน่งเล็กๆ ก็เลยต้องทนต่อไป)


 


มองไปมองมา คนที่ได้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้คือคนที่มีโอกาสทั้งนั้น โดยเฉพาะคนที่ใช้ประโยชน์จากจุดนี้ที่จะตอกย้ำความมีโอกาสของตนเองตลอดไป


 


การทำเรทติ้งและแร้งกิ้งเป็นเรื่องง่ายๆ พื้นๆ ที่พบเห็นกันทุกวัน แต่ถ้ามองให้ดีๆ และลึกๆ แล้ว ไม่ง่ายอย่างที่คิดเอาเสียเลย